หนุ่มปริญญาโท เลี้ยงไหมป่าอีรี่ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

“ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับไหมอีรี่ ตั้งแต่การเลี้ยงไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหม สบู่ล้างหน้า สบู่เหลว แชมพูสระผม ครีมนวดผม และโลชั่นทาผิว ชื่อแบรนด์ “S and N Farm” อีกทั้งยังเปิดร้านขายสินค้าเกษตรด้วย” คุณสุเมธ มาสขาว ผู้ประกอบการหนุ่มวัย 26 ปี แจกแจงกิจการของเขา ซึ่งเพิ่งเริ่มธุรกิจยังไม่ถึงปี  โดยเลี้ยงไหมอยู่ที่บ้านหนองพะโลน ตำบลทุ้งแต้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ใช้เงินลงทุนประมาณ 300,000 บาท

นับเป็นคนหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาโดยตรงในการประกอบอาชีพ ซึ่ง คุณสุเมธ มาสขาว นั้น จบปริญญาตรี สาขากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และเพิ่งจบปริญญาโท สาขาและมหาวิทยาลัยเดียวกันในปีนี้เอง

คุณสุเมธ มาสขาว (ขวา) และน้องชาย

เจ้าตัวเล่าที่มาที่ไปของการมาทำธุรกิจไหมป่าอีรี่ว่า ตอนเรียนอยู่ปีที่ 3 ในระดับปริญญาตรี ได้ทำปัญหาพิเศษเกี่ยวกับไหมป่าอีรี่ ตอนแรกไม่รู้จักว่าไหมป่าอีรี่คืออะไร มีหน้าตาแบบไหน แล้วกินอะไร สามารถนำมาทำอะไรได้บ้าง แต่พอได้มาศึกษาอย่างจริงจังกับรู้ว่าไหมป่าอีรี่ตัวนี้มีประโยชน์หลายอย่างมาก ยกตัวอย่าง เส้นไหมนำมาทอเป็นผ้าไหม ขี้ไหมทำเป็นปุ๋ย ส่วนดักแด้สามารถนำมารับประทานได้ เพราะมีโปรตีนสูง 64-68% เลยทีเดียว

รวมระยะเวลาประมาณ 5 ปี ในการศึกษาเรื่องไหมอีรี่ทั้งระดับปริญญาตรีและโท จึงคิดว่า ไหมป่าอีรี่ตัวนี้ยังทำอะไรได้อีกเยอะ พร้อมนำมาทำเป็นอาชีพของตัวเอง อีกอย่างปัจจุบันคนที่เลี้ยงไหมในประเทศไทยนับวันยิ่งเหลือน้อยลงไปทุกที

คุณสุเมธแจกแจงการเลี้ยงไหมป่าอีรี่ว่า ใช้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ในการเตรียมแปลงมันสำปะหลัง เพื่อเป็นอาหารของตัวไหม โดยจะเลี้ยงได้ประมาณ 10,000 ตัว ให้ผลผลิต 15-20 กิโลกรัม ต่อรังสด ซึ่งมันสำปะหลัง ใช้เวลาปลูก 4 เดือน จึงจะเก็บใบมาเลี้ยงไหมได้ แต่จะต้องไม่พ่นยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลงใดๆ ดังนั้น จึงต้องเลี้ยงเองเพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การเลี้ยงไหมป่าอีรี่คล้ายๆ กับการเลี้ยงไหมบ้าน มีอยู่ 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ในระยะหนอนจะแบ่งเป็น 5 วัย และจะนอน 4 ครั้ง การเลี้ยงจะให้อาหาร 2 ครั้ง เช้า เย็น เวลาไหมนอนจะไม่ให้อาหารและปล่อยให้ไหมนอน พอไหมตื่นก็เติมใบมันสำปะหลังตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไหมป่าอีรี่กับไหมบ้านก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ตั้งแต่พืชอาหารเลย เพราะไหมบ้านจะกินแค่ใบหม่อน ส่วนไหมอีรี่จะกินพืชอาหารได้หลายชนิดมากกว่า ทั้งใบละหุ่ง มันสำปะหลัง สบู่ดำลีลาวดี และพระเจ้าร้อยท่า ในส่วนของเส้นไหมก็จะแตกต่างกันด้วย โดยเส้นไหมของไหมอีรี่จะมีความมันวาวน้อยกว่าไหมบ้าน แต่จะมีคุณสมบัติอื่นมาแทนคือ เวลาใส่หน้าร้อนจะช่วยระบายอากาศ ส่วนใส่หน้าหนาวจะช่วยเก็บอุณหภูมิ ที่สำคัญที่สุดคือ ไหมอีรี่ทนทานต่อโรคสูงกว่าไหมบ้าน

