ชวนเที่ยว 20 แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรกรรม

ประเดิมปักษ์แรกของปี 2561 ด้วยการพาเที่ยวแบบธรรมชาติ เที่ยวแบบได้รับความรู้กลับมา ขึ้นกับผู้รับว่าจะนำไปต่อยอดใช้หรือเพื่อการสะสมความรู้ในตนเอง เป็นการเที่ยวชนิดที่ได้รับความสุข ความเพลิดเพลิน เสมือนการพักผ่อน แต่เป็นการลับสมองไปในตัว

ประเทศไทยเรา มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก เนื้อที่ทั้งหมดราว 513,115 ตารางกิโลเมตร พื้นที่มากขนาดนี้ หากมีปัจจัยพร้อมพอ เชื่อว่าไม่น่าจะมีท่านใดพลาดโอกาสในการเปิดโลกทรรศน์

ในยุคที่ความคล่องตัวในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว ค้นหาง่ายด้วยปลายนิ้วมือ ในบางครั้งอาจไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ก็สามารถจัดการกับทริปการเดินทางอันแสนสุขได้ไม่ยาก แต่ถ้าจะให้ดี การเตรียมตัวสำหรับการเดินทางทุกครั้ง ย่อมดีอยู่แล้ว

ปักษ์พาเที่ยวปักษ์นี้ ไม่ได้เตลิดออกไปไกลเกินกว่าเนื้อหาในภาคเกษตรกรรมของเล่ม ผู้อ่านสามารถตัดสินได้ด้วยเนื้อหาต่อไปนี้

หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงนั้นเห็นจะไม่มี จะมีข้องเกี่ยวบ้างก็อยู่ที่นโยบายของแต่ละกรม เท่าที่ทราบมีหลายหน่วยงานที่เจียดงบประมาณนำไปพัฒนาหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเติมไฟไม่ให้การพัฒนาพื้นที่เป็นการจัดการโดยสูญเปล่า อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

กรมวิชาการเกษตร ที่ดูเหมือนเป็นงานด้านวิชาการ งานนโยบาย งานยุทธศาสตร์ งานขับเคลื่อน งานวิจัย ก็ยังมี

ปี 43 จับมือพันธมิตร
เปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนำร่อง

โดยปกติ กรมวิชาการเกษตร มีหน่วยงานที่ทำงานด้านวิชาการ มีการพัฒนาและวิจัยพืช เพื่อนำผลงานวิจัยไปส่งต่อให้กับกรมอื่นในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้นำไปต่อยอด และนำไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรหรือผู้สนใจนำไปใช้ หน่วยงานเหล่านั้นตั้งกระจายไปทั่วประเทศ

และมีนักวิจัยที่มีความชำนาญเฉพาะด้านศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้นๆ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก, ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร, ศูนย์ปฏิบัติการเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี หรือศูนย์ควบคุมยางสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ด้วยการพิจารณาความเหมาะสมของหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบ ปรับหรือเรียกได้ว่า เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับเลือกให้เป็นแม่งานรับผิดชอบในการพิจารณาเลือกหน่วยงานในสังกัดของกรมวิชาการเกษตรด้วยกัน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

คุณสมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร รับหน้าที่มาดูแลโดยตรง ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ ว่า ปี 2543 ยุคที่การท่องเที่ยวในประเทศกำลังขยายตัว กรมวิชาการเกษตรได้จับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นพันธมิตรในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.)

เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ และส่งเสริมการสร้างรากฐานในการพัฒนาประเทศระยะยาว ทำให้มีงบประมาณจากโครงการครั้งนั้นจำนวนหนึ่ง ดำเนินโครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร และให้สถาบันวิจัยพืชสวนเป็นผู้พิจารณาเลือกหน่วยงานที่มีความเหมาะสมและมีความพร้อมในการพัฒนา ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มีหน่วยงาน 9 แห่ง ที่มีความเหมาะสม

ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถานที่ทดลองเกษตรที่สูงวาวี ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย (ภูเรือ) ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี

ในการปรับปรุงครั้งนั้น ทั้ง 9 แห่ง ได้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สถานที่จอดรถ ถนน ห้องน้ำ ห้องอาหาร ศาลาชมวิว หรือศาลาพักผ่อน รวมถึงที่พัก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชม

 

โดดเด่นงานวิจัย
ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร

ทำไมต้องเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของกรมวิชาการเกษตร คุณสมบัติ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีจุดเด่น คือ งานวิจัยที่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ ซึ่งเมื่อนักวิชาการทำงานวิจัย เก็บข้อมูล และได้ผลในเชิงวิจัยแล้ว การเผยแพร่งานวิจัยส่งต่อไปยังผู้สนใจหรือเกษตรกรมีช่องทางไม่มากนัก อาจอาศัยการจัดสัมมนาเชิงวิชาการในการเผยแพร่งานวิจัยไปยังนักวิชาการของกรมส่งเสริมการเกษตร

หรือในโอกาสที่กรมกองอื่นเชิญมา นอกจากนี้ แต่ละสถานที่ยังมีพื้นที่ทำแปลงวิจัยจริง มีความหลากหลายของพันธุ์พืชที่เจริญเติบโตได้ดีและมีเฉพาะถิ่น ซึ่งเปิดให้เข้าชมเพื่อศึกษาเรียนรู้จากของจริง ทั้งยังมีนักวิชาการให้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้เผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ เกษตรกรเข้าไปสัมผัสพันธุ์พืชของจริง และได้รับความรู้ในเชิงวิชาการ สามารถนำไปต่อยอดได้ ทำให้งานวิชาการหรืองานวิจัย ไม่เป็นเพียงงานวิจัยขึ้นหิ้งอีกต่อไป

“แต่ละศูนย์มีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น จันทบุรี มีความหลากหลายของสายพันธุ์ทุเรียนหลายร้อยสายพันธุ์ สุโขทัย มีความหลากหลายของสายพันธุ์กล้วย ส่วนศูนย์ที่ตั้งในภาคเหนือ ก็มีความโดดเด่นในเรื่องของสายพันธุ์พืชเมืองหนาว ทั้งสภาพอากาศยังหนาวเย็นตลอดปีอีก แต่ละแห่งมีความโดดเด่นที่ไม่ซ้ำกัน อีกทั้งยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวหลักของจังหวัดนั้นๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว”

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน บอกด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2543 เริ่มเปิดให้บริการ 9 แห่งแรก ได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากมีงบประมาณสนับสนุนในการปรับปรุงสถานที่และบำรุงรักษา และมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวช่วยแบ่งเบาภาระในการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน แต่ต่อมาเมื่อวัสดุอุปกรณ์เสื่อมลง ความสะดวกสบายและความพร้อมในหลายๆ เรื่องก็ลดน้อยลงตามลำดับ

แม้ว่าแต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน แต่เพราะงบประมาณในการดำเนินงาน และบุคลากรที่มีความเฉพาะทางไม่มี ทำให้การให้บริการที่ดูเหมือนจะเป็นงานหลักของการท่องเที่ยวไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร

“จริงๆ แล้ว เป็นนโยบายจากกรมวิชาการเกษตรและสถาบันวิจัยพืชสวน ให้บุคลากรทุกคนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของศูนย์ ซึ่งที่ผ่านมาบุคลากรทุกคนเต็มที่ แต่ต้องเข้าใจถึงความไม่ถนัดในวิชาชีพ เนื่องจากบุคลากรส่วนใหญ่ของศูนย์ เป็นนักวิชาการและนักวิจัย การจะให้มาทำงานด้านประชาสัมพันธ์หรืองานบริการ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถนัดนัก แต่ทุกคนก็เต็มใจทำ ตั้งแต่ผู้อำนวยการ นักวิชาการ นักวิจัย คนงาน หรือแม้กระทั่งแม่บ้าน ก็ต้องให้เวลากับงานบริการเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา”

