ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณพิสุทธิ์ ต๊ะปิง บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 9 บ้านรักไทย ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์ 081-037-2734 อธิบายว่า หลังจากแตกใบอ่อนได้ราวๆ 10 วัน คือเมื่อใบลำไยเริ่มคลี่แผ่ออก ก็จะต้องเริ่มฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบ ปุ๋ยที่ใช้ก็จะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 0-52-34 อัตรา 5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำตาลทางด่วน 1 ลิตร ผสมกับแมกนีเซียมเดี่ยว (Mg) อัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร (บวกสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามสถานการณ์ไปได้พร้อมกันเลย) การฉีดสะสมอาหารจะฉีดพ่นด้วยสูตรนี้ทั้ง 3 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 10 วัน
การสะสมอาหารให้ลำไย
เมื่ออายุใบลำไยได้ 45 วัน ใบลำไยจะอยู่ในระยะเพสลาด เราจะต้องราดสาร “โพแทสเซียมคลอเรต” การราดสารจะใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 50 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร ซึ่งจะไม่ได้ใช้วิธีคำนวณว่าลำไยต้นนี้ทรงพุ่มกี่เมตร จะต้องใช้สารกี่กรัม เนื่องจากจำนวนต้นลำไยมีมาก จะทำให้การทำงานช้า ยุ่งยาก และอาจเกิดความผิดพลาดได้หากแรงงานไม่มีประสบการณ์ จึงใช้สารอัตราเดียว แต่การราดสารจะใช้วิธีการฉีดลงดินด้วยเครื่องฉีดพ่นยา
วิธีการ จะฉีดพ่นในบริเวณรอบทรงพุ่มลำไย (ชายทรงพุ่ม) เดินฉีดเป็นวงกลม ให้วงกลมมีหน้ากว้างสัก 1 เมตร เพราะบริเวณชายพุ่มจะเป็นบริเวณที่มีรากฝอยเป็นจำนวนมาก ทำให้ตอบสนองสารโพแทสเซียมคลอเรตได้เป็นอย่างดี ส่วนปริมาณสารที่ต้นลำไยแต่ละต้นจะได้รับนั้น ขนาดของรัศมีทรงพุ่มจะเป็นตัวกำหนดเองโดยอัตโนมัติ วิธีการราดสารแบบน้ำจึงทำให้เกษตรกรทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น แต่ข้อดีของการราดสารแบบนี้ คือจะทำให้ต้นลำไยไม่โทรม เนื่องจากสารโพแทสเซียมคลอเรตทำลายรากลำไย
ยกตัวอย่าง การทำลำไยแบบทางภาคเหนือที่จะทำ กวาดเศษใบไม้ในทรงพุ่มให้สะอาด แล้วราดสารโพแทสเซียมคลอเรตภายในทรงพุ่ม คือหลักการง่ายๆ ที่ทำให้เห็นภาพคือ สารโพแทสเซียมคลอเรตมันจะไปทำลายรากลำไย พอรากโดนทำลาย ต้นลำไยรู้สึกว่าตัวเองเหมือนจะตายก็ต้องออกดอก แต่ปัญหายังมีอีก พอเราแก้ปัญหามีวิธีทำให้ต้นลำไยออกดอกมาได้ พอช่อลำไยติดผลอ่อนมาได้ แต่พอเราจะให้ปุ๋ยกับต้นลำไยเพื่อให้ผลเกิดการพัฒนาต่อ พอเราให้ปุ๋ยปรากฏว่าต้นลำไยไม่กินปุ๋ย เพราะระบบรากถูกทำลาย วิธีที่เราใช้ในปัจจุบันลดการถูกทำลายของรากลำไยได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญที่สุดของการทำลำไยนอกฤดูคือ ต้นลำไยต้องสมบูรณ์ มีความพร้อม เมื่อราดสารยังไงก็ออกดอกโดยง่าย ตอบสนองต่อสารได้ดีมาก
การให้น้ำ การดูแลโรคและแมลง
การให้น้ำ ควรรักษาความชื้นโดยให้น้ำทุก 3-5 วัน เพื่อให้รากดูดสารเข้าสู่ต้นให้มากที่สุด ประมาณ 3-6 สัปดาห์ หลังใช้สาร ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก
ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต ได้แก่ ฝนตกชุก และระยะที่ต้นลำไยแตกใบอ่อน
หลังราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเสร็จ ราว 5 วัน (ใบยังอยู่ในระยะเพสลาด ใบยังไม่แก่) ก็จะต้องฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบ เพื่อกดใบไม่ให้ลำไยแตกใบอ่อน ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกับสารแพคโคลบิวทราโซล 10% จำนวน 1.5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดทางใบ เพื่อกดใบไม่ให้ลำไยมันแตกใบอ่อน สัก 3 ครั้ง ห่างกัน 5 วันครั้ง แต่ฉีดกดใบ ครั้งที่ 2 และ 3 ไม่ต้องใส่สารแพคโคลบิวทราโซล (จะใส่แค่ครั้งแรกเท่านั้น ถ้าใส่หลายครั้งจะทำให้ช่อดอกลำไยสั้น ช่อดอกไม่ยาว)
จากนั้น 21-30 วัน หลังที่เราราดสาร จะเป็นช่วงที่เหมาะแก่การ “ดึงดอก” ช่วย คือถ้าปล่อยให้แทงช่อดอกออกเอง ดอกมักจะออกมาไม่ค่อยพร้อมกัน ออกช่อดอกไม่สม่ำเสมอทั่วต้น เราจะต้องฉีดเพื่อดึงดอกช่วย เราจะใช้ปุ๋ยทางใบโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46 ) ฉีดพ่นเพื่อเปิดตาดอก อัตราที่ใช้ ถ้าเป็นหน้าฝน จะใช้โพแทสเซียมไนเตรต จำนวน 3 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แต่ถ้าเป็นหน้าแล้ง จะต้องใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต จำนวน 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร เพราะหน้าแล้งลำไยมันไม่ค่อยแตกยอด ต้องใช้ปุ๋ยในความเข้มข้นที่สูงขึ้น หลังจากนั้นไม่นานลำไยจะแทงช่อดอกออกมาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะบำรุงช่อด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนต่างๆ เช่น ปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-17 ผสมแคลเซียมโบรอน และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามสถานการณ์ ฉีดพ่นไปเรื่อยๆ ตามรอบของการดูแลรักษา แต่ถ้ามีฝนตก ก็จะออกฉีดหลังจากฝนหยุดตกทันทีในช่วงช่อดอก ดูแลน้ำให้สม่ำเสมอ ไม่ต้องมาก ดูแลโรคและแมลง เช่น ฉีดพ่นสารเคมีคลอไพรีฟอส 50%+ไซเพอร์เมทริน อัตรา 20-30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หลังจากแทงช่อดอก (ดอกยังไม่บาน)
สูตรเด็ดใบอ่อน แก้ปัญหาใบแซมดอก
กรณีที่ฝนชุกหรือแทงช่อออกมาแซมใบ การแก้ปัญหาต้องเร็ว ก็จะมี สูตร “เด็ดใบอ่อน” คือเห็นว่ามีใบแซมดอกออกมาแน่ๆ ในช่วงที่ช่อดอกยาวสัก 1 นิ้ว ก็ต้องฉีดพ่นให้ใบอ่อนที่แซมออกมาร่วง สูตรนี้จะใช้โพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 1.5 กิโลกรัม ผสมกับฮอร์โมนโบรอน (B) 15% ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ให้ฉีดช่วงเช้าหรือเย็น การฉีดต้องฉีดเพียงผ่านๆ อย่าฉีดแบบแช่หรือฉีดจนช่อเปียก แค่เป็นละอองผ่านเท่านั้น สูตรนี้ทำให้ใบอ่อนขนาดเล็กที่แซมออกมาร่วงเหลือแต่ดอกเท่านั้น แต่สูตรนี้ถ้าฉีดช้า ถ้าใบอ่อนบานแล้วก็ฉีดเด็ดใบไม่ร่วง แต่ใบก็จะหยุดชะงักไป ต้องสังเกตให้ดี พอช่อดอกเริ่มโรยก็จะฉีดล้างช่อดอก ก็จะเน้นใช้สารป้องกันกำจัดแมลงกลุ่มเมโทมิลผสมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อราพวกโปรคลอราซ ช่วยล้างช่อดอกตอนที่ดอกกำลังโรย ช่วงนี้มักจะมีเชื้อราขึ้นพวกดอกที่มันโรยและบวกกับฮอร์โมนพวกจิบเบอเรลลิน และจะใช้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ขึ้นเม็ดไว ขั้วผลเหนียว ไม่สลัดผล ยืดช่อให้ยาวขึ้น ไม่ให้ช่อแน่นจนเกินไป สร้างเนื้อ ขยายผล ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินจึงจะต้องใส่ไปเรื่อยๆ พร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง
