แตงโมกินรี-แคนตาลูป สวีทดี 25 (sweet d 25) และพืชผักอื่นๆ ผลงานโดดเด่น ของ แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ฯ ตราตะวันต้นกล้า

แตงโม เป็นผลไม้ยอดนิยม หลังอาหารมักพบผลไม้สามสหายคือ ฝรั่ง สับปะรด และแตงโม

สาเหตุที่แตงโมและเพื่อนๆ ได้รับความนิยมนั้น นอกจากรสชาติดี ราคาไม่แพง และมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว พวกเขามีผลผลิตทั้งปี ซื้อหากันได้ไม่ยาก

ตามท้องถิ่นต่างๆ ที่มีแตงโมวางขายอยู่ จะพบแตงโมยอดฮิตพันธุ์กินรี เจ้าของคือ บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 99/9 หมู่ที่ 4 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 12000

จากซ้ายไปขวา คุณวันชัย ประพฤติธรรม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด คุณสมชาย แก่นเขียว ผู้จัดการฝ่ายขาย และคุณนัฐพล เสราส พนักงานส่งเสริมฝ่ายขาย บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ จำกัด

เกษตรกร รวมทั้งต่างชาติรู้จัก บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ฯ ดี ในนามเมล็ดพันธุ์ “ตราตะวันต้นกล้า”

ในโอกาสที่ บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ฯ ทำแปลงสาธิตอยู่ตำบลสวนพริกไทย นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมีโอกาสไปพูดคุยกับผู้บริหารและนักวิชาการเกษตรของบริษัท ทำให้ทราบว่า มีผลงานที่ยิ่งใหญ่ ได้รับความนิยมมาต่อเนื่องยาวนาน

แตงโมสุดฮิต “กินรี”

คุณกิตติพงษ์ วัฒนเกษมสกุล ประธานบริหาร บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ จำกัด เล่าว่า เริ่มแรกบริษัทวิจัยแตงโม ซึ่งกว่าที่จะได้แต่ละพันธุ์ออกเผยแพร่ ต้องใช้เวลานาน เพราะนอกจากคุณภาพดี ผลผลิตสูงแล้ว ต้องตอบสนองความต้องการของตลาด

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ คืองานวิจัยได้แตงโมกินรี ผลผลิตแตงโมพันธุ์นี้ เป็นที่นิยมของผู้ผลิต เนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพอากาศทุกภาคของประเทศไทย นั่นหมายถึง ปลูกได้ดีทุกท้องถิ่น

คุณกิตติพงษ์ วัฒนเกษมสกุล ประธานบริหาร บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ จำกัด

“งานวิจัยเราเริ่มมานานกว่า 20 ปี แรกสุดแตงโม สถานีวิจัยอยู่ตามต่างจังหวัด ภาคเหนือ ภาคอีสาน ส่วนภาคกลางอยู่รังสิต ร้านปุ๋ยเขาแปลกใจทำไมมีเฉพาะแตงโม เราเริ่มต้นแตงโมอย่างเดียว จากนั้นมี แคนตาลูป เมล่อน แตงกวา แตงร้าน พริก ฟักทอง และอื่นๆ”

คุณกิตติพงษ์เล่า และบอกต่ออีกว่า

“แตงโม…เมืองไทยกินรี เป็นหลัก ผลผลิตสูง แข็งแรง ผลผลิต 4-5 ตัน ต่อไร่ ความหวานสูง ปลูกได้ทั่วประเทศ ตัวอื่นๆ ตลาดต่างประเทศ เนื้อส้มมีบ้าง ขายความแปลกใหม่ กลุ่มผิวลายเมืองไทยนิยม 10 กว่าปีก่อน แต่ผิวลายทุกวันนี้ ตลาดทางบังกลาเทศ ศรีลังกา เปลือกเหลืองมีบ้าง เวียดนามใช้ไหว้ เมืองไทยปลูกพอสมควร”

แตงโมเนื้อสีเหลือง “เยลโล่มูน”