ทยอยเปิดเพิ่มอีก 11 แห่ง
เด่นพันธุ์พืช เด่นธรรมชาติ

ถัดมาไม่กี่ปี เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว กรมวิชาการ โดยสถาบันวิจัยพืชสวน ก็พิจารณาเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรเพิ่มอีก 9 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ (ฝาง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต

และปี 2559 พิจารณาเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี
ทั้งหมดนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน บอกว่า เมื่อ 9 แห่งแรกดำเนินการแล้วได้รับการตอบรับดี อีก 9 แห่ง และ 2 แห่ง ที่เปิดให้บริการต่อมา จึงเป็นเสมือนความหวังของกรมวิชาการเกษตร ในการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยออกไป

ในความหมายของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน หมายถึง เป็นเรื่องดีที่ได้เผยแพร่งานวิจัยให้เป็นที่รู้จัก และผู้สนใจสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงการเกษตรได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีขององค์กรที่น่าชื่นชม

แต่สิ่งที่ตามมา คือ เมื่อเปิดให้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรแล้ว งานบริการก็ต้องเกิดขึ้นและให้ดีตามสถานที่ท่องเที่ยวควรจะเป็น บุคลากรที่มีอยู่จำกัดและไม่มีความถนัดในงานประชาสัมพันธ์หรืองานบริการ จึงควรมองข้ามและไม่นำมาเป็นข้อด้อยหรือจุดบกพร่องของสถาบัน
ตลอดการบริหารจัดการศูนย์ทั้ง 20 แห่ง  ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรมองเห็นความสำคัญ จึงได้อนุมัติงบประมาณให้เกลี่ยไปทุกศูนย์เท่ากัน เป็นเงิน 2.5 ล้านบาท ต่อปี

อย่างที่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวนให้ข้อมูลว่า แต่ละศูนย์มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่แวะเข้าไปเยี่ยมชมต่างกัน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้เกี่ยวข้องกับรายได้ที่เข้ามายังศูนย์ด้วย โดยเงินรายได้จะต้องนำคืนเข้ากรม กระทรวง ตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อเสนอจากกรมวิชาการเกษตรเอง ให้เงินรายได้ที่ศูนย์นั้นๆ สร้างรายได้ของตนเองขึ้นมา ให้นำงบประมาณกลับไปใช้บริหารจัดการภายในศูนย์ร้อยละ 80 ของเงินรายได้

“ศูนย์ของเราเป็นหน่วยงานราชการ การเข้าชมพรรณไม้ บอร์ดงานวิชาการ หรือข้อมูลต่างๆ ที่ศูนย์จัดแสดง แบบไม่พักค้าง ศูนย์ไม่เก็บค่าเข้าชม จึงไม่ถือเป็นรายได้ ซึ่งรายได้ที่แต่ละศูนย์จะได้รับ คือ การพักค้างของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแต่ละครั้งเท่านั้น”

วอนนักท่องเที่ยวไม่คาดหวัง
นักวิจัยผันตัวทำงานบริการ

คุณสมบัติ บอกด้วยว่า ค่าบริการที่พัก ห้องประชุม ห้องอาหาร ราคาไม่สูง เพราะต้องยอมรับว่า ความสะดวกสบายครบครันเช่นโรงแรม รีสอร์ต ทั่วไป อาจไม่ได้รับอย่างเต็มที่ เนื่องจากที่พักของศูนย์ส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงมาจากบ้านพักข้าราชการ บางแห่งไม่มีเครื่องปรับอากาศ บางแห่งไม่มีโทรทัศน์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จึงขอให้นักท่องเที่ยวไม่คาดหวังในความสะดวกสบายเหล่านั้น

