“หม่อน หรือ มัลเบอร์รี่เมืองไทย” สวนผลไม้ และ Farm stay สำหรับนักท่องเที่ยว ที่จังหวัดแพร่

หม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ใบ ทำเป็นชาใบหม่อนสมุนไพรชั้นยอด และยังใช้เป็นอาหารของหนอนไหม

หม่อน เป็นไม้พุ่มขนาดกลางใบเดี่ยวออกสลับ ดอกเป็นช่อ ดอกทรงกระบอก กลีบดอกสีขาวหม่น ผลเป็นช่อทรงกระบอก ผลหม่อน นอกจากกินสดแล้ว ยังนำไปแปรรูปได้อีก ในรูปแบบน้ำหม่อนพร้อมดื่ม แยมผลหม่อน โยเกิร์ต เยลลี่ เค้ก ใช้น้ำหม่อนเป็นส่วนผสมของขนมปังโฮลวีท ของใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งน้ำยาล้างจานจากหม่อน แชมพูสระผมจากหม่อน สบู่จากหม่อน ทั้งชนิดก้อนและเหลว

คุณจารุวรรณ เอกบัว ชื่อเล่นว่า คุณเล็ก อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ที่ 6 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 098-446-6932 เป็นเกษตรกรผู้ประกอบกิจการผลิตผลสด แปรรูปเอง ทำการตลาดเพื่อขายเอง ต่อมาก็เปิดสวนหม่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร (Mulberry farm) และให้บริการเป็นที่พักแบบฟาร์มสเตย์ (Farm stay) สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ

คุณเล็ก เป็นคนจังหวัดขอนแก่น พ่อแม่มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แต่ตนเองหันมาประกอบอาชีพรับจ้างเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่สาขาจังหวัดแพร่ ตำแหน่งสุดท้าย ผู้จัดการฝ่าย

คุณจารุวรรณ เอกบัว

การเป็นลูกจ้างรับแต่เงินเดือน ไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่ใช่ตัวตนของเธอ คุณเล็ก จึงตัดสินใจลาออก ทิ้งเงินเดือนเกือบครึ่งแสนมาดำเนินชีวิตใหม่ที่จังหวัดแพร่โดยซื้อที่ดินที่ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย  เพื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยขอความรู้และกล้าพันธุ์หม่อนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแพร่ นำไปปลูกจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เชียงใหม่ 60 (ผลผลิตจะดกมาก แต่ผลเล็ก) จำนวน 200 ต้น สายพันธุ์บุรีรัมย์ 60 (ใบใหญ่ ใช้เลี้ยงหนอนไหมและทำชาใบหม่อน) จำนวน 20 ต้น สายพันธุ์กำแพงแสน (ผลใหญ่ยาวมีขนน้อย) จำนวน 80 ต้น บนเนื้อที่ 8 ไร่

ปลูกและดูแลไม่ยากอย่างที่คิด

ถ้ารู้ธรรมชาติของต้นหม่อน

ต้นหม่อนโดยธรรมชาติเป็นพืชทนแล้ง ไม่ต้องรดน้ำก็อยู่รอด เพียงกำจัดหญ้าบริเวณที่จะปลูกออกให้หมดเสียก่อน ขุดหลุมขนาดเท่ากับถุงดำที่บรรจุต้นพันธุ์ นำต้นพันธุ์ลงปลูกระยะห่างระหว่างต้น 2×2 เมตร นำมูลวัวมูลควายทับบนดินแล้วใช้ฟางข้าวกลบ กลบด้วยมูลวัว มูลควายอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันฟางข้าวปลิวออกจากโคนต้นหม่อน แนะนำให้ปลูกในเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงฤดูฝน พื้นดินมีความชุ่มชื้นดี ไม่ต้องให้น้ำ

