“เปิดนวัตกรรมจากไผ่ ด้วยการแปรรูปน้ำไผ่”

มีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่ยังคิดว่าไผ่มีไม่กี่สายพันธุ์ หรือหลายท่านยังปักใจเชื่อว่าไผ่ก็มีลักษณะเหมือนกัน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อนักวิชาการหรือผู้คร่ำหวอดกับไผ่ อย่าง รศ. ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก จากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศูนย์รังสิต) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านไผ่มายาวนาน แล้วยังตระเวนศึกษาสายพันธุ์ไผ่หลายชนิดทั่วประเทศ จึงพบว่าในประเทศไทยมีสายพันธุ์จำนวนมาก แล้วในเนื้อหาการสัมมนาครั้งที่แล้ว อาจารย์ธัญพิสิษฐ์ ยังสรุปสายพันธุ์ไผ่หลักให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

คุณประสาน สุขสุทธิ์
คุณประสาน สุขสุทธิ์

สำหรับเนื้อหาการสัมมนาในตอนนี้เป็นการลงลึกเพื่อค้นหาว่าไผ่พันธุ์ใดเหมาะกับการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อะไร โดยเฉพาะที่กำลังได้รับความสนใจในเรื่องการนำนวัตกรรมมาแปรรูปไผ่เป็นผลิตภัณฑ์น้ำไผ่ ทั้งนี้ คุณประสาน สุขสุทธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว ซึ่งท่านนี้ได้ศึกษาเรื่องความเป็นมา-เป็นไปของไผ่มาอย่างลึกซึ้ง แล้วได้ออกไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเพื่อให้เกิดความเหมาะสมถูกต้อง จนในที่สุดได้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์น้ำไผ่เป็นของตัวเอง และจากนี้ไปฟังเนื้อหารายละเอียดจากคุณประสานกัน

การที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้มีความเหมาะสมกับบรรยากาศของชื่องานแบบตรงๆ ที่ต้องการเน้นนวัตกรรมจากไผ่ เพราะถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งได้เกิดขึ้น และต่างจากเดิมในอดีตที่รู้กันเพียงว่าปลูกไผ่แล้วรับประทานหน่อได้เท่านั้น สำหรับงานในครั้งนี้ไผ่ได้ก้าวหน้าไปสู่การแปรรูป และเป็นการแปรรูปที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทันสมัยหลายด้าน

สำหรับการบรรยายของผมในครั้งนี้ขอนำเสนอข้อมูลจากไผ่จำนวน 3 ด้าน หรือ 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก จะมาเล่าบรรยากาศภาพรวมของไผ่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ประเด็นต่อมา จะมาเล่าถึงการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านที่สระแก้วปลูกไผ่ และประเด็นสุดท้าย คือผลิตภัณฑ์น้ำไผ่

เริ่มจากประเด็นแรกที่จะเล่าให้ฟังถึงอุตสาหกรรมการปลูกไผ่ในจีน แต่ก่อนอื่นต้องทราบว่าพื้นที่ปลูกไผ่ที่เหมาะสมในโลกใบนี้คือบริเวณทั้งเหนือและใต้เส้นศูนย์สูตร และไทยก็อยู่ในกลุ่มนั้น แต่ประเทศที่เป็นมหาอำนาจไผ่อยู่ที่จีน

เมื่อคราวที่ผมเดินทางไปจีนในราวปี 2555 ไปที่มณฑลเจ๋อเจียง ติดกับเซี่ยงไฮ้ แล้วถือว่าใกล้กับไทยด้วย ประเทศจีนได้วางแผนกำหนดโซนนิ่งในมณฑลนี้ให้รับผิดชอบเรื่องไผ่อย่างเดียว เมื่อดูลักษณะการเจริญเติบโตของไผ่ที่นั่นพบว่าจะแทงลงใต้ดินก่อน แล้วจึงค่อยมุดขึ้นสู่พื้นดินทีละลำ

ตรงนี้ชี้ให้เห็น 2 เรื่อง คือ อย่างแรกความเป็นจุดแข็งของไทยที่ปลูกไผ่ขึ้นเป็นกอ แต่ละกอมีจำนวนร้อยลำ ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่แล้ว ไทยได้เปรียบกว่าจีนมาก เรื่องถัดไปเกี่ยวกับสภาพอากาศเนื่องจากที่จีนมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าฤดูอื่น ฉะนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการแตกหน่อ อีกทั้งคุณภาพเนื้อไม้ถ้าเจออากาศหนาวแล้วจะแข็งตัวช้า ซึ่งกว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแปรรูปก่อสร้างต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