“พูดง่ายๆ คือ เราไม่มีนักประชาสัมพันธ์ ไม่มีพนักงานบริการ เรามีเจ้าหน้าที่ราชการที่มาจากนักวิชาการ นักวิจัย คนงาน ที่ผันตัวมาทำงานด้านบริการให้กับนักท่องเที่ยว เขาจึงไม่มีความถนัดเฉพาะทาง แต่ก็สามารถให้บริการอย่างเต็มที่ตามความสามารถเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่พัก อาหาร หรืองานบริการด้านความสะดวกสบายอื่นๆ เช่นเดียวกับโรงแรม รีสอร์ต อาจจะครบครัน เพราะงบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการมีอย่างจำกัด ขอเพียงนักท่องเที่ยวไม่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในงานบริการ แต่สิ่งที่จะได้รับในเชิงวิชาการ ความรู้ และสิ่งแปลกใหม่ของพรรณพืช ธรรมชาติ รับรองได้ว่า เรามีให้อย่างเต็มที่ ไม่ผิดหวังแน่นอน”

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เพราะงานบริการที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลของงานวิจัยที่พร้อมจะถ่ายทอดเป็นเทคโนโลยีให้กับผู้สนใจ เกษตรกร หรือนักท่องเที่ยว มีอยู่แล้ว

ทำให้ในทุกปีสถาบันวิจัยพืชสวน มองหาศูนย์ที่มีความเหมาะสมเปิดให้บริการเพิ่มในทุกๆ ปี โดยจะเปิดให้บริการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จังหวัดตรัง เพิ่มได้อีกแห่งในปีนี้ (2560)

ท้ายที่สุดของงานบริการ จากส่วนงานที่มีความพร้อมในงานวิชาการ ขอให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าเยี่ยมชม เข้าพัก ประสานล่วงหน้าผ่านทางโทรศัพท์ เนื่องจากการพัฒนาทางระบบออนไลน์ยังคงเป็นจุดบอด หากเข้าไปใช้บริการโดยไม่ประสานล่วงหน้ามาก่อน เกรงว่าจะไม่ถูกใจนัก เพราะอาจให้บริการได้ไม่ครบถ้วนตามความต้องการนักท่องเที่ยว แต่สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ให้คำมั่นว่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ที่เปิดให้บริการแล้ว 20 แห่ง และจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง พร้อมให้บริการอย่างเต็มความสามารถอย่างแน่นอน

 

ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร

1. ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย


สัมผัสทัศนียภาพสวยงามและความหลากหลายของไม้ดอกไม้ประดับ ไม้เมืองหนาว กล้วยไม้หายาก กล้วยไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ ชมทุ่งดอกปทุมา กระเจียว แปลงการผลิตพืช เช่น การผลิตไผ่หวาน มะนาวนอกฤดู การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ศูนย์เรียนรู้แปลงต้นแบบการผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่”

และชมฝูงนกน้ำนับหมื่นตัวที่อพยพมาอยู่อาศัยภายในบึงน้ำขนาดใหญ่ 300 ไร่ สนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การผลิตชาเจียวกู้หลาน การเพาะเห็ด การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีหมุนเวียนตามฤดูกาล

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดร่องขุน วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ 9 จอม สิงห์ปาร์ค พระตำหนักดอยตุง ล่องเรือแม่น้ำกก
ที่อยู่ : เลขที่ 72 หมู่ที่ 6 ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000
โทรศัพท์ : (053) 170-100, (053) 170-101 โทรสาร : (053) 170-103

2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี)

แหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรบนยอดดอยที่สวยงามแห่งหนึ่งของเชียงราย เป็นที่ศึกษาดูงานการผลิตพันธุ์พืชบนพื้นที่สูง อาทิ มะคาเดเมีย ชาจีน ชาอัสสัม ไม้ผลเมืองหนาว เช่น สาลี่ ท้อ บ๊วย พลับ พลัม เกาลัดจีน การผลิตกาแฟแบบครบวงจร สัมผัสวิถีชาวเขาบนดอยช้างท่ามกลางอากาศเย็นสบายตลอดปี ชมไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวสวยสดแปลกตา พร้อมชง ชิม ชาพันธุ์ดี

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : ชมไร่ชา และชิมชาดอยวาวี ชมทะเลหมอกดอยกาดผี
ที่อยู่ : เลขที่ 3 หมู่ที่ 6 ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย 57000
โทรศัพท์ : (053) 605-941, (053) 605-955 โทรสาร : (053) 605-935

