3 อาชีพเกษตร ที่เหมาะกับคนพิการ สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน

ทุกวันนี้ เมืองไทยมีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) มากถึง 819,550 คน (เฉพาะที่ลงทะเบียน กับหน่วยงานภาครัฐ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ในเดือนกันยายน 2560คนพิการส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในภาคชนบท ทำอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง

ส่วนคนพิการในวัยทำงานที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพมีมากถึงร้อยละ 40.31 หรือประมาณ 330,339 คน พวกเขาเหล่านี้ ไม่ใช่ภาระสังคม แค่ช่วยเหลือให้พวกเขามีอาชีพ มีรายได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ คนพิการกลุ่มนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้เช่นกัน

อบรมอาชีพเกษตรกรรม ให้คนพิการทำงานสู้ชีวิต

ปี 2560 มีคนพิการที่จดทะเบียนและสามารถทำงานได้ แต่ไม่มีงานทำ 455,990 คน เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและสิทธิพื้นฐานตามที่รัฐจัดให้ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงเกิดแนวคิดจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูแลคนพิการอย่างครบวงจรและยั่งยืน

ทางศูนย์ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพเกษตรกรรมที่เหมาะสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเห็ด การเลี้ยงจิ้งหรีด และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เนื่องจาก 3 อาชีพ ดังกล่าว ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ทำที่บ้านได้ คนพิการสามารถดูแลได้ง่าย มีรอบรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ใช้เงินลงทุนต่ำ ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ขายได้จริง เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และมีช่องทางการจัดจำหน่ายระยะยาว

ปี 2560 ทางศูนย์ได้เปิดอบรมอาชีพเกษตรกรรมให้กับครอบครัวคนพิการไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 260 ครอบครัว ประกอบไปด้วยคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ กองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชน เช่น บมจ. ทูร คอร์ปอเรชั่น บมจ. อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น บมจ. วิริยะประกันภัย ฯลฯ ร่วมจ้างคนพิการเป็นรายเดือน และให้มาปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน

หลักสูตรการอบรม

คุณพิษณุพงศ์ ทรงคำ ผู้จัดการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เล่าว่า คนพิการที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยทางศูนย์ได้จัดเตรียมที่พักและอาหาร เลี้ยงผู้เข้าร่วมโครงการทุกมื้อ ตลอดระยะเวลาอบรมหลักสูตร 600 ชั่วโมง หรือ 100 วัน ทางศูนย์ฝึกให้ผู้พิการได้เรียนรู้ 3 อาชีพเกษตรกรรม แบบเกิดทักษะจริง แบ่งเป็นการเรียนภาคทฤษฎี 93 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 507 ชั่วโมง

หลักสูตรดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คนพิการเกิดการเรียนรู้ทุกขั้นตอนตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นปลูก การดูแลรักษา การแปรรูป การขาย การตลาด การทำบัญชีและการจัดการฟาร์ม

ทำไม ต้องเป็นการเพาะเห็ด

คุณพิษณุพงศ์ บอกว่า อาชีพการเพาะเห็ด เลี้ยงจิ้งหรีด และปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คนพิการเข้าถึงได้ เป็นสินค้าเกษตรที่มีรอบการผลิตต่ำ ใช้เวลาดูแลแค่ 45 วัน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว การเพาะเห็ด สร้างรายได้เป็นรายวัน สามารถแปรรูปเป็นอาหารเจ เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการในวงกว้าง

 

ส่วนการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นอาหารโปรตีนแห่งอนาคต ที่องค์การอนามัยโลกประกาศรับรอง และเป็นสินค้าที่นิยมในตลาดและส่งออก ส่วนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ใช้แรงงานไม่มาก เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง

ในแง่การตลาด สินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด ครอบครัวผู้พิการสามารถนำผลผลิตของตัวเองออกขายในตลาดชุมชนท้องถิ่นทำให้เกิดรายได้ประจำแก่ครอบครัว ผู้เข้าอบรม นอกจากขายสินค้าที่ตลาดในชุมชนแล้ว ยังสามารถนำผลผลิตกลับมาส่งขายเข้ามูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้ โดยมูลนิธิได้ประกันราคา รับซื้อในราคาตลาด เพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปจำหน่าย ในชื่อแบรนด์ “ยิ้มสู้” ผลิตภัณฑ์คุณภาพของคนพิการ เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าและช่วยเหลือครอบครัวคนพิการให้มีอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป

ปัจจุบัน มูลนิธิได้จับมือกับเครือข่าย นำสินค้า “ยิ้มสู้” เข้าสู่ตลาด เช่น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) นำสินค้าไปวางขายในห้างแม็คโคร ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและวางแผนขยายไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

รวมทั้งวางแผนขยายช่องทางการตลาดผ่านระบบออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” ผลิตภัณฑ์ของคนพิการ หากประชาชนคนไทยได้ช่วยกันสนับสนุนสินค้า “ยิ้มสู้” ก็เท่ากับได้ช่วยเหลือคนพิการนั่นเอง

ด้าน ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์/ผู้อำนวยการด้านการพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีให้การสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง อาทิ จ้างงานคนหูหนวกเป็นบาริสต้าที่ ทรู คอฟฟี่ และร่วมพัฒนาแบรนด์ “ยิ้มสู้” ด้วยการนำสินค้าของผู้พิการด้วยการเริ่มต้นนำผักไฮโดรโปนิกส์วางจำหน่ายที่ แม็คโคร(Makro) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นให้กับผู้พิการทุกกลุ่มเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

ฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้ ของ ลุงแอ

นายทวีศักดิ์ อินทรชัย หรือ ลุงแอ วัย 62 ปี เดิมมีอาชีพรับจ้างทำนา ทำสวน ทำไร่ มาก่อนที่จะมาเป็นลูกจ้างของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 8 เมื่ออายุย่างเข้า 50 ปี ลุงแอ เริ่มมีอาการหลังค่อม ทำงานไม่ไหว หมอวินิจฉัยว่า ทำงานหนักและร่างกายมีความเสื่อมถอย จึงลาออกมาประกอบอาชีพอิสระ

แม่ลุงแอแก่ชรา เดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น ลุงแอต้องดูแลแม่แถมไม่มีงาน รู้สึกเครียดจึงหันมาดื่มเหล้าเป็นประจำ ต่อมาลุงแอได้รับการอบรมอาชีพกับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน และเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า “ฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้” ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข

ลุงแอ เล่าว่า หลังรับการอบรมอาชีพ ค่อยๆ เลิกเหล้าด้วยตัวเอง เพราะตั้งใจเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว หลังจากอบรม ทางศูนย์สนับสนุนอุปกรณ์เลี้ยงจิ้งหรีด ลักษณะเป็นโต๊ะ เรียกว่า โป้ จำนวน 2 โป้  ลุงแอใช้เวลา 45 วันจับจิ้งหรีดออกขายได้เกือบ 20 กิโลกรัม สร้างรายได้หลักพัน จึงเกิดความมั่นใจเลือกอาชีพได้ถูกทาง และตัดสินใจกู้เงิน ธ.ก.ส. มาลงทุนทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่บ้าน โดยลงทุนทำบ่อซีเมนต์เลี้ยงจิ้งหรีด จำนวน 12 บ่อ มีผลผลิตออกขายได้ บ่อละ 15 กิโลกรัม และเลี้ยงจิ้งหรีดในโป้ ขนาด 120×120 จำนวน 10 โป้ หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว มีผลกำไรเลี้ยงดูครอบครัว เดือนละ 15,000 บาท

 

การเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องใช้แรงมาก แต่ให้ผลกำไรสูง คุ้มค่ากับการลงทุน ตอนนี้ฟาร์มของลุงแอกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีดที่มีผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ลุงแอไม่หวงวิชา ใครอยากรู้อะไร ก็ตอบหมด