ลักษณะการปลูกไผ่ในเชิงพาณิชย์
ลักษณะการปลูกไผ่ในเชิงพาณิชย์

ด้วยเหตุนี้จึงมองเห็นจุดแข็งของบ้านเราทันทีว่าสภาพอากาศที่ร้อนทำให้สามารถนำไผ่มาแปรรูปเพียง 2 ปีเท่านั้น ดังนั้น สรุปถ้าปลูกเพื่อแข่งขันแล้วเจอ 2 ประเด็นนี้ เข้าไปจีนสู้บ้านเราไม่ได้แน่

มีโอกาสไปร่วมงานเสวนากับหลายชาติที่เป็นสมาชิกปลูกไผ่ และได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์พบว่าความจริงในโลกนี้มีองค์กรที่ปลูกไผ่และมีสมาชิกจำนวนมาก ยกเว้นไทย พอไม่ได้เป็นสมาชิกก็เลยอดรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ในกิจกรรมไผ่ ฉะนั้น จึงถือว่าบ้านเราขาดโอกาสดีๆ ในเรื่องไผ่ไปอย่างมากในระหว่างประเทศด้วยกัน

ที่มณฑลเจ๋อเจียง สมัยก่อนภูเขาก็มีลักษณะหัวโล้นแบบบ้านเราเช่นกัน เพราะถูกตัดไม้ทำลายป่าจนแทบไม่เหลืออะไร แต่ตอนนี้กลับมาเป็นป่าไผ่ทุกลูกเต็มพื้นที่ไปหมด เพียง 5 ปี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ขณะเดียวกัน ทางจีนได้มอบหมายให้ชาวบ้านกำหนดพื้นที่แต่ละโซนเพื่อให้ดูแลรับผิดชอบการปลูกไผ่เพียงอย่างเดียว

พอถึงเวลาตัดได้ลำเลียงลงมายังพื้นที่ด้านล่างเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล ซึ่งการแปรรูปไผ่ทางจีนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทุกส่วน ตั้งแต่รากไปยังยอด ด้วยเหตุนี้ทางมณฑลนี้จึงมีโรงงานแปรรูปไผ่จำนวน 2,500 แห่ง เพื่อจัดการแปรรูปทุกส่วนโดยไม่มีการทิ้ง

จึงเห็นว่าต่างจากบ้านเราตรงที่ต่างคนต่างทำ ผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้แต่เดิมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในมณฑลนี้มีความยากจน แต่ตอนนี้ทุกครัวเรือนมีฐานะดี มีความสบาย อีกทั้งป่าไผ่ของมณฑลนี้ต้องบอกว่าปลูกทุกพื้นที่ ทุกแห่ง ขนาดนั่งรถเที่ยวชมรอบมณฑลหลับไป 3 ชั่วโมง ตื่นขึ้นมายังพบแต่ป่าไผ่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 มณฑลนี้ปลูกไผ่เนื้อที่ประมาณ 30 ล้านไร่ จนถึงปีนี้ 2016 นับเป็นเวลาผ่านมาแล้วประมาณกว่า 16 ปี ลองคิดดูว่าน่าจะมีไผ่ในมณฑลนี้สักเท่าไร

ระบบการทำงานถูกจัดแบ่งเป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน พร้อมกับกำหนดผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ เกษตรกรที่ปลูกมีหน้าที่ตัดไผ่ลำเลียงลงมาเพื่อส่งเข้าโรงงานเท่านั้น จบแล้วรับเงินทันที จากนั้นเป็นหน้าที่ของโรงงานที่จะแปรรูปไม้ตามคำสั่ง โดยแต่ละโรงงานจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกัน มิได้แปรรูปจนเสร็จ กระทั่งในขั้นตอนสุดท้ายจะมีเอกชนที่ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลเข้าไปรับซื้อเพื่อจัดส่งไปขายทั่วโลก เมื่อมองอย่างนี้แล้วจึงเห็นเป็นภาพว่ามีการรับผิดชอบกันเป็นช่วง เป็นตอนอย่างชัดเจน

คราวนี้มาดูมุมมองของจีนกับต้นไผ่ 1 ต้น ว่าเขาคิดอย่างไร เขาคิดว่าต้องใช้ทุกส่วนของต้นให้คุ้มค่า ใช้ทุกอย่างไม่มีหลงเหลือหรือทิ้งเศษอะไรเลย เพราะเขามองว่าทุกอย่างแปรสภาพเป็นเงินได้หมด แม้กระทั่งโคนที่อยู่ล่างสุดยังนำไปเผาถ่าน ได้น้ำส้มควันไม้ เป็นถ่านที่มีคุณภาพ

