จันทบุรี-สระแก้ว ถกปัญหาลำไยลูกร่วง-รูดร่วง

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจันทบุรี ปี 2560 ประมาณการผลผลิตลำไย จำนวน 328,458 ตัน เพิ่มขึ้น 32,183 ตัน จากปี 2559 มีจำนวน 296,275 ตัน หรือประมาณ 10% แต่ภาคเกษตรกรประมาณว่าน่าจะเพิ่มถึง 25% หากรวมเกษตรกรที่ไม่ได้จดทะเบียนด้วย ทำให้ปีนี้ลำไยมีวิกฤตกาลเรื่องตลาดและราคาให้เห็นเช่นเดียวกับ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ที่ปริมาณลำไยมากถึง 70% ออกสู่ตลาด จึงทำให้เกิดปัญหาตลาดตัน ราคาลำไยตกต่ำ

ขณะเดียวกันเกษตรกรเห็นว่ามีปรากฏการณ์ใหม่ “ปัญหาการส่งลำไยร่วงออกตลาดต่างประเทศ”  โดยซื้อลำไยลูกร่วง ราคาต่ำ เพื่อแข่งขันตีตลาดลำไยคุณภาพ ซึ่งเป็นการทำลายกลไกตลาด ทำให้ลำไยคุณภาพราคาตกต่ำหรือตลาดตัน หรือถูกลดราคาเป็นลำไยลูกร่วง และในอนาคตตลาดจีนอาจจะไม่ซื้อลำไยจากไทย เพราะเห็นว่าลำไยลูกร่วงไม่มีคุณภาพ จึงควรหาทางออกเร่งด่วนหยุดการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

รวมกลุ่มเกษตรกรสวนลำไย หาทางออก

จากปัญหาลำไยลูกร่วง ส่งออกตลาดต่างประเทศมีผลกระทบเป็นวงจรลงสู่เกษตรกรนี้เอง เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคมนี้ ที่หอประชุมโรงเรียนสอยดาววิทยา อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ได้มีการจัดประชุมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย กลุ่มสหกรณ์ สมาคมชาวสวนลำไย และตัวแทนสภาทนายความจังหวัดจันทบุรีและสระแก้ว เพื่อหาทางออกแก้ปัญหาดังกล่าว

คุณธานัท ประสิ่งชอบ

นำโดยกลุ่มลำไยคุณภาพส่งออก 4.0 คุณธานัท ปะสิ่งชอบ ประธานกลุ่ม คุณปาริชาติ ประสิ่งชอบ สมาชิกกลุ่ม คุณธัญพิสิษฐ์ ประเดิมกุลชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสอยดาวไทยแลนด์ 4.0 คุณอเนก ธรรมสุทธิ์ ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสอยดาว จำกัด คุณพงศ์ศักดิ์ หลิวทวีศรีประกาย นายกสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี และ คุณศักดิ์สิทธิ์ ประสิ่งชอบ รองประธานสภาทนายความจังหวัดจันทบุรี

คุณธัญพิสิษฐ์ ประเดิมกุลชัย

ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่อง “ปัญหาลำไยราคาตกต่ำ สัญญาการซื้อขายลำไยของล้งที่เอาเปรียบ และการส่งออกลำไยร่วงที่เป็นผลกระทบกับชาวสวนลำไย เพื่อหาทางออกและแนวทางแก้ไขราคาลำไยในฤดูกาลต่อไป” โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมประชุม ประมาณ 250-300 คน

 

ลำไยลูกร่วง รูดร่วง (ร่วงไม่จริง)

คุณธานัท ประสิ่งชอบ ประธานกลุ่มลำไยคุณภาพส่งออก 4.0 และเกษตรกรสวนลำไยแปลงใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ด้วยระบบการตลาดส่งออกต่างประเทศ ที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดต้องอาศัย “ล้งจีน” เป็นคนซื้อและส่งออกไปจำหน่ายตลาดจีน ซึ่งตลาดหลักเป็นเมืองใหญ่ เช่น กวางโจว เซี่ยงไฮ้ แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลง พ่อค้าจีนจะไม่รอสินค้าที่ปลายทาง กลับหิ้วกระเป๋าใส่เงินมาทำสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรถึงหน้าสวน เปรียบเสมือนย้ายตลาดกวางโจวมาอยู่ที่จันทบุรีทีเดียว

