“กาแฟอาราบะซอลต์” เด่นชัย ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเสริมรายได้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มกันมากที่สุดในโลก

Sanjiv Chopra ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวไว้ว่า “กาแฟอุดมไปด้วยกรดคลอโรจินิก ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระชั้นยอดตัวหนึ่งก็ว่าได้” ขณะที่มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรดื่มกาแฟเกิน 400 มิลลิกรัม ต่อวัน และหลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือน้ำตาล

ที่หยิบยกคำดังกล่าวมาเพื่อจะสื่อว่า กาแฟ มีประโยชน์หากรู้จักดื่มอย่างพอดี

กาแฟ มิใช่พืชท้องถิ่นหรือพืชดั้งเดิมของประเทศไทย ตามประวัติว่าไว้ว่ามีถิ่นดั้งเดิมบนพื้นที่สูงในประเทศเอธิโอเปีย เจริญงอกงามอยู่ตามใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ 1,370-1,830 เมตร อุณหภูมิระหว่าง 15-24 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,900 มิลลิเมตร ชอบดินร่วนสีแดงที่มีหน้าดินลึก

กาแฟที่ปลูกกันอยู่ในโลกใบนี้มีหลายพันธุ์ แต่ที่นำมาปลูกในประเทศไทยมี 2 พันธุ์หลักๆ ก็คือ พันธุ์โรบัสต้า (Robusta Coffee) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมาก ถึงร้อยละ 80 และพันธุ์อาราบิก้า (Arabica Coffee) ปลูกกันอยู่ประมาณร้อยละ 20 แต่ละพันธุ์ยังแยกย่อยเป็นสายพันธุ์ต่างๆ อีกมากมาย แล้วกาแฟอาราบะซอลต์ เป็นพันธุ์ใหม่หรือ ขอให้รอคำตอบอีกสักครู่ครับ

ในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการปลูกกาแฟตามที่มีการรับรู้กันคือ จากโครงการหลวงได้นำเมล็ดกาแฟอาราบิก้าลูกผสมมาปลูกไว้ที่โครงการหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น และต่อมาก็ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งมีการปลูกกันในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้รสชาติและกลิ่นของกาแฟมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่ปลูก อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายด้านเป็นตัวแปร ได้แก่ สายพันธุ์ที่ปลูก ชนิดของดิน สภาพแวดล้อม ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ การดูแลรักษาเอาใจใส่ การเก็บเกี่ยว และกรรมวิธีในการปรุงรสดังกล่าวแต่ตอนต้นว่านิสัยของกาแฟอาราบิก้าจะเติบโตในป่า ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนชื้นและกึ่งเย็น มีร่มเงา การนำมาปลูกจึงต้องมีการดัดแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ เช่น การปลูกไม้ร่มเงา การคลุมรอบทรงพุ่มด้วยเศษหญ้าแห้งหรือฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นในดิน เป็นต้น

นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว กาแฟอาราบิก้าชอบดินร่วน หรือร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี ดินที่เหมาะสมคือดินร่วนแดง เพราะมีธาตุโพแทสเซียมสูง หรือถ้าเป็นดินภูเขาไฟจะเป็นดินที่เหมาะสม ดินมีค่า pH อยู่ที่ 5.5-6.5 ปลูกบนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 800-1,000 เมตร หรือให้ดีต้อง 1,000 เมตรขึ้นไป อุณหภูมิระหว่าง 15-26 องศาเซลเซียส ความชื้นไม่เกิน 80% และมีปริมาณฝน 1,500-2,300 มิลลิเมตร

ดังที่ได้ตั้งคำถามไว้ตอนต้นว่า กาแฟอาราบะซอลต์ เป็นกาแฟพันธุ์ใหม่หรือ คำตอบคือ ไม่ใช่ มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ตั้งชื่อเรียกกาแฟอาราบะซอลต์ขึ้นมาเอง โดยการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า บริเวณที่ปลูกมีสภาพดินผุกร่อนที่เกิดจากซากหินบะซอลต์ (Basalt)

หินบะซอลต์ ประกอบด้วยแร่แมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) สูง โดยมีแร่ซิลิก้าไดออกไซด์ (Si O2) โซเดียมออกไซด์ (Na2O) รวมถึงโพแทสเซียมออกไซด์ (K2O) ประกอบอยู่ด้วย มีเนื้อเป็นสีเทาถึงดำ เนื้อละเอียด เนื่องจากเกิดจากการเย็นตัวของลาวาภูเขาไฟอย่างรวดเร็วบนพื้นผิวโลก มีเนื้อเป็นตะกรันภูเขาไฟ ที่พบในประเทศไทยมีอายุราว 2-10 ล้านปี อยู่ในยุค Quaternary-Late Tertiary บริเวณที่พบว่ามีปริมาณมากที่จังหวัดจันทบุรี ตราด กาญจนบุรี แพร่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เชียงราย และจังหวัดลำปาง

