“มะขามหวาน” ตำบลซับเปิบ อีกหนึ่งแหล่งมะขามหวานคุณภาพดี ที่เพชรบูรณ์ (ตอนที่ 1)

“มะขามหวาน” เป็นพืชเอกลักษณ์และพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์มาแต่ดั้งเดิม จนได้ชื่อว่า เมืองมะขามหวาน เมื่อเอ่ยถึงเมืองมะขามหวานประชาชนโดยทั่วไปก็เข้าใจเป็นอย่างเดียวกันว่า หมายถึง เมืองเพชรบูรณ์

“มะขามหวาน” เป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ปลูกได้ดีในสภาพพื้นที่ฝนตกไม่ชุกมากนัก ดินที่เหมาะสมในการปลูกมะขามหวานควรเป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ทั้งมีฝนตกไม่ชุกนัก มะขามหวานจึงเจริญเติบโตได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อรามารบกวนเหมือนพื้นที่อื่นๆ มะขามหวานจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากปลูกไปแล้ว 4 ปีขึ้นไป และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี

ตั้งแต่ติดดอกจนถึงดอกบานจะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 วัน หลังจากดอกบานจนถึงฝักแก่จะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ต้นอายุ 10 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม ผลผลิต 1 กิโลกรัม จะมีประมาณ 30-45 ฝัก ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ในทุกๆ ปี ประกอบกับในดินที่จังหวัดเพชรบูรณ์ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ซึ่งเป็นระยะที่ฝักสุก ทำให้มะขามหวานเพชรบูรณ์มีฝักใหญ่ เปลือกสีน้ำตาลเนียนสวย เนื้อหนา สวยสม่ำเสมอ ไม่แฉะ สาแหรกน้อยและมีรสหวานหอม แตกต่างจากถิ่นอื่น โดยพื้นที่ปลูกมะขามทั่วทั้งจังหวัดมีมากกว่า 60,000 ไร่ นิยมปลูกกันมากในอำเภอเมือง อำเภอชนแดน อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอวังโป่ง เป็นต้น

คุณสมชาย เหลี่ยมศร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลวังซับเปิบ เลขที่ 32 หมู่ที่ 9 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (087) 660-1152 เกษตรกรที่ปลูกมะขามหวานมานานกว่า 25 ปี คุณสมชาย เล่าย้อนกลับไปว่า แต่เดิมนั้นตนเองหรือเพื่อนเกษตรกรบ้านวังซับเปิบนั้นจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่ว ซึ่งราคาไม่แน่นอน ได้กำไรบ้างขาดทุนบ้างในแต่ละปี ก็เริ่มทดลองนำมะขามหวานมาปลูกที่อำเภอวังโป่ง ราวๆ ปี 2535

ในตอนนั้นก็ปลูกสายพันธุ์ขันตี สีชมภู และสีทอง ในพื้นที่ 3ไร่ และทยอยปลูกสายพันธุ์ใหม่ๆ ในยุคต่อมา เช่น พันธุ์ประกายทอง (หรือพันธุ์ตาแปะ) แต่ที่สวนจะเน้นปลูกพันธุ์ขันตีมากกว่าสายพันธุ์อื่น เหตุผลคือ นอกจากจำหน่ายในรูปแบบฝักแล้ว มะขามขันตีแบบแกะเปลือกยังเป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูปมะขามคลุกเป็นจำนวนมาก มีการสั่งจองสั่งซื้อจำนวนมาก

ฝักมะขามพันธุ์ขันตีเกรดเอ

ด้วยที่พันธุ์ขันตีจะมีรสหวานนำ มีรสอมเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งเป็นรสชาติที่เหมาะแก่การนำไปแปรรูปเป็นมะขามคลุก และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจคือ มะขามหวานพันธุ์ขันตี ที่สวนนั้นได้รับรางวัลชนะเลิศและอีกหลายรางวัลในการประกวดมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์
ในแต่ละปี

คุณสมชาย อธิบายว่า มะขามหวาน “พันธุ์ขันตี” เดิมนั้นมีถิ่นกำเนิดบ้านป่าม่วง ตำบลท่าพล อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะประจำพันธุ์ เปลือกของลำต้นเป็นสีเทาขาว มีรอยแตกตามยาวแต่ละเอียด เกล็ดของเปลือกเรียบเล็ก ใบเล็ก ใบสีเขียวแก่ยอดอ่อนสีเขียวอมชมพูเล็กน้อย ทรงพุ่มกว้างและทึบ มีกิ่งแขนงมาก ฝักใหญ่กลมตรงโค้งบ้างเล็กน้อย ท้องฝักไม่แบน เปลือกฝักออกสีน้ำตาลเข้ม ข้อฝักห่าง เนื้อสีน้ำตาลแดง เยื่อหุ้มเมล็ดหนาและเหนียว รสชาติหวานหอม เนื้อหนาสีน้ำตาลเข้ม การติดฝักดี ฝักดกสม่ำเสมอทุกปี