ด้วยสภาพการค้าขายที่มีการแข่งขันกันสูง พ่อค้าจีนจึงมีกลเม็ดเด็ดพลาย ทำให้ซื้อลำไยได้ราคาต่ำที่สุดและขายให้ได้กำไรมากที่สุด ด้วยวิธี “การตลาดที่แข่งขันซื้อลูกร่วง ที่รูดร่วง (ร่วงไม่จริง) เพื่อตีตลาดลำไยช่อที่มีคุณภาพ” ส่งผลให้เกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระจากการขาดทุนของพ่อค้าที่ซื้อลำไยคุณภาพที่ทำสัญญาซื้อขาย กิโลกรัมละ 30-35 บาท ต่อรองให้ลดราคาเหลือ 16-20 บาท และกดราคาซื้อลำไย เบอร์ 3-4 เป็นราคาลูกร่วง (ร่วงไม่จริง) เพื่อรับซื้อ กิโลกรัมละ 3-5 บาท และเก็บรูดร่วง นำลำไยที่ได้ขนาด เบอร์ 3-4 ไปขายเป็นลำไยคุณภาพ และนำลูกไม่มีคุณภาพหัวเปิดส่งออก ทั้งที่กฎหมายห้าม

ลำไยขายข้างทางไปอำเภอสอยดาว

เมื่อตกลงซื้อขายลูกร่วง พ่อค้าจะให้แรงงานเก็บรูดร่วง และนำไปคัดส่งออกเป็นลำไยคุณภาพ และส่งที่รูดร่วงที่หัวเปิดออกไปด้วย ทั้งที่ต้องนำไปแปรรูป ห้ามส่งออก เพราะเมื่ออบกำมะถัน จะทำให้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปในเนื้อเกินปริมาณที่กำหนด คือ 50 มิลลิกรัม ต่อลำไย 1 กิโลกรัม ลำไยร่วงซื้อราคาถูกขายได้ราคาถูกกว่าลำไยช่อ เบอร์ 1-2 พ่อค้าลำไยช่อต้นทุนสูงกว่าขายแพง ขายไม่ออกขาดทุน สุดท้ายมาขอลดราคาจากชาวสวน ซึ่งลำไยลูกร่วงที่รูดร่วงนี้ ถ้าตรวจสอบพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณเกินกำหนด จีนอาจจะห้ามนำเข้าลำไยไทย ทำให้ชาวสวนจะต้องเดือดร้อนหนัก

รูดร่วง หัวเปิด

“ลำไยร่วง ทำลายตลาดลำไย ลำไยคุณภาพขายไม่ได้ และเกษตรกรส่วนใหญ่ทำลำไยคุณภาพจึงได้รับความเดือดร้อน ล้งพากันชะลอการเก็บตามกำหนดสัญญา รอซื้อลูกร่วง ข้อสรุปคือ ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบมาตรฐานการส่งออกลำไย ไม่ให้มีลำไยด้อยคุณภาพ (ลูกร่วง) ส่งออกไปทำลายตลาดลำไยคุณภาพ ช่วง 3 เดือน ที่ผ่าน

เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน มีปริมาณลำไยออกสู่ตลาดจำนวนมากถึง 70% มีการนำออกไปแพ็กกิ้งที่เวียดนาม ส่งจำหน่ายในตลาดจีน แต่ติดสติ๊กเกอร์ระบุเป็นลำไยไทย ซึ่งเป็นการทำลายตลาดลำไยที่มีคุณภาพของจันทบุรี การแก้ปัญหาเร่งด่วนเกษตรกรต้องไม่ขายลำไยร่วงให้ล้ง ล้งต้องไม่ส่งออกลำไยร่วง เพราะต่อไปผลผลิตลำไยที่ทำสัญญาไว้จะเก็บได้ช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม และไม่ให้เกิดปัญหานี้อีกในปีต่อๆ ไป” คุณธานัท กล่าว

 

