ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | จตุพร พ่วงทอง |
เผยแพร่ |
หากตั้งประเด็นคำถาม ว่า “กัญชง” กับ “กัญชา” แตกต่างกันอย่างไร ให้ยกตัวอย่าง เชื่อว่าหลายยังคงนึกคำตอบไม่ออกมา และเมื่อถามลึกลงไปยิ่งกว่านั้น “กัญชง” ปลูกได้ทั่วไป หรือไม่ผิดกฎหมายหรือเปล่า? รายงานนี้มีคำตอบในข้อสงสัยและประเด็นคำถาม
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พาคณะสื่อมวลชน เดินทางไปยัง สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามการวิจัยเพาะปลูกกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)
สำหรับ กัญชง นั้นได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)” ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชง
สำหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ใช้ในการทอเส้นใยผ้า และในเชิงอุตสาหกรรม และอนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง
อีกทั้งสาระสำคัญของกฎกระทรวง คือ สายพันธุ์ ของ “กัญชง” หรือ เฮมพ์ (Hemp) ที่จะปลูกได้ นั้นต้องมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง ปัจจุบัน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นหน่วยงานเดียว ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้ ตามกฏกระทรวง
“3ปีแรกหน่วยงานรัฐเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง”
ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้อธิบายถึงขั้นตอนการวิจัยว่า ปัจจุบันทางสถาบันนั้นได้ทำการวิจัย มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549
มีทั้งการปรับปรุงพันธุ์ให้มีสารเสพติดต่ำ เพื่อให้กับวัตถุประสงค์ พัฒนาวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และวิจัยเพื่อแปรรูปจากส่วนต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ สถานีเกษตรหลวงปางดะ จะมี พันธุ์ “เฮมพ์” ที่มีสารเสพติดต่ำกว่าร้อยละ 0.3 และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร แล้ว 4 พันธุ์ ประกอบด้วยพันธุ์ RBF1 RBF2 RBF3 และ RBF 4
จากสภาพแปลงปลูก “กัญชง” จะพบว่าต้นกัญชง จะสูง มากกว่า 2 เมตร ใบ ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง หากเปรียบเทียบกับ ต้น กัญชา ความสูงแยกได้ชัดเจน เพราะต้นกัญชา จะมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ใบกัญชามีประมาณ 5-7 แฉก การเรียงตัวของใบจะชิดกัน
ความต่างระหว่าง “กัญชง” กับ “กัญชา”
ดร.สริตา อธิบายลักษณะความแตกต่างของ “กัญชง” กับ “กัญชา” เพิ่มเติมว่า กัญชง จะมีปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เปลือกเหนียวลอกง่าย ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มาก เมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบ ด้านใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะแคบ เพราะปลูกเพื่อต้องการเส้นใยเพียงอย่างเดียว
ส่วน ต้น กัญชา มีปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ เปลือกไม่เหนียว ลอกได้ยาก ให้เส้นใยสั้นมีคุณภาพต่ำ เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวเมล็ดมันวาว ค่า THC ประมาณ 1-10% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะกว้าง เพราะปลูกเพื่อต้องการใบ
กัญชง ยังคงเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ กัญชง หรือ”เฮมพ์” จะได้รับการอนุญาต ให้มีปลูก และสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ในพื้นที่ที่กำหนด 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ เชียงใหม่ 4 อำเภอ คือ แม่วาง , แม่ริม,สะเมิง ,และแม่แจ่ม เชียงราย3 อำเภอ คือ เทิง, เวียงป่าเป้า , และแม่สายน่าน 3 อำเภอ คือ นาหมื่น,สันติสุข, และสองแคว ตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ เพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง, หล่มเก่า ,เขาค้อ แม่ฮ่องสอน อ.เมือง
แต่ กัญชง ก็ยังเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษพ. ศ. 2522 แต่ชาวบ้านทั่วไป ยังปลูกไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายในช่วง 3 ปีแรก ต้องเป็นหน่วยของรัฐเท่านั้น ที่มีสิทธิขออนุญาต จากทางอย.
ดร.สริตา ยังอธิบายว่า ช่อดอกของกัญชง จำนวนประมาณ 30 ช่อ จึงจะมีสารออกฤทธ์เทียบเท่ากัญชาเพียง 1 ช่อ เท่านั้น แต่หากเทียบกับความคุ้มค่าที่ต้นกัญชงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ถือว่าคุ้มค่า แต่ทั้งหมดควรปลูกภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด
ดังนั้น ชาวบ้านที่จะปลูก เฮมพ์ นั้นทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จะมีระบบควบคุมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเริ่ม ตั้งแต่การขออนุญาต จากทางอย. ให้เมล็ดพันธุ์ ที่มีปริมาณ THC ต่ำ มีแผนการปลูก เก็บเกี่ยวที่ชัดเจน และรายงานผลการดำเนินงานตลอดปี ร่วมทั้งมีการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด ป.ป.ส. ในการติดตามปลูก เก็บเกี่ยวตามแผนการผลิต ประสานหน่วยงานท้องถิ่นในการร่วมติดตามและควบคุมการเพาะปลูก ให้เป็นไปตามระบบควบคุมที่กำหนด
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. พาคณะสื่อมวลชน ไปยังชุมชน บ้านแม่สาน้อย ที่มีวิถีชีวิตยึดโยงกับต้นกัญชง มาตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของพิธีศพ
ชีวิตยึดโยง ใยกัญชง ตั้งแต่เกิด – จนตาย
นายเกษม แซ่โซ่ง ชาวม้งบ้านแม่สาน้อย เล่าให้ฟังว่า ชุดใยกัญชง เป็นชุดสำคัญที่แต่ละบ้านของชาวม้งจะต้องมี เพื่อใส่เป็นชุดสุดท้ายในชีวิต ในพิธีศพของตนเอง เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าใส่ชุดใยกัญชงในวาระสุดท้ายจะได้ไปสวรรค์ ดังนั้น ทุกครัวเรือนจะต้องเตรียมปลูกกัญชงไว้ใช้ในงานพิธีดังกล่าว
นายเกษม แซ่โซ่ง ชาวม้งบ้านแม่สาน้อยนอกเหนือจากใช้ในการพิธีแล้ว ก็ยังทอใยกัญชงเอาไว้จำหน่ายบ้างในบางส่วน นายเกษม ยังบอกว่า ตอนนี้มีอุปสรรค เนื่องจาก ต้นทุนการผลิต สินค้าที่มาจากใยกัญชง ค่อนข้างมีราคาแพง ขั้นตอนการผลิตก็ยากมีหลายขั้นตอน คนเดียวก็ทำไม่ได้ ผืนหนึ่งต้องใช่เวลา เป็น ปี ต้องทำหลังจากเก็บเกี่ยว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต กัญชง หรือ เฮมพ์ อาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ได้รับการสนับสนุน อย่างแผ่หลาย กลายเป็น สินค้ามีคุณภาพ เพิ่มรายได้ ให้กับประเทศและชุมชน แต่ทุกอย่างต้องอยุ่ภายใต้ระบบควบคุมพร้อมและดีพอในการจัดการ
กระบวนการต่อเส้นใยกัญชง
กระบวนการย้อมสี