หลังปลูก ปล่อยให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตไปตามธรรมชาติ คุณเล็กจะให้น้ำช่วงเดือนมีนาคม เมษายน สัปดาห์ละครั้ง เมื่อต้นหม่อนโตแล้วก็ไม่ต้องให้น้ำเพราะเป็นพืชทนแล้ง ผ่านไป 6-8 เดือน ต้นหม่อนเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปลายเดือนธันวาคม ก็เก็บผลผลิตได้ เดือนมีนาคมตัดแต่งกิ่ง  ช่วงฤดูฝนคุณเล็กจะตัดหญ้าถางโคนต้นหม่อนคลุมด้วยฟางข้าว ทำให้โล่งเตียน ไม่มีแหล่งเพาะเชื้อโรค และแมลง

เทคนิคการบังคับให้หม่อนติดดอกออกผล

ด้วยการตัดแต่งกิ่งและการโน้มกิ่ง

เดือนมีนาคม เมื่อต้นหม่อนอายุได้ 8 เดือน คุณเล็กตัดแต่งกิ่งที่ความสูง 1 เมตร เดือนพฤษภาคม ต้นหม่อนแตกกิ่ง จะโน้มกิ่งสีน้ำตาล ลิดใบออกให้หมด (ธรรมชาติของหม่อนเมื่อไม่มีใบเขาก็จะสร้างยอด สร้างใบ ขึ้นมาใหม่) รวบกิ่งมัดรวมกันระหว่างต้น เป็น 4 ทิศทาง เป็นรูปโค้ง แล้วตัดปลายยอดทิ้ง (ใบหม่อน นำไปตากแห้ง ทำเป็นชาใบหม่อนได้) จนถึงช่วงที่ผูกมัดแล้วตัดกิ่งแขนงย่อยๆ ออก ใน 1 ต้น หากต้องการให้ได้ผลหม่อนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่มีผลใหญ่ ก็จะให้มีกิ่ง 1-10 กิ่ง ต่อต้น ระหว่างนี้งดให้น้ำ 5 วัน เพื่อเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ หากต้นต้องตาย จะแตกยอดแตกใบขึ้นมาใหม่ เพื่อดำรงชีพต่อไป นับเวลาไป 45-60 วัน ต้นหม่อนก็จะแตกยอด ออกดอก ติดผล เริ่มเก็บผลได้ตลอด 1 เดือน จะดำเนินการเช่นนี้ ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนเมษายนและตุลาคม

คุณเล็ก กล่าวว่า การจะบังคับให้ต้นหม่อนติดดอกออกผลในช่วงใดก็ทำได้ กำหนดวันที่ต้องการผลผลิตแล้วนับวันย้อนหลังไป 45-60 วัน ก็ดำเนินการตามที่กล่าวไป

ผลงานวิจัยพบว่า ผลผลิตมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างการโน้มกิ่งกับการไม่โน้มกิ่ง ปล่อยไปตามธรรมชาติว่า วิธีการบังคับทรงพุ่มต้นหม่อน ที่อายุ 2 ปี หากโน้มกิ่งให้ขนานกับพื้นดิน เป็นการทำนอกฤดูได้ โดยบังคับทรงพุ่มในวันที่ 1 กันยายนของทุกปี จะเก็บผลหม่อนได้เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ได้จำนวน 514 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี และถ้าต้นหม่อนมีอายุมากก็จะเก็บผลผลิตได้มาก

การตัดแต่งกิ่ง เป็นการบังคับให้ต้นหม่อนออกดอกตามใจฉัน คุณเล็กสรุปจากประสบการณ์ว่า ต้นหม่อนอายุ 2 ปี (ต้นหม่อนปลูกครั้งเดียวมีอายุยืนยาว 40-50 ปี) จะให้ผลผลิตสูงสุด จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง แต่ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่บำรุงต้นด้วย ต้นหม่อนอายุ 4 ปี คุณเล็กตัดต้นเหลือแต่ตอ สูงไม่เกิน 1 เมตร โดยตัดต้นหม่อนทุกๆ 20 ต้น ต่อสัปดาห์ทยอยตัดแล้วเว้นช่วงเวลาไป เพื่อให้ต้นหม่อนติดดอกออกผลตลอดตามปริมาณผลผลิตที่ต้องการ (ไม่ต้องการให้ต้นหม่อนออกผลพร้อมกันทั้งสวน)