เกษตรกรขอความเป็นธรรม ใช้สัญญากลาง

คุณศักดิ์สิทธิ์ ประสิ่งชอบ รองประธานสภาทนายความจันทบุรี กล่าวว่า สัญญาที่ทำส่วนใหญ่ล้งเป็นผู้ทำขึ้น เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ชาวสวนเสียเปรียบ จึงต้องทำสัญญากลางที่ให้เกิดความเป็นธรรมนั้นต้องยึดรายละเอียดของมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องขนาด จำนวนผลต่อกิโลกรัม สัญญาล้งที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่าง

คุณศักดิ์สิทธิ์ ประสิ่งชอบ
  1. 1. การกำหนดไซซ์ เช่น เบอร์ 1 ของล้ง จำนวน 55-60 ลูก ต่อกิโลกรัม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 85 ลูก เบอร์ 4 ของล้ง จำนวน 81-90 ลูก ต่อกิโลกรัม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 114 ลูก ซึ่งตัวเลขแตกต่างกันมาก แต่ล้งนำมาใช้กันทั่วไป ซึ่ง เบอร์ 4 ของล้ง ใกล้เคียงกับ เบอร์ 2 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  2. 2. ปัญหาเงินมัดจำ ซื้อใบก่อน พอล้งมาเก็บ เก็บเบอร์ 1 เบอร์ 2 ขายไม่ได้ จะมาเก็บรูด เบอร์ 3 เบอร์ 4 หรือถึงกำหนดเก็บไปติดต่อแล้วไม่มา ล้งจะกล่าวอ้างคุณภาพลำไยไม่ดี กรณีนี้ชาวสวนถ่ายภาพ จดบันทึกปริมาณของแต่ละต้น ระบุวันที่และมีเจ้าหน้าเกษตรที่เป็นคนกลางมาดูแปลง แจ้งลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ จากนั้นเกษตรกรขายให้คนอื่นได้เลย ก่อนที่ของจะเสียหาย
ลำไยช่อเดี่ยว

“ส่วนใหญ่ชาวสวนไม่ค่อยได้อ่านสัญญาและจะยินยอม เนื่องจากมีการรับเงินมัดจำมาล่วงหน้าแล้ว และอาจจะคิดว่าไม่รู้จะนำไปขายให้ใคร รวมทั้งปัญหาเรื่องเช็คเด้ง ที่ไม่เกิน 3 เดือน สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ หรือเกิน 1 ปี จะหมดอายุฟ้องร้องไม่ได้ ปัญหาล้งผิดสัญญา ชาวสวนเสียเปรียบ ต้องไม่ยอม ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรต้องให้ความรู้กับเกษตรกร ส่วนร่างสัญญากลางเพื่อนำมาใช้ต้องให้ล้งยอมรับด้วย จึงเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องใช้เวลา แต่ในขณะนี้ปัญหาลูกร่วงส่งออก หน่วยงานภาครัฐต้องตรวจตราดูแลอย่างเข้มงวด” คุณศักดิ์สิทธิ์ กล่าว  

 

เกษตรกรรวมกลุ่มตั้งตลาดกลางลำไย

คุณอเนก ธรรมสุทธิ์ ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสอยดาว จำกัด กล่าวว่า ชาวสวนลำไยควรรวมกลุ่มกันเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสอยดาว หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสอยดาวไทยแลนด์ 4.0 เพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่ ส่วนภาครัฐ กลุ่มองค์กรสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับล้ง ให้ความช่วยเหลือสมาชิกด้านเงินทุน ตลาดรับซื้อ รับประกันว่าทำลำไยคุณภาพแล้วมีตลาดรับซื้อแน่นอน ถ้าล้งไม่รับซื้อให้ขายที่สหกรณ์ จะรับซื้อลำไยในราคาเป็นธรรม ราคากิโลกรัมละ 35 บาท ราคาเดียว เบอร์ 1-4 และจ่ายเป็นเงินสดแน่นอน เพราะมีตลาดรองรับอยู่แล้ว จีนและอินโดนีเซีย  และ ปี 2661-2563 สหกรณ์มีแนวทางจะลดปริมาณการใช้สารเคมี หันมาทำลำไยอินทรีย์ เบอร์ 1-3 เป็นลำไยคุณภาพ เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ

คุณอเนก ธรรมสุทธิ์

“ตอนนี้คือต้องหยุดการขายลูกร่วงส่งออกให้ได้ ถ้ามีสัญญาขายให้ล้ง ต้องขายลำไยช่ออย่างเดียว ที่ผ่านมาล้งผิดสัญญา เกษตรกรฟ้องร้องชนะไปหลายคดี เกษตรกรอย่ากลัวถ้าเราไม่ผิดสัญญา หลายคนกลัวแพ้ หรือไม่มีทนายจัดการให้ ถ้าเป็นสมาชิกกลุ่ม องค์กรสามารถมอบอำนาจให้สหกรณ์ดำเนินการได้ มีตัวอย่างฟ้องร้องล้งกันหลายรายและชนะคดีด้วย ซึ่งแนวทางต่อไปควรใช้สัญญากลางที่เป็นธรรม” คุณเอนก กล่าว

คุณธัญพิสิษฐ์ ประเดิมกุลชัย

คุณธัญพิสิษฐ์ ประเดิมกุลชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสอยดาวไทยแลนด์ 4.0 กล่าวสรุปแนวทางแก้ปัญหาลำไยว่า ทางออกของเกษตรกรชาวสวนลำไยคือ

  1. 1. ต้องสร้างกลุ่มในท้องที่ของตนเอง หรือสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เพื่อผลักดันการทำเกษตรแปลงใหญ่ มีการแบ่งพื้นที่ทำ ราดสารให้ผลผลิตกระจายตัวออกไป
  2. 2. ทำตลาดกลางลำไยที่สอยดาวเพื่อส่งออก การสร้างตลาดลำไยถ้าสามารถดึงลำไยให้เข้าสู่ตลาดได้ 40% ล้งจะพยายามวิ่งหาซื้อลำไยอีก 60% ปัญหาล้งผิดสัญญาจะลดลง
  3. 3. ควรใช้สัญญากลาง หน่วยราชการช่วยดูแลร่างสัญญากลางออกมาใช้ และการทำสัญญาควรทำที่หน่วยงานส่วนราชการ หรือสถานที่กลางๆ ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ประชุมจะมีการเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีและคณะกรรมาธิการ กระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป

ภาครัฐรับมือ หาทางออกช่วยเหลือเกษตรกร

คุณปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาลำไยที่เป็นวิกฤตในปีนี้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประชุม เมื่อ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 แก้ปัญหาระยะสั้น ดังนี้

  1. 1. ให้เกษตรกรตรวจสัญญาซื้อขายที่ทำกับล้ง ที่เห็นว่ามีความเสี่ยง เช่น การต่อรองราคา การทิ้งสวน คุณภาพลำไยให้มาแจ้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทางอำเภอจะประสานให้เกษตรกรและล้งได้มีการพูดคุยเป็นที่ตกลงกัน หากตกลงไม่ได้ให้ฟ้องร้อง
  2. 2. ให้เกษตรกรปรับตัว ทำคุณภาพลำไย ที่จะออกในช่วงเดือนมกราคม ให้มี เบอร์ 1-2-3 จำนวน 80%
  3. 3. เพิ่มการแปรรูปลำไย ในเชิงอุตสาหกรรมอาหาร โดยเริ่มที่เกษตรลำไยแปลงใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นราคาตลาด และ
  4. 4. การเตรียมงบประมาณของสหกรณ์การเกษตรและสำนักงานเกษตร เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านขนส่งหากมีลำไยล้นตลาด และระยะยาว ดำเนินการ ดังนี้
  5. 1. วางแผนการผลิตลำไยให้มีการกระจายตัวครอบคลุม 4-5 เดือน แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ 3 เดือน และมีการพักแปลงเพื่อทำคุณภาพ เริ่มจากเกษตรลำไยแปลงใหญ่ที่มีสมาชิก ประมาณ 200 ราย โดยสำนักงานเกษตรจะให้องค์ความรู้และธนาคารเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเงินทุน และ
  6. 2. การใช้สัญญากลาง ร่างสัญญากลางได้เสนอตาม พ.ร.บ. ระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 แล้วอยู่ที่การออกกฎหมายลูกรองรับ น่าจะใช้ได้ใน ปี 2561