เกษตรกรอุบลฯ เจ๋ง ผลิตหัวมันสำปะหลังออร์แกนิก ที่แรกของประเทศและโลก

สุดทึ่งเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี 9 ราย ได้ใบรับรองส่งสินค้าไปขายในประเทศอเมริกาและกลุ่มอียู หลังร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ผลิตมันสำปะหลังออร์แกนิกได้เป็นผลสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศและของโลก ปัจจุบันผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ เร่งสร้างเครือข่ายขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิกให้ได้ 20,000 ไร่ในเร็วนี้

ที่ไร่มันสำปะหลังอินทรีย์ต้นแบบบ้านหนองแปน ตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ของ คุณชุมพล เวชสิทธิ์ ข้าราชการบำนาญ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับกลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด มอบใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (ORGANIC THAILAND / USDA / EU ORGANIC) ให้กับเกษตรกรรุ่นที่ 1 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจำนวน 9 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันกว่า 30 ไร่

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบใบรับรองให้เกษตรกร

หลังจากนั้น มีการเสวนาเส้นทางความสำเร็จการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ให้ความรู้กับเกษตรกรรุ่นที่ 2 จำนวน 34 ราย พื้นที่เพาะปลูกอีก 150 ไร่ และเกษตรกรรุ่นที่ 3 ที่ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการในฤดูกาลผลิต 2561-2562 อีกประมาณ 100 ราย ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ โดยตั้งเป้าจะขยายพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้กว่า 20,000 ไร่ ในระยะอันใกล้นี้

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของตลาดสินค้าอินทรีย์ในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นตามกระแสการรักสุขภาพ รวมถึงแนวโน้มปริมาณการส่งออกสินค้าอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์มีตลาดรองรับ และผลักดันให้ราคารับซื้อสูงขึ้นไปตามความต้องการ โดยปัจจุบันมีราคาประกันรับซื้อที่กิโลกรัมละ 3 บาท สูงกว่ามันสำปะหลังเคมีราว 1 เท่าตัว

รวมทั้งผลผลิตของเกษตรกรมันสำปะหลังอินทรีย์ต่อไร่ ก็ได้มากกว่าการปลูกมันสำปะหลังเคมี โดยมันสำปะหลังเคมีให้ผลผลิตราว 4.5 ตัน ต่อไร่ แต่มันสำปะหลังอินทรีย์ให้ผลผลิตสูงถึง 5-7 ตัน ต่อไร่ และเปอร์เซ็นต์แป้งก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ 27-31 เพียงต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อถึงจุดสำเร็จก็คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป

หัวมันสำปะหลังออร์แกนิก

ปัจจุบันภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังกว่า 4 ล้านไร่ โดยพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หากเกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ นอกจากได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ ยังดีต่อสุขภาพของเกษตรกรเองด้วย จึงเป็นนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกับภาควิชาการและโรงงานรับซื้อมันสำปะหลัง ผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกมันสำปะหลังเคมีให้เป็นอินทรีย์มากขึ้นอีก

ด้าน คุณเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอลฯ ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อมันสำปะหลังอินทรีย์จากเกษตรกรไปจำหน่าย กล่าวว่า มันสำปะหลังอินทรีย์ที่รับซื้อได้นำมาทำเป็นแป้งมันออร์แกนิก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ต้องการกลุ่มลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ที่ต้องการใช้แป้งมันออร์แกนิกเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ จึงส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่ 4 อำเภอรอบโรงงาน

คุณชุมพล เวชสิทธิ์

โดยที่ผ่านมาการผลิตแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์ มีผู้รับซื้อไปทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งซื้อมาจากผู้จำหน่ายฟาสต์ฟู้ดชื่อดังในต่างประเทศ ต้องการนำไปผลิตเป็นเฟรนช์ฟรายให้กับลูกค้า แต่ไม่มีผลผลิตส่งให้ จึงได้พยายามสนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่ปลูกให้เพิ่มมากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนจากการปลูกโดยใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรกรอินทรีย์ต้องใช้เวลา แต่มีสัญญาณที่ดีว่าเกษตรกรเริ่มเห็นด้วย เพราะเห็นตัวอย่างจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ โดยมีรายได้มากขึ้นและเกษตรกรมีสุขภาพดีขึ้นด้วย

เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิก

ด้านคุณชุมพล ซึ่งทำไร่มันสำปะหลังอินทรีย์เป็นเจ้าแรก กล่าวว่า สมัยรับราชการครูอยู่ จังหวัดนนทบุรี ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ ทั้งการอยู่ การกิน ตั้งใจเมื่อเกษียณจะมาทำไร่อยู่ต่างจังหวัด โดยทำเกษตรกรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้มาซื้อที่ประมาณ 80 ไร่ อยู่จุดนี้เมื่อปี 2549 โดยลงมือปลูกพืชผลเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

ต่อมาโรงงานส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยระยะแรกรับซื้อเพียงรายละ 2 ไร่ แต่ของตนปลูกอยู่แล้ว 7 ไร่ ซึ่งโรงงานก็รับซื้อทั้งหมด การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์นอกจากดินไม่เสียแล้ว ยังให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าการปลูกด้วยสารเคมี ซึ่งตอนแรกเกษตรกรที่อยู่ใกล้กันก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อมาเห็นผลผลิตของตนแล้ว ก็เห็นด้วย เมื่อโรงงานเข้ามาสนับสนุนรับซื้อผลผลิตทั้งหมด ทำให้เกษตรกรตื่นตัวปรับเปลี่ยนมาทำไร่มันสำปะหลังอินทรีย์มากขึ้น

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณชุมพล เวชสิทธิ์ โทรศัพท์ (081) 907-1906