ตามไปดู โครงการ 9101 กับผู้นำชุมชนคนรุ่นใหม่ พัฒนาอาชีพให้ชุมชน เห็ดเด่นมากๆ

สวัสดีค่ะ หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” กันมาแล้ว ซึ่งโครงการนี้มีความหมายคือ 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9 และ 10 หมายถึง รัชกาลที่ 10 คือในหลวงรัชกาลปัจจุบัน และ 1 คือ ปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน

เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาใช้พัฒนาการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในรูปแบบชุมชนเกษตรกร โดยใช้กิจกรรมในลักษณะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร เรียนรู้การคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาพื้นที่ ฉบับนี้รันตีจึงอาสาพาท่านผู้อ่านไปชม โครงการ 9101 ที่กำลังเดินหน้าไปอย่างสวยงาม โดยมีผู้นำชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ใส่พลังขับเคลื่อนเพื่อความสุขอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ตามรันตีมาเลยค่ะ

 

บ้านไตรรัตน์ ที่ราบสูงบนภูเขา

พาท่านมาที่ บ้านไตรรัตน์ หมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่สภาพเป็นที่ราบสูงและภูเขา ดินมีลักษณะเป็นสีแดง แหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำแควน้อยนั้นอยู่ไกลกว่า 5 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ที่อยู่สูงและเป็นพื้นที่หินทำให้ไม่สามารถเจาะบ่อบาดาลได้ การทำการเกษตรจึงต้องอาศัยน้ำฟ้าน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ต้องเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อย่างพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ไม้ผล อย่าง น้อยหน่า พืชผักจำพวกหัวไชเท้า ปัจจุบัน หมู่บ้านไตรรัตน์มีผู้ใหญ่บ้านคือ คุณเอนก อ่อนช้อย คนรุ่นใหม่ที่รักการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ผู้ใหญ่เอนก บอกว่า หมู่บ้านไตรรัตน์ มีประชากรอยู่ 450 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร แต่ปัญหาคือขาดแคลนแหล่งน้ำและผลผลิตเกษตรที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ คนในหมู่บ้านจึงมองหาช่องทางสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน

ผู้ใหญ่เอนก อ่อนช้อย

เงินจากโครงการกระจายสู่คนในหมู่บ้าน

ผู้ใหญ่เอนก เล่าว่า ได้มีการปรึกษาหารือกับลูกบ้านในเรื่องการทำมาหากินและอาชีพต่างๆ อยู่เสมอ จนเมื่อรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้เสนอโครงการ จึงเสนอโครงการผลิตเห็ดเข้าไปและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ 9101 จากรัฐบาลมาเพื่อสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านไตรรัตน์ โดยการใช้งบประมาณมาลงทุนสร้างอาชีพการผลิตเห็ดแบบครบวงจรให้กับชาวบ้านนั้น ผู้ใหญ่เอนก บอกว่า “เราสรุปกันไว้ว่า จะผลิตเห็ดในแบบครบวงจร ตั้งแต่การอัดก้อนเห็ด การอบฆ่าเชื้อก้อนเห็ด การเขี่ยเชื้อ การเพาะเลี้ยง ไปจนถึงการตลาด งบประมาณส่วนหนึ่งเราจึงต้องเอาไปซื้อเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ตู้อบฆ่าเชื้อก้อนเห็ด ตะแกรงวางก้อนเห็ด อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนงบประมาณบางส่วนเราใช้งบประมาณเพื่อกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างทั่วถึงตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เราใช้การจ้างแรงงานที่เป็นคนในหมู่บ้านมาร่วมกันทำโรงเพาะเห็ด ช่วยกันคนละไม้คนละมือไม่นานก็สำเร็จเป็นโรงเรือนเพาะเห็ด ขนาด 6×15 เมตร สามารถเพาะเลี้ยงเห็ดได้ 10,000 ก้อน” ผู้ใหญ่เอนก เล่าให้ฟัง

 

สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากเห็ดนางฟ้า

หลังจากมีเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งโรงเรือนเพาะเห็ดแล้ว ก็มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเด็ก นักเรียน แม่บ้าน เกษตรกร ผู้สูงอายุ มาเรียนรู้การผลิตก้อนเชื้อเห็ด การผสมอาหารเลี้ยงเห็ด การนึ่งฆ่าเชื้อ การหยอดเชื้อ เขี่ยเชื้อเห็ด และการเพาะเลี้ยงเห็ดในโรงเรือน ผู้ใหญ่เอนก บอกว่า “เราตกลงกันว่าจะเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าภูฏานและเห็ดนางรมฮังการี เพราะเห็ดทั้ง 2 ชนิดนี้เพาะเลี้ยงได้ค่อนข้างง่าย สามารถเพาะให้เกิดดอกได้ตลอดทั้งปี และเป็นที่ต้องการของตลาด เรามั่นใจว่าตลาดในพื้นที่กาญจนบุรียังมีช่องว่างให้เราเอาผลผลิตไปขายได้ เพราะในพื้นที่มีผู้ผลิตเห็ดไม่มากนัก” ตอนนี้ผลผลิตเห็ดจากโครงการได้ออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี “ผลผลิตเห็ดของเราเริ่มจากการขายในหมู่บ้านก่อน หากเหลือแล้วก็จะนำออกไปวิ่งหาตลาดนอกหมู่บ้าน รวมทั้งมีพ่อค้าแม่ค้าที่เริ่มรู้ว่าหมู่บ้านของเรามีผลผลิตเห็ดก็เริ่มติดต่อเข้ามา เข้ามาซื้อผลผลิตของเราเพิ่มขึ้น ตอนนี้ราคาขายส่งเห็ดของเราอยู่ที่ 40 บาท ต่อกิโลกรัม” ผู้ใหญ่เอนก เล่า

