ทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลดี ดิน เป็นปัจจัยสำคัญ

มุ้งขนาดใหญ่

ธรรมชาติได้จัดสรรต้นไม้และระบบนิเวศไว้อย่างสมดุลดีแล้ว เราจึงควรให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเหมาะสม และหาหนทางที่จะอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไป แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เกษตรกรได้ใช้สารปราบศัตรูพืช โรคพืชและปุ๋ยเคมีกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลเสียต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันเราเริ่มเรียนรู้จากการใช้สารเคมีในการปลูกพืชอย่างเกินความจำเป็นว่ามีบทเรียนอย่างไรทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค คนส่วนหนึ่งตระหนักในสิ่งนี้และพยายามขวนขวายที่จะหาพืชผักที่ไร้สารเคมีมาทดแทนในการบริโภคประจำวัน เราจะเห็นข่าวคนใกล้ตัวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งด้วยวัยเพียงยี่สิบกว่าปีกันบ่อย ทั้งที่เมื่อก่อนคนสูงวัยจึงมักจะเป็นโรคนี้เนื่องจากการสะสมของสารพิษต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันการก่อตัวของโรคมะเร็งในร่างกายใช้เวลาไม่นาน เป็นเพราะเราใช้สารพิษในพืชผักมากขึ้นทำให้ระยะเวลาของการสะสมสารพิษสั้นลง

ป้าอร สุจิตรา ฉ่ำเพชร
ป้าอร สุจิตรา ฉ่ำเพชร

เมื่อเดือนมิถุนายน มีการเปิด “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลห้วยขุนราม” อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณสุจิตรา ฉ่ำเพชร หรือ ป้าอร หญิงเหล็กของวงการผักอินทรีย์จังหวัดลพบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2551 ป้าอรได้มีโอกาสอบรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์รุ่นแรก ของมูลนิธิ MOA และได้ยืนหยัดทำเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่คนร่วมรุ่นเลิกรากันไปหมดแล้ว

ตะไคร้อินทรีย์
ตะไคร้อินทรีย์

ป้าอร บอกว่า การอบรมครั้งนี้คิดว่าจะเป็นการให้ความรู้เรื่องการปลูกพืชเท่านั้น จากความคิดเดิมที่คิดว่าการปลูกพืชจะทำได้เฉพาะเชิงเดี่ยวเท่านั้น ไม่คิดว่าจะมีการปลูกพืชแบบผสมผสานก็ได้ นอกจากนี้ ยังไม่ให้มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีด้วยจะทำได้อย่างไร โดยที่ตัวเองไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย แต่ก็มั่นใจว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เนื่องจากไม่มีสารพิษใช้ในกระบวนการทั้งหมด ก็กลับบ้านมาปลูกแฟง กล้วย ฟักทอง ซึ่งพืช 3 อย่างนี้ มูลนิธิ MOA จะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมด เนื่องจากสถานที่ของป้าอรห่างจากมูลนิธิฯ จึงต้องเป็นพืชผลที่ทนทานต่อการขนส่ง ช่วงนั้นสวนป้าอรไม่มีทั้งน้ำทั้งไฟฟ้า ผลผลิตที่ได้สมบูรณ์จึงเป็นการปลูกในช่วงที่มีฝนดีเท่านั้น ส่วนในฤดูร้อนผลผลิตเสียหาย ไม่มีจำนวนมากนัก อย่าว่าแต่น้ำที่จะมารดต้นไม้เลย น้ำที่จะอุปโภคบริโภคก็แร้นแค้น แต่ด้วยความเป็นคนสู้จึงทำให้มูลนิธิฯ เห็นในความตั้งใจ จึงมีการประสานกับหน่วยงานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอความช่วยเหลือเรื่องนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2552 จนมีการอนุมัติงบประมาณมาเมื่อปี พ.ศ. 2556 จำนวน 16 บ่อ แต่ไม่มีน้ำจำนวน 4 บ่อ ใช้ได้จำนวน 12 บ่อ เป็นบ่อที่ใช้ในงานตรวจสอบของกรมเอง 2 บ่อ จึงเหลือบ่อที่ใช้บริโภคอุปโภคในตำบลห้วยขุนรามจริงๆ 10 บ่อ ครอบคลุมจำนวน 70 กว่าครัวเรือน ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท

ป้าอร เล่าว่า “ไม่มีใครคิดว่าจะได้บ่อน้ำ เพราะป้าอรเองไม่ได้เป็นคนรู้หนังสือ อ่านและเขียนไม่ได้ วันที่รถเจาะบาดาลของกรมทรัพย์ฯ เข้ามา ชาวบ้านมารุมดูเพราะไม่เชื่อว่าใครจะทำได้ แต่ป้าอรก็ได้ทำให้เห็นว่าความพยายามจะต้องสำเร็จได้ จากพื้นที่ที่ไม่มีน้ำและไฟฟ้า ในปี 56 ชาวบ้านได้ใช้ทั้งน้ำและไฟฟ้า แต่ในส่วนไฟฟ้าของป้าอรได้ใช้ไม่นาน มีคนมาลักตัดสายไฟเข้าบ้าน ไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามาหลายปีจนกระทั่งมีนายกฯ อบต. ท่านหนึ่ง เอาแผงโซลาร์เซลล์มาให้ใช้เป็นไฟแสงสว่าง”

มีหมูป่าคอยกินเศษผัก
มีหมูป่าคอยกินเศษผัก

ส่วนมุ้งนั้น ป้าอรได้ไปอบรมเกษตรเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นโครงการของจังหวัดร่วมกันระหว่าง 4 จังหวัดภาคกลางตอนบน คือ ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี ก็ได้สนับสนุนจากจังหวัดลพบุรีและเกษตรจังหวัดลพบุรี จำนวน 2 โรงเรือน มีความกว้าง 5 เมตร ยาว 30 เมตร รวมถึงอินทรียวัตถุและปัจจัยการผลิตอื่นๆ อีกด้วย

ในปีนี้เองป้าอรได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ออร์แกนิกไทยแลนด์ มีผักในสวน 6 อย่าง อาทิ ผักชีไทย ผักชีลาว คะน้า หน่อไม้ฝรั่ง และตะไคร้ โดยมีบริษัท แนชเชอรัล แอนด์ พรีเมี่ยม ฟู๊ด จำกัด เป็นผู้รับซื้อทั้งหมด แต่ปัจจุบันป้าอรได้เพิ่มผักโขมแดงลงไปอีกอย่าง เนื่องจากต่างประเทศโดยเฉพาะเยอรมนีต้องการมาก รถของบริษัทจะมารับซื้อที่หน้าสวนทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยบริษัทต้องการผลผลิตให้มากขึ้น แต่ป้าอร บอกว่า ด้วยศักยภาพ 2 คน กับลูกชายทำได้เพียงแค่นี้ ส่วนฟักทอง กล้วย มะละกอ ทางมูลนิธิ MOA จะมารับสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับผักอย่างอื่นที่ปลูกในบริเวณเดียวกันที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ก็สามารถจำหน่ายได้ทั่วไป โดยผู้ซื้อเชื่อถือว่าผลผลิตจากสวนนี้ทุกอย่างไม่ได้ใช้สารเคมีแน่นอน

 

ปรับปรุงดินให้ดี ผลผลิตก็จะดี

ดินสำคัญอันดับแรกในการปลูกผัก
ดินสำคัญอันดับแรกในการปลูกผัก

เคล็ดลับในการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตที่ดี ป้าอร บอกว่า “ดินเป็นปัจจัยการปลูกที่สำคัญ เกษตรอินทรีย์เน้นที่การเตรียมดินให้สมบูรณ์ เนื่องจากที่สวนเลี้ยงหมูป่าไว้ ก็จะเอาฉี่ของหมูป่านี่แหละมาใส่ถังไว้ในถัง 20 ลิตร ส่วนมูลหมูป่าตัดใส่ถุงปุ๋ยปิดปากถุง นำมาใส่ในถังนี้ด้วย ใส่ พด.1 ไป 1 ซอง เติมฉี่หมูไปเรื่อยๆ จนเต็มถัง ปิดฝาไว้ในร่มไว้ประมาณ 1 เดือน ก็จะนำมาใช้ได้ อัตราการใช้ 1 กระป๋องปลากระป๋อง ต่อน้ำ 20 ลิตร รวมจุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 กระป๋อง และน้ำส้มควันไม้อีก 2-3 กระป๋อง ของทั้ง 3 อย่างรวมกันแล้วนำมาราดบนดิน แล้วใช้จอบพรวนดินให้เข้ากันก็สามารถหว่านเมล็ดผักได้เลย ส่วนมูลหมูในถุงก็เอามาหว่านในแปลงเช่นกัน สำหรับเมล็ดพันธุ์ของผักซองที่ซื้อมาให้ล้างด้วยน้ำเปล่าลงในโถส้วมเพื่อไม่ให้สารที่เคลือบเมล็ดมาปะปนในแหล่งน้ำหรือในดินของเราอีก ส่วนเมล็ดที่มีขนาดเล็ก เช่น ผักขม ผักสลัด ผักชีลาวไม่ต้องล้าง”

กะหล่ำปลีในมุ้ง
กะหล่ำปลีในมุ้ง

 

น้ำลายปลวก

ทุกๆ ครั้งที่มีการเก็บผักก็จะทำเช่นนี้กับแปลงในมุ้ง เมื่อเก็บผักได้ 2 รอบ ก็จะนำน้ำลายปลวกซึ่งป้าอรได้ทำไว้ โดยเอาเศษกิ่งไม้มาวางกองไว้เรื่อยๆ จนกองสองประมาณ 1.5 เมตร ก็จะทำกองใหม่เป็นหย่อมๆ ไว้ ใช้ พด.1 ผสมน้ำราดไว้ หมั่นดูแลอย่าให้กองแห้งมาก ก็จะมีปลวกเข้ามากัดกินเนื้อไม้จนผุกร่อนเป็นผงหล่นลงมาใต้กองไม้ก็จะตักเอาส่วนนี้มาโรยลงในแปลงเพื่อเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน ผักชีไทยซึ่งปกติใช้เวลา 45 วัน ถ้าทำแปลงให้สมบูรณ์อย่างนี้จะใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็สามารถถอนผักชีขายได้แล้ว การใช้จุลินทรีย์และน้ำส้มควันไม้นี้ทำให้แปลงผักของป้าอร แทบจะไม่ต้องพักแปลงเลยเนื่องจากมีความสมดุลของธรรมชาติ

 

ยุทธศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี

คุณเจริญ พิมพ์ขาล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า “เป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดลพบุรีที่จะมีการส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ โดยการสนับสนุนมุ้งและปัจจัยการผลิต อินทรียวัตถุ และเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นผักกินใบ ทานตะวันงอก ส่วนหนึ่งของผักจะถูกส่งไปต่างประเทศ โดยมีบริษัทเอกชนมารับถึงแปลงเกษตรกร กลุ่มที่เป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัวแล้วด้วยการมีหน่วยงานราชการรับรอง 10 ราย ส่วนที่เหลืออีก 10 ราย อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน การทำการเกษตรอินทรีย์ถือเป็นนโยบายสำคัญของจังหวัดลพบุรี”

ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดลพบุรี
ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดลพบุรี

มุ้งที่มีการสนับสนุนให้เกษตรกรนี้ ผู้เขียนเห็นครั้งแรกที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เข้าใจว่าเป็นการสนับสนุนของหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สอบถามไปทางเกษตรจังหวัดอื่น ก็ได้ทราบข้อมูลว่าไม่มีการสนับสนุนและไม่เคยพบเห็น พอมาวันนี้สอบถามคุณเจริญ จึงได้ทราบว่า “โรงเรือนมุ้งสำหรับเกษตรอินทรีย์นี้ ได้เริ่มทำกันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันได้จัดทำไปแล้ว 40 โรงเรือน งานนี้เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี ไม่ใช่ส่วนราชการส่วนกลาง โดยจะมีเกษตรกรในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียนกับเกษตรจังหวัดเพื่อขอความสนับสนุนซึ่งจะต้องมีผู้ซื้อที่ชัดเจน มีความน่าเชื่อถือ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยคำนึงถึงความพร้อมของทั้งสองฝ่าย”

 

ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือซื้อผลผลิต สอบถามได้ที่ คุณสุจิตรา ฉ่ำเพชร หรือ ป้าอร โทร. (084) 706-1995