กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีดูแลกล้วยไม้แก่เกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนแล้ง – น้ำทะเลหนุน

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีดูแลกล้วยไม้แก่เกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนแล้ง – น้ำทะเลหนุนปะปนในแหล่งน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ หวั่นซ้ำรอยปี 58-59

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ฝนแล้งน้ำทะเลหนุนเมื่อปลายปี 2558 – กลางปี 2559 ทำให้น้ำทะเลปะปนลงในแหล่งน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ จนสร้างความเสียหายให้กับชาวสวนกล้วยไม้ใน อำเภอบางเลน และอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อำเภอไทรน้อย บางใหญ่ บางกรวย และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการใช้น้ำที่มีค่าความเค็มหรือค่าการนำไฟฟ้า (EC) สูงเกินกว่า 750 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร มารดต้นกล้วยไม้ ส่งผลให้รากกล้วยไม้เริ่มไหม้ ใบมีสีเหลือง เริ่มเหี่ยว และไม่เจริญเติบโต

กรมส่งเสริมการเกษตร เล็งเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับเกษตรกรซ้ำรอยกับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้เตรียมตัวรับมือเพื่อลดความเสียหายหากเกิดปัญหาฝนแล้งน้ำทะเลหนุนปะปน ด้วยวิธีดังนี้

1. เพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำ เช่น ขุดบ่อเพิ่ม เพิ่มความลึกของบ่อเดิม หรือรักษาความสะอาดกำจัดวัชพืชบริเวณพื้นที่ว่างใต้โต๊ะเลี้ยงกล้วยไม้ ให้สามารถเก็บกักได้มากขึ้น

2. หมั่นตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้าของน้ำที่จะใช้รดกล้วยไม้ หรือนำมาผสมปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยใช้เครื่องวัด EC ตรวจวัดเองหรือส่งน้ำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ

3. หากพบว่าแหล่งน้ำที่นำมารดกล้วยไม้ยังมีคุณภาพดี ให้สูบน้ำเข้ามาเก็บกักในบ่อพักให้เต็มเพื่อสำรองไว้กรณีเกิดน้ำทะเลหนุน

4. รักษาระดับน้ำในบ่อพักน้ำในสวนกล้วยไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำข้างนอก เพื่อดันไม่ให้น้ำจากข้างนอกซึ่งอาจจะเป็นน้ำเค็มซึมเข้ามา

5. ปรับเปลี่ยนวิธีการให้น้ำอย่างประหยัด เช่น นำหัวสปริงเกอร์แบบประหยัดน้ำที่มีอัตราการใช้น้ำ 100 – 120 ลิตร ต่อ 1 หัว ในเวลา 1 ชั่วโมง มาทดแทนการใช้น้ำในอัตรา 600 ลิตร ต่อ 1 หัว ในเวลา 1 ชั่วโมง หรือ ระบบน้ำหยด

6. หากน้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้น ควรลดอัตราการผสมปุ๋ยลงจากเดิม เนื่องจากปุ๋ยเป็นเกลือชนิดหนึ่งซึ่งจะเพิ่มความเค็มของน้ำ และหากน้ำที่ผสมปุ๋ยแล้วมีค่าความเค็มสูงเกินไป ปุ๋ยจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่รากหรือต้นกล้วยไม้

เครื่องวัดความเค็ม

7. ควรเพิ่มปุ๋ยที่มีธาตุอาหารรองประเภทแคลเซียมและแม็กนีเซียม ซึ่งสามารถลดความเป็นพิษของเกลือโซเดียมและคลอไรด์ที่มาจากน้ำทะเลได้ในระดับหนึ่ง

8. น้ำในแหล่งผลิตกล้วยไม้ส่วนใหญ่นอกจากมีความเค็มเนื่องจากเกลือโซเดียมและคลอไรด์แล้วยังมีเกลือไบคาร์บอเนต ซึ่งการปรับความเป็นกรดเป็นด่างขอให้อยู่ในช่วงระหว่าง pH 5.2 – 6.2 ซึ่งจะทำให้เกลือไบคาร์บอเนตลดลงและทำให้ธาตุอาหารต่างๆ ละลายออกมาในรูปที่เป็นประโยชน์กับกล้วยไม้มากขึ้น

9. หากเกษตรกรผลิตกล้วยไม้ที่มีราคาสูงและต้องการกล้วยไม้ที่มีคุณภาพดี อาจจะพิจารณาใช้เครื่อง reverse-osmosis ซึ่งมีราคาแพง แต่สามารถกรองเกลือที่ละลายในน้ำอย่างได้ผล