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในโครงการ

วางแผนต่อยอดเมื่อหมดโครงการ

โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนนั้น ให้งบประมาณมาเพื่อเป็นการเริ่มต้นสร้างอาชีพ หากงบประมาณหมดลงไป อาชีพเหล่านั้นจะอยู่ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำชุมชนและลูกบ้านที่เป็นสมาชิกผู้ร่วมโครงการ ผู้ใหญ่เอนก เล่าว่า “ทุกวันนี้เราใช้งบฯ จาก โครงการ 9101 หมดไปแล้ว แต่ดอกผลที่ได้จากการขายผลผลิตก็ยังสามารถพาโครงการนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้อีก เพราะเราได้แบ่งรายได้ 60% จากการขายผลผลิตเข้าไปรวมไว้เป็นกองทุนสำหรับดำเนินโครงการต่อไป ส่วนรายได้อีก 40% เรานำมาจัดสรรเป็นรายได้ให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมทำงานในโครงการ ดังนั้น แม้ว่างบฯ ตั้งต้นจะหมดไป แต่เรายังมีเงินรายได้ที่สามารถนำมาดำเนินงานได้ต่อไป เรามีรายรับเป็นรายได้จากการขายผลผลิตเห็ดทุกวัน ส่วนก้อนเห็ดชุดแรกเมื่อหมดอายุการให้ผลผลิต เราก็จะเอามาทำปุ๋ยหมักใช้ต่อไป ส่วนก้อนเชื้อเห็ดชุดต่อไปเราก็มีอุปกรณ์ ความรู้ และประสบการณ์พร้อมสามารถผลิตเองได้แล้ว ดังนั้น โครงการเห็ดของเราจึงสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนแน่นอนครับ”

ชาวบ้านหวังมีอาชีพต่อยอดจากโครงการ

คุณปทุมทิพย์ อยู่สำราญ เกษตรกรในพื้นที่บ้านไตรรัตน์ ที่เข้าร่วมผลิตเห็ดได้เล่าว่า “ป้าเข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ต้น ตอนนี้ก็ทำหน้าที่เก็บผลผลิตเห็ด ดูแลการผลิตทั้งหมด ที่ผ่านมาก็มองว่าโครงการนี้น่าจะเดินหน้าไปได้เป็นอย่างดี เพราะตอนนี้ผลผลิตของเรามีทั้งลูกค้าประจำที่มารับซื้อผลผลิตถึงที่ และยังมีลูกค้าจรที่รับรู้แล้วว่าหมู่บ้านของเรามีการผลิตเห็ดเต็มรูปแบบ นอกจากนั้น เรายังสามารถทำก้อนเห็ดเองได้ ถือว่าเราทำได้เกือบครบวงจร อนาคตเราจึงมองเห็นช่องทางว่านี่จะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถเลี้ยงดูคนในหมู่บ้านไตรรัตน์ได้” ทางด้านผู้ใหญ่เอนก บอกว่า “ผลผลิตของเราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เราจึงกำลังจะขยายโรงเรือนเพาะเลี้ยงเห็ดออกไปอีก เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและเพิ่มปริมาณงานให้คนในหมู่บ้าน นอกจากนั้น เรายังวางแผนที่จะเป็นผู้ผลิตก้อนเห็ดออกจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการขายผลผลิตเห็ดอย่างเดียว และยังมองในเรื่องการแปรรูปผลผลิตเห็ดในช่วงที่ราคาไม่ดีหรือมีผลผลิตล้นตลาด นอกจากนั้น ยังพยายามจะให้ที่นี่เป็นจุดเรียนรู้ เป็นศูนย์ดูงานการผลิตเห็ดสำหรับพี่น้องเกษตรกร ลูกหลาน นักเรียน นักศึกษา และคนที่สนใจทั่วไป เพื่อให้หมู่บ้านไตรรัตน์เป็นหมู่บ้านผลิตเห็ดครบวงจรในการรับรู้ของคนทั่วไปให้ได้”

รันตีขอเอาใจช่วยคนที่มีจิตสาธารณะ ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคบ้างก็คงไม่สามารถเอาชนะคน กลุ่มคน ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อส่วนรวมได้ ใครสนใจอยากไปเยี่ยมชมโครงการ อยากไปซื้อผลผลิตเห็ด ก้อนเชื้อเห็ด ติดต่อไปได้ที่ ผู้ใหญ่เอนก อ่อนช้อย โทร. (061) 629-8858 ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้วขอลากันไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