เรื่องน่ารู้ “แพคโคลบิวทราโซล” สารต้องห้ามสำหรับ “ขนุน”

ปีที่ผ่านมาพบว่า มีขนุนวางจำหน่ายในตลาดผลไม้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ปริมาณการผลิตลดน้อยตามไปด้วย อีกทั้งมีการส่งออกไปจีนและอินโดนีเซียอีกจำนวนหนึ่ง

แนวคิด ที่จะยืดเวลาการผลิตขนุนให้ยาวนานขึ้น ด้วยวิธีบังคับให้ออกนอกฤดูนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลกับขนุนนั้น เคยเกิดความเสียหายมาแล้ว ขอเล่าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ผมมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเกษตรกรชาวสวนมะม่วง ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้พบเห็นสิ่งที่แปลกน่าฉงน

มีเกษตรกรท่านหนึ่ง ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ราดให้กับต้นมะม่วงเพื่อบังคับให้ออกนอกฤดู แต่ในสวนดังกล่าวเกษตรกรปลูกแซมด้วยต้นขนุน ซึ่งมีผลกระทบเมื่อขนุนแตกใบอ่อนออกมาใหม่ ใบเกิดมีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับมือของมนุษย์ที่แบคว่ำลง ที่ใต้ใบมีผลขนุนขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือติดอยู่ตามแฉกของใบเต็มไปหมด ในที่สุดเกษตรกรต้องตัดต้นขนุนทิ้งไปหลายต้น

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad6

แพคโคลบิวทราโซล เป็นสารที่มีความสามารถในการยับยั้ง การผลิตฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลิน ที่ทำหน้าที่ยืดความยาวของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ชะงักการเจริญเติบโตทางลำต้น รวมทั้งกิ่งและใบ แต่กลับไปกระตุ้นให้ต้นไม้ออกดอกได้ในชั่วระยะหนึ่งกับต้นไม้บางชนิด ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ต้นมะม่วง ปัจจุบัน มีการนำมาใช้กับมะนาวกันบ้างแล้ว แต่สำหรับขนุนเป็นสารต้องห้ามอย่างยิ่งยวด

เกษตรกรบางท่าน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 0-52-34 ละลายน้ำ แล้วพ่นทั่วทรงพุ่ม นับว่าได้ผลดี