น้าอ้วน ชวนปลูกฝรั่งหงเป่าสือ (ไส้แดง) รสชาติดีอร่อยถูกปาก

“พี่รู้ไหมว่าพี่เป็นนกอินทรี”

“อุ๊ย! ทำไมทักแบบนั้นล่ะ”

น้าอ้วน บ้านเกษตรพอเพียง (คุณณัฏฐวุฒิ กลางอรัญ) พาร่างร้อยกว่ากิโลกรัมยืนยิ้มทักทายด้วยประโยคนี้ ก่อนจะชวนผมให้ลงเรือ ล่องไปตามคลองขุดในสวน พื้นที่ 12 ไร่เศษ แห่งตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี จากพื้นที่ราบๆ พอน้าอ้วนมาถึงก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นร่องสวน ทั้งเอาไว้ปลูกผัก ผลไม้ และมีพื้นที่รับน้ำไว้ใช้ในสวน แต่โดยที่มีสมาชิกในกลุ่มเยอะ น้าอ้วนก็เลยต้องการให้เป็นสวนผลไม้และคลองไว้ให้เพื่อนๆ ที่มาเยือนสวนพายเรือเล่นได้ด้วย ฝันเอาไว้ว่าเมื่อผลไม้แก่จัดหรือสุกแล้ว จะได้พาสมาชิกพายเรือไปเก็บกินที่ต้นได้เลย ในร่องสวนก็ปล่อยปลาไว้สารพัด ทั้งปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาดุก ปลานิล รวมถึงปลาธรรมชาติที่มากับน้ำ เพราะที่สวนจะใช้น้ำจากคลองระพีพัฒน์ ขณะที่ปล่อยน้ำเข้าก็อาจมีลูกปลาจากธรรมชาติติดเข้ามา

น้าอ้วน และภรรยา

ในช่วงที่มาลงหลักปักฐานใหม่ๆ น้าอ้วนก็เหมือนเกษตรกรรุ่นใหม่อีกหลายคน อยากปลูกทุกอย่าง ผักก็ปลูก ผลไม้ก็ปลูก ลองให้รู้กันไปว่าอะไรจะได้ผลดีที่สุด แตงร้าน มะระ ถั่วฝักยาว แม้จะเป็นพืชผักระยะสั้นทำเงินง่าย แต่พอทำไม่ได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการก็เจ็บตัวไม่น้อย หลังๆ เลยไม่ขาย ประกาศให้เพื่อนมาเก็บไปกินกันเสียเลย

เมื่อผักทำท่าจะไปไม่ไหว น้าอ้วนจึงเบนเข็มไปสู่ไม้ผล ชอบกินอะไรก็ปลูก แต่ก็ยังไม่วายมีปัญหาให้ต้องได้คิด จะปลูกเพียงเท่านี้แล้วคนที่อยู่ด้วยจะกินอะไร การทำเกษตรจะต้องมีอยู่ มีกิน มีรายได้เข้ามาด้วย จึงหันไปมองถึงผลไม้ที่อร่อยและชอบ เริ่มด้วย มะม่วง สะสมหลายสายพันธุ์ที่ว่าอร่อยทั้งของไทยและไต้หวัน แต่เมื่อปลูกไปสักพักก็เอาอีกแล้ว ความใจร้อนว่าไม่ทันใจใช้เวลาปลูกเป็นปีกว่าจะได้ลิ้มรส น้าอ้วนจึงเบนเข็มอีกครั้ง คราวนี้วางโจทย์เป็นไม้ผลที่ให้ผลได้ในระยะเวลาอันสั้นและมีผลให้เก็บได้ต่อเนื่อง คำตอบจึงไปลงตัวที่ ฝรั่ง แต่ในเมืองไทยก็เห็นๆ กันอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ จึงมองไปที่ไต้หวัน หาโอกาสพาสุดที่รักไปเที่ยวต่างประเทศด้วยเลย