พอเริ่มติดผลอ่อนก็จะให้ปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อต้น ปุ๋ยเคมีใส่ทางดิน ก็จะใช้สูตรที่มีตัวหน้าสูง (N) เช่น สูตร 25-7-7 จำนวน 1 กิโลกรัมต่อต้น เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างเมล็ดสร้างเปลือก แต่จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยทางดินตอนเมล็ดผลลำไยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก็จะใช้เป็นสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ใส่ให้ ต้นละ 1 กิโลกรัม ใส่ 1 ครั้ง พอเมล็ดลำไยเปลี่ยนเป็นสีดำเป็นช่วงของการสร้างเนื้อ สร้างความหวาน ก็จะต้องเปลี่ยนสูตรปุ๋ยทางดิน ที่มีตัวท้าย (K) สูง เช่น สูตร 15-5-20 ต้นละ 1 กิโลกรัม (หรือ สูตร 13-13-21, 8-24-24) ใส่ให้สัก 2 ครั้ง ก็จะเก็บเกี่ยว ช่วงเวลานี้ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ดูแลโรคและแมลง เช่น เพลี้ยหอยหลังเต่า มวลลำไย ผีเสื้อมวนหวาน โรคผลลาย ผลแตก ผลร่วง ให้ฉีดพ่นสารเคมี เช่น คลอไพรีฟอส 50%+ไซเพอร์เมทริน อัตรา 20-30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น สารทีบูโคนาโซล 25% EW
เทคนิคทำลำไยเบอร์ใหญ่
การแต่งหรือการซอยผลลำไย จะทำกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกจะแต่งช่อลำไยตอนผลมีขนาดเท่าผลมะเขือพวง โดยมักจะตัดปลายช่อลำไยออก 1 ส่วน 3 ของความยาวช่อดอกลำไย หรือถ้าติดผลดกเกิน ก็อาจจะต้องตัดออกครึ่งช่อ ซึ่งเกษตรกรที่ตัดแต่งหรือแรงงานต้องมีความเข้าใจ โดยการตัดแต่งผลออกจะให้เหลือผลในช่อราว 60-70 ผล ซึ่งกำลังพอเหมาะ (ในกรณีที่ต้นลำไยติดผลดกมากกว่า 80 ผลต่อช่อ จะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้อาหารไม่พอเพียงที่จะส่งไปเลี้ยงผล ทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ) แล้วอีกสัก 20 วัน ก็จะกลับมาแต่งผล ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการเก็บตกจากรอบแรก เราต้องมาเก็บรายละเอียดอีกครั้ง การตัดแต่งช่อผลลำไย ทำให้ผลลำไยมีขนาดผลใหญ่ มีขนาดผลที่สม่ำเสมอกันทั้งช่อ ลำไยจะได้เบอร์ใหญ่ อุปกรณ์ที่ใช้ก็จะมีกรรไกรตัดแต่งกิ่ง ใช้แต่งกิ่งที่ต่ำ มือเอื้อมตัดถึง ส่วนที่สูงก็จะใช้กรรไกรยาวในการตัดปลายช่อดอก การจะตัดช่อผลออกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ถ้าต้นสมบูรณ์สามารถไว้ผลต่อช่อได้มาก แต่ถ้าต้นไม่สมบูรณ์ควรไว้ผลต่อช่อน้อย การตัดช่อผลช่วยทำให้ผลลำไยมีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น สามารถจำหน่ายในราคาสูง ทำให้มีรายได้ต่อต้นมากกว่าต้นที่ติดผลดก
การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในช่วงติดผล เกษตรกรควรหมั่นสำรวจการระบาดของแมลงในสวนลำไย แมลงที่สำคัญพบในช่วงออกดอก ได้แก่ เพลี้ยไฟ และไร 4 ขา ถ้าระบาดอย่างรุนแรงควรพ่นสารฆ่าแมลงไดเมโธเอท ในระยะที่ดอกยังไม่บาน แต่ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงในช่วงดอกบาน เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสร ช่วงติดผลให้ระมัดระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ควรดูแลตั้งแต่ผลยังเล็กอยู่ โดยการฉีดพ่นด้วยน้ำมันปิโตรเลียมหรือไวท์ออยล์
