กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. หนุนเพาะเห็ดแครง อย่างยั่งยืน

คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ข้อมูลว่า ได้มีการส่งเสริมการเพาะเห็ดแครงในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เพราะเห็ดแครงถือเป็นเห็ดพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือหรือภาคใต้ โดยแต่ละพื้นที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เดิมทีเห็ดแครงถือว่าเป็นเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต่อมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงทำให้หาเห็ดแครงได้ไม่ง่ายจากแหล่งธรรมชาติ จึงได้มีการส่งเสริมขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรได้เพาะเลี้ยงเห็ดแครง เพื่อให้ผู้บริโภคที่สนใจได้มีเห็ดชนิดนี้ไว้รับประทาน และที่สำคัญยังสามารถเป็นรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้อีกด้วย

“เห็ดแครง ถือว่าเป็นเห็ดที่มีคุณประโยชน์ สามารถเป็นได้ทั้งอาหารและยา เห็ดแครงเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงง่าย ใช้เวลาเพียงแค่ 7 วัน ซึ่งถือว่าใช้เวลาค่อนข้างสั้น จึงเหมาะมากสำหรับผู้ที่สนใจ หรือเกษตรกรทั่วไปที่อยากมีรายได้เสริมจากการเพาะเห็ดแครง เพราะปัจจุบันเราก็มีแหล่งเรียนรู้ อยู่ที่ อ.ต.ก. สงขลา โดยได้มีการสนับสนุนเปิดสอน เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาถึงวิธีการต่างๆ เพราะอนาคตเห็ดแครงจะต้องเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะนำมาทำเป็นอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญให้กับผู้ที่รักสุขภาพ ที่เวลานี้กำลังมีมากขึ้น” คุณกมลวิศว์ กล่าว

คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

ซึ่ง คุณกมลวิศว์ กล่าวทิ้งท้ายให้ฟังว่า ขณะนี้สินค้าที่เป็นเห็ดแครงยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงได้มีการส่งเสริมการเพาะเห็ดแครงอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้มีปริมาณที่มากขึ้นจนสามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ จึงอยากจะส่งเสริมให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปหันมาผลิตเห็ดแครง โดยอาจจะเริ่มจากทดลองทำไว้รับประทานเองที่บ้าน และเมื่อสินค้ามีมากขึ้นก็จะสามารถทำออกมาจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้

องค์ความรู้สู่การสร้างอาชีพ

คุณจิตสุภา ยวงใย อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่เลขที่ 424 หมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเมือง จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจอยากจะเพาะเลี้ยงเห็ดแครง โดยทางผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) คือ คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ได้จัดทำเป็นโครงการศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ขึ้นมา เนื่องจากเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมาเกิดปัญหาในเรื่องของราคายางพาราตกต่ำ จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ดแครงขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับบุคคลที่ต้องการมีรายได้เสริมจากการเพาะเห็ดแครง

คุณจิตสุภา ยวงใย อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา

“สมัยก่อน เห็ดแครง อาจจะหาจากธรรมชาตินำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ตามขอนไม้ แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเหมือนสมัยก่อน เพราะมีปริมาณที่น้อยลง เราจึงได้มีการเพาะเลี้ยงขึ้นมาด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเพาะเห็ดแครงได้ผลิตสินค้าให้เป็นแบบสินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเห็ดแครง เพื่อให้ผู้ที่ทำการเพาะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะสินค้าที่ผลิตแบบอินทรีย์ได้การรับรองแบบมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค” คุณจิตสุภา กล่าว

โดยการฝึกอบรมเพาะเห็ดแครงจะเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจ เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งผู้ที่มาฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ และผลิตเห็ดแครงที่มีคุณภาพออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดที่อยู่ภายในชุมชนได้อีกด้วย

เห็ดแครง ใช้เวลาเพาะ

เพียง 7 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

อาจารย์บรรลุ บุญรอด เป็นผู้เชี่ยวชาญการเพาะเห็ดแครง ให้ข้อมูลว่า เห็ดชนิดนี้มีหลักการเพาะที่คล้ายกับการเพาะเห็ดทั่วๆ ไป แต่จะมีในเรื่องของการใช้สูตรอาหารที่มากกว่า และมีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นเมื่อเทียบกับเห็ดอื่นๆ ซึ่งเห็ดแครงธรรมชาติในปัจจุบันค่อนข้างมีจำนวนที่น้อยลง เพราะขอนไม้ในยุคนี้มีไม่มากเหมือนสมัยก่อน เพราะเกษตรกรที่มีก็จะนำขอนไม้เหล่านั้นไปจำหน่าย จึงทำให้ขอนไม้ที่จะทำให้เห็ดแครงขึ้นลดน้อยลง ต่อมาจึงได้มีการเพาะมากขึ้นเพื่อเป็นการทดแทนจากของธรรมชาติ

อาจารย์บรรลุ บุญรอด

“การทำหัวเชื้อของเห็ดแครง ก็มีหลักการทำทั่วไปเหมือนกับเห็ดนางฟ้า ก็จะมีการทำหัวเชื้อในวุ้น เสร็จแล้วก็เอามาทำในเมล็ดธัญพืช พอหัวเชื้อเราเสร็จเรียบร้อย เราก็จะนำหัวเชื้อมาใส่ลงในก้อนที่มีไว้ให้เชื้อเดิน โดยมีสูตรที่ทางศูนย์กำหนดไว้แล้ว สำหรับผู้ที่มาฝึกอบรมสามารถนำไปใช้ทำได้” อาจารย์บรรลุ กล่าว

โดยสูตรอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดแครง มีดังนี้

  1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
  2. รำละเอียด 50 กิโลกรัม
  3. ภูไมท์ 2 กิโลกรัม
  4. ดีเกลือ 100 กรัม
  5. ปรับความชื้นด้วยน้ำ 50-60 เปอร์เซ็นต์

โดยนำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำให้ได้ความชื้น 50-60 เปอร์เซ็นต์ ให้สังเกตเมื่อกำส่วนผสมด้วยมือให้แน่นแล้วคลายมือออก หากส่วนผสมยังคงรูปไม่แยกออกจากกัน แสดงว่าส่วนผสมใช้ได้ จากนั้นนำส่วนผสมบรรจุลงในถุงพลาสติก สำหรับใช้เพาะเห็ด ขนาด 6.5×10 นิ้ว ลงไป 3 ใน 4 ของถุง เฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 600 กรัม ต่อถุง ปิดปากถุงด้วยจุกพลาสติก นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่ง ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง แล้วจึงพักให้เย็นลง นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อโดยเร็ว ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อราชนิดอื่นๆ จากนั้นบ่มไว้อีก 12-20 วัน เส้นใยสีขาวจะเดินเต็มก้อนเชื้อเห็ด พร้อมให้นำไปเปิดดอกได้

ผู้เข้าฝึกอบรมกำลังทำก้อนเชื้อเห็ดแครง

การเปิดดอกเห็ดแครงนั้น จะนำก้อนเชื้อเห็ดมาไว้ภายในโรงเรือนที่ควรมีขนาด 4 เมตร ยาว 8 เมตร และสูง 2.50 เมตร โดยวางก้อนเชื้อเห็ดบนชั้น เปิดฝาจุกพลาสติกออก รัดปากถุงด้วยเชือกฟางให้แน่น พร้อมทั้งกรีดด้านข้างก้อนเชื้อเห็ดให้ทะลุตามแนวเอียง 45 องศา ถุงละ 4-6 รอบ ในช่วงนี้ให้รดน้ำสะอาดลงที่พื้นและผนัง เพื่อเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือน และเมื่อมองเห็นว่าเส้นใยบริเวณรอยกรีดสมานกันดี จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน แล้วจึงรดน้ำที่ก้อนเชื้อเห็ดโดยใช้หัวฉีดเจทสเปรย์ หากไม่สะดวกให้ใช้ถังฉีดพ่นปุ๋ยหรือสารเคมี (แต่ต้องล้างให้สะอาด) แทน

