ที่มา | เศรษฐกิจพอเพียง |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
ที่บ้าน คุณวิโรจน์ ทิตา เลขที่ 3/2 หมู่ที่ 7 ตำบลสร้อยทอง อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มีอาชีพเกษตรกรรม ด้วยการปลูกข้าวกับพืชอื่น โดยมีเนื้อที่ทำเกษตรจำนวน 20 ไร่ แต่ในระยะหลังราคาผลผลิตเหล่านั้นตกต่ำ ขณะที่ตัวเขากำลังทำงานในโรงงานก็รู้สึกเบื่อหน่าย จึงตัดสินใจลาออกเพื่อมาช่วยงานเกษตรที่บ้าน อีกทั้งยังได้มีโอกาสอยู่กับภรรยาและลูก 2 คน
ความเป็นคนรุ่นใหม่ทำให้คุณวิโรจน์มองว่าการทำเกษตรแบบผสมผสานเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงเริ่มหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พูดคุยกับเพื่อนหลายคนที่มีประสบการณ์ แล้วจึงค่อยๆ ลงมือด้วยการแบ่งพื้นที่ทำเกษตรออกเป็นสัดส่วน อย่างการทำนา ได้ปรับการปลูกข้าวจากปีละ 2 ครั้ง ให้เหลือเพียงครั้งเดียว

ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ น้ำที่ถูกปล่อยมาเพื่อใช้สำหรับการเกษตรจะมีน้อยลง ดังนั้น คุณวิโรจน์ปรับที่นาด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย อย่างตระกูลถั่วและผักอายุสั้น เพื่อเก็บไปขายตามตลาดชุมชน จากนั้นจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้ขายด้วย พอเลิกปลูกผักชนิดต่างๆ ก็ไถกลบเพื่อหมักเป็นปุ๋ยพืชสดไว้รอการปลูกข้าวรอบต่อไป
ส่วนพื้นที่ในบริเวณบ้านได้ปลูกพืชผักผลไม้หลายชนิด อย่างไผ่หวาน ไผ่ตงลืมแล้ง แก้วมังกร กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทอง แล้วอีกส่วนหนึ่งคือการเลี้ยงไก่ขายพันธุ์เนื้อและไก่สวยงาม นอกจากนั้น บางส่วนของพื้นที่ยังปลูกพืชผักสวนครัว อย่าง พริก มะนาว มะเขือ ตะไคร้ เพื่อเก็บไปส่งขายที่ตลาดชุมชน
คุณวิโรจน์ บอกว่า ในอดีตชาวบ้านทำเกษตรกรรมด้วยการใช้สารเคมีจนทำให้ดินเสื่อมขาดคุณภาพ ปลูกอะไรก็ไม่ได้ผล รวมทั้งปริมาณน้ำใช้ทางการเกษตรที่มีจำกัดจึงทำให้เดือดร้อนกันใหญ่ แต่มาตอนหลังทุกคนเริ่มตระหนักถึงความจริง จึงเปลี่ยนมาปลูกต้นไม้และทำเกษตรกรรมด้วยแนวทางอินทรีย์แม้จะเหนื่อยเพิ่มขึ้น
จากนั้นดินค่อยๆ ฟื้นตัว แล้วเกษตรกรบางรายมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ มีการบริหารจัดการที่ดีก็เลยช่วยทำให้ฟื้นตัวขึ้นมา อย่างในพื้นที่ทำนาของครอบครัวคุณวิโรจน์จะถางหน้าหรือฟางข้าวด้วยมือแทนการเผา จึงพบว่ามีสัญญาณที่ดีเพราะเกิดเห็ดฟางขึ้นในพื้นที่จำนวนมาก แสดงว่าธรรมชาติกลับมาเหมือนเดิมแล้ว
ไม่เพียงไม้ผลหลายชนิดที่สามารถขายผลผลิตในช่วงฤดูกาล แต่คุณวิโรจน์ยังนำต้นหม่อนและถั่วดาวอินคาเข้ามาปลูกเพราะสามารถขายผลผลิตได้ทั้งผลสดและแปรรูป เพราะมองว่าการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปนับเป็นอีกแนวทางสำหรับการต่อยอดรายได้ พร้อมกับผลิตขายเป็นสินค้าแปรรูปในตลาดออนไลน์ด้วย
สำหรับหม่อนปลูกไว้เพื่อทำน้ำหม่อน กับชา คุณวิโรจน์บอกว่า ในตอนแรกยังไม่คิดว่าจะได้รับความสนใจ แต่ภายหลังผลิตไม่พอขาย พร้อมกับมีออเดอร์สั่งเข้ามาตลอดทั้งตลาดในโรงงานและหน่วยงานราชการ จึงหาทางเพื่อทำให้มีผลผลิตต่อเนื่องด้วยการโน้มกิ่งเข้าหากัน แล้วเด็ดใบทิ้ง เพื่อบังคับให้ต้นหม่อนมีผลผลิตตลอด

จากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์มาใส่ ไม่นานจะได้ยอดใหม่แตกออกมาแล้วก็ได้มีลูก โดยจะผลิตน้ำหม่อนครั้งละประมาณ 200 ขวด ขึ้นอยู่กับจำนวนผลหม่อนที่เก็บว่าจะได้มาก-น้อยเท่าไร

ส่วน ถั่วดาวอินคา นำมาผลิตเป็นชากับเม็ดแห้ง ทั้งนี้ ผลผลิตจากถั่วดาวอินคามีทั้งนำใบไปผลิตเป็นชาชง เมล็ดแห้ง เปลือก สำหรับเมล็ดจะจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการนำไปเพาะหรือคั่วรับประทาน มีรสคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ จึงเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ความดันโลหิต และเบาหวาน จึงทำให้มีรายได้ดี กำไรดี และเป็นอีกช่องทางของการสร้างมูลค่าและรายได้

ผลิตภัณฑ์แปรรูปถั่วดาวอินคามีวางจำหน่ายตามตลาดและหน่วยงานราชการใกล้บ้าน แล้วยังรับสั่งผ่านทางออนไลน์ โดยราคาชาชงแพ็กละ 100 บาท (มีจำนวน 30 ซอง) ในกรณีที่ต้องการแยกซื้อเป็นชาผงขายเป็นน้ำหนักราคากิโลกรัมละ 300 บาท ส่วนเปลือกน้ำหนัก 1 ขีด ขายราคาถุงละ 35 บาท จำนวน 3 ถุง 100 บาท ส่วนเมล็ดถุงละครึ่งกิโลกรัมขาย 100 บาท

การทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างชาญฉลาดของคุณวิโรจน์จึงทำให้มีรายได้จากผลผลิตต่างๆ หมุนเวียนตลอดทั้งปี สามารถใช้เลี้ยงภายในครอบครัวได้ เพราะสร้างวิถีชีวิตแบบพอเพียงด้วยการนำสิ่งที่ปลูกในบ้านมาใช้บริโภคได้เกือบทุกชนิด จะซื้อเพียงบางส่วนเท่านั้น
คุณวิโรจน์ ชี้ว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรมยุคนี้ควรเป็นแนวผสมผสานจะเหมาะที่สุด ทั้งนี้ เพราะราคาพืชผลมีการขยับตลอดเวลา อีกทั้งสภาพทางธรรมชาติที่แปรปรวนตลอดเวลา แล้วยากที่จะควบคุม
“ฉะนั้น การปลูกพืชรวมหลายชนิดซึ่งจะเป็นชนิดใดก็สุดแต่ความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จะช่วยส่งเสริมเพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอดเวลา แล้วยังไม่ต้องพะวงกับราคาด้วย ขณะเดียวกัน ถ้าพอมีกำลังจะเพิ่มมูลค่าของพืชไม้ผลแต่ละชนิดที่ปลูกไว้ก็จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก”
สนใจผลิตภัณฑ์ต้องการสั่งซื้อติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 086-050-9305 หรือเฟซบุ๊ก Napatsakorn farm
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธุ์ 2561