เมื่อถึงฤดูฝนคุณเล็กจะไม่ให้ผลหม่อนออกผล เพราะผลหม่อนร่วงง่าย เกิดเชื้อราเร็วมาก ที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว หม่อนแม้จะติดผลดกมากแต่รสชาติจะไม่หวาน แต่หากเป็นช่วงฤดูร้อน ผลจะเล็กไม่สวย แต่หวาน ทั้งนี้จะให้ต้นหม่อนได้พักตัวในเดือนพฤศจิกายน  สวนหม่อนของคุณเล็ก ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เก็บผลผลิตตามความต้องการของตลาด-เพื่อแปรรูป

คุณเล็กเก็บผลหม่อนขายผลสด นำไปแปรรูป และคงค้างไว้บนต้นให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อเก็บผลเอง คุณเล็กพิถีพิถันในการดูแลและเก็บผลผลิต หากนำไปแปรรูป จะเลือกเก็บผลสีแดง 50% ผลดำ 50% เก็บครั้งละ 10 กิโลกรัม ในแต่ละสัปดาห์

คุณเล็กจะแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ทางสื่อ Facebook ไปยังผู้ที่ต้องการซื้อผลหม่อนในเมืองแพร่ หากสั่งซื้อจำนวนเท่าไร ก็จะเก็บผลหม่อนในตอนเช้า ใช้มือเด็ดทีละผล เพื่อไม่ให้ผลช้ำ และจะแจ้งผ่านทาง Facebook ไปยังนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชมที่สวน ก็จะให้เขาเลือกเก็บกันเองและนำมาชั่ง คิดเงินกันไป กิโลกรัมละ 100 บาท สรุปยอดแล้ว ต้นหม่อน 300 ต้น เก็บผลผลิตได้ ประมาณ 1,000 กิโลกรัม เป็นการขายผลสดครึ่งหนึ่ง แปรรูปอีกครึ่งหนึ่ง

นอกจากการขายผลหม่อนแล้ว คุณเล็กยังเพิ่มมูลค่าของต้นหม่อนอีก 2 อย่าง คือ การตอนกิ่งและปักชำกิ่งขาย จะทำในช่วงเดือนพฤศจิกายน หากเป็นกิ่งตอน ขายต้นละ 80 บาท กิ่งปักชำ ต้นละ 20 บาท โดยบรรจุในถุงดำเรียบร้อยพร้อมปลูก ได้นำใบหม่อน (สายพันธุ์บุรีรัมย์ 60) ไปเลี้ยงหนอนไหม ซึ่งเธอเลี้ยงไว้ด้วย

การขยายพันธุ์หม่อน ผลการวิจัยพบว่า การใช้วิธีการปักชำ หากใช้ความสูงของกิ่งที่ 25 เซนติเมตร ใส่ในถุงเพาะชำสีดำ ได้ผลรอดตาย 83-84% กรณีการตอนกิ่ง ใช้ความยาวที่ 150 เซนติเมตร ได้ผล 89-96% และการฉีดพ่นฮอร์โมนจำพวกไซโตไคนิน ออกซิน จิบเบอเรลลิน ไม่มีผลต่อการเติบโตและการขยายกิ่งพันธุ์หม่อนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องฉีดพ่น

บริหารจัดการผลผลิต-แปรรูป-ดูแลตลาดด้วยตนเอง

คุณเล็ก เป็นเกษตรกรหญิงแกร่ง มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการผลผลิต การพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ในกิจกรรมด้านการเกษตรปลูกหม่อนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนการผลิตผลหม่อน การจัดรูปแบบการใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ วิธีการปลูกหม่อน การดูแลหม่อน การเก็บเกี่ยวผลผลิตผลหม่อน การแปรรูปผลหม่อนอย่างมีมาตรฐานการผลิตที่เป็นธรรมชาติไม่เจือปน ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ มีการบริหารตลาดหม่อนของตนเอง อย่างเช่น การแปรรูปผลหม่อนที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่ น้ำหม่อนพร้อมดื่ม แยมผลหม่อน โยเกิร์ติมัลเบอร์รี่ เยลลี่มัลเบอร์รี่ เค้กช็อกโกแลตมัลเบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท พร้อมได้เสนอตัวอย่างการแปรรูป ดังนี้