ที่ไต้หวัน น้าอ้วนได้ชิมฝรั่งหลายสายพันธุ์ และเริ่มติดกิ่งพันธุ์ที่ชอบกลับมาปลูกด้วย หนึ่งในนั้นคือ “สุ่ยมี่” หรือ “ซุ่ยหมี่” ด้วยความกรอบ มีรสหวาน เมล็ดน้อย ทำให้น้าอ้วนเริ่มทำกิ่งพันธุ์จำหน่ายเป็นครั้งแรกด้วยฝรั่งสุ่ยมี่ ผลตอบรับกลับมาดีมาก ทำให้ต้องมองหาสายพันธุ์ดีๆ ต่อไป ซึ่งก็เป็นสูตรเดิมคือ ชิมพันธุ์ไหนอร่อยถูกปากจึงจะพากลับเมืองไทยด้วย ช่วงหลังจึงได้เห็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ตามมา เช่น หงเป่าสือ (ไส้แดง) และเจินจู (ไส้ขาว)

หงเป่าสือ

การสื่อสารในกลุ่มด้วยการไลฟ์เฟซบุ๊กสดทำให้น้าอ้วนได้ความรู้อีกครั้ง สมาชิกมืออาชีพเห็นน้าอ้วนตอนกิ่งฝรั่งแบบไม่ถนัดมือนัก จึงหอบต้นตอมาจากปราจีนบุรีพร้อมมาสอนเทคนิคการทาบกิ่งให้ถึงสวนหนองเสือ โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ จนทำให้ทุกวันนี้น้าอ้วนและลูกน้องในสวนก็ใช้เทคนิคการขยายพันธุ์แบบนี้เรื่อยมา

หากนับความเป็นไอดอลในแวดวงเกษตร น้าอ้วนก็ไม่น้อยหน้าใคร เพื่อนในเฟซบุ๊ก 5,000 คน มีผู้ติดตามอีกเกินห้าหมื่นคน รวมถึงกลุ่มต่างๆ อีกร่วมแสนคน ทำให้เวลาผลิตอะไรออกมาแต่ละครั้งไม่เพียงพอกับความต้องการของสมาชิก ทำให้ต้องคิดใหญ่ทำใหญ่อีกครั้ง เรียกได้ว่าน้าอ้วนเกิดมาเพื่อการปรับเปลี่ยนจริงๆ

หลังจากก้มๆ เงยๆ ในสวนมาพอสมควร น้าอ้วนจึงรวบรวมสมาชิกซื้อที่แปลงใหญ่อีก 1 แปลง ในพื้นที่ 50 ไร่ และแบ่งจำหน่ายให้เพื่อนสมาชิกมาบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน ทั้งปลูกเพื่อเก็บผลและปลูกเพื่อทำกิ่งพันธุ์จำหน่าย จะได้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกท่านอื่นๆ รวมถึงขยายเครือข่ายให้ได้มากตามความต้องการอีกด้วย

ปัจจุบัน ที่สวนน้าอ้วนยังมีสมาชิกแวะเวียนมาหามิได้ขาด มีของฝากมาติดไม้ติดมือ และก็มักจะได้ต้นไม้หรือผลไม้เป็นของขอบคุณติดกลับไปทุกครั้ง ในช่วงปีแรกๆ น้าอ้วนเปิดแจกกิ่งตอนมะนาวสายพันธุ์ดีให้ไปปลูกกันทั่วหน้า เรียกว่าสวนน้าอ้วนใครมาก็ต้องได้ต้นไม้หรือได้อิ่มท้องแน่ๆ

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของน้าอ้วนคือ ปากตรงกับใจ ชมจริง ด่าจริง อะไรดีก็ชมจนลอยได้เลย แต่อะไรไม่ดีก็ด่าเปิงไปเลยเช่นกัน แต่ก็ไม่เห็นมีใครโกรธ เพราะเป็นการด่าแบบสอนไปด้วย และที่สวนเปิดรับสมาชิกมาเรียนรู้เรื่องราวทางการเกษตรเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การดูแลบำรุง การขยายพันธุ์ โดยเฉพาะการขยายพันธุ์ น้าอ้วนสอนจนฝรั่งยังทำเป็น ใครมาเห็นฝรั่ง (คน) ทาบกิ่งฝรั่ง (ต้นไม้) แล้วจะทึ่ง ที่นี่สอนแบบไม่หวงวิชา อยากรู้อะไรหากสอนได้เป็นได้เรื่องทุกครั้ง