3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ (ฝาง)
เป็นแหล่งวิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเกษตรในเขตภาคเหนือตอนบน รวบรวมและปรับปรุงพันธุ์พืช เช่น ลิ้นจี่ มันฝรั่ง ชา กาแฟ หน้าวัว มะคาเดเมีย พืชผัก ไม้ดอก ชมแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้และหน้าวัว สนุกกับกิจกรรม walk rally และการเดินป่า ชมทัศนียภาพความงามของขุนเขาที่โอบล้อมรอบอำเภอฝาง

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก โป่งน้ำร้อนฝาง และวัดท่าตอน
ที่อยู่ : เลขที่ 15 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50110 โทรศัพท์ : (053) 451-441-2

4. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน
ชมไม้ดอกเมืองหนาว แปลงรวบรวมพันธุ์มะคาเดเมีย ไม้ผล และพืชผัก ชมศูนย์เรียนรู้แปลงต้นแบบการผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้เอื้องแซะตามพระราชเสาวนีย์

ชมการแปรรูปและชิมกาแฟอาราบิก้า ศึกษาดูงานของศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ ที่มีฐานเรียนรู้ทางการเกษตรต่างๆ ศูนย์ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน 4 กิโลเมตร บรรยากาศสงบ สวยงาม ติดลำน้ำปาย สามารถล่องเรือชมธรรมชาติและทัศนียภาพริมน้ำปาย และภายในศูนย์ได้ตลอดปี

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดพระธาตุดอยกองมู หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว (บ้านห้วยเสือเฒ่า) สะพานซูตองเป้ สวนธรรมภูสมะ พุทธศาสนสถาน
ที่อยู่ : เลขที่ 193 หมู่ที่ 5 (บ้านท่าโป่งแดง) ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โทรศัพท์ / โทรสาร : (053) 684-377

5. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)
เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาพันธุ์กาแฟอาราบิก้า ที่รวบรวมไว้มากที่สุดของประเทศไทย เป็นแหล่งวิจัยทดสอบและพัฒนาพันธุ์พืชจากต่างประเทศ เช่น มะคาเดเมีย กาแฟอาราบิก้า ไม้ผลเมืองหนาว อาทิ พีช เน็คทารีน บ๊วย พลับ พลัม

ชมสีสันของไม้ดอกเมืองหนาว และดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งทั้งดอยขุนวางในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ชมสาธิตการเก็บเกี่ยวแปรรูปกาแฟและมะคาเดเมีย การผลิตกาแฟครบวงจร การปลูกมันฝรั่งแบบ Aeroponic  สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : ดอยอินทนนท์ ล่องแพแม่วาง อุทยานธรรมชาติผาช่อ
ที่อยู่ : หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ : (053) 114-133-6 โทรสาร : (053) 114-072

6. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง)
ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งขุนเขา อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี สัมผัสความงามไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผลเมืองหนาวหลากหลายชนิดผลัดเปลี่ยนกันออกดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวหมุนเวียนตามฤดูกาล

เป็นศูนย์วิจัยและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร สามารถชมทะเลหมอก ดูพระอาทิตย์ตก สัมผัสความหนาว พร้อมจิบชา-กาแฟ ในบรรยากาศอันน่าประทับใจ  สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : ดอยอินทนนท์ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร
ที่อยู่ : หมู่บ้านแม่วาก หมู่ที่ 18 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  โทรศัพท์ : (053) 114-133-6

7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่
ตั้งอยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติห้วย เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช มีการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ เช่น ศึกษาพันธุกรรมและการขยายพันธุ์พืช การเพาะเห็ด สาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน การแปรรูปผลผลิตการเกษตรและไวน์ผลไม้ที่หมุนเวียนตามฤดูกาล ชมทุ่งดอกกระเจียว ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน และสวนส้มเขียวหวานในเดือนพฤศจิกายน