คุณสุเมธเล่าถึงปัญหาและอุปสรรคที่เจอะเจอในช่วงแรกของการทำธุรกิจนี้ว่า

“ผมไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน ทั้งในเรื่องการจัดการด้านต่างๆ การเงิน โดยเฉพาะการตลาด คือผมไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับพวกนี้เลย ตอนนี้ก็อาศัยสอบถามผู้รู้และผู้ที่เคยทำมาก่อน”

อีกอย่างคือ ไหมป่าอีรี่ตัวนี้เป็นไหมป่าที่กินใบมันสำปะหลัง แต่ต้องเป็นมันที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งหายากมาก อีกอย่างใช่ว่าปลูกแล้วจะสามารถเก็บใบมาเลี้ยงไหมได้เลย ต้องรอให้มันอายุได้ 4 เดือนก่อนถึงจะสามารถเก็บใบได้ ดังนั้นการที่จะนำมาแปรรูปได้ต้องเลี้ยงไหมเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้มีแค่โรงเรือนขนาดเล็ก เลี้ยงได้เต็มที่ก็ประมาณ 7-8 กิโลกรัม ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนประเภทเครื่องสำอางนั้นผลิตตามออเดอร์ที่สั่ง “ปัญหาและอุปสรรคหลักๆ ของผมคือ เงินทุน เพราะไม่มีเงินที่จะมาทำโรงเรือนเลี้ยงไหมใหม่ ที่มีอยู่เป็นโรงเล็กไม่สามารถเลี้ยงจำนวนเยอะๆ ได้ แก้ไขโดยตอนนี้ได้เขียนโครงการไปยัง ธ.ก.ส. เพื่อที่จะกู้เงินมาทำโรงเรือนเลี้ยงไหม ตอนนี้กำลังรออนุมัติ

ในฐานะผู้ที่ศึกษาเรื่องไหมอีรี่มานาน และลงมือเลี้ยงด้วยตัวเอง คุณสุเมธระบุถึงข้อควรระวังเป็นพิเศษและศัตรูของไหมว่า มีหลายเรื่อง อาทิ การใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชรอบแปลงมันสำปะหลัง มด แมลงวันก้นขน หนู รวมทั้งการนอนการตื่นของไหม

“ช่วงไหมนอนนั้นจะไม่เติมใบมันสำปะหลัง เพราะถ้าเติมไหมที่ตื่นก่อนจะได้กินก่อน และจะโตก่อน ต้องสังเกตดูการตื่นของไหมให้อยู่ประมาณ 80-90% ของไหมทั้งหมด ถึงจะเติมใบมันสำปะหลัง ส่วนการเก็บไหมเข้าจ่อนั้น ไม่ควรให้ไหมแออัดจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดรังแฝดเยอะ”

ทั้งนี้ ในปี 2561 เขาจะหาลูกฟาร์มเพิ่ม เพื่อจะได้มีรังไหมมาป้อนให้อีกทาง ขั้นแรกนี้ตั้งเป้าจะหาลูกฟาร์มเพิ่มสัก 5 ราย พร้อมกันนั้นจะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เซรั่ม ครีมทาหน้า เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันเขาจะผลิตเครื่องสำอางตามออเดอร์ที่สั่งเท่านั้น