หินบะซอลต์ เป็นกลุ่มแร่เพื่อการอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในทางการเกษตรกรรมถ้าหินบะซอลต์ผุจะกลายเป็นดินที่ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืช ผุพังด้วยกรรมวิธีต่างๆ จากลมฟ้าอากาศ สารละลาย รวมทั้งการกระทำของต้นไม้ แบคทีเรียมีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชมากกว่าหินทั่วๆ ไป เช่น นิกเกิล (Ni) โคบอลต์ (Co) แมกนีเซียม (Mg) ทองแดง (Cu) เป็นต้น แต่มีข้อด้อยคือ ไม่อุ้มน้ำ

หมายเหตุ ข้อมูลจากสำนักธรณีวิทยาแพร่ กรมทรัพยากรธรณี

ที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มีเกษตรกรได้นำกิ่งพันธุ์กาแฟอาราบิก้ามาทดลองปลูกบนพื้นที่ที่มีหินบะซอลต์เป็นบริเวณกว้าง แต่ก่อนหน้านั้น มีนักวิชาการทักท้วงว่า พื้นดินบริเวณนั้นไม่เหมาะกับการปลูกกาแฟ ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิ ความร้อน แห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝน เป็นปัจจัยที่ไม่เหมาะสม แต่เกษตรกรที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาร่วมสนทนาด้วย อยากทดลองและมีวัตถุประสงค์อื่นๆ มากกว่าเพียงการปลูกกาแฟเพื่อขายผลสดเพียงอย่างเดียว

คุณสุชาติ สมบูรณ์เถกิง

ผู้เขียนขอแนะนำเกษตรกรท่านนี้ คือ คุณสุชาติ สมบูรณ์เถกิง หรือ ผู้ใหญ่สุชาติ เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ที่ 6 บ้านน้ำพร้าว ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ (081) 472-4739 ภรรยาคือ คุณแสงดาว สมบูรณ์เถกิง

ผู้ใหญ่สุชาติ จบการศึกษาระดับปริญญาโท

 

บ้านน้ำพร้าว แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดแพร่

ก่อนนำเข้าสู่เรื่องกาแฟ ผู้ใหญ่สุชาติได้แนะนำและให้ข้อมูลว่า หมู่บ้านน้ำพร้าวได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ม่อนพลอยล้านปี แหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยา อันมีเบื้องหลังมาจากการเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ ว่า เมื่อปี 2557 ได้เกิดฝนถล่มม่อนหินล้านปี เจออัญมณีเกือบทุกตารางนิ้วของพื้นที่ที่ถูกฝนถล่ม เป็นพลอยบริสุทธิ์ของจริง สภาพพื้นดินเต็มไปด้วยหินบะซอลต์อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1-2 เมตร

 

แนวคิด และเป้าหมายในการปลูกกาแฟ

ผู้ใหญ่สุชาติ เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นผู้นำชุมชน คิดว่าจะมีวิธีการใดที่จะไม่ให้ชาวบ้านถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องการให้ป่าอยู่อย่างยั่งยืนในสภาพของป่าไม้และคนก็อยู่ร่วมกับป่าได้ มีรายได้ด้วย ก็คิดถึงการปลูกกาแฟ ซึ่งสามารถปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาต้นไม้ได้ ประการต่อมา ทุกๆ ปีในพื้นที่จะมีปัญหาเรื่องไฟป่าหมอกควัน หากส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ เขาจะเกิดความรู้สึกผูกพัน หวงแหน ไม่อยากให้พื้นที่ปลูกกาแฟต้องถูกไฟไหม้ เขาคงต้องดูแลสร้างแนวกันไฟกันเอง

ร้านกาแฟสดธารลาวา

ประการสุดท้าย ผู้ใหญ่สุชาติ บอกว่า จากทั้ง 2 ประการ ที่กล่าวไป รู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของชาวบ้าน ดังนั้น ผู้ใหญ่สุชาติ จึงคิดหาทางออกด้วยการทำให้ดู ลงมือปลูกกาแฟ ทำเป็นแปลงสาธิตด้วยตนเอง เพื่อจะศึกษาเรื่องกาแฟที่ปลูกในดินหินบะซอลต์ พื้นที่ที่แห้งแล้งปลูกกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ให้รู้แจ้งเห็นจริง เวลาผ่านไปเกือบ 5 ปีแล้ว