“เอางี้น้า ก่อนจะพาไปชิมฝรั่งหงเป่าสือ หรือพันธุ์อะไรก็ตาม เฉลยหน่อย ทำไมจึงบอกว่าผมเป็นนกอินทรี”

“ผมไม่ได้บอกแค่พี่นะ บอกทุกคนเลย เราคือนกอินทรี แต่ตอนที่เป็นไข่ ดันไปตกอยู่ในรังไก่ แม่ไก่ฟักเราออกมา เราเกิดและเติบโตมากับไก่ รับรู้ว่าตัวเองก็เป็นไก่เท่านั้น กุ๊กๆ เขี่ยๆ บินได้ใกล้ๆ แบบกระพือปีก มีชีวิตทุกวันแค่คุ้ยเขี่ยหาอาหาร”

“ก็ไม่ดีหรือ”

“ดีกะผีอะไรล่ะพี่ พี่เป็นนกอินทรี พี่ต้องบินสูงหากินไกล จะมากุ๊กๆ เขี่ยๆ เป็นไก่อยู่ทำไม จำเอาไว้ อย่าต้องเป็นไก่ในร่างนกอินทรีแบบนี้จนตาย เพราะมันน่าเสียดายมาก เราต้องปลุกความเป็นเราออกมา เข้าใจคำว่าปลุกยักษ์ในใจให้ตื่นใช่ไหม นั่นแหละ แบบเดียวกัน”

“สรุปง่ายๆ ที่น้าอ้วนทำอยู่ทุกวันนี้คือบอกทุกคนว่าเลิกเป็นไก่ได้แล้ว เอ็งต้องบินสูงตามสัญชาตญาณนกอินทรี”

“ใช่พี่ แต่ผมหวังไว้มากกว่านั้น ผมหวังว่าทุกคนที่มาหาผม มาเรียนรู้หรือพูดคุยกับผม คือไข่ไก่ที่หลงไปอยู่ในรังนกอินทรี”

“ยังไงน้า มันเป็นไปได้หรือ”

“เรื่องสมมติ มันเป็นได้เสมอ พี่ลองคิดดูสิ”

“หมายถึงลูกเจี๊ยบเกิดมาในรังนกอินทรี แล้วมันจะบินได้เหมือนนกอินทรีเหรอน้า ข้อจำกัดมันเยอะนา”

“ไม่เกี่ยวกับอะไรหรอกพี่ มันอยู่ที่ใจและจินตนาการ หากลูกไก่มันคิดว่าเป็นลูกนกอินทรี มันต้องกล้าบินสูง”

“หากไม่ได้ล่ะ”

“ก็เป็นไก่ตายไงพี่ แต่ผมยังหวังว่าหากมันทำได้ มันจะงดงามเพียงไหน นกอินทรีในร่างไก่กุ๊กๆ”

“แล้วที่น้าทำทุกวันนี้ เป็นยังไงครับ”

“ผมกำลังชวนเพื่อนมาร่วมกัน การทำเกษตรหากเราอยู่เดี่ยวก็ไร้อนาคต เราสู้กลไกการตลาดไม่ได้หรอก เราต้องเป็นนกอินทรีด้วยกัน ทางที่ดีคือเกษตรกรต้องรวมกลุ่ม ผลิตสินค้าให้ได้จำนวนที่เพียงพอ ในราคาที่จับต้องได้ และในรายได้ที่พอใจ ไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง การรวมกลุ่มเป็นแบบวิสาหกิจชุมชนเช่นกัน แต่ของเราเน้นในรูปแบบการเกษตร”

