ชาวม้ง ปลูกกำหล่ำปลี บนพื้นที่ราบสำเร็จ ได้ผลดี สร้างรายได้งาม

แหล่งปลูกกะหล่ำปลีส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือตามดอยต่างๆ ซึ่งปลูกกันมากในจังหวัดที่มีดอยสูง อากาศหวานเย็น เช่น น่าน แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ เป็นต้น

บนพื้นที่ราบสามารถปลูกกะหล่ำปลีได้เช่นกัน แต่จะเจริญเติบโตได้ไม่เท่ากับที่ปลูกบนดอยสูงมีอากาศหนาวเย็น ซึ่งกะหล่ำปลีจะห่อหัวได้แน่นสวยและให้รสชาติที่ดีกว่า ชาวม้งบนดอยมีความคุ้นเคยและความชำนาญในการปลูกกะหล่ำปลีมายาวนาน จนเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเกษตรกรรมนอกเหนือไปจากการปลูกข้าวโพด สตรอเบอรี่และผักเมืองหนาวอื่นๆ การปลูกกะหล่ำปลีจึงเป็นพืชหลักของชาวม้งและรับประทานกะหล่ำปลีกันประจำ จนมีการล้อกันถึงการขู่ให้เด็กม้งที่งอแงชอบร้องไห้ว่า “ถ้าไม่หยุดร้องไห้ จะต้มกะหล่ำให้กิน” เด็กเงียบเป็นปลิดทิ้งนั้นเป็นเพียงการพูดต่อกันมาเล่นๆ

จริงหรือไม่จริงไม่ยืนยัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างกะหล่ำปลีกับชาวม้งที่อยู่คู่กันมาเนิ่นนาน หากไปเที่ยวหมู่บ้านชาวม้ง ถ้าเห็นชาวม้งก็จะต้องเห็นสวนกะหล่ำปลีด้วยเสมอ

ลำปาง ไม่ใช่แหล่งปลูกกะหล่ำปลี ถึงแม้จะมีชาวม้งอาศัยอยู่ในบางอำเภอบ้างก็ตาม ลำปางเป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญในภาคเหนือ กะหล่ำปลีจึงไม่ใช่พืชที่สร้างรายได้ให้กับคนลำปาง ด้วยความเชื่อที่ว่ากะหล่ำปลีชอบอากาศหนาวเย็นบนดอย ไม่ชอบอากาศร้อนบนพื้นที่ราบ ทั้งยังเชื่อกันว่าพื้นที่ลำปางไม่เหมาะกับกะหล่ำปลี จึงไม่มีคนลำปางปลูกเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ แต่มีชาวม้งจากจังหวัดน่านครอบครัวหนึ่งมาพลิกแผ่นดินที่ลำปางให้เป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีขนาดใหญ่เป็นผลสำเร็จ

คุณโซ้ง แซ่โซ้ง

คุณโซ้ง แซ่โซ้ง ชาวม้ง จากอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ในวัย 46 ปี ได้นำประสบการณ์การปลูกกะหล่ำปลีกว่า 25 ปี มาใช้ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ก่อนที่จะมาเลือกพื้นที่จังหวัดลำปางปลูกกะหล่ำปลี คุณโซ้งได้ทำสวนผักอยู่ที่จังหวัดแพร่และมาส่งผักกาดขาวที่ตลาดเทศบาลข้างธนาคารออมสินลำปางเป็นประจำ

วันหนึ่งได้ถามแม่ค้าขายผักที่ลำปางว่า “ทำไม ลำปางไม่ปลูกกะหล่ำปลีกัน”

แม่ค้าตอบกลับคุณโซ้งไปว่า “ลำปางไม่เหมาะกับการปลูกกะหล่ำปลี”

จากประสบการณ์การปลูกผักมายาวนาน คุณโซ้งเชื่อว่าที่ไหนก็ปลูกกะหล่ำปลีได้ ขอให้มีการจัดการเรื่องน้ำให้ดี