พื้นที่ภายในโรงเรือน

จากนั้นรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนไว้ที่ 30-35 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ดี หลังจากที่ฉีดพ่นน้ำทุกวันจนครบ 8 วัน ก็สามารถเก็บเห็ดแครงรุ่นแรกจำหน่ายได้

ซึ่งการเก็บดอกเห็ดแครงหลังเปิดดอก 7-8 วัน จะเก็บเกี่ยวได้ 2 รุ่น โดยการตัดดอกจะต้องใช้มีดที่มีความคมและสะอาด โดยตัดให้ผิวถุงก้อนเชื้อเห็ดและนำดอกเห็ดออกมาให้หมด หลังจากนั้น กระตุ้นให้ออกดอกอีกครั้ง ด้วยการสเปรย์น้ำสะอาดไปที่ก้อนเชื้อเห็ดทุกวัน ติดต่อกัน 7 วัน เห็ดจะออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้อีกครั้ง แต่ขนาดของเห็ดแครงจะเล็กลงและมีคุณภาพด้อยลงไปจากครั้งแรก เมื่อเก็บเกี่ยวเห็ดชุดที่ 2 จนหมดแล้ว ควรรื้อก้อนเชื้อเห็ดชุดนี้ออก แล้วนำชุดใหม่เข้ามาแทน ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยต่อถุง อยู่ที่ 1-1.5 ขีด     

ก้อนเชื้อเห็ดแครง

 เป็นแหล่งของโปรตีน

และปรุงอาหารได้หลากหลาย

คุณจิตสุภา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของการนำเห็ดแครงเพื่อไปประกอบอาหารว่า สามารถทำได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นเมนูแกง ห่อหมก ตลอดไปจนถึงเมนูทอดมันเห็ดแครง เพราะเห็ดแครงถือว่าเป็นแหล่งของโปรตีนสูง ที่นอกจากจะนำมาประกอบอาหารแล้ว ยังสามารถนำไปทำเป็นยาได้อีกด้วย

เห็ดแครง

“แต่ละพื้นที่ก็จะมีเมนูที่แตกต่างกันไป ในการนำมาประกอบอาหาร อย่างถ้าบางพื้นที่ชอบลาบ ก็สามารถนำไปทำเป็นลาบเห็ดแครง อย่างแกงกะทิเห็ดแครงใส่ใบเหลียงก็เป็นที่นิยม ซึ่งสำหรับผู้ที่รักสุขภาพไม่อยากทานเนื้อสัตว์มาก เห็ดแครงก็สามารถเป็นแหล่งของโปรตีนได้ เพราะวิธีการทำก็ไม่แตกต่างไปจากเดิม แค่เปลี่ยนมาใช้เห็ดแครงเป็นส่วนประกอบเท่านั้นเอง” คุณจิตสุภา บอกถึงคุณประโยชน์ของเห็ดแครง

บรรจุภัณฑ์เพื่อให้เก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น

ซึ่งราคาจำหน่ายเห็ดแครงในท้องตลาดนั้น สามารถจำหน่ายได้หลากหลายราคา ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ โดยราคาสามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่ 250-400 บาท ต่อกิโลกรัม จึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะได้อย่างยั่งยืน

ลาบเห็ดแครง

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะฝึกการเพาะเห็ดแครง คุณจิตสุภา บอกว่า สามารถติดต่อขอฝึกอบรมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครง อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา หรือติดต่อทางหมายเลขโทรศัพท์ (074) 330-241-3 โดยทางศูนย์จะมีการฝึกอบรมให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านใดสนใจซื้อเห็ดแครงเพื่อนำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน หรือจะเป็นสินค้ากับข้าวสำเร็จรูปที่พร้อมรับประทานได้ทันที ก็สามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ ตลาด อ.ต.ก. เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ (02) 790-4545 หรือ www.ortorkor.com