ใต้ร่มพระบารมี ที่ลุ่มน้ำปากพนัง คืนสุขสู่ปวงประชา

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1.9 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ทั้งหมดของอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอพระพรหม รวมถึงพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง และอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช บางส่วนของอำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และบางส่วนของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

map

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา สวนไม้ผล สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ประมง เลี้ยงกุ้งทะเล รับจ้าง เป็นต้น

ในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็น “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ที่สำคัญของภาคใต้ ที่สามารถผลิตข้าวส่งออกไปขายต่างประเทศจนมีฐานะเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ดังปรากฏหลักฐาน “โรงสีไฟ”

เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรเพิ่มมากขึ้น “ลุ่มน้ำปากพนัง“ ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีปัญหา ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทำให้พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำปากพนังมีสภาพและสภาวะแวดล้อมแตกต่างไปจากเดิม ก่อให้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำหลายประการด้วยกัน คือ

หนึ่ง ปัญหาน้ำท่วม ช่วงฤดูฝนของทุกปี (ตุลาคม-ธันวาคม) เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบท้องกระทะ มีระดับใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล การระบายน้ำออกมีน้อย และสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำเพิ่มขึ้นทุกปี

สอง ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำที่จะกักเก็บน้ำต้นทุนอย่างพอเพียง ประกอบกับความต้องการน้ำจืดมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ

สาม ปัญหาน้ำเค็มรุกตัวแพร่กระจายในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขึ้น ลึกเข้าไปในแม่น้ำปากพนังมากกว่า 100 กิโลเมตร ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากท้องแม่น้ำมีความลาดชันน้อยมาก ขาดแคลนน้ำจืดที่จะใช้ผลักดันน้ำทะเลน้อยลงทุกปี จากการพื้นที่ต้นน้ำใช้น้ำปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองในพื้นที่มีความเค็ม ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้นานถึง 9 เดือน ต่อปี (มกราคม-กันยายน)

สี่ ปัญหาน้ำเปรี้ยว ในพื้นที่ตอนกลางของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีสภาพลุ่มต่ำ น้ำท่วมขังตลอดปี คือ พรุควนเคร็ง พรุคลองฆ้อง สภาพดินเป็นดินพรุมีสารประกอบไพไรต์ตกตะกอนอยู่ เมื่อระดับน้ำลดลงจนชั้นไพไรต์สัมผัสกับอากาศจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดและน้ำเปรี้ยว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในลำน้ำ ไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมได้

ห้า ปัญหาน้ำเสียจากแหล่งชุมชน นากุ้ง การทำการเกษตรกรรม

หก  ปัญหาดินมีปัญหาต่อการทำการเกษตร พื้นที่ ประมาณ 593,531 ไร่ ได้แก่ ดินเปรี้ยวจัด พื้นที่ 202,731 ไร่ ดินกรวดลูกรังและดินตื้น พื้นที่ 147,144 ไร่ ดินอินทรีย์หรือดินพรุ พื้นที่ 99,341 ไร่ ดินเค็ม พื้นที่ 86,531 ไร่ และดินทรายจัด พื้นที่ 57,784 ไร่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าว จึงได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำปากพนังดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

โดยได้พระราชทานพระราชดำริครั้งแรก เมื่อ วันที่ 13 กันยายน 2521 ณ ที่ประทับแรมโรงปูนซีเมนต์ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ทรงใส่พระราชหฤทัยในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมาแล้ว จำนวน 13 ครั้ง สามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง ให้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ โดยก่อสร้างประตูอุทกวิภาชประสิทธิ เป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ และระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และระบบกักเก็บน้ำอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ตามศักยภาพของพื้นที่ และแบ่งเขตที่ดินที่ต้องการใช้คุณภาพน้ำแตกต่างกัน (แยกน้ำจืด-น้ำเค็ม)

สอง ให้รักษาฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาอาชีพส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ควบคู่กันไปอย่างครบวงจร

สาม เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน บนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล

จากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากแก่ประชาชนในพื้นที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไข และบรรเทาปัญหาของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

“โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ได้เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2538 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

we005

ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกร ในวันนี้ทุกข์เข็ญที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เจือจางหายไปสิ้น ความอุดมสมบูรณ์ได้กลับคืนมาสู่แม่น้ำปากพนังอีกครั้ง ทุกผู้ทุกนามในพื้นที่แห่งนี้สามารถสร้างชีวิตและฐานะที่ดีขึ้นกันถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ   

5876_390092647765786_377085143_n

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามประตูระบายน้ำปากพนังว่า “อุทกวิภาชประสิทธิ” เมื่อ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2542

“อุทกวิภาชประสิทธิ” เป็นนามพระราชทานที่เป็นมงคลยิ่ง มีความหมายถึง ความสามารถแบ่งแยกน้ำจืด น้ำเค็ม ได้สำเร็จ

นั่นคือ มีการบริหารจัดการอย่างสมดุล ปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลำน้ำ กักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ดำรงชีพ ซึ่งจะเป็นบทเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และเอื้ออำนวยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำปากพนังเป็นไปอย่างยั่งยืน

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ อันเป็นปฐมบทของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เริ่มทำหน้าที่ไปแล้ว ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2542 มีความสามารถเก็บกักน้ำจืดเหนือประตูระบายน้ำ ได้ 72 ล้านลูกบาศก์เมตร มี 10 ช่องบานระบาย และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ในอัตรา 1,246 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที

โดยมีการบริหารจัดการอย่างผสมผสาน ทั้งหลักวิชาการ และเทคโนโลยีการจัดการน้ำของกรมชลประทาน ผนวกกับการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่น ในรูปของคณะกรรมการ เปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างสมบูรณ์

ที่มา : กรมชลประทาน