น้าอ้วนพายเรือพาผมมาหยุดที่ต้นฝรั่งหงเป่าสือ ทรงต้นที่แตกยอดสะพรั่ง ในแต่ละยอดก็จะมีการทาบกิ่งไว้รอบต้น บางส่วนปล่อยให้ติดผลห้อยระย้า ผิวผลที่แก่จัดเมื่อต้องแสงแดดเป็นสีเขียวอ่อนอมทองสวยงามมาก เมื่อเด็ดผลมาเฉาะเท่านั้นแหละใจละลายเลย ผิวผลเขียวอ่อนอมเหลือง แต่เนื้อในสีแดงเรื่อ เมล็ดน้อย กลิ่นหอมแบบฝรั่งไทยอ่อนๆ น้าอ้วนเฉาะเป็นชิ้นยื่นให้ผม ไม่รอช้าดมกลิ่น กัด และเคี้ยว

“กรอบ หอม หวาน รสจัดดีมากเลยน้า แบบนี้ไม่ต้องจิ้มพริกเกลือเลย”

“พี่เคยกินมากี่สายพันธุ์แล้ว ลองเทียบได้ไหมว่าเป็นยังไง”

“ตอบตามลิ้นผมนะ ความกรอบสุดยอด กลิ่นกำลังดี เมล็ดน้อยและนิ่ม สีได้เต็มสิบ แดงได้ใจจริงๆ ความหวานผ่านสบายๆ ที่สำคัญ รสเข้มจัดกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยชิมมา หากให้เลือก ผมเอาด้วย ผมขอปลูกด้วย”

“เข้าใจแล้วใช่ไหม ทำไมผมเน้นสายพันธุ์นี้”

“กิ่งแพงไหมครับ”

“กิ่งละพัน”

“เอา 2 กิ่ง”

“โนๆ รออีกนานพี่ คิวยังยาว ผมทำได้คราวละไม่มากครับ ต้นแม่ยังมีน้อย วันนี้แค่ชิมไปก่อนแล้วกัน”

“ที่สวนยังมีอะไรให้เล่นอีกไหมน้า เห็นอีกหลายร่องสวน”

“อีกเยอะครับ ตอนนี้ผมปลูกรอชิมผลก่อน สายพันธุ์ไหนผ่านก็ทำกิ่ง สายไหนไม่ผ่านก็ยุติการเดินทาง ที่สวนมีฝรั่ง ชมพู่ น้อยหน่า มะม่วง ส้ม ส้มโอ ฟิกส์ มัลเบอรี่ เอาเป็นว่าพี่อยากเห็นผลไม้อะไร ที่นี่มีให้พอเห็นและชิมครับ”

“เน้นไต้หวันใช่ไหมครับ”

“ครับ และเน้นว่าต้องอร่อยที่ผมชิมแล้วชอบเท่านั้นด้วย ยังมีอีกหลายอย่างให้ชิมครับ รอแก่จัดสักหน่อย”

“ว้าววว ก่อนจากกัน ถามชัดๆ หากมีสมาชิกมาขอชมสวนหรือต้องการเรียนรู้ ติดต่ออย่างไรครับ”

“นัดล่วงหน้าครับพี่ที่โทร. (098) 261-3412 หรือ ติดตามที่เฟซบุ๊ก น้าอ้วน บ้านเกษตรพอเพียง ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ”

“สำหรับสมาชิกจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ติดต่อไปได้ไหมครับ”

“ยินดีครับ หากมาถึงสวน อาจมีอะไรติดมือกลับไปปลูกกันด้วยครับ”

แดดยามบ่ายเริ่มโรย แสงสว่างเริ่มลาลับ ผมขับรถออกจากสวนน้าอ้วนก่อนพลบค่ำ เรอเพราะชิมฝรั่งอร่อยๆ ไปหลายผล วางหมุดไว้ในใจ จะกลับมาเยือนอีกครั้งในช่วงที่ผลไม้ชนิดอื่นสุกหรือแก่จัด เพื่อจะไปชิมให้รู้รส ขอบคุณนะน้าอ้วนและน้าอ้อย บ้านเกษตรพอเพียง