ลักษณะของฝักมะขามขันตี

ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ฝักสุกเดือนธันวาคม-มกราคม ข้อเสีย มีกิ่งแขนงและใบเล็ก การสังเคราะห์แสงอาจไม่ดี พอมีฝักออกร่วงหล่น มีรสชาติอมเปรี้ยวหากขาดการบำรุงอย่างดี แต่ถ้าบำรุงดีในเรื่องการให้ปุ๋ยก็จะมีรสชาติหวานจัด และขันตีมีรกหยาบ สุกช้า

วิธีปลูก และบำรุงรักษามะขามหวาน

การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึง สามารถปลูกได้ในดินทั่วๆ ไป หากเป็นดินลูกรังควรขุดหลุมให้กว้างและลึกเป็นพิเศษ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เตรียมดินในหลุมไว้ประมาณ 1 เดือน แล้วจึงนำต้นมะขามลงปลูก

ระยะปลูก คุณสมชาย เลือกใช้ระยะปลูก 9×9 เมตร ซึ่งจะได้จำนวนต้น 20 ต้น ต่อ 1 ไร่ แต่สวนมะขามหวานแต่ละสวนจะเลือกใช้ระยะปลูกไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์มะขามหวานที่เลือกปลูกว่ามีการเจริญเติบโตทรงพุ่มเป็นอย่างไร หรือบางคนเน้นขยันตัดแต่งควบคุมทรงพุ่ม ก็จะปลูกระยะชิด คือ 6×6 เมตร เป็นต้น หากเป็นพันธุ์สีทอง ควรใช้ระยะปลูก 10×10 เมตร เนื่องจากเป็นสายพันธุ์มะขามหวานที่ทรงพุ่มใหญ่

.สวนมะขามหวานขันตี ที่ปลูกใหม่ อายุ 6 ปี กำลังให้ผลผลิต

วิธีปลูก ขุดหลุมให้กว้างและลึกพอสมควร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักครึ่งหนึ่งของหลุม ส่วนบนใช้ดินร่วนผสมปุ๋ยคอก อัตราส่วน 4 ต่อ 1 ยกถุงต้นพันธุ์วางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินที่เหลือลงในหลุม อย่ากลบดินให้สูงถึงรอยทาบ กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมโยก หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม

และคอยรดน้ำอยู่เสมอในช่วงแรกของการปลูก ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดดในช่วงแรก แกะพลาสติกที่พันรอยทาบ เมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน ควรปลูกต้นหรือกลางฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม มะขามที่ปลูกจากต้นทาบกิ่งจะให้ผลผลิตในปีที่ 3-4 หลังการปลูกแต่จะให้ผลเต็มที่ ต้องมีอายุ 6 ปีขึ้นไป

มะขามหวานขันตีติดผลดก

การปฏิบัติดูแลรักษาระยะแรกปลูก

หากฝนไม่ตกควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะตั้งตัวและรากแข็งแรง ต้องคอยกำจัดวัชพืชอย่าให้ขึ้นรกโคนต้น การกำจัดอาจใช้แรงคนหรือสารเคมีกำจัดวัชพืชฉีดพ่นเมื่อมะขามตั้งตัวได้แล้ว เริ่มตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแก่ และกิ่งที่ไม่ต้องการออก

การให้ปุ๋ยควรดายหญ้าโคนต้นแล้วพรวนดินรอบทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ต้นละประมาณ 100 กรัม และใช้ปุ๋ยหมักโรยทับ ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ควรดายหญ้าพรวนดินและใส่ปุ๋ยทุกๆ 2-3 เดือน จนกว่าต้นมะขามจะให้ผลผลิต เมื่อต้นมะขามมีอายุมากขึ้นควรเพิ่มปริมาณปุ๋ยตามความเหมาะสม

