ผู้เขียน | อำพน ศิริคำ |
---|---|
เผยแพร่ |
“แมลงทับ” เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีปีกสวยงาม ปีกสีเขียวสดเป็นประกายวาววับ หรือเขียวมรกต สีไม่ตก มีความคงทนสูง จึงมีคนนำไปทำเครื่องประดับเพิ่มมูลค่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแมลงทับในธรรมชาติหายากขึ้น จึงมีเกษตรกรหัวใส ใช้ภูมิปัญญาศึกษาวงจรชีวิตของแมลงทับ แล้วนำมาเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น
คุณสมัคร นามสีฐาน อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 บ้านกุดกระสู้ ตำบลเก่ากลอย อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (089) 937-9257, แม่อ้วน (ภรรยา) โทร. (085) 274-9288 เป็นผู้ที่ประสบผลสำเร็จในการทำการเกษตรจนได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอนากลาง และยังเป็นเลขานุการเครือข่าย ศพก.ระดับจังหวัดด้วย
คุณสมัคร เล่าให้ฟังว่า ตนมีอาชีพหลักคือทำนาและทำสวน โดยทำการเกษตรหลายอย่าง เช่น ปลูกผักหวานป่ากว่า 1,200 หลุม กล้วยน้ำว้า 400 กอ ไผ่กิมซุ่ง 200 กอ ไผ่เลี้ยง 80 กอ มะนาว 150 ต้น ข่า 800 กอ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดไก่ ฯลฯ แต่ละปีทำรายได้หลายแสนบาท แต่ยังมีรายได้น้อยกว่าแมลงทับ
แรงบันดาลใจในการเลี้ยงแมลงทับ
ปี 2546 ป่าไม้จังหวัดขณะนั้นได้จัดอบรมและพาไปฝึกอบรมที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานหนองบัวลำภู ได้สอนการใช้ประโยชน์จากปีกแมลงทับ ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น แมลงทับกางปีก ผีเสื้อกางปีก แมลงปอ ปิ่นปักผม ต่างหู ชุดสร้อยคอ เป็นต้น แต่หลังจากนั้นไม่นานแมลงทับที่มีในธรรมชาติก็เริ่มขาดแคลน หายากขึ้น
ปี 2550-2557 มีแนวคิดอยากจะเลี้ยง จึงศึกษาหาความรู้ ศึกษาการอยู่ในธรรมชาติของแมลง ได้จับจากธรรมชาติมาปล่อยเลี้ยงก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ได้ผล เลี้ยง 1 งาน ได้แมลงทับกว่า 10,000 ตัว
คุณสมัครบอกอีกว่า ปี 2558 เลี้ยงในพื้นที่ 1 งาน โดยปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย พืชที่แมลงทับชอบกิน ได้แก่ ใบต้นแดง ใบมะขามป้อม ใบมะขามเทศ ใบเพ็ก เป็นต้น จากนั้นนำตาข่าย (มุ้งเขียว) มาล้อมด้านข้างสูงประมาณ 3-4 เมตร (ไม่คลุมด้านบน) จากนั้นหาแมลงทับจากธรรมชาติมาปล่อยรวมทั้งรับซื้อจากเพื่อนบ้านมาปล่อยด้วย
สำหรับวงจรชีวิตของแมลงทับ จะมีระยะตัวเต็มวัย-ระยะไข่-ระยะตัวอ่อน-ระยะเข้าฝัก (ดักแด้) โดยหลังจากผสมพันธุ์กันแล้วตัวเมียจะวางไข่ไว้ในดินราวเดือนสิงหาคม จากนั้นราวเดือนกันยายน ทั้งเพศผู้และเพศเมียจะตายเนื่องจากสิ้นอายุขัย เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม ไข่จะถูกฟักออกเป็นตัวซึ่งอาศัยกินรากไม้ที่อยู่ในดินแล้วเข้าฝักอยู่ในดินเป็นเวลาหลายเดือน จากนั้นจะเห็นตัวเต็มวัยออกมากินใบพืชราวปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ในเดือนกันยายน จะเข้าไปเก็บแมลงทับที่ตายร่วงหล่นอยู่บนพื้นดินนำมาทำเป็นเครื่องประดับชนิดต่างๆ โดยในปีที่ผ่านมาสามารถเลี้ยงแมลงทับได้กว่า 10,000 ตัว
ผลิตภัณฑ์ เครื่องประดับจากแมลงทับ
ปัจจุบันได้ทำผลิตภัณฑ์จากปีกแมลงทับดังนี้ แมลงทับกางปีก ราคาขายส่ง 180 บาท ขายปลีก 200 บาท, ผีเสื้อหุบปีก ขายส่ง 130 บาท ขายปลีก 150 บาท, แมลงทับกางปีกคาดเพชร ขายส่ง 130 บาท ขายปลีก 150 บาท, ผีเสื้อกางปีก ขายส่ง 130 บาท ขายปลีก 150 บาท, แมลงปอ ขายส่ง 100 บาท ขายปลีก 120 บาท, ปิ่นปักผม ขายส่ง 25 บาท ขายปลีก 30 บาท, ต่างหู ขายส่ง 130 บาท ขายปลีก 150 บาท, นกยูง ขายส่ง 160 บาท ขายปลีก 180 บาท, ทานตะวัน ขายส่ง 160 บาท ขายปลีก 180 บาท, ชุดสร้อยคอรวมต่างหู ขายส่ง 1,840 บาท ขายปลีก 2,200 บาท ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกระทรวงอุตสาหกรรม
ตลาดสำคัญ
ส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ 6 ราย สั่งครั้งละ 2-3 โหล ส่งให้ทางไปรษณีย์ นอกนั้นยังมี เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังออกขายตามงานต่างๆ โดยมีรายได้ปีละกว่า 1 ล้านบาท
คุณชนะ ไชยฮ้อย เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จังหวัดหนองบัวลำภู ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 แห่ง และยังมี ศพก.เครือข่ายกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร มีเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จเป็นเกษตรกรต้นแบบ มีฐานการเรียนรู้ด้านต่างๆ โดยส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ
สำหรับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอนากลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ฟาร์มนายสมัคร นามศรีฐาน ทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสาน มีกิจกรรมทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง รวมทั้งการเลี้ยงแมลงทับที่เริ่มจะหายากมากขึ้น หากศึกษาการเลี้ยง (จำกัดบริเวณ) และอนุรักษ์ไว้ ควบคู่กับการนำมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจะเป็นสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรในชุมชน หากส่งเสริมให้เลี้ยงกันอย่างกว้างขวางเชื่อว่าจะเป็นแมลงเศรษฐกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรอีกด้วย
ท่านที่สนใจอยากจะเยี่ยมชมศึกษาดูงาน หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ติดต่อ คุณสมัคร นามสีฐาน โทร. (089) 937-9257, แม่อ้วน (ภรรยา) โทร. (085) 274-9288