คุณกิตติพงษ์ พูดถึงพืชชนิดอื่นๆ ว่า แคนตาลูป…เด่นสุด sweet d 25 เน้นความหวานเป็นหลัก ใหม่ๆ มีพันธุ์หิมาลัย

ฟักทอง…มีทั้งตลาดเมืองไทยและเมืองนอก ไทยเน้นพันธุ์คางคก นอกจากนี้เริ่มมีทรงยาว

แฟง…ภาคกลางชอบ

ฟักหอม..ภาคอีสานนิยม

มะระ…บ้านเรานิยมมะระจีน ส่วนอินเดีย ศรีลังกา ชอบมะระขี้นกแต่ลูกใหญ่

มะเขือยาว…บ้านเราสีเขียว เมืองนอกสีม่วงเป็นหลัก

“เมล็ดพันธุ์เราวิจัยมามาก แต่ละประเทศชอบไม่เหมือนกัน ทำส่งเมืองนอกด้วย ในเมืองไทยเราแตงโม แคนตาลูป เมล่อน พริกขี้หนู เรามีตัวแทนจำหน่าย มีนักวิชาการเกษตร ให้คำปรึกษา เมล็ดพันธุ์เราเน้นคุณภาพ เมื่อนำไปปลูกประสบความสำเร็จสูง หากคุณภาพไม่ดีเสียหายเยอะ ยอมลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง เปลี่ยนจากพันธุ์ทั่วไป จ่ายเพิ่มไร่ละ 200-300 บาท ผลที่ได้แน่นอน ต้านทานโรค…งานวิจัยสำหรับอนาคตเอาตลาดนำการวิจัย แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อย่างเมืองนอกต้องการสีม่วง ทุกวันนี้มีบริษัทเมล็ดพันธุ์เยอะขึ้น เกษตรกรมีตัวเลือกเยอะขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์” คุณกิตติพงษ์ บอก

 

แคนตาลูป ลงทุน ต้นละ 10 บาท แต่ทำคุณภาพ…ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยุคนี้ พืชที่ให้ผลตอบแทนเร็ว ใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก เห็นจะได้แก่ แคนตาลูป เมล่อน งานผลิตพืชชนิดนี้ มีทั้งนอกและในโรงเรือน การซื้อขายก็มีหลายเกรด

ตามริมถนน สนนราคาอาจจะ 2 ผล ราคา 100 บาท

ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ราคาอาจจะสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท

ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แหล่งผลิตที่ลงทุนสูง ต้องขายแพงหน่อย แหล่งผลิตใช้ทุนต่ำขายราคาไม่แพง ราคาสูงต่ำ เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภค

ถึงแม้แคนตาลูปให้ผลตอบแทนแก่ผู้ผลิตดี แต่การผลิตให้มีคุณภาพดี ราคาสูง ไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณสมชาย แก่นเขียว ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ จำกัด ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการแคนตาลูปมานาน บอกว่า ทุกวันนี้ เกษตรกรปลูกแคนตาลูปส่วนหนึ่ง ต้องการผลผลิตที่มีขนาดใหญ่ จึงเร่งปัจจัยการผลิตมากเกินไป อาจจะได้ผลผลิตขนาดใหญ่จริง แต่ความหวานไม่ได้

เกษตรกรกับผลผลิตแตงโมที่ปลูก

“ผมอยู่ในวงการวิจัยมา 20 ปีแล้ว ดูแลเรื่องการจัดการแปลงมากกว่า…เกษตรกรทำไซซ์ได้ แต่ทำความหวานไม่ได้  แคนตาลูปและเมล่อนบ้านเรากำลังบูม แต่มีหลายเกรด หวานน้อย ไปจนถึงหวานมาก

…หลักการทำแคนตาลูปและเมล่อนให้มีคุณภาพนั้น ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ไม่เร่งปัจจัยการผลิตมากเกินไป ในช่วงที่พืชชนิดนี้เริ่มได้รับความนิยม เกษตรกรโหมผลิตกัน แต่ประสบปัญหาทำได้ไม่ดีพอ บริษัทจึงตั้งทีมขึ้นมา เริ่มตั้งแต่วิจัยพันธุ์ รวมทั้งวิธีการผลิต จากนั้นไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ทุกวันนี้ถือว่าได้ผลดีมาก”

