ผู้เขียน | อำพน ศิริคำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่านที่เคารพครับ ปี 2559 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา ได้แก่ 1. คุณคำพันธ์ เหล่าวงษี อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง 2. คุณอัคระ ธิติถาวร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น 3. คุณอดิศร เหล่าสะพาน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัญแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา
คุณคำพันธ์ เหล่าวงษี เกิดวันที่ 30 พฤษภาคม 2501 มีพี่น้องร่วมกัน 3 คน เป็นชายทั้ง 3 คน คุณคำพันธ์ เป็นคนที่ 3 จบการศึกษาชั้น ปวช. และ ปวส. วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม
ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 2 บ้านดอนแดง ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม สมรสกับ คุณบรรจง เหล่าวงษี (อี้ด) มีบุตร 3 คน หญิง 2 คน ชาย 1 คน อาชีพเกษตรกรรม
วิสัยทัศน์ คือ พัฒนาตน พัฒนาคน ขยายผล พัฒนาสังคม ระดมแนวคิดสู่เศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญา คือ รู้ชาติตระกูลพงศ์เผ่า รู้เหล่าจักรวาลสรรค์สร้าง รู้คิดรู้ทำนำทาง รู้วางตนแต่พอดี ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คู่เคียงภูมิปัญญาท้องที่ นำสู่ชีวิตสุขขี เกษตรกรเรานี้พึ่งตนได้เอย…
คติ คือ ทำให้ดีวันนี้ ดีกว่าทำวันข้างหน้า ทำวันละนิด ละนิด ดีกว่าคิด คิดว่าจะทำ ผลิตอาหารเพื่อกินให้เป็นยาในวันนี้ ดีกว่าจะกินยาเป็นอาหารในวันข้างหน้า เศรษฐกิจพอเพียง คือ “แนวทางสร้างอนาคตให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน
แรงบันดาลใจ จากการสรุปบทเรียนของตน ได้ศึกษาดูงานเกษตรกรรมยั่งยืน และศึกษาแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จุดเด่น ใช้ทรัพยากร ดิน น้ำ ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด (เกษตรผสมผสาน 1 งาน 1 แสน)
สู้งานไม่เคยท้อ
ด้วยบรรพบุรุษเป็นเกษตรกร อาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน หนทางที่จะร่ำรวยหรือทำให้การดำรงชีพอย่างสุขสบายนั้นแทบไม่มีเลย จึงมีแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนอาชีพให้ดีกว่านี้ จึงดิ้นรนใฝ่หาความรู้ใส่ตัว
หลังเรียนจบ ป.4 ได้บวชเรียนธรรมวินัยพร้อมกับเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ แล้วสิกขาเรียนต่อ พอเรียนอยู่ ม.ศ.1 พ่อเสียชีวิตจึงต้องช่วยตนเองหาเงินเรียนโดยการปลูกผักขายพอได้เงินใช้จ่ายในการเรียน (5-10 บาท/วัน)
จบ ม.ศ.3 ได้ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายคนโตเพื่อช่วยในการเรียน และเลือกเรียนสายอาชีพจะได้หางานทำง่าย
ได้เข้าเรียนที่ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม (ยังปลูกผักขายเหมือนเดิม) จบ ปวส. แผนกช่างกลโลหะ แล้วไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเนื่องจากแม่ก็แก่ชรา พี่ก็ป่วย และอีกต่อมาไม่นานก็เสียชีวิตทั้งแม่และพี่ชาย จึงหางานทำที่กรุงเทพฯ (2525-2538) เป็นผู้ช่วยช่างอยู่ 2 ปี ได้ค่าแรง วันละ 90-120 บาท ปีที่ 3-5 ได้ตำแหน่งช่าง ได้ค่าแรง วันละ 150-180 บาท ปีที่ 5-7 ได้เป็นหัวหน้าช่างได้ค่าแรง วันละ 200-300 บาท ปีที่ 7-13 เป็นผู้จัดการ ได้ค่าแรงเดือนละ 12,000-15,000 บาท แต่อยู่กรุงเทพฯ ภาระและเศรษฐกิจรัดตัว ค่าครองชีพสูง ลูกเรียน บ้านเช่า ข้าวซื้อ เงินที่ได้จากการทำงานไม่พอกับรายจ่าย จากปีแรกถึงปีที่ 4 เงินที่ได้กับรายจ่ายก็พอบ้างไม่พอบ้าง แต่ต่อมาเข้าปีที่ 5 เริ่มไม่พอจ่าย ภาระมากขึ้น ยิ่งลูกเรียน วันหนึ่งๆ ค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 500 บาท ค่าอาหาร ค่าขนมลูก เฉลี่ยวันละ 200 บาท ค่าน้ำ-ค่าไฟ เฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท ค่ารถรับ-ส่งลูกเรียน เดือนละ 1,800 บาท ค่าเทอมลูก เทอมละ 6,000 บาท/คน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยวันละ 100 บาท เป็นทุกข์มาก จึงได้ปรึกษากับภรรยา ลำพังอยู่ไปวันๆ ก็ไม่หนักใจเท่าไร แต่เรามองอนาคตไม่มีเลย ตัดสินใจกลับบ้านทำธุรกิจของตัวเอง เปิดโรงกลึง (ปี 2538-2540)
เห็นเขารวย “อยากจะรวย เหมือนเขา”
ด้วยเหตุที่ทำงานเงินไม่เหลือเก็บ จึงหาเงินลงทุน โดยเอาที่นาที่พ่อแม่แบ่งให้ทำกินไปจำนองกับนายทุน เพื่อนำเงินมาลงทุนเปิดโรงกลึง 3 ปีผ่านไป กลับยิ่งซ้ำเติมเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 งานไม่ค่อย มีเงินไม่เหลือใช้ เลิกกิจการหันมารับเหมาก่อสร้างทั่วไปอยู่ 4 ปี ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีสิทธิ์ส่งเงินคืนเจ้าหนี้ รวมเป็นหนี้ 200,000 บาท
การพัฒนาตนเอง และแรงบันดาลใจ
จากการสรุปบทเรียน การดำรงชีพที่ล้มเหลวที่ผ่านมา จากการศึกษาดูงานการทำเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและจากการศึกษาแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสรุปบทเรียน/วิเคราะห์ตัวเอง เพื่อหาแนวทางการดำเนินชีวิต
อดีต ที่บรรพบุรุษได้ดำเนินชีวิตมา ท่านไม่เคยมีหนี้ ท่านมีข้าวมีผักมีปลา-กบ เป็นอาหารกินอย่างพอเพียง มีบ้านอยู่มีเสื้อผ้าใส่ รู้จักหาพืชสมุนไพรใช้รักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยใส่พืชผัก และผลิตอาหารเองแทบจะไม่ต้องซื้อ ครอบครัวก็มีความสุขมีความอบอุ่นมีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนบ้าน มีความสามัคคีเข้าใจกับทุกคน ถึงไม่รวยดูเหมือนว่าท่านไม่มีทุกข์ใดๆ ส่วนตัวเองพยายามจะเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ แต่กลับจน เป็นหนี้ ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ลูกไม่มีอนาคต หมดหนทางที่จะก้าวต่อไป “ตัดสินใจเลิกกิจการมาทำตามรอยของท่าน”
ในช่วงรับเหมา ปี 2541 กลับมาทำเกษตรตามรอยของท่านโดยได้เช่าที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำกินและได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งได้ส่งเสริมให้สมาชิกทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อการพึ่งตนเอง จึงมีโอกาสได้อบรมเรียนรู้ ศึกษาดูงานในการทำเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ได้ทั้งแนวคิด/ประสบการณ์และได้รับรู้จากการศึกษาแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”จากโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัยได้คัดเลือกโครงการให้เกษตรกรในเขตตำบลศรีสุข จำนวน 2 แห่ง พร้อมกับจากหน่วยงานรัฐ ที่ได้ร่วมสนับสนุนส่งเสริมในการพัฒนาการเกษตรด้านวิชาการหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ นับว่าเป็นจุดหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจพร้อมที่จะนำพระราชดำริมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง
ปี 2544 เจ้าหนี้กดดัน ให้หาเงินคืน ถ้าไม่คืนจะยึดที่ ตัดสินใจขายที่นาใช้หนี้ให้หมด มีเงินคงเหลืออยู่ 30,000 บาท ขอเช่าซื้อที่แปลงนี้ มีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน ราคา 200,000 บาท โดยวางเงินที่มีก่อนและขอผ่อนรายปี ไม่เกิน 10 ปี ปี 2545 จึงได้เริ่มดำเนินกิจกรรมทำการเกษตร โดยยึดตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่
พื้นที่น้อยแต่ย่อตามส่วน
ดังนี้ 1. จัดเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ 2. ขุดสระ 3 บ่อ ไว้เก็บน้ำใช้ในการเกษตร 2.5 ไร่ 3. ปลูกไม้ผล/ไม้ยืนต้นตามคันคูและคันแดนรอบ 1.5 ไร่ 4. ผัก 2 งาน และ 5. นาข้าว 1 ไร่
เริ่มต้นที่ดำเนินการ ไม่มีทุนดำเนินการต้องกู้ ยอมเป็นหนี้อีก (50,000 บาท) ดินไม่ดี สภาพดินเค็ม เป็นที่ดอนไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือระบบชลประทานผ่าน ไม่มีไฟฟ้า-ประปาใช้ ไม่มีรายได้อื่นที่จะมาจุนเจือครอบครัว แนวทางสู่การพัฒนา จากที่ได้ศึกษาดูงาน อบรม ฝึกปฏิบัติจริง ค้นคว้า ลองผิดลองถูก จึงได้พยายามขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อต่ออุปสรรค สร้างเงื่อนไขสู่ความสำเร็จ และสร้างการมีส่วนร่วมในครอบครัวประชุมครอบครัวเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างความสามัคคี เสนอความคิดเห็น แก้ปัญหาร่วมกันสรุปบทเรียน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาจากอดีต-ปัจจุบันว่าอะไรเป็นอย่างไรวิเคราะห์ตนเอง/ครอบครัว เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนมีอะไรดี อะไรไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีแก้ไขอย่างไร สิ่งที่ดีจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
สร้างโอกาส เพื่อหาช่องทางสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัว (เช่น ประชาชนส่วนใหญ่ซื้ออาหารกิน ก็ผลิตอาหารขายให้ประชาชน เกษตรกรส่วนมากซื้อพันธุ์พืช/พันธุ์ผักปลูก เป็นต้น) วางแผนชีวิต วางแผนการผลิต วางแผนการตลาด จะต้องทันเหตุการณ์ จัดหาแหล่งจำหน่าย และสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิต เปิดตลาดของกลุ่มเอง
ผลที่ได้จากการตัดสินใจสู่ความพอเพียง
จากปีแรก-ปีที่ 3 ครอบครัวพออยู่ พอกิน ยังไม่มีเงินเก็บใช้หนี้ (มีอาหารพอเพียง มีผู้เอาเงินมาให้ทุกวันจากการขายผลผลิต 50-200 บาท) หลังจากนั้น ก็เริ่มมีเหลือเก็บออม ถึงปีที่ 6 ก็นำเงินที่เก็บได้ใช้หนี้หมด พร้อมกับสร้างบ้านอยู่อาศัย อีกต่อมา 3 ปี ได้ซื้อที่นาอีกแปลง เนื้อที่ 7 ไร่ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ลูกได้มีโอกาสเรียนทุกคน มีงานทำ รายได้เฉลี่ยของครอบครัว 300,000 บาท/ปี และเป็นแบบอย่างเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานกับเกษตรกร/นักเรียน/นิสิต/นักศึกษาและผู้สนใจในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากนั้นเป็นต้นมา (2549-2550 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน 2551, ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน)
ปัจจุบันทำการเกษตรหลายอย่าง อาทิ การทำนาด้วยกล้ากลีบเดียว การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตพืชปลอดสารพิษ เพาะเห็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ สุกร การเกษตร 1 งาน 1 แสน (การเพาะกล้าผักขายโดยกรอกถุงดินเวลากลางคืน 1-2 ชั่วโมง ก็สามารถทำเงิน 1,000-2,000 บาท) เป็นต้น
ท่านที่เคารพครับ นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติของปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน หากท่านใดสนใจอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ติดต่อได้ที่ โทร. (089) 618-4075, (061) 582-2235 และ E-mail : Khamphan1@hotmail.com