  1. การผลิตน้ำหม่อนพร้อมดื่ม

วัตถุดิบ

  1. ผลหม่อน 1 กิโลกรัม (ใช้ผลหม่อนสีแดง 60% ผลสีดำ 40% เพื่อให้น้ำหม่อนมีรสเปรี้ยวอมหวานและสีสด)
  2. น้ำมะนาว 2 ถ้วยตวง
  3. น้ำตาลทรายแดง 200 กรัม
  4. น้ำสะอาด 2 ลิตร

วิธีการทำ นำวัตถุดิบทุกอย่างใส่หม้อต้ม จนน้ำเดือดนาน 10 นาที แล้วตักขึ้นแยกกากออก รอเวลา 10 นาที บรรจุใส่ขวดพลาสติก ขนาด 150 ซีซี ผนึกปิดฝาขวด นำลงแช่ในน้ำแข็ง นำออกขายได้ ขวดละ 10 บาท ส่วนกากที่เหลือนำไปทำแยมผลหม่อนต่อไป

  1. แยมผลหม่อน

วัตถุดิบ

  1. ผลหม่อนสด 1.5 กิโลกรัม และใช้กากผลหม่อนที่ได้จากการต้มทำน้ำผลหม่อนพร้อมดื่มอีก 0.5 กิโลกรัม
  2. น้ำมะนาว 150 ซีซี
  3. น้ำตาลทรายแดง 400 กรัม
  4. เพคติน 50 กรัม

วิธีการทำ

  1. นำกากผลหม่อนใส่เครื่องปั่นเสียก่อน และผลสดไม่ต้องปั่น ใส่รวมกันในหม้อสแตนเลส
  2. นำน้ำมะนาวกับผลหม่อนและกากหม่อนที่ปั่นแล้วคนให้เข้ากันเพื่อให้น้ำมะนาวซึมเข้าเนื้อผลหม่อน ใส่เพคตินลงไปแล้วคนด้วย จากนั้นนำน้ำตาลทรายแดงลงไปผสมคลุกเคล้าคนให้เข้ากันพอดี
  3. นำหม้อขึ้นตั้งบนเตาไฟ ใช้ความร้อนเป็นเวลานาน 30 นาที โดยไม่ต้องคน ก็จะได้แยมผลหม่อน
  4. ต้มขวดแก้วและฝาปิดที่จะนำมาบรรจุ เพื่อฆ่าเชื้อโรคนาน 10 นาที
  5. บรรจุแยมผลหม่อนใส่ขวดขณะร้อนๆ ผนึกปิดฝาขวดตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติจนเย็นลง นำออกขายได้ ขวดบรรจุ 100 กรัม ขายในราคาขวดละ 50 บาท
  1. ขนมปังโฮลวีท

วัตถุดิบ

  1. แป้งขนมปัง 4 ถ้วยตวง
  2. แป้งโฮลวีท 2 ถ้วยตวง
  3. น้ำตาลทรายแดง 4 ช้อนโต๊ะ
  4. เกลือ 2 ช้อนชา
  5. ยีสต์ 4 ช้อนชา
  6. เนย หรือน้ำมันพืช 1 ถ้วยตวง
  7. น้ำผลหม่อน 3 ถ้วยตวง
  8. เมล็ดธัญพืชตามต้องการ

วิธีการทำ

  1. นำวัตถุดิบทุกอย่างลงใส่ในหม้อตีแป้ง ใช้ความเร็วที่สปีดช้า 3 นาที สปีดเร็ว 3 นาที
  2. ตัดแบ่งแป้งที่ได้ ตามข้อ 1 เป็นก้อนน้ำหนัก 550 กรัม คลุมด้วยพลาสติก พักไว้นาน 3 นาที ก้อนแป้งจะพอง
  3. ขึ้นรูปด้วยการรีดอากาศออกจากตัวแป้ง ม้วนเข้าแบบพิมพ์ พักไว้นาน 30 นาที
  4. นำเข้าเครื่องอบ ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที
  5. รอจนขนมปังเย็นลง บรรจุใส่ถุง ขายราคาตามน้ำหนัก 550 กรัม 50 บาท

แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไว้ใช้เอง

นอกจากการแปรรูปผลหม่อนสดเป็นน้ำหม่อนพร้อมดื่ม แยมผลหม่อน และขนมปังโฮลวีทที่ใช้น้ำหม่อนเพื่อไว้จำหน่ายแล้ว คุณเล็กยังมีความเพียรที่จะผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปของกินของใช้จากผลหม่อนไว้ใช้เองในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม สบู่ชนิดก้อน-เหลว และชาใบหม่อน อีกด้วย

ขนมปังโฮลวีท

ทำการตลาดด้วยตนเอง แบบ delivery

ผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากหม่อนของสวนคุณเล็ก ใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยในการดำเนินการตลาด สำหรับผลหม่อนสด นำไปส่งให้แก่ผู้สั่งซื้อในเมืองแพร่ แบบ delivery การบริการส่งถึงที่ นอกจากนี้ ยังทำบ้านให้เป็นตลาด (Home market) แจ้งไปยังกลุ่มลูกค้า ว่าวันที่เท่านั้นเท่านี้จะเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสวนเก็บผลหม่อนได้ ก็จะมีผู้ติดต่อเข้ามาแจ้งความจำนง พร้อมมีผลิตภัณฑ์แปรรูปให้ลูกค้ามาเลือกซื้อได้เองที่บ้าน และใช้สื่อ Facebook และ Page ถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะที่นี่มีฟาร์มสเตย์ (Farm stay) ท่องเที่ยวเชิงการเกษตรด้วย

เบื้องหลังของฟาร์มสเตย์ (Farm stay) ท่องเที่ยวเชิงการเกษตร

คุณเล็ก เล่าให้ฟังว่า ตนจำได้ว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส 4 คน ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัยจะไปเชียงใหม่ แต่รถยนต์ที่เช่ากันมาเกิดมาเสียที่ปากทางเข้าบ้านของคุณเล็ก และตนเองได้เข้าไปสอบถาม ได้ให้การช่วยเหลือแจ้งช่างมาซ่อมรถยนต์ พร้อมพามากินข้าวที่บ้าน ให้ที่พักพิงที่สวน พาไปขึ้นรถไฟไปจังหวัดเชียงใหม่ อีกไม่กี่วันต่อมา พวกเขากลับจากจังหวัดเชียงใหม่มาพักที่สวนอีก 10 วัน พวกเขาแนะนำว่าที่สวนแห่งนี้ควรพัฒนาเป็นฟาร์มสเตย์ (Farm stay) แต่คุณเล็กบอกว่าไม่มีเงินทุน พวกเขาจึงช่วยกันสร้าง Facebook และ Page ให้ เพื่อระดมเงินทุนจากกลุ่มเพื่อนๆ และผู้ประสงค์จะบริจาคในต่างประเทศ ระบุเงื่อนไขว่า ผู้บริจาคเงินสามารถมาพักที่สวนได้ฟรี พร้อมบริการอาหาร และปลูกต้นไม้จารึกชื่อนักท่องเที่ยวผู้นั้นให้ด้วย เพียง 15 วัน หลังการส่งสื่อ คุณเล็กไปเช็กบัญชีที่ธนาคารมีเงินเข้ามาในบัญชีถึง 1,270 ยูโร คิดเป็นเงินไทย 49,000 บาท จึงพากันไปซื้อวัสดุก่อสร้างมาดำเนินการ โดยพวกเขาก็มีส่วนช่วยสร้างห้องพัก ห้องน้ำ แล้วก็กลับไปประเทศฝรั่งเศส