จากนั้นจึงศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง หากิ่งพันธุ์มาปลูก ได้พันธุ์อาราบิก้า จากจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 200 ต้น โดยมี 1 ต้น เป็นกิ่งพันธุ์ที่โครงการหลวงได้นำไปส่งเสริมให้ชาวเขาปลูก มีลักษณะแตกต่างกับกาแฟอาราบิก้าต้นอื่นๆ

 

เริ่มทดลองปลูก เมื่อ ปี 2555  จากพื้นที่เริ่มแรก 2 ไร่ เพิ่มปีละ 2 ไร่

การปลูก

ขุดหลุม กว้าง x ยาว x ลึก (ด้านละ 20 เซนติเมตร) ระยะห่างระหว่างต้น 2 x 2.5 เมตร นำดินชั้นหน้าดินมากองแยกไว้ ขุดดินชั้นล่างแยกไว้ต่างหาก นำปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-60 จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ กับแกลบดิบคลุกเคล้ากับดินชั้นล่างที่นำขึ้นมากองไว้ แล้วนำดินชั้นบนลงก้นหลุมก่อน นำต้นกาแฟลงปลูกเอาดินที่ผสมแล้วกลบลงในหลุม รดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จสิ้น

ระยะพอเหมาะต่อการเก็บ

การดูแล

การให้น้ำ ใช้น้ำจากบ่อบาดาลด้วยเทคโนโลยีระบบน้ำหยด เปิดวันเว้นวัน ช่วงเวลาเย็นให้น้ำตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน

ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกจากมูลไก่ 1 กะลามะพร้าว ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ 1 อุ้งมือ ใส่ปุ๋ยเดือนพฤษภาคมเท่านั้น

เคยพบหนอนกาแฟสีแดง ใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการกำจัด ด้วยการทำให้โคนต้นกาแฟโล่งเตียน ตรวจดูแปลงบ่อยๆ มีการปลูกไม้ผลแซมร่วมกับกาแฟ ได้แก่ กล้วย มะม่วง ท้อสวรรค์ มะคาเดเมีย ทุเรียน

เป้าหมาย จะปลูกกาแฟเพิ่มปีละ 2 ไร่ จนพอเพียงที่ 10 ไร่ และให้ได้ 3,000 ต้น

สวยงาม

ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ต้นกาแฟจะเริ่มออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกสีขาวติดกันเป็นหลอด ดอกจะมีกลิ่นหอมรูปคล้ายดาว ออกดอกหลังฤดูฝน เมื่อกลีบดอกร่วงจะเห็นผลคล้ายลูกหว้า เป็นรูปไข่ทรงกลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดง ใช้เวลา 5-6 เดือน กว่าจะเก็บผลสุกได้ คือช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

การตัดแต่งกิ่ง โดยเฉพาะกิ่งที่แห้ง กิ่งทับซ้อนให้เหลือกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ 3-4 กิ่งหลัก

การเก็บผลผลิตกาแฟจากต้น

ต้นกาแฟที่พร้อมให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ เมื่ออายุปีที่ 3 ลักษณะผลที่เก็บได้เป็นผลสุกพอดี ไม่สุกเกินไป สีส้มแดงหรือเป็นลูกเชอร์รี่

วิธีเก็บ ห้ามใช้วิธีรูด เว้นแต่เมื่อมีผลสุกพร้อมกันทั้งช่อ ให้เลือกเด็ดทีละผล เพราะในกิ่งเดียวกันจะมีผลสุกไม่พร้อมกัน มีทั้งผลสีเขียว (ผลอ่อน) ผลสีแดงหรือส้มแดง (เก็บได้) ต้องทยอยเก็บ เพราะจะมีผลตอนนำไปคั่ว กลิ่นและรสชาติจะแตกต่างกัน หากเก็บผลโดยไม่คัด

เก็บผลผลิต

ปลูกกาแฟไปแล้ว 5 ปี ได้ข้อสรุปในเบื้องต้น

ผู้ใหญ่สุชาติ ได้สรุปให้ฟังว่า ผลจากการทดลองปลูกกาแฟอาราบิก้าบนพื้นดินหินบะซอลต์ ผ่านไป 5 ปี มีข้อสรุปว่า การปลูกกาแฟในพื้นที่ดังกล่าว ให้ปลูกต้นไม้หรือไม้ผลก่อน แล้วจึงปลูกกาแฟเพื่อให้ต้นไม้นั้นเป็นร่มเงาให้ หรือปลูกกาแฟในป่าใต้ร่มเงาไม้ เพียงคอยกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสม กับอีกข้อสรุปหนึ่ง การปลูกกาแฟในที่โล่งแจ้งมีปัญหาเรื่องแสงแดด กาแฟอาราบิก้าไม่ทนแดด กับสภาพพื้นที่ที่เป็นดินโปร่ง ไม่อุ้มน้ำ ใบจะเหลือง ต่อมาก็ตาย วิธีการป้องกันคือ การใช้ตาข่ายกรองแสง 50%

แปลงสาธิตการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าของผู้ใหญ่สุชาติปลูกได้หลายสายพันธุ์ ทุกสายพันธุ์เติบโตได้ดี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่

– สายพันธุ์คาติมอร์ (Catimor)

– สายพันธุ์เชียงใหม่ 80

– สายพันธุ์ทิปปิก้า (Typica)

– สายพันธุ์เยลโลเบอร์บอน (Yellow bourbon) เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากโครงการหลวง

ส่งเสริมให้ชาวเขาที่จังหวัดเชียงใหม่เพาะปลูก ได้มาเมื่อปี 2525 ข้อสรุปสุดท้าย การปลูกกาแฟบนพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลไม่มากนัก หรืออากาศไม่เย็น ปริมาณน้ำฝนไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่มีผลต่อผลผลิตกาแฟที่นี่

กรรมวิธีหลังการเก็บผลผลิต

กระบวนการนี้ผู้ใหญ่สุชาติจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยให้รายละเอียดว่าจะใช้เครื่องปอกเปลือกแยกเปลือกออกจากเมล็ด จะได้เม็ดกะลา แต่จะพบว่ามีเมือกติดที่กะลา นำมาแยกเมือกด้วยการหมักด้วยน้ำ การหมักเพื่อกำจัดเมือกจากเมล็ดกาแฟที่สีเปลือกแล้ว ก่อนอื่นต้องเตรียมภาชนะรองรับเมล็ดกาแฟหลังจากสีแล้ว นำมาใส่น้ำ คัดเอาเมล็ดที่ลอยน้ำออกทิ้งไป ให้เหลือแต่เมล็ดที่จมน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จนเมือกเริ่มหลุดล่อนออกจากเมล็ดกาแฟก็นำมากวนหรือคนต่อ เมื่อจับดูที่เมล็ดกาแฟจะไม่รู้สึกลื่น คือสะอาดแล้วจะสากมือ ต่างจากก่อนที่จะนำมาหมัก นั่นแสดงว่า เมือกหลุดออกหมดแล้ว จากนั้นล้างน้ำให้สะอาด 2-3 รอบ ตักขึ้นจากน้ำ ตากแดดให้แห้ง ถ้าแสงแดดดีเพียง 1 วันก็พอ สังเกตที่เปลือกเมล็ดกาแฟจะรู้สึกว่ากรอบๆ ไม่เหนียว แสดงว่าแห้งได้ที่นำเก็บในภาชนะ ไม่ให้ถูกความชื้น เพื่อรอการสีกาแฟกะลา หรือสีสารกาแฟต่อไป

คัดแยกเนื้อเมล็ดกาแฟก่อนนำไปคั่ววิธีการคัดแยกค่อนข้างพิถีพิถันและใช้เวลาด้วยการนำเนื้อเมล็ดกาแฟมาคัดแยกด้วยมือเพื่อคัดเมล็ดจะได้ peaberry หรือเมล็ดเดี่ยวคล้ายเมล็ดถั่วเหลืองหรือเมล็ดโทน ถึง 30% ขณะที่แหล่งปลูกอื่นๆ อาจจะได้ 5-10% นอกนั้นเป็นเนื้อเมล็ดกาแฟทั่วไป หรือ normal ถามว่า สำคัญอย่างไร ผู้ใหญ่สุชาติ ตอบว่า peaberry มีกลิ่นหอมนุ่มนวล ความหวานของกาแฟมากที่สุดได้ราคาสูง ขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 500 บาท ขณะที่normol กิโลกรัมละ 300 บาท

ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่

การคั่วเมล็ดกาแฟ เพื่อให้เกิดสารกาแฟ ต้องอาศัยทักษะ

ในแวดวงธุรกิจกาแฟสด เป็นอันรู้กันว่าการคั่วเมล็ดกาแฟเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีผลต่อกลิ่น รสชาติ ของกาแฟไม่น้อยไปกว่ากระบวนการก่อนหน้าที่ได้กล่าวไป การคั่วเมล็ดกาแฟคือ การนำเมล็ดกาแฟมาคั่ว เพื่อให้เกิดสารกาแฟซึ่งมีอยู่หลากหลายระดับ แต่ทั่วๆ ไป ที่ดำเนินการกันอยู่มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอ่อน ระดับปานกลาง ระดับเข้ม แต่ละระดับมีสาระสำคัญและความแตกต่างอยู่ที่ระดับสีของการคั่วจากการใช้ระยะเวลา อุณหภูมิความร้อน ที่สำคัญทักษะ ประสบการณ์ของผู้คั่ว ซึ่งผลที่เกิดจากการคั่วเมล็ดกาแฟระดับต่างๆ ก็คือ รสชาติ กลิ่น และสีที่แตกต่างกัน

