สมุนไพรลดความเสี่ยงโรคไต

ตามปกติแล้ว เมื่อมีใครบอกข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่ฤทธิ์ป้องกันการเป็นโรคไต ข้าพเจ้าจะฟังหูไว้หูเสียก่อน แต่หนักไปทางไม่ค่อยจะเชื่อสักเท่าไร เพราะว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ใดที่บ่งชี้ว่าสมุนไพรป้องกันโรคไตได้จริง ที่ได้ฟังมาบ่อยๆ ก็จะเป็นการอวดอ้างสรรพคุณการรักษา หลอกผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งจริยธรรมและผิดกฎหมายอย่างยิ่ง

มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยแล้วว่า เกริ่นนำมาแบบนี้ แล้วจะนำเสนอสมุนไพรอะไรได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงปัจจัยหรือความเสี่ยงอันนำไปสู่การเกิดโรคไตได้ ในทางแบบแผนปัจจุบัน

มีงานวิจัยระบุไว้ว่า ในคนไข้กลุ่มโรคเมแทบอลิกจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรังมากเป็น 2.65 เท่าของคนปกติ ด้วยเหตุนี้เอง หากเราป้องกันกลุ่มโรคนี้ได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตได้เช่นเดียวกัน

สาเหตุหลักของโรคนี้คือ ความอ้วน ที่ทำให้ร่างกายดื้อต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน จนมีผลเกิดน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันสะสมภายในเซลล์ต่างๆ ความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งโรคไตด้วย

ดังนั้น การรักษากลุ่มอาการนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค โดยเริ่มแรกจะให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น ปรับการรับประทานอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย นอกจากนั้น ก็เป็นการรักษาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ รักษาภาวะไขมันที่ผิดปกติ การรักษาความดันโลหิตสูงและการรักษาน้ำตาลในเลือดสูง

เหงือกปลาหมอ

สมุนไพรทางเลือกที่มีงานวิจัยสนับสนุนในการรักษาปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง จากข้อมูลงานวิจัยที่มีการรับประทานสารสกัดกระเจี๊ยบขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในคนไข้กลุ่มโรคเมแทบอลิก เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ เพิ่มระดับไขมันดี ปรับปรุงการทำงานของอินซูลินให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในประเทศไต้หวัน ได้นำสารสกัดของกระเจี๊ยบแดงให้ผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดน้ำหนัก ภาวะอ้วน ลดกรดไขมันอิสระในเลือดได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น นอกเหนือจากประโยชน์ของฤทธิ์ลดความดันโลหิตของกระเจี๊ยบแดงที่เราต้องการอยู่แล้ว ยังมีข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ในการรักษาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราเสี่ยงต่อโรคไตได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะดูแลร่างกายด้วยการลดอาหารประเภทไขมันและออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เพียงเท่านี้ก็เพียงพอให้เรามีสุขภาพดีแข็งแรงแล้ว

ขอบคุณข้อมูล จาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์ พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี