อะโวกาโด บ้านสวนตาทวน ของดีผลไม้เด่น กลางดง ปากช่อง

อะโวกาโด เข้ามาเมืองไทยนานแล้ว ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านเคยไปจังหวัดน่าน ได้รับการบอกเล่าว่า มิชชันนารีนำไปปลูกไว้ในเมือง ต้นเดิมตายแล้ว แต่ทุกวันนี้เกษตรกรปลูกและพัฒนาก้าวหน้าไปมาก คนเมืองน่านรุ่นก่อนเรียก อะโวกาโด ว่า “หมากแพ”

แหล่งปลูกอะโวกาโดที่สำคัญ มีหลายแห่งด้วยกัน อย่าง จังหวัดตาก ปลูกที่ดอยมูเซอ อำเภอเมือง และอำเภอพบพระ สาเหตุที่ปลูกมาก เพราะมีหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรไปตั้งสถานีวิจัย จากนั้นจึงเผยแพร่พันธุ์ให้กับเกษตรกร

พื้นที่อื่นมีปลูกมากที่ปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

อำเภอปากช่อง เป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยปากช่อง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานที่แห่งนี้ รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ ศึกษาเรื่องของพันธุ์ รวมทั้งการปลูก การดูแลรักษา จากนั้นจึงกระจายสิ่งที่มีอยู่ให้กับเกษตรกรไปทุกภูมิภาค รวมทั้งโครงการหลวง

งานปลูกอะโวกาโดของ “บ้านสวนตาทวน” เป็นดอกผลจากงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ฉลองชัย ที่ได้รับการสานต่อและทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

ออนซ์ คนรุ่นใหม่ใส่ใจงานเกษตร

ปลูกและขยายพันธุ์ไม้ ส่งลูกเรียนจบปริญญา

บ้านสวนตาทวน อยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 2 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณ  มธุรดา หรือคุณเงิน กลิ่นโต เจ้าของกิจการเล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพปลูกและขยายพันธุ์ไม้จำหน่ายมานานกว่า 20 ปีแล้ว ชนิดของพันธุ์ไม้ที่จำหน่ายก็หมุนเวียนไปตามความนิยม แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น มะม่วง มะขาม ส้มโอ กล้วย ขนุน น้อยหน่า เงาะ ทุเรียน ลำไย อะโวกาโด รวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับ พันธุ์พืชที่ขยายเน้นพันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นที่นิยมของตลาด นอกจากนี้ ยังรับจัดสวน รับปลูกต้นไม้ในสถานที่ราชการและเอกชน

ปอนด์ จบจิตรกรรม ขยายพันธุ์อะโวกาโดได้ดี

เดิมครอบครัวนี้จำหน่ายต้นไม้อยู่ริมถนนมิตรภาพ รอยต่อมวกเหล็กกับปากช่อง แต่เป็นพื้นที่ของตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง ต่อมาการสื่อสารทันสมัยขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน จึงเข้ามาปักหลักผลิตอยู่  ที่บ้าน ซอยบุญบันดาล

จากการทำงานอย่างจริงจัง ครอบครัวกลิ่นโตสามารถส่งลูกชายเรียนจบคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ลูกสาวคนเล็กเรียนจบวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

คุณเงินและลูกสาว

อะโวกาโด ปลูกมานานเกือบ 20 ปีแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้บ้านสวนตาทวนได้รับความเชื่อถือเรื่องพันธุ์ไม้นั้น เจ้าของสวนมีพื้นที่การผลิตเอง แต่ที่สำคัญมากนั้น บ้านสวนตาทวนไม่ได้ขยายพันธุ์อย่างเดียว แต่พืชบางชนิดปลูกจนเห็นผลผลิต เมื่อแน่ใจจึงขยายพันธุ์เผยแพร่ต่อ

อะโวกาโด ก็เช่นเดียวกัน บ้านสวนตาทวนซื้อต้นพันธุ์บูช 7 มาปลูกเกือบ 20 ปีแล้ว แรกทีเดียวก็ไม่ได้สนใจเท่าที่ควร เพราะมีต้นไม้ให้ต้องดูแลมากมาย ซึ่งนอกจากหลายชนิดแล้วยังมีหลายพันธุ์อีกด้วย จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานพอสมควร อะโวกาโดบูช 7 ให้ผลผลิต เจ้าของทดลองชิมดู ปรากฏว่าไม่ถูกปาก จึงปล่อยไว้ แต่ไม่ได้ตัดทิ้ง หลายปีต่อมา มีคนมาแนะนำวิธีกินอะโวกาโดให้อร่อย เมื่อเจ้าของลองทำตามปรากฏว่าอร่อย ติดใจ

ผลผลิตบูช 7

จากนั้นเจ้าของนำผลผลิตออกเผยแพร่ ปรากฏว่า คนให้ความสนใจ พร้อมกับขอซื้อต้นพันธุ์ บ้านสวน   ตาทวน จึงทำตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ

ในหนังสือ อะโวกาโด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนโดย รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ แนะนำ พันธุ์บูช 7 (Booth 7) ไว้ว่า เป็นลูกผสมระหว่างกัวเตมาลาและเวสต์อินเดียน ผลค่อนข้างกลม ผลขนาดกลาง น้ำหนัก 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระ สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง ติดอยู่ในช่องเมล็ดแน่น ไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ วันที่ 15 ตุลาคม ถึง 15 ธันวาคม ให้ผลผลิตดกเกือบทุกปี พุ่มแผ่กว้าง

พันธุ์แฮสส์

ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย

คุณเงิน บอกว่า เดิมทีปลูกอะโวกาโด พันธุ์บุช 7 ต่อมามีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อย่าง แฮสส์ ปีเตอร์สัน       ปีเตอร์แฮสส์ บัคคาเนียร์ และปากช่อง 2-8

พันธุ์แฮสส์ ปลูกได้ผลดีในพื้นที่สูง แต่ในเขตอำเภอปากช่องปลูกได้

พันธุ์อื่นๆ ปลูกได้กว้างขวาง มีลูกค้ามาซื้อจากคุณเงินทุกภูมิภาค อย่าง เลย ชุมพร จันทบุรี ภูเก็ต

อะโวกาโด สามารถปลูกด้วยเมล็ด แต่ผลผลิตที่ออกมา ไม่ตรงกับพันธุ์เดิม บ้านสวนตาทวนขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่งและเสียบยอด เดิมทีทำทั้งสองอย่าง แต่หลังๆ สะดวกที่สุดคือ การเสียบยอด

ถามเจ้าของว่า ช่วงไหนเสียบยอดได้ผลดีที่สุด ได้รับคำตอบว่า อยู่ที่ความพร้อมของต้นตอและยอดพันธุ์ หากพร้อมไม่ว่าฤดูกาลไหนขยายพันธุ์ได้ทั้งนั้น

บุช 7 ดกมาก

เจ้าของเล่าวิธีการขยายพันธุ์ว่า เพาะต้นตอโดยใช้พันธุ์ทั่วๆ ไป เมื่อต้นตออายุ 6 เดือน ถือว่าเหมาะต่อการเสียบยอด จากนั้นหายอดพันธุ์ดีมาเสียบ เริ่มจากตัดปลายยอดต้นตอให้เหลือใบไว้บ้าง ผ่ากลาง…ตัดยอดพันธุ์ดีมาทำเป็นรูปลิ่ม เสียบเข้าไปที่ต้นตอ พันด้วยเทปที่เปื่อยสลายได้ คลุมด้วยพลาสติก แล้วมัดเฉพาะต้น เก็บไว้ในโรงเรือน

ราว 20 วัน คลายเชือกที่มัดถุงพลาสติก…ตั้งแต่เสียบยอดจนนำออกปลูกหรือจำหน่ายได้ ใช้เวลาเดือนครึ่งถึง 2 เดือน

บ้านสวนตาทวน มีเทคนิคในการเสียบยอด ตรงที่ตัดยอดต้นตอให้เหลือใบไว้ ใบช่วยให้ต้นเติบโตปกติ เปอร์เซ็นต์การติดสูง ต่อมาใบจะร่วงเอง หากมียอดใหม่ใต้รอยแผล ต้องให้ยอดพันธุ์ดีเติบโตมากๆ ก่อนถึงเด็ดยอดใต้รอยแผล ซึ่งเกิดกับต้นตอออก

หากไม่เด็ดยอดต้นตอเก่า ยอดพันธุ์ดีจะสู้ยอดต้นตอไม่ได้

การใช้เทปพันธุ์รอยแผลที่สลายเปื่อยเองก็สะดวกดี ทำงานครั้งเดียวจบ ไม่ต้องพะวงตรงรอยแผล

ต้นพันธุ์ดีพร้อมจำหน่าย

ดูแลรักษาไม่ยาก

จากการเก็บตัวเลขของบ้านสวนตาทวน พบว่า อะโวกาโดปีเตอร์สัน ปลูกไปราว 2 ปีครึ่งก็เริ่มให้ผลผลิต ดินที่ปลูกบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ดี เจ้าของใส่ปุ๋ยคอกให้ปีละ 2 ครั้ง ปุ๋ยวิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ใส่ให้แล้วโตเร็วมากคือ มูลไส้เดือน สวนนี้เลี้ยงไส้เดือน ซึ่งเกิดประโยชน์อย่างมาก

ระยะปลูกอะโวกาโดนั้น ได้รับคำแนะนำว่า ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 7 คูณ 7 เมตร พื้นที่ไร่หนึ่งปลูกได้ 32 ต้น โดยประมาณ

การให้น้ำ…ได้รับคำแนะนำว่า หน้าฝนไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด แต่หากหน้าแล้ง ให้น้ำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

“แมลงศัตรูที่พบอยู่มี ตั๊กแตนกินใบ ใบมันมีมากกินไม่หมด ไม่ได้ฉีดยา ที่นี่เป็นเกษตรอินทรีย์” คุณเงิน บอก

ต้นตอ

ลูกช่วยครอบครัวทำงาน

เมื่อมีผลผลิตต่อเนื่องทุกปี ลูกค้า รวมทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงอะโวกาโด แนะนำให้บ้านสวนตาทวนหาวิธีกิน อะโวกาโดให้อร่อย เมื่อลองทำตาม ปรากฏว่า อร่อยอย่างที่แนะนำจริงๆ

คนที่เคยกิน อยากกินรสแท้ของอะโวกาโด ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ผ่าผลสุก ใช้ช้อนตักกิน

มีความหลากหลาย

ตัวช่วยที่ดีมาก คือ ผ่าผล ราดด้วยน้ำตาลทรายเล็กน้อย ราดด้วยนมข้น รวมทั้งน้ำผึ้ง ความอร่อยจะเพิ่มขึ้นมาก เดิมความอร่อยอาจจะอยู่ที่ 4 หรือ 5 เมื่อราดด้วยน้ำตาลทราย ความอร่อยจะเพิ่มเป็น 8 หรือ 9

นอกจากที่แนะนำมา บ้านสวนตาทวนยังทดลองทำสลัด ทำแบบกะทิแตงไทย โดยใช้อะโวกาโดแทน

นอกจากนี้ ยังทำสบู่จากอะโวกาโด ทางบ้านสวนตาทวนมาเรียนพื้นฐานการทำสบู่ที่มติชนอคาเดมี แล้วไปปรับสูตร ซึ่งลงตัวพอสมควร

ถามถึงการจำหน่าย เจ้าของสวนบอกว่า หลักๆ จำหน่ายต้นพันธุ์ ซึ่งส่งได้ทั่วประเทศไทย ที่ผ่านมาสั่งมาจากทุกภาค การส่งมีประสิทธิภาพดีมาก ต้นไม่ช้ำ นำไปปลูกแล้วแข็งแรงไว ราคาต้นพันธุ์ เริ่มต้นที่ 250 บาท หากพันธุ์ใหม่ราคาก็ขยับขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า พันธุ์อะโวกาโดค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับมะม่วง ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนยังสูงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของต้นตอ

ต้นที่เสียบยอดคลุมด้วยถุงพลาสติก

ส่วนผลผลิต มีอยู่ช่วงปลายปี คุณเงิน บอกว่า อะโวกาโดชุดแรกๆ อายุ 15 ปี ให้ผลผลิตต่อต้น ต่อปี ได้ 600 ผล ราคาที่จำหน่ายเริ่มต้นที่ กิโลกรัมละ 80 บาท นี่เป็นพันธุ์บูช 7 พันธุ์อื่นๆ ก็เริ่มทยอยมีผลผลิต

คุณเงิน บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจนั้น ปอนด์พี่ชาย และออนซ์ น้องสาว มาช่วยงานที่บ้าน ปอนด์เน้นที่การผลิตอย่างการขยายพันธุ์ ส่วนออนซ์ ช่วยเรื่องการขาย

ออนซ์เป็นคนรุ่นใหม่ เรียนจบเคยทำงานอยู่บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เงินเดือนขึ้นเร็วมาก แต่ตัดสินใจมาช่วยแม่ เธอบอกว่า สนุกกับการทำงาน มีอิสระ

คุณเงิน บอกว่า ทุกวันนี้นอกจากขยายพันธุ์ไม้แล้ว ยังรับปลูกต้นไม้ตามโครงการต่างๆ บางช่วงไปปลูกไกลถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แต่แถบมวกเหล็ก สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้เข้าไปปลูกต้นไม้ ทำกันมาต่อเนื่อง

ป้ายสวน

“จำหน่ายต้นไม้มานาน อะโวกาโดเป็นพืชหนึ่งที่ศึกษากันจริงจัง พบว่า มีศักยภาพ หากสนใจปลูกอยากให้ปลูกหลายๆ พันธุ์ เพราะว่ามีพันธุ์หนัก พันธุ์เบา ผลผลิตออกไม่พร้อมกัน อะโวกาโดเริ่มออกดอกเดือนธันวาคม ไปเก็บเกี่ยวได้ช่วงกันยายน-ตุลาคม แล้วแต่พันธุ์” คุณเงิน แนะนำ

อยากปลูกอะโวกาโด สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 085-936-7575 และ 080-159-2605 หรือติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก : บ้านสวนตาทวน

เผยแพร่ระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354