ต่อมา คุณโซ้งได้มาขอเช่าพื้นที่ของโรงงานทำขิงเก่าเลิกกิจการไปแล้ว ที่บ้านปงวัง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ทำได้ 2 ปี ก็ต้องเลิก เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของกะหล่ำปลี เนื่องจากพื้นที่นั้นระบายน้ำได้ไม่ดี เกิดปัญหามีน้ำเก็บกักอยู่ใต้ผิวดิน ทำให้กะหล่ำปลีไม่เจริญเติบโตและเป็นโรคเน่าตาย จึงคิดจะหาพื้นที่ใหม่ ปลายปี พ.ศ. 2559 ช่วงนั้นได้มีคนมาชักชวนให้ไปเช่าพื้นที่ว่างรกร้างของสวนแลนด์โก้ เลขที่ 108 หมู่ที่ 5 บ้านแม่ทะ ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เดิมสวนนี้เป็นสวนลำไย แต่โค่นทิ้ง ปล่อยให้รกร้าง มีพื้นที่กว้างใหญ่มากถึง 36 ไร่ พื้นที่มากมายขนาดนี้ ย่อมเกินกำลังความสามารถของคนในครอบครัวแซ่โซ้ง จำนวน 6 คน แน่นอน

แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นความขยันขันแข็งสู้งานหนักติดอยู่ในสายเลือดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงพาครอบครัวทั้ง 6 ชีวิตมาที่สวนแลนด์โก้ มีบ้านพักเดิมให้พักอาศัย มีน้ำมีไฟฟ้าพร้อม จึงเริ่มจากการจ้างรถแทรกเตอร์มาไถดะ 1 ครั้งแล้วไถพรวนอีก 1 ครั้ง เป็นพื้นที่เพื่อปลูกกะหล่ำปลี 20 ไร่ อีก 2 ไร่ ปลูกพริกขี้หนู การเตรียมดินนั้นต้องเตรียมให้ละเอียด

 

การเพาะเมล็ด

การเตรียมดินแปลงเพาะต้องทำอย่างละเอียด หว่านเมล็ดแล้วโรยด้วยมูลไก่ทับหน้า ตามด้วยปุ๋ยยูเรียโรยบางๆ ให้น้ำเช้าเย็น คลุมแปลงด้วยซาแรนพรางแสง ไม่ใช่เพื่อต้องการพรางแสงให้แปลงเพาะแต่อย่างไร แต่ป้องกันไม่ให้สุนัขมาคุ้ยเขี่ยแปลงเพาะ หลังจากเพาะเมล็ดในแปลงเพาะได้ 1 เดือน จึงถอนกล้าย้ายมาปลูกในแปลงใหญ่ พันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์ของญี่ปุ่น ใช้ 2 พันธุ์ คือพันธุ์ ที-530 ใบค่อนข้างกลม ชอบความชุ่มชื้น จึงให้น้ำบ่อยได้ และพันธุ์ ที-523 ทั้งสองพันธุ์เป็นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรค ทนฝน ทนต่อการขนส่ง หัวห่อแน่น น้ำหนักดีเป็นที่ต้องการของตลาด ลำต้นสูงประมาณ 40-55 เซนติเมตร ขนาดดอกหนัก ประมาณ 0.5-1.20 กิโลกรัม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-90 วัน เมล็ดพันธุ์บรรจุในกระป๋อง ขนาด 50 กรัมราคาประมาณ 500 บาท กะหล่ำปลีทั้ง 2 พันธุ์นี้ ในตลาดลำปางไม่มีขาย ต้องเดินทางไปซื้อที่จังหวัดแพร่

 

วิธีปลูก

การปลูกกะหล่ำปลีจะเริ่มเมื่อใกล้สิ้นสุดฤดูฝนหรือฝนใกล้หมด ดังนั้น ในฤดูฝนจึงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนเท่ากับเป็นการปลูกพืชหมุนเวียนไปในตัว เมื่อหักข้าวโพดออกหมดแล้วจึงไถเตรียมดิน ปีหนึ่งสามารถปลูกกะหล่ำปลีได้ 2 ครั้ง การปลูกขุดหลุมลึกประมาณครึ่งหน้าจอบ (ประมาณ 10-15 เซนติเมตร) เว้นระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถวห่างพอประมาณ กะด้วยสายตาว่ากะหล่ำปลีแผ่ใบชนกันพอดี (ประมาณ 40-50 เซนติเมตร) ไม่ต้องวัดระยะห่างด้วยเทปวัด เพราะแต่ละคนต่างเคยชินจึงกะด้วยสายตาได้ค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งสะดวกรวดเร็ว วางต้นกล้าในหลุม กลบไม่ต้องแน่นมาก และไม่ต้องใช้วัสดุพรางแสงแดด