ดังนั้น บ้านทั้งหลังสามารถทำขึ้นจากไผ่ได้ เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถผ่าไม้เป็นแผ่นนำมาแช่น้ำยา ผ่าเป็นชิ้นแล้วอัดกาวทำเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้หมด ใช้แทนไม้อื่นๆ ได้เหมือนกัน นำมาทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เป็นไม้พื้น พนังบ้าน ได้หมด

ส่วนการจักสานทางจีนทำเช่นกัน แต่ต่างจากบ้านเราตรงที่ทางจีนจะใช้ส่วนที่ไม่เกิดประโยชน์มาทำเครื่องจักสาน แต่บ้านเราทำตรงกันข้ามด้วยการตัดไม้ไผ่มาจักสานโดยตรงทันที

นอกจากนั้นแล้ว ยังนำผงไผ่ที่เกิดขึ้นจากการตัดมาทำเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งบางส่วนของผงไผ่ยังสามารถนำไปอัดเป็นไม้ และสุดท้ายยังนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้ด้วย ทั้งหมดนี้จึงเห็นแล้วว่าประเทศจีนมีการวางแผนกำหนดกรอบการนำไผ่มาใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน แล้วนำมาใช้ได้ทุกส่วนด้วย

ภายหลังที่ผมได้เห็นความก้าวหน้าและศักยภาพของไผ่ จึงเกิดแนวคิดจับส่วนที่เป็นใบไผ่มาเป็นธุรกิจ ซึ่งใบไผ่นี้ทางจีนส่งให้ญี่ปุ่นนำไปทำยา เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดเป็นแนวคิดที่จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มใบชา เพราะรู้ว่าแม้ญี่ปุ่นยังใช้ทำยา แล้วหากนำใบไผ่ไปผลิตเป็นน้ำดูจะเป็นของใกล้ตัวกว่า หรือถ้าต้องการปรับไปเป็นเครื่องสำอางก็ย่อมได้ จึงมองว่ามีทางเลือกหลายทาง ดังนั้น ทุกท่านที่นั่งร่วมงานในครั้งนี้เมื่อเห็นภาพที่ปรากฏบนจอฉายก็อาจจะเกิดแรงบันดาลใจว่าต้องการทำอะไรสักอย่างจากไผ่

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไผ่ในจีนมิได้หยุดนิ่ง แต่มีการคิดค้นพัฒนาไปตลอดเวลา จึงพบว่าจีนมีงานวิจัยเรื่องไผ่มาก และมีก่อนบ้านเราถึง 35 ปี มีการจัดตั้งเป็นสถาบันไผ่และเก็บงานวิจัยดีๆ ไว้มากมาย ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้นผมได้จับเรื่องน้ำใบไผ่มาอย่างเดียว เพราะเมื่อตรวจสอบในบ้านเราแล้วไม่พบงานวิจัยชิ้นนี้เลย

เมื่อกลับมามองไผ่ในบ้านเราแล้วสิ่งที่หลายคนคงไม่ปฏิเสธคือ ปลูกไผ่แล้วมักชอบขายหน่อ พอเช้าช่วงหน้าฝน หน่อออกเต็มไปหมด เมื่อล้นตลาดก็ลดราคาแข่งกัน แต่เมื่อถึงช่วงราคาแพงกลับหาหน่อยาก ทำไมจึงไม่มีใครคิดจะสร้างมูลค่าของหน่อให้มีมากกว่าการขายสด

อย่างถ้าลองนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างอื่น เช่น อบหรือทำให้กรอบ ทำไมไม่มีใครคิดต่อยอดกันบ้าง หรือเป็นเพราะทุกคนมองเรื่องทุนก่อน แต่สำหรับผมการที่ได้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ใช้เงินเริ่มต้นเพียงหมื่นบาท ดังนั้น เรื่องทุนจึงไม่ใช่ข้อจำกัด แต่หลักใหญ่อยู่ที่วิธีคิด วิธีหามุมมอง หาเหลี่ยม เพราะถ้าคุณคิดได้ คิดก่อน โอกาสจะมาถึงทันที

ไผ่ที่ชาวบ้านกาญจนบุรีนำมาแปรรูปเป็นไม้เสียบปลาหวาน
ไผ่ที่ชาวบ้านกาญจนบุรีนำมาแปรรูปเป็นไม้เสียบปลาหวาน

การศึกษาหาความรู้เรื่องไผ่ของผมถือเป็นงานอดิเรกที่ให้ความสุข เพราะชอบมาก แล้วมักใช้เวลานอกเหนือจากงานประจำ จึงมีเนื้อที่สำหรับปลูกไผ่ไว้จำนวน 200 ไร่