ปริมาณการใส่ปุ๋ย ประมาณ 2-3 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง สำหรับต้นอายุ 8-10 ปี และเพิ่มปริมาณปุ๋ยมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของอายุ และทรงพุ่มปกติแล้วมะขามหวานเป็นพืชที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี แต่ขณะเดียวกันในช่วงที่ให้ผลผลิตก็จะขาดน้ำไม่ได้เช่นกัน เพราะจะทำให้ฝักมีคุณภาพไม่ดี ในระยะปลูกใหม่ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อมีอายุมากขึ้น การให้น้ำอาจมีช่วงห่างมากขึ้น ต้นมะขามหวานที่ให้ผลผลิตแล้วในระยะก่อนออกดอกจะต้องมีการให้น้ำเพื่อให้มีการออกดอกเร็วขึ้น หลังจากติดฝักแล้ว หากฝนทิ้งช่วงจะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ฝักจะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่และมีคุณภาพดี

หลังจากหมดฤดูฝนแล้วจะงดการให้น้ำ ฝักมะขามหวานจะเริ่มแก่และสุกในช่วงปลายปีพอดี การตัดแต่งกิ่งต้นมะขามหวานมีไม่มากนัก ถ้าต้นยังเล็กอยู่จะปล่อยให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ จะตัดแต่งกิ่งที่โคนต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นิยมตัดให้มีลำต้นโคนเดียว โดยทั่วไปจะนิยมไว้โคนต้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วให้แตกกิ่งแขนง 4 กิ่ง และบังคับกิ่งแขนงแตกเป็นแขนงย่อยไปเรื่อยๆ จนได้ทรงพุ่มเตี้ย

คุณสมชาย เหลี่ยมศร กับต้นมะขามขันตี อายุ 6 ปี

เมื่อมะขามหวานให้ผลแล้ว การตัดแต่งกิ่งก็ทำไม่มากเช่นกัน ส่วนมากแล้วจะตัดแต่งกิ่งที่แห้งตาย กิ่งที่ถูกโรคแมลงทำลาย กิ่งฉีกหัก กิ่งที่แตกออกไขว้กันจนแน่นทึบ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง จะช่วยให้ออกดอกติดฝักกระจายทั่วถึง ช่วยให้มีคุณภาพดี และลดปัญหาเรื่องการหักของกิ่งเมื่อฝักโตมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรู ส่วนเรื่องการดูแลรักษา ระยะแตกใบอ่อน ให้เน้นการฉีดป้องกันโรคราแป้ง โดยฉีดพ่นสารกลุ่มเบนโนมิล (ชื่อการค้าโกลโนมิล) และป้องกันแมลงกินใบ เช่น ด้วงปีกแข็ง หนอนบุ้ง หนอนกระทู้ หนอนมังกร โดยฉีดพ่นสารกลุ่มคาร์บาริล (ชื่อการค้า เซฟวิน หรือ เอส-85)

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลวังซับเปิบ

ตอนนี้รวมกลุ่มกันขึ้นมามีสมาชิกรวม 70 คน เพื่อต้องการพัฒนาการค้าขายมะขามหวานของตำบลซับเปิบให้ดีขึ้น เนื่องจากได้พูดคุยกับเพื่อนๆ เกษตรกรที่ปลูกมะขามหวาน ก็มีความคิดไปในทางเดียวกันที่มุ่งหวังให้มะขามหวานที่ตำบลซับเปิบเป็นที่รู้จักมากขึ้น

คุณสมชาย เหลี่ยมศร กับภรรยาที่ช่วยกันคัดแยกเกรดมะขามหวาน

และจากการสำรวจพื้นที่ปลูกมะขามหวานด้วยตัวเองของคุณสมชายนั้น พบว่า ที่ตำวังซับเปิบ มีมะขามหวานปลูกมากถึง 150,000 ต้นทีเดียว คาดว่าอีกไม่กี่ปีผลผลิตมะขามหวานที่นี่จะมีปริมาณที่มากขึ้นตามลำดับ

การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจฯ นั้น ก็จะมาช่วยในเรื่องของระบบการซื้อขายของเพื่อนเกษตรกรหรือสมาชิกกลุ่ม ขายมะขามหวานให้พ่อค้าแม่ค้าผ่านกลุ่ม ซึ่งกลุ่มสามารถกำหนดราคารับซื้อและราคาขายได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้นเกษตรกรอาจจะถูกกดราคาในการรับซื้อให้ต่ำ หรือขายแข่งกันเองในราคาที่ต่ำในช่วงที่ผลผลิตมีจำนวนมาก

ทางกลุ่มก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องระบบการซื้อขายให้ดีขึ้น มีการรับซื้อมะขามหวานอยู่ 2 เกรด คือ มะขามหวานเกรดเอ คือฝักสวยไม่แตก ฝักมีความยาวมากกว่า 4 ข้อ ขึ้นไป อย่างพันธุ์ขันตี รับซื้อที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท

กองมะขามหวานที่คัดแยกเกรดก่อนนำไปเก็บห้องเย็น

ส่วนพันธุ์อื่นๆ อย่าง ประกายทอง สีชมภู สีทอง รับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท อีกเกรดคือ มะขามที่ข้อสั้น มี 3 ข้อ ลงมา จะรับซื้อมาแกะเปลือกขายป้อนโรงงานแปรรูปมะขามคลุก รับซื้อพันธุ์ขันตีที่แกะเปลือกแล้ว กิโลกรัมละ 25 บาท

หลังจากการรับซื้อมะขามหวานจากสมาชิก ทางกลุ่มก็จะนำไปเก็บรักษาในห้องเย็นที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดสร้างห้องเย็นจากสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งหน้าที่ห้องเย็นคือ การเก็บรักษาผลผลิตมะขามหวานที่ซื้อเข้ามาจากสมาชิกกลุ่มนำมาเก็บรักษาให้คุณภาพเอาไว้ได้นาน เพื่อรอนำออกไปจำหน่ายเมื่อมะขามมีราคาสูง

ยกตัวอย่าง ที่กลุ่มรับซื้อมะขามหวานเข้ากลุ่มในช่วงฤดูกาล กิโลกรัมละ 50 บาท แต่หลังจากหมดฤดูกาลมะขามหวานแล้ว ถ้าทางกลุ่มนำออกมาขายอย่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็อาจจะมีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100-150 บาท เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนให้สมาชิกได้เห็นภาพ ผลกำไรก็จะนำมาปันผลกลับคืนไปให้สมาชิกอีกทีหนึ่ง เป็นต้น

ซึ่งการเก็บรักษามะขามหวานด้วยห้องเย็น ใช้เก็บรักษาฝักมะขามหวานไว้จำหน่ายนอกฤดูกาลอย่างได้ผลและได้รับความนิยมสูง เหมาะสำหรับเก็บมะขามหวานคราวละมากๆ ข้อดีคือ สามารถรักษาสีของเนื้อมะขามไว้ได้ สีไม่คล้ำหรือเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มแม้จะเก็บรักษาไว้เป็นระยะเวลานาน

มะขามหวานขันตีติดผลดก

เคล็ดลับการดูแลมะขามหวานให้ติดผลดกและคุณภาพดี

คุณสมชาย เล่าว่า เจ้าของสวนต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ตั้งแต่เก็บเกี่ยวฝักหมดแล้วให้ตัดแต่งกิ่งให้ในพุ่มต้นโปร่งไม่แน่นทึบ เพราะจะเป็นสาเหตุของเชื้อราและโรคราแป้ง ตัดกิ่งจากโคนกิ่งใดกิ่งหนึ่งไปหาปลายกิ่ง จะตัดกิ่งแห้ง กิ่งชี้เข้าในพุ่ม กิ่งฉีกหัก กิ่งเป็นโรคแมลง และฝักแตก ฝักแห้งออก

ถ้าปลายกิ่งพ้นชายพุ่มไปหาแสงได้จะเอาไว้ ยอดของพุ่มที่ไม่สามารถพ่นยาป้องกันแมลงและโรคได้ถึง ให้ตัดออกได้ ควรให้ปุ๋ย 15-15-15 ทางดิน ตามความเหมาะสมของขนาดทรงพุ่ม แล้วให้น้ำจนชุ่มเพื่อละลายปุ๋ย มะขามจะเริ่มแตกตาเจริญเป็นกิ่ง

เมื่อแตกกิ่งใหม่ในระยะนี้ ควรพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดแมลง ด้วยยา “คาบาริล” (ชื่อการค้า เซฟวิน หรือ เอส-85) ผสมกับยาป้องกันกำจัดราแป้ง เช่น สารเฮกซาโคนาโซล (ชื่อการค้า ช้างมาวิน) ผสมปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-17 ที่มีอาหารธาตุรอง และยาจับใบ ฉีดพ่นช่วย 1-2 ครั้ง ช่วยให้กิ่งที่แตกใหม่สมบูรณ์และมีตาดอก เมื่อช่อดอกเจริญควรพ่นยาป้องกันแมลงโดยเฉพาะเพลี้ยไฟและราแป้งขาวอีก 1-2 ครั้ง ก่อนดอกบาน

คุณสมชาย เหลี่ยมศร กับรางวัลในการส่งมะขามหวานขันตีเข้าประกวด