จากวันนั้นถึงวันนี้ “มีผู้ที่บริจาคเงินมาท่องเที่ยวและมาพักที่สวน ซึ่งพัฒนาเป็นฟาร์มสเตย์ ท่องเที่ยวเชิงการเกษตร (Mulberry Farm stay) ตามเงื่อนไขที่แจ้งไว้ตอนที่บริจาคเงินแต่นักท่องเที่ยวที่มาก็ยังชำระค่าที่พักให้ นักท่องเที่ยวที่มาเขาไม่ได้มาเพียงแค่พักผ่อนอย่างเดียวนะ” คุณเล็ก กล่าว “เขาต้องการมาเรียนรู้วิถีชีวิตคนไทยว่า คนไทยแท้จริงแล้วดำเนินชีวิตเช่นไร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาที่นี่มากันทั้งครอบครัว มาคนเดียวก็มี”

ที่พักสะอาด

เขามาทำอะไรกันบ้าง (ผมตั้งคำถาม)

“เขาจะมาอยู่กัน 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง แต่ละวันเขาจะใช้ชีวิตเช่นเดียวกับพวกเรา เล็กกินอะไรเขาก็กินเช่นนั้น เขามักจะถามว่า วันนี้เล็กจะทำอะไร เขาก็จะติดตามไปและลงมือทำด้วย เขาอยากทำอะไรตามแบบที่เกษตรกรไทยทำ เช่น ตอนกิ่งต้นหม่อน ตัดกิ่งไม้ ปลูกต้นไม้ เขาทำงานไปก็ร้องเพลงไปอย่างมีความสุข” คุณเล็ก ตอบ

คุณเล็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาจะทำงานในสวนเฉพาะช่วงเช้า 3 ชั่วโมง บ่ายเขาก็จะพักผ่อนเดินชมหมู่บ้านบ้าง ฝึกสอนกีฬาให้กับเด็กๆ ในชุมชนบ้าง มีนักท่องเที่ยวทยอยกันมาตลอด เพราะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งกลับไปก็จะมีการสื่อสารกันปากต่อปาก ผ่านสื่อต่างๆ ให้มาเที่ยวฟาร์มสเตย์แห่งนี้ ทาง fb : jjjaruwan Ekbue และ Page : Mulbery farm นักท่องเที่ยวที่มา ก็มาจากประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลแลนด์ ลิทัวเนีย เยอรมนี แคนาดา

ที่สวนของคุณเล็กมิใช่มีเฉพาะต้นหม่อนไว้ให้ดูได้ศึกษาเท่านั้น ยังมีการผสมผสานพืช ประมง อีกมากมาย ทั้ง มะนาว เงาะ มะม่วง กล้วย สตรอเบอรี่ กาแฟ ขนุน กระท้อน เกาลัด ปลาในบ่อไว้สำหรับกินตามฤดูกาลและให้เพื่อนเกษตรกรได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้มาศึกษาด้วย

เป็นเกษตรกรไทยเข้าสู่ยุค 4.0

ตัวคุณเล็กเองเป็นผู้มีคุณสมบัติและศักยภาพหลายประการของการเป็นเกษตรกรเข้าสู่ยุค 4.0 มีองค์ความรู้การประกอบการธุรกิจด้านการเกษตร การนำการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตผลภายในสวนเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากการขายผลสด แปรรูป การตลาด และขายกิ่งพันธุ์ควบคู่กันไปด้วย จนมีรายได้พึ่งพาตนเองได้ ไม่มีภาระหนี้สิน แบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่สังคม ในการเป็นวิทยากรฝึกอบรมการแปรรูปผลหม่อน การเป็นตัวแทนไหมอาสาเกษตรและประสานงานด้านหม่อนไหมของจังหวัดแพร่ ทุกวันนี้เธอและครอบครัวดำเนินวิถีชีวิตด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตอยู่คู่กับธรรมชาติแบบเรียบง่าย

ต้องการเที่ยวชมสวนหม่อน ซื้อผลหม่อนสด ผลิตภัณฑ์แปรรูป โทรศัพท์พูดคุยกับ คุณจารุวรรณ  เอกบัว หรือจองที่พัก มีขั้นตอนติดต่อผ่านทาง Fb : Mulberry farm, Web :airbnb : mulberry farm denchai, Web : booking.com : Mulbery farmstay Phrae

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Update 13/5/2022