ผู้ใหญ่สุชาติ บอกว่า “โดยมากจะคั่วกันเอง ใช้วิธีพื้นบ้านที่ทำกันมานาน เราใช้วิธีแบ่งระดับตามสี หากคั่วระดับเข้มก็ให้สังเกตที่สีของเมล็ดในของมะขามสุกจะประมาณนั้น คั่วระดับอ่อนก็ให้กะการเปลี่ยนสีจากกาแฟสารจากสีก่อนคั่วให้เปลี่ยนสีไปสักเล็กน้อย ส่วนคั่วระดับกลางก็จะเป็นสีที่อยู่ระหว่างคั่วอ่อนและคั่วเข้ม สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ทักษะที่คั่วกันอย่างเป็นปกติและสม่ำเสมอ คอยสังเกตเมื่อทำบ่อยๆ ผู้คั่วก็จะรู้เอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการชอบหรือความพึงพอใจของผู้คั่ว หรือจากความชอบของลูกค้า หรือแขกที่จะมาชิม”

 

มาตรฐานเมล็ดกาแฟ ในทัศนะของ  ผู้ใหญ่สุชาติ ที่ส่งต่อให้แก่ลูกค้า

ผู้ใหญ่สุชาติ บอกว่า “ผมไม่ใช่คอกาแฟ แต่ชอบกลิ่นของกาแฟ การชงกาแฟเป็นศิลปะ ชอบชงกาแฟปรุงรสแล้วให้ผู้อื่นลองลิ้มชิมรส ถ้าเขาชิมแล้วบอกว่า อร่อย นั่นคือ ความภาคภูมิใจ”

ที่หน้าบ้านของผู้ใหญ่สุชาติ มีร้านกาแฟสดชื่อ ธารลาวา มีป้ายบอกว่า ขายช่วงเวลา 09.00-16.00 น. ผู้ใหญ่สุชาติเป็นคนให้บริการเอง เพราะเป็นคนชอบชงกาแฟถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งยืนยันว่ากาแฟที่ตนเองผลิตทุกขั้นตอนมีคุณภาพมาตรฐานเพียงพอที่จะส่งต่อถึงมือลูกค้าด้วยการ

– คัดแยกเมล็ด peaberry และ mormal มีเมล็ดที่เป็น peaberry ถึง 30%

– ไม่มีแมลงเจาะเมล็ด

– ไม่มีสิ่งเจือปนใดๆ

– เมล็ดกาแฟแห้งทั้งเมล็ด

– การคั่วเมล็ดกาแฟด้วยกรรมวิธีที่พิถีพิถัน

– เมื่อคั่วเมล็ดกาแฟแล้วมีกลิ่นหอม รสชาตินุ่มละมุน

ปัจจุบัน สวนกาแฟของผู้ใหญ่สุชาติ ได้ยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช และอยู่ระหว่างการตรวจแปลง ซึ่งจะได้ใบรับรองมาตรฐานในเร็วๆ นี้

จากแปลงสาธิต มีเกษตรกรหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น

ปัจจุบัน มีเกษตรกรเริ่มหันมาปลูกกาแฟกันแล้วมากกว่า 30 ราย จากการที่ผู้ใหญ่สุชาติทำให้ดู พามาให้เห็นกับตา จึงเชื่อว่าพื้นดินที่บ้านน้ำพร้าวปลูกกาแฟได้ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ แม้การเสนอแนวความคิดแก่ชาวบ้าน เกษตรกรจะเป็นเรื่องยาก แต่หากทำให้ดูให้เห็นก่อน ก็จะมีคนทำตาม เพราะเห็นผลผลิตขายได้ “เราไม่ได้คาดหวังว่ากาแฟของเราจะมีรสชาติและมาตรฐานไปสู่ระดับโลก แต่เราหวังว่ากาแฟของเราจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างที่ควรจะเป็น” ผู้ใหญ่สุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านมีโอกาสผ่านไปทางเด่นชัย เชิญแวะชิมกาแฟสดที่ ร้านธารลาวา ผู้ใหญ่สุชาติ สมบูรณ์เถกิง  ยินดีต้อนรับ และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น