ดูแลรักษา

หลังจากปลูกได้ 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยครั้งแรกด้วยปุ๋ยยูเรียใกล้ต้น ปุ๋ยกำมือหนึ่งใส่ได้ 2-3 ต้น ครั้งที่ 2 พออายุได้ 3 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตรเดิม จำนวนเท่าเดิม การใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเก็บเกี่ยว ประมาณ 15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 กำมือละ 3 ต้น อย่าให้ปุ๋ยโดนใบ การพ่นสารเคมีถ้าไม่มีแมลงก็จะไม่ใช้ ในฤดูหนาวไม่มีปัญหาโรคแมลง แต่ฤดูร้อนต้องพ่นสารเคมีแทบทุกสัปดาห์

 

การให้น้ำ

ให้วันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที เรื่องการให้น้ำนี้ คุณโซ้ง บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้การปลูกกะหล่ำปลีประสบความสำเร็จ แปลงกะหล่ำปลีวางท่อ พีวีซี ขนาด 4 นิ้ว ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์ระยะห่าง 4 คูณ 4 เมตร ใช้ปั๊มจากเครื่องยนต์ โดยสูบน้ำจากแม่น้ำวังด้วยเครื่องยนต์อีกเครื่องฉุดปั๊มมาพักไว้ในบ่อพัก แล้วจึงติดเครื่องยนต์ปั๊มน้ำไปยังหัวสปริงเกลอร์อีกที ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการให้น้ำในฤดูร้อน ให้น้ำตอน 4 โมงเย็น หรือ 5 โมงเย็น ในฤดูหนาวให้น้ำตอนบ่าย 3 โมง ตอนเช้าไม่ควรให้น้ำ

การเก็บเกี่ยว

เมื่ออายุได้ 60 วัน กะหล่ำปลีเริ่มห่อ ให้เลือกหัวที่ห่อแน่นและมีขนาดพอเหมาะ การตัดใช้มีดสะอาดตัดทีเดียวให้ขาด ให้ใบรอบในที่หุ้มหัวติดมาด้วย ส่วนใบแก่รอบนอกตัดออก จากนั้นขนขึ้นรถกระบะ มีอยู่ 3 คัน ขนออกนอกแปลงไปเก็บไว้ในที่ร่ม รอรถสิบล้อมารับอีกที

 

การขาย

การขายไม่มีปัญหา เพราะจะมีนายหน้าวนเวียนมาดูที่แปลง เมื่อพร้อมตัดก็จะเอารถสิบล้อมาขนไปส่งที่ตลาดสี่มุมเมืองและที่ตลาดราชบุรี ส่วนราคาเอาแน่นอนไม่ได้ เมื่อปีที่แล้วราคากิโลกรัมละ 80 สตางค์ บางปีก็กิโลกรัมละ 20 บาท พื้นที่ 1 ไร่ ให้ผลผลิตได้ประมาณ 8 ตัน

การปลูกกะหล่ำปลีนอกจากต้องมีประสบการณ์แล้ว ยังต้องเตรียมใจรับราคาขายที่เอาแน่ไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ

พื้นที่การปลูกกะหล่ำปลีบนพื้นที่ราบของคุณโซ้งจึงเป็นการเปลี่ยนความเชื่อแต่เดิมว่าต้องปลูกได้เฉพาะบนดอยสูงอากาศหนาวเย็น ดังนั้น การปลูกกะหล่ำปลีบนพื้นที่ราบอากาศไม่หนาวเย็นของคุณโซ้งจึงเป็นบทพิสูจน์ที่ให้เห็นผลประจักษ์กัน และจัดได้ว่าการปลูกกะหล่ำปลีของคุณโซ้งบนพื้นที่ราบที่มากที่สุดของจังหวัดลำปาง ผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการปลูกกะหล่ำปลี สามารถติดต่อกับคุณโซ้ง แซ่โซ้ง ได้ที่ โทร. (099) 053-9179