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดพระธาตุช่อแฮ แพะเมืองผี ถ้ำผานางคอย
ที่อยู่ : เลขที่ 205 หมู่ที่ 5 ตำบลวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่  โทรศัพท์ / โทรสาร : (054) 556-426

8. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ)
บนพื้นที่ 3,000 ไร่ ณ ดอยมูเซอ สวยงามด้วยภูมิทัศน์ธรรมชาติ แปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับ แปลงไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ อะโวกาโด มะคาเดเมีย มะเดื่อฝรั่ง สตรอเบอรี่ ชมแปลงกาแฟอาราบิก้า พร้อมสาธิตการเก็บเกี่ยวและแปรรูปกาแฟ

สัมผัสวิถีชีวิตชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ ตามสโลแกน “มูเซอ ดอยแห่งธรรมชาติ พืชสวน และวิถีชีวิตชนเผ่า” สัมผัสอากาศที่เย็นสบายในทุกฤดู จึงเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดปี
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน เขื่อนภูมิพล สะพานมิตรภาพไทย-พม่า
ที่อยู่ : เลขที่ 65 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก
โทรศัพท์ : (086) 107-1701 โทรสาร : (055) 508-987

9. ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย
เป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชสวน เช่น ไม้ผลพื้นเมือง ได้แก่ มะตาด มะดัน ตะลิงปิง มะขวิด ชำมะเลียง มะไฟ มะกอกน้ำ มะกอกป่า ลูกหว้า สาเก และไม้ผลอื่นๆ เช่น มะปราง มะยงชิด กระท้อน เป็นต้น มีแปลงวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตพืช เช่น มะม่วง ส้มโอ กล้วย และรวบรวมพันธุ์กล้วยแปลกๆ ไว้จำนวนมาก

เป็นศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ผล เช่น มะม่วง กล้วย มะนาวตาฮิติ มะนาวพิจิตร 1 ส้มโอ เป็นต้น สามารถเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาหาความรู้ และชม ชิม ซื้อ ผลผลิตได้ตามฤดูกาล
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย งานลอยกระทง
ที่อยู่ : เลขที่ 239 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  โทรศัพท์ : (055) 679-084-6

10. ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย (ภูเรือ)
สัมผัสธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศทิวทัศน์ภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศหนาวเย็นตลอดปี ชมสีสันความงามของไม้ดอกไม้ประดับ ความหลากหลายของไม้ผลเมืองหนาว พืชผักสมุนไพร ท่องเที่ยงานเทศกาลไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณเบ่งบานที่ภูเรือ เทศกาลกินผักเมืองหนาว เห็ดหอมสด สตรอเบอรี่ มะคาเดเมียอบเกลือ ชมความงามน้ำค้างบนยอดหญ้าในฤดูหนาว ชมแปลงสาธิตเรียนรู้การปลูกพืชบนที่สูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : สวนรุกขชาติภูแปลก ต้นน้ำป่าสัก อุทยานแห่งชาติภูเรือ ชาโต้ เดอ เลย พระธาตุศรีสองรัก และพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน
ที่อยู่ : เลขที่ 85 หมู่ที่ 6 บ้านหินสอ ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย  โทรศัพท์ : (042) 039-891

11. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ)
เขาค้อ ดินแดนแห่งขุนเขา “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย” เคยเป็นสมรภูมิรบความขัดแย้งทางความคิดและการเมือง จนกลายมาเป็นดินแดนอันสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมภายในศูนย์ได้ตลอดทั้งปี

ชมแปลงปลูกพืชผักเมืองหนาว สตรอเบอรี่ มะคาเดเมีย กาแฟอาราบิก้า อะโวกาโด พลับ บ๊วย ไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ ชม ชิม ซื้อ ผลิตผลจากงานวิจัย เช่น มะคาเดเมียอบเกลือ กาแฟอาราบิก้า สตรอเบอรี่ และผักสดจากแปลง ตลอดจนพักค้างแรม สัมผัสบรรยากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ตามสโลแกน “พักเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี”


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : พระตำหนักเขาค้อ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ น้ำตกศรีดิษฐ์ ทุ่งแสลงหลวง วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
ที่อยู่ : เลขที่ 51 หมู่ที่ 3 บ้านเสลี่ยงแห้ง 1 ตำบลสะเดาะพง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
โทรศัพท์ : (056) 811-024 โทรสาร : (056) 810-025 โทรศัพท์มือถือ (086) 272-0061
อีเมล : [email protected]

12. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย
ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำโขง ภายในศูนย์มีการปลูกรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์พืชหลากหลาย ได้แก่ ไม้ผลพื้นบ้าน เช่น มะเกี๋ยง ผักพื้นบ้าน สมุนไพร นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ ศูนย์ยังอยู่ใกล้จุดชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เพียง 2 กิโลเมตร


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย ตลาดท่าเสด็จ ศาลาแก้วกู่ ภูทอก
ที่อยู่ : กิโลเมตรที่ 63 ถนนหนองคาย-บึงกาฬ ตำบลรัตนวาปี อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย
โทรศัพท์ : (042) 490-936 โทรสาร : (042) 490-935

13. ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี
ภายในพื้นที่กว่า 200 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชม ขี่จักรยาน นั่งรถพ่วงลาก ชมแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ผลเขตร้อน เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง และเพลิดเพลินกับการชมระบบนิเวศวิทยาที่มีการเกื้อกูลกันระหว่างสัตว์ป่าธรรมชาติและไม้ผล ซึ่งมีนกหลากหลายชนิด เช่น กระจ้อน กระถิก ที่พบได้ตลอดเส้นทางท่องเที่ยว

เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต เช่น การผลิตเงาะนอกฤดู แปลงอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณ และทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่ ที่มีปลูกรวบรวมไว้กว่า 500 สายพันธุ์ แปลงรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ป่าในภาตตะวันออกมากกว่า 50 สายพันธุ์ แปลงพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด เรียนรู้ขั้นตอนการขยายพันธุ์ไม้ผลที่ฝึกปฏิบัติจริงกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง ชม ชิม ซื้อผลผลิตตามฤดูกาล และผลิตภัณฑ์แปรรูปของศูนย์และสวนเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีบริการรถพ่วงลาก รถจักรยาน
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว น้ำตกเขาสอยดาว วัดเขาสุกิม อ่าวคุ้งวิวาน
ที่อยู่ : เลขที่ 63 หมู่ที่ 6 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรีโทรศัพท์ : (039) 397-030, (039) 397-146

14. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี
ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตสับปะรด เพื่อการวิจัยและทดลองปลูก รวบรวมพันธุ์สับปะรดมากกว่า 50 สายพันธุ์ ชม ชิมสับปะรดฉีกตา (เพชรบุรี) สับปะรดหวานพันธุ์ดีเนื้ออร่อยได้ทุกฤดูกาล มีจุดชมวิวอยู่บนยอดเขาปัณเกรณูที่แวดล้อมด้วยป่าโปร่งและป่าปลูก บริเวณบนยอดเขาเป็นแหล่งอาหารของนกนานาชนิด และทิวทัศน์สามารถมองเห็นบรรยากาศภายในศูนย์ได้รอบทิศ


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชวังนิเวศน์มฤคทายวัน หาดชะอำ

ที่อยู่ : เลขที่ 60 หมู่ที่ 3 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร : (032) 772-852-3

15. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร
แหล่งรวบรวมความหลากหลายของพันธุ์มะพร้าว ชมทิวทัศน์ของทุ่งกาแฟโรบัสต้า สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ปลูกรวบรวมพันธุ์ไว้ในพื้นที่กว่า 2 ไร่ พืชสมุนไพรและเครื่องเทศกว่า 1,000 ชนิด พืชผักพื้นเมืองไม่น้อยกว่า 200 ชนิด กล้วยไม้พื้นเมืองของภาคใต้มากกว่า 100 ชนิด แปลงสาธิตการปลูกโกโก้ กาแฟ สะละ ดาหลา แซมในสวนมะพร้าวอาคารนิทรรศการจัดแสดงข้อมูลพันธุ์กาแฟโรบัสต้า มะพร้าว โกโก้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าว