คุณสุเมธให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลี้ยงไหมป่าอีรี่ว่า ต้องมีใจรักจริงๆ เพราะถ้าคนที่ยังไม่เคยเลี้ยงเลยอาจจะลำบากหน่อย เพราะยังไม่รู้ว่าไหมนอนไหมตื่นเป็นอย่างไร และที่สำคัญต้องมีที่ปลูกพืชอาหารของไหมอีรี่ เช่น มันสำปะหลัง หรือถ้าต้องการคำแนะนำก็สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ (094) 473-5577 พื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงไหม ขั้นต่ำ 1 ไร่ รวมแปลงปลูกมันสำปะหลัง มีเงินสักเท่าไรถึงจะคืนทุน ขั้นต่ำประมาณ 20,000 บาท และประมาณ 2 เดือน ก็คืนทุนแล้วครับ หาตลาดยากไหม ผมจะแนะนำเป็นแมลงทางเลือกมากกว่าครับ คือถ้าใครปลูกมันสำปะหลังอยู่แล้ว ลองเอาไหมอีรี่ไปเลี้ยง คือจะเป็นรายได้เสริมอีกทาง และอาจจะลดต้นทุนของปุ๋ยลงอีกด้วยเพราะใช้ขี้ไหมแทน ส่วนตลาดตอนนี้ก็จะมีจุลไหมไทย และก็บริษัทก้องเกียรติที่รับซื้อรังไหมอีรี่อยู่

ถามถึงเรื่องการตลาด คุณสุเมธ ตอบว่า ในการเลี้ยงไหมป่าอีรี่ยังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก เพราะคนที่เลี้ยงต้องมีเวลาและมีใจรักจริงๆ ส่งผลให้ช่องทางการตลาดตอนนี้ยังมีไม่ค่อยมากเท่าไร แต่ถือว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะปัจจุบันต่างประเทศหันมาสนใจโปรตีนในแมลงมากขึ้น และคนในประเทศก็เริ่มสนใจสุขภาพมากขึ้นด้วย

ในส่วนของคุณสุเมธเองใช่จะนำรังไหมไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ยังได้ขายตัวไหมสดด้วย เพราะลูกค้าสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารหรือขนม และยังนำไปทำเป็นอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าได้อีกด้วย

“ตอนนี้ผมวางแผนขายในประเทศก่อน จะเริ่มในจังหวัดยโสธร บ้านเกิดตัวเองก่อน พร้อมกันนั้นจะเน้นไปทางตลาดออนไลน์ และตลาดในเมืองใหญ่ๆ ส่วนในต่างประเทศยังไม่ได้เน้นในจุดนั้น เพราะธุรกิจเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น”

ผู้ประกอบการหนุ่มรายนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ แบรนด์ “S and N Farm” ของเขาว่า ถ้าเทียบราคากับแบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาดจะใกล้เคียงกัน ส่วนคุณภาพ “S and N Farm” จะเน้นไปทางออร์แกนิกให้มากที่สุด และใช้เคมีให้น้อยที่สุด โดย สบู่ แชมพูสระผม ครีมนวดผม และสบู่เหลว 80 บาท ส่วนโลชั่นทาผิว ขวดละ 150 บาท ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีสุด สบู่โปรตีนไหมอีรี่ สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์อยู่ที่วัตถุดิบที่ทำจากไหมป่าอีรี่และเป็นสินค้าออร์แกนิกตั้งแต่กรรมวิธีการเลี้ยงไหม

คุณสุเมธแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเลี้ยงไหมชนิดนี้ว่า ต้องมีใจรักจริงๆ เพราะถ้าคนที่ยังไม่เคยเลี้ยงเลยอาจจะลำบากหน่อย เนื่องจากยังไม่รู้ว่าไหมนอนไหมตื่นเป็นอย่างไร และที่สำคัญต้องมีที่ปลูกพืชอาหารของไหมอีรี่ เช่น มันสำปะหลัง อย่างน้อย 1 ไร่ และต้องมีเงินทุนขั้นต่ำ 10,000-20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขอให้เป็นแมลงทางเลือกมากกว่า คือถ้าเกษตรกรคนไหนปลูกมันสำปะหลังอยู่แล้ว ลองนำไหมอีรี่ไปเลี้ยง เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทาง และอาจจะลดต้นทุนของปุ๋ยลงอีกด้วย เพราะใช้ขี้ไหมแทน ส่วนตลาดตอนนี้ก็มีจุลไหมไทย และบริษัทก้องเกียรติ ที่รับซื้อรังไหมอีรี่อยู่

“ผมเองอยากให้เป็นทางเลือกอีกทางสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังอยู่แล้วดีกว่า จะได้เป็นรายได้ 2 ทาง ทั้งหัวมันสำปะหลังและไหมด้วย”

สนใจอยากเลี้ยงไหมป่าอีรี่ หรือต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ S and N Farm ติดต่อสอบถาม คุณสุเมธ มาสขาว ได้ที่ โทรศัพท์ (094) 473-5577