ระยะเลี้ยงผลจนถึงเก็บเกี่ยว ต้นลำไยต้องห้ามขาดน้ำ “น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับลำไยนอกฤดูกาล ลำไยต้องได้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่เหมือนผลไม้บางชนิดที่อาจจะงดน้ำก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มความหวาน แต่ลำไยห้ามขาดน้ำ ถ้าลำไยขาดน้ำเปลือกจะนิ่ม ผลจะแตกง่าย และน้ำจะช่วยให้ผลลำไยมีน้ำหนักดี ส่งผลต่อน้ำหนักผลผลิตต่อไร่ อีกอย่างลำไยผิวมันจะแห้งไว อย่างลำไยที่ได้น้ำดีผิวที่ยังไม่แห้งมีความชุ่มชื้นเวลาส่งเข้าโรงงานอบแห้งผลลำไยจะอบได้ผิวสวย ส่วนความหวาน ไม่ต้องห่วง เพราะปุ๋ยจะเป็นตัวช่วยในเรื่องของความหวานมากกว่า
เตรียมเก็บเกี่ยว วางแผนการตลาด
ระยะเวลาตั้งแต่ราดสารจนเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ประมาณ 7 เดือน ดังนั้น เกษตรกรสามารถวางแผนการตลาดเอาไว้ได้ว่าต้องการขายผลผลิตลำไยช่วงเวลาใด เพราะลำไยมันสั่งได้ กำหนดได้ (แต่ถ้าย้อนไปถึงวันตัดแต่งกิ่ง ก็ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก 2 เดือน)
การเก็บเกี่ยว ก่อนเตรียมผลบรรจุตะกร้าเพื่อการส่งออก ควรคัดแยกช่อผลที่เสียหายจากการเก็บเกี่ยว หรือมีตำหนิจากโรคและแมลงหรือผลเล็กเกินไปออกก่อน จากนั้นตัดแต่งช่อผลให้ก้านช่อยาวไม่เกิน 15 เซนติเมตร การคัดเกรดโดยแยกผลที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าขนาดผลเฉลี่ยในช่อนำผลแต่ละเกรดมาจัดเรียงในตะกร้าพลาสติกสีขาว การบรรจุต้องอาศัยแรงงานที่มีความชำนาญ จึงจะจัดเรียงตะกร้าได้สวยและมีขนาดผลในตะกร้าสม่ำเสมอ การบรรจุตะกร้าจะบรรจุประมาณ 11.5 กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลต่อราคาที่จำหน่าย ซึ่งพ่อค้าหรือผู้ประกอบการจะใช้เกณฑ์ตัดสินราคา คือขนาดของผล สีผิว และการจัดเรียงตะกร้า ดังนั้น เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของการคัดเกรดและการจัดเรียงตะกร้าด้วย หลังจากนั้นจึงจะลำเลียงผลผลิตไปยังจุดรับซื้อ
หลังการเก็บเกี่ยว ก็จะเป็นการพักฟื้นต้นลำไย บางสวนก็แต่งกิ่งช่วย บางสวนก็ไม่แต่งกิ่ง แต่จะเลี้ยงบำรุงต้นให้คืนความสมบูรณ์ เราก็ฉีดพ่นเพียงรักษาใบลำไยที่จะแตกออกมาอีก 2-3 ชุด ไม่ให้แมลงทำลายกัดกินใบเท่านั้น แล้วสัก 2 เดือน ล่วงหน้าก่อนการราดสาร เราจะตัดแต่งกิ่งโดยตัดแต่งกิ่งออกราว 40% ของต้น ให้ต้นมีความโปร่งภายในทรงพุ่ม แสงแดดและอากาศผ่านได้
การขายผลผลิตของลำไย ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยในแต่ละปี เฉลี่ยผลผลิตลำไยต่อไร่ จะประมาณ 2-5 ตัน ตอนนี้ผลผลิตของสวนป้อนเข้าสู่ตลาดทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ที่เขาจะลงมาซื้อถึงที่สวน ซึ่งการขายลำไยก็จะมีอยู่ 2 แบบ คือ ขายแบบเหมาสวน พ่อค้าก็ต้องเข้ามาดูสวน คาดคะเนผลผลิตให้แม่นยำ เพื่อเหมาไปแล้วไม่ขาดทุน เนื่องจากคาดคะเนผลผลิตลำไยที่จะเหมาผิด และการขายแบบเป็นกิโลกรัม สมมุติว่าตกลงกัน กิโลกรัมละ 20 บาท เก็บออกจากสวนกี่กิโลกรัม ก็ต้องคูณด้วยราคา 20 บาท ก็แล้วแต่เจ้าของสวนว่าพอใจขายแบบไหน คุณพิสุทธิ์ กล่าวว่า ราคาซื้อขายลำไยออกจากสวนที่ผ่านมา ก็จะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 20-30 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดด้วยในแต่ละปี ถ้าราคาซื้อขายเกิน 20 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรก็พออยู่ได้ ถ้าราคาถึง 30 บาทต่อกิโลกรัม ก็ถือว่าดีมากในปีนั้นๆ สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย
สนใจกิ่งพันธุ์ลำไยจัมโบ้ ติดต่อที่ สวนคุณลี โทร. 081-901-3760
……………………
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2016