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : น้ำตกโพธิ์สาลี สวนนายดำ
ที่อยู่ : เลขที่ 70 หมู่ที่ 2 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
โทรศัพท์ : (077) 556-073 โทรสาร : (077) 556-026

16. ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี
แปลงรวบรวมเชื้อพันธุกรรมของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปาล์มน้ำมัน การวิจัยศักยภาพของพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี ภายใต้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แปลงผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมัน แปลงรวบรวมพันธุ์ปาล์มประดับ แปลงรวบรวมพันธุ์เงาะโรงเรียน ไม้หอม และพืชสมุนไพร แปลงศึกษาพืชตระกูลลางสาด ลองกอง


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : เกาะสมุย หาดในเพลา
ที่อยู่ : เลขที่ 126 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีโทร(077) 259-144-6 (077) 259-040

17. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่
ภายในศูนย์มีป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาหินปูน ถ้ำหินย้อย ลำห้วยน้ำใส มีแปลงปลูกรวบรวมพันธุ์ยางพารา ชมต้นยางเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดกระบี่ ไม้ผลเมืองร้อน ไม้ดอกไม้ประดับ กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ และพืชสมุนไพรกว่า 1,000 ชนิด ที่ปลูกรวบรวมเป็นสวนป่าสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ แปลงไม้หอมมากกว่า 100 ชนิด กิจกรรมเดินป่า ปีนเขา ปั่นจักรยาน ชมทัศนียภาพสวยงามที่อนุรักษ์ไว้อย่างดี


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : ทะเลแหวก น้ำตกร้อน สระมรกต
ที่อยู่ : เลขที่ 105 ถนนเพชรเกษม หมู่ที่ 1 ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
โทรศัพท์ / โทรสาร : (075) 694-217

18. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต
ชมแปลงยางพาราและการผลิตยางคุณภาพครบวงจร การสาธิตการกรีดยางจนถึงขั้นตอนการผลิตเป็นยางแผ่นชั้นดี การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา ศึกษาดูงานการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ตัดใบเพื่อเสริมรายได้ในสวนยาง กิจกรรมเดินเที่ยวชมสวนป่า ปาล์มหายาก กล้วยไม้ป่าหลายชนิดให้ศึกษา เป็นแหล่งหากินของนกนานาชนิด


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดพระทอง หรือวัดพระผุด น้ำตกโตนไทร อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (หาดในยาง)
ที่อยู่ : เลขที่ 166 หมู่ที่ 9 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
โทรศัพท์ / โทรสาร : (076) 621-157

19. ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
ภายในศูนย์พบความหลากหลายของพันธุ์ไม้ผล พันธุ์พืชสวน และชมแปลงรวบรวมพันธุ์ทุเรียน ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในศูนย์ พบกับทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่น ศึกษาดูงานการทดลองด้านไม้ผลที่เป็นพืชท้องถิ่น เช่น ทุเรียน พริก หอมแดง กระเทียม เงาะ และพืชสมุนไพรที่อนุรักษ์ไว้อย่างดี


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดสระกำแพงใหญ่ กู่สมบูรณ์ พระพุทธบาทภูฝ้าย และวัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด)
ที่อยู่ : หมู่ที่ 3 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
โทรศัพท์ / โทรสาร : (045) 814-581

20. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี
เป็นแหล่งศึกษาวิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย สะละ สำรอง ส้มจี๊ด เยี่ยมชมแปลงสาธิตของศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่จันทบุรี เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การปลูกพืชเสริมรายได้ในสวนยาง


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : วัดเขาบรรจบ น้ำตกอ่างเบง จุดชมวิวผาหินกูบ (ถึงทางขึ้น) เขื่อนทุ่งเพล ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี พระบาทพลวง อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ
ที่อยู่ : เลขที่ 35 หมู่ที่ 7 ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร : (039) 460-800 และ (081) 945-3326