ผลผลิตที่มีอยู่ในวันนี้ ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด แค่ผลิตออกขายในหมู่บ้าน ก็ไม่เพียงพอขายแล้ว เพราะมีลูกค้ามาสั่งจองตั้งแต่เป็นจิ้งหรีดตัวเล็กๆ หากสินค้าล้นตลาด ลุงแอก็ไม่กลัว เพราะสามารถส่งขายให้มูลนิธิในราคาประกัน กิโลกรัมละ 100 บาท

ลุงแอ บอกว่า ทุกวันนี้ จิ้งหรีด เป็นสินค้าที่ขายดีมาก เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปี แถมได้ราคาดีอีกต่างหาก นอกจากขายเป็นตัวจิ้งหรีดแล้ว ยังสามารถขาย “ไข่จิ้งหรีด” เพื่อให้ผู้สนใจนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพ ไข่จิ้งหรีดมีราคาซื้อขาย ขันละ 50-60 บาท หรือขายยกถัง ถังละ 600 บาท ถือเป็นรายได้ที่ทำเงินได้ดีอีกทีเดียว

การผลิต “ไข่จิ้งหรีด” ทำได้ไม่ยาก สังเกตหากจิ้งหรีดร้อง ให้นำถาดหรือขันใส่ขุยมะพร้าวพรมน้ำพอชุ่ม ระวังอย่าพรมน้ำเยอะ จะทำให้ไข่ฟักยาก กว่าจะเป็นตัวอ่อน วางขัน 1-2 คืน ให้จิ้งหรีดวางไข่ เก็บในอุณหภูมิ 30 องศา ไข่จิ้งหรีดจะฟักเป็นตัวอ่อนในเวลา 10-15 วัน ฤดูหนาวไข่จิ้งหรีดจะใช้เวลาฟักตัวนานขึ้น 20-25 วัน ไข่จิ้งหรีด ขายขันละ 50-60 บาท หรือถังละ 600 บาท

ช่วยคนพิการ…ก้าวพ้นความยากจน

ปัจจุบัน คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพที่บ้านแล้ว ยังมีการรวมกลุ่มในท้องถิ่น จัดตั้งเป็น “ศูนย์บริการอาชีพอิสระสำหรับคนพิการในระดับพื้นที่” ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลคนพิการ รวบรวมผลผลิตส่งให้กับมูลนิธิ หรือเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ยิ้มสู้”

เมื่อแต่ละศูนย์มีความเข้มแข็งขึ้น ก็จะเป็นศูนย์การเรียนรู้และศูนย์ฝึกอาชีพของคนพิการต่อไป สำหรับ ปี 2560 ได้จัดตั้ง 11 ศูนย์ย่อย มีสมาชิก 260 ครอบครัว ส่วนปีนี้ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ย่อยเพิ่มขึ้นอีก 11 ศูนย์ สมาชิก 440 ครอบครัว

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ขอเชิญชวนสถานประกอบการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนพิการให้ก้าวพ้นความยากจน โดยการเลือกช่องทางตามมาตรการ 33 หรือ 35 เพื่อให้คนพิการที่อาศัยอยู่ในชนบทได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพ มีรายได้ที่พอเพียงและยั่งยืน โดยมีมูลนิธิคอยติดตามช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งรับซื้อผลผลิตจากการประกอบอาชีพ หรือได้รับโอกาสในการจ้างงานและปฏิบัติงานในชุมชนของตนเอง

หากใครสนใจอยากเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพเกษตรคนพิการ สามารถติดต่อโดยตรงกับ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ โทร. (089) 893-5050 ผอ. ประหยัด ทรงคำ โทร. (081) 671-6678 และ คุณเฉลิมพล หุ่นทรงธรรม โทร. (086) 774-2940 หรือมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ โทร. (02) 886-0955 และ (02) 886-1188