คราวนี้มาคุยเรื่องธุรกิจการผลิตน้ำไผ่ และผลิตภัณฑ์นี้มีประโยชน์อะไรซ่อนอยู่มากมาย ส่วนแรงบันดาลใจนั้นเกิดขึ้นจากเมื่อคราวที่เห็นนักวิ่งถือขวดน้ำไผ่ดื่ม จึงกลับมาคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วการดื่มน้ำไผ่หมายถึงอะไร

ได้ลองไปเปิดข้อมูลเพื่อให้หายสงสัยแล้วพบว่าในยูทูบมีเรื่องราวการเจาะต้นไผ่เพื่อใช้น้ำ แล้วหลายคนแสวงหาการเจาะที่ถูกต้องกันเป็นจำนวนมาก ผมก็เลยลองบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดี และได้น้ำไผ่ปริมาณ 10 ลิตร/วัน/กอ ตัวเลขขนาดนี้ถ้าทำเชิงการค้าคงรวยไปแล้ว

ขออธิบายรายละเอียดการเจาะหาน้ำจากต้นไผ่ว่าต้องเจาะที่ข้อ โดยใช้สว่าน เมื่อเจาะแล้วต้องใช้หลอดดูดน้ำออกมาเพื่อความสะอาดและปลอดภัย เหตุผลที่มีการเจาะหาน้ำไผ่จากต้นเพราะกระแสดีท็อกซ์ แต่หลังจากได้นำไปวิเคราะห์ในห้องแล็บแล้วพบว่ามีเชื้อโรคหลายชนิดที่สุ่มเสี่ยงกับชีวิต ซึ่งกว่าผมจะรู้ผลว่ามีอันตรายก็หมดเงินไปมากอยู่ ดังนั้น ขอแนะนำว่าถ้าสนใจต้องศึกษาให้รอบคอบในทุกด้านเพราะมีอันตราย

จากนั้นเลยเบนเข็มมาที่ใบไผ่เพราะพบว่ามีสารที่ชื่อฟลาโวนอยด์ จากนั้นจึงนำใบไผ่พันธุ์ต่างๆ ไปทดสอบหาค่าฟลาโวนอยด์ แล้วพบว่าซางหม่นมีมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ซางหม่นทุกชนิด แต่มีเพียงซางหม่นนวลราชินีเท่านั้นที่มีมากที่สุด อีกทั้งเมื่อนำไปเข้ากระบวนการฆ่าเชื้อหรือผ่านความร้อน สารชนิดนี้ก็ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ อีกทั้งที่โรงงานผลิตด้วยเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัยจากอเมริกา

ขณะเดียวกัน ได้ไปพบเรื่องน้ำใบไผ่จากนิตยสารไทม์ของอเมริกา ฉบับเดือนกันยายน 2558 เป็นการโปรโมตน้ำใบไผ่ ดังนั้น ในบ้านเราก็น่าจะโปรโมตด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่ว่าทุกท่านที่มาร่วมงานคงอยากมีผลิตภัณฑ์น้ำใบไผ่ขวดสวยๆ เช่นนี้บ้าง

แต่ถ้าเป็นความเห็นของผมคิดว่าถ้าเป็นการร่วมมือกันทำขึ้นมาจะดีกว่า ทั้งนี้ ถ้าหากสินค้าเริ่มติดตลาดแล้วได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องวัตถุดิบที่นำมาผลิต ดังนั้น หากทุกท่านปลูกไผ่มาขายให้ผมแทนการที่ท่านจะไปทำเองทั้งหมด โดยผมรับซื้อใบไผ่แห้งกิโลกรัมละ 200 บาท แล้วถ้าเป็นใบสดกิโลกรัมละ 40 บาท

“ผมมองว่าถ้าทุกคนหวังที่จะผลิตเป็นน้ำขวดขายกันทุกราย แล้วในอนาคตจำนวนน้ำไผ่ในท้องตลาดมีล้น ถ้าเป็นเช่นนั้นทุกคนต้องกอดคอกันตายอย่างเดียวเหมือนกับหลายอย่างที่ผ่านมา จึงอยากฝากว่ามาช่วยกันดีกว่า อย่าต่างคนต่างทำเลยมันเสี่ยง” คุณประสาน กล่าว

เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถนำใบไผ่มาผลิตเป็นเครื่องดื่มได้ แล้วถ้าท่านได้ติดตามอ่านในอีกหลายตอนจะพบว่าคุณประโยชน์จากต้นไผ่ยังมีมากมายที่สามารถสร้างเป็นเงินให้กับพวกเราได้

เพราะฉะนั้นอย่าลืม อย่าพลาดที่จะติดตามกันต่อในฉบับหน้า