ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ผู้สื่อข่าวสืบทราบว่ามีชาวบ้านที่ต.หนองแวงใต้ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร มีอาชีพทำนาและทำข้าวเม่าขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างดี จึงเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านบัวใหม่พัฒนา หมู่ 2 ต.หนองแวงใต้ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ผู้สื่อข่าวพบกับ นายสมาน พลเสน อายุ 49 ปี
โดยนายสมาน เปิดเผยว่า มีอาชีพทำนามาตั้งแต่รุ่นเก่าแก่ ไม่เคยขายข้าวได้ราคาสูงถังเกิน 15,000 บาท/ตัน ดังนั้น จึงคิดหาทางแปรรูปและนำเอาภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากรุ่น พ่อแม่ มาเพิ่มรายได้ ด้วยการทำข้าวเม่า จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
ซึ่งข้าวเม่าของคนภาคอีสานจะทำจากข้าวที่เริ่มแตกรวง และเป็นน้ำนมอ่อนๆ เก็บเกี่ยวจากที่นา จากนั้นจะนำมารูดเมล็ดออกจากรวง แล้วนำมาคั่วใส่กระทะด้วยความร้อนที่อยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ คั่วจนสุก แล้วนำมาตากให้เย็นสนิท
จากนั้นจะนำมาใส่ครกตำ และใช้กระด้งฝัดเอาเปลือกออกก็จะได้ข้าวเม่าที่อ่อนนุ่ม มีรสชาติหอม เพราะกลิ่นสีเขียวจากข้าวที่กำลังเป็นน้ำนม และนำมาห่อใส่ใบบัว ทั้งนี้ หากนำไปใส่ถุงพลาสติก ข้าวเม่าเมื่อถูกปล่อยให้ถูกอากาศเย็นจะแข็งตัว เหมือนข้าวแห้งกินไม่อร่อย จึงนิยมนำมาใส่ห่อด้วยใบตองกล้วย หรือห่อด้วยใบบัวที่กินฝัก
นางเทอดนารี พลเสน อายุ 48 ปี ภรรยานายสมาน กล่าวว่า การทำข้าวเม่าทำง่าย แต่ก็ไม่ยากหรือง่ายเกินไป เพราะหากไม่รู้วิธีการจะได้ข้าวเม่าที่ไม่อร่อยหรือแข็ง ผู้ที่จะทำข้าวเม่าเป็น จะต้องดูข้าวที่ออกมาว่า มีเวลาหรือพอที่จะทำได้หรือไม่ ความหมายก็คือหากนำข้าวที่อ่อนเกินไปมาทำ ก็จะเหนียวจับกันเป็นก้อนๆภาษาอีสานว่า “ขาวเม่าขี้แมว” ขายที่กิโลกรัมละ 200 บาท หรือประมาณตันละ 2 แสนบาท
“ในการทำข้าวเม่าไม่ต้องเรียน เพราะเคยทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ กินกันในหน้าที่จะออกพรรษา ตอนแรกทำเสร็จจะนำไปถวายพระในวัดหรือใส่บาตรทำบุญก่อน จึงนำมากินไม่มีการขาย ต่อมาพัฒนามาขายทำให้ขายดี คนนิยมซื้อกินกัน ข้าวเม่ามีกินเฉพาะข้าวที่ออกรวงใหม่เท่านั้น เพราะข้าวที่แก่จะไม่สามารถทำข้าวเม่าได้ หรือหากทำได้จะไม่อร่อยเหมือนข้าวที่เริ่มออกรวงหรือเป็นน้ำนมในแต่ละปีข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่นิยมปลูกและให้ผลผลิตเร็ว คือพันธุ์ข้าวฮากไผ่ ข้าวขี้ต้ม เป็นภาษาเรียกของคนอีสาน และข้าวพันธุ์ที่กล่าวมาให้ผลผลิตเร็วเป็นข้าวเบา ชาวบ้านจึงนิยมปลูกเพราะนำมาทำข้าวเม่า ได้ก่อนพันธุ์อื่นๆ ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านมักปลูกกันคนละไม่เกิน 4-5 ไร่ เพราะหากเกินนั้นจะนำมาทำข้าวเม่าไม่ทัน ซึ่งหนึ่งไร่สามารถทำข้าเม่าได้ประมาณ 200 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 200 บาท หรือประมาณไร่ละ 40,000 บาท ทำทั้งหมด 5 ไร่ ก็อยู่ที่ 200,000 บาท โดยระยะเวลาการทำข้าวเม่า ประมาณต้นเดือนตุลาคม ไปจนใกล้จะสิ้นเดือนหรือเวลาประมาณเดือนครึ่ง ก็จะหมดหน้าเนื่องจากข้าวในนาแก่เกินไปพอที่จะเก็บเกี่ยว ดังนั้นระยะเวลาจะอยู่ที่ 45 วันเท่านั้น” นางเทอดนารี กล่าว
นางเทอดนารี กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีจะสามารถทำข้าวเม่าได้ช่วงเดียว แต่ก็ทำให้มีความพอใจ เพราะสามารถมีรายได้ช่วงสั้นเป็นแสนบาท ส่งลูกเรียนหนังสือได้สบายพออยู่พอกิน ไม่ถึงขั้นรวย แต่ก็มีทรัพย์สินเพิ่ม เช่น รถยนต์ และทำบ้านใหม่ได้ ในหมู่บ้านจึงพากันนิยม ทำนาปลูกข้าวทำข้าวเม่ากันมาก แล้วนำมาวางขายริมทางในหมู่บ้าน วันหนึ่งจะขายได้ประมาณวันละ 3,000-4,000 บาท จึงเป็นที่มาคำว่า “บ้านนาบัวข้าวเม่า”