เนื้อแคนตาลูปสวีทดี 25

คุณสมชายบอก และเล่าต่ออีกว่า

“งานผลิตของเกษตรกรที่เราดูแลอยู่ ชัดเจนดีมาก ผลผลิตที่ได้ 3-4 ตัน ต่อไร่ ราคาซื้อขายแล้วแต่จังหวะ ถ้าขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท เกษตรกรได้เงินหลักแสนบาทต่อไร่ ใช้เวลาไม่นาน ถ้าราคาตาย 10 บาท เกษตรกรเดือดร้อน ที่พอใจกันคือ 17-18 บาท ต่อกิโลกรัม ราคานี้จากแปลงปลูก เมื่อถึงคนกินสูงถึงเท่าตัว”

เนื้อเมล่อนเลดี้กรีน

ช่วงที่คุณสมชายตั้งทีมขึ้นมา แล้วให้คำปรึกษากับเกษตรกร ผลิตแคนตาลูปได้ความหวาน 10-11 บริกซ์ ก็สามารถส่งห้างสรรพสินค้าได้ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน มาตรฐานสูงขึ้น ส่งห้างต้องหวาน 14 บริกซ์ขึ้นไป

คุณสมชาย บอกว่า ต้นทุนการผลิตทุกวันนี้ อยู่ที่ต้นละ 10 บาท ซึ่งก็หมายถึง ผลละ 10 บาท นั่นเอง เนื่องจากแตง 1 ต้น ให้ผลได้ 1 ผล ต้นทุนที่ 10 บาท ไม่ได้รวมค่าโรงเรือนแต่อย่างใด

วันที่ไปพูดคุยกับคุณสมชาย แปลงสาธิตที่ปทุมธานี เพิ่งผ่านฝนมาใหม่ๆ แต่ก็เห็นผลผลิตสวยๆ ทั้งแตงโม แคนตาลูปและเมล่อน

คุณสมชาย แนะนำการทำแปลงปลูกว่า ยกแปลงขึ้น ใช้ซาแรนเป็นขอบแปลง สูง 15-20 เซนติเมตร แล้วจึงใช้วัสดุปลูก เน้นขุยมะพร้าว…ขอบแปลงอาจจะมีเกษตรกรบางคนใช้อิฐบล็อก ทำได้ แต่การระบายน้ำไม่ดี

เลดี้กรีน

“พันธุ์ของบริษัท ตอนนี้เด่นมากๆ และกำลังได้รับความนิยมคือ สวีทดี 25 เลดี้กรีน หิมาลัย ผู้ปลูกพูดถึงกันมาก แหล่งผลิตของเกษตรกรมีอยู่ทั่วไป เมื่อก่อนอาจจะมีมากที่สระแก้ว ต่อมาขยายมาทางภาคกลาง ภาคเหนือ อีสาน สนใจซื้อเมล็ดพันธุ์ มีจำหน่ายทั่วไป…ที่สระแก้วปลูกซ้ำที่มีปัญหา แต่เราพบเทคโนโลยีใหม่ ปลูกซ้ำที่ได้ รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่ทำให้หวาน ของเราก็มี” คุณสมชาย บอก

เรื่องราวของงานผลิตแคนตาลูป น่าสนใจทีเดียว คุณสมชาย บอกว่า ตลาดยังต้องการมาก

ที่พบเห็นอยู่ หวานน้อย อาจจะส่งโรงงาน หรือขายราคาไม่แพง

ส่วนคุณภาพดี รสหวาน ส่งขึ้นห้าง ราคาแพง ถึงแพงมาก

คุณสมชาย บอกว่า ยินดีให้คำปรึกษา โดยเฉพาะการผลิตให้มีคุณภาพ ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (092) 689-0101 หรือติดต่อที่ บริษัท แอ๊ดว้านซ์ซีดส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 99/9 หมู่ที่ 4 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 12000 โทรศัพท์ (02) 958-8476-8