“แปลงเก๊กฮวยอินทรีย์” อีกหนึ่งแลนด์มาร์ค ของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

“เก๊กฮวย” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อเบญจมาศสวน หรือเบญจมาศหนูนั้น เป็นชื่อของไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่ภายหลังได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศกัมพูชา ลาว รวมถึงบ้านเราด้วย โดยจะเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่สูงของประเทศ ซึ่งคุณสมบัติเด่นของเก๊กฮวยคือ กลิ่นที่ฉุน รสชาติที่หวานปนขมเล็กน้อย ทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกกันคือ เก๊กฮวยดอกขาว และเก๊กฮวยดอกเหลือง

“แปลงเก๊กฮวยอินทรีย์” ที่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อีกหนึ่งโครงการเกษตรอินทรีย์และแลนด์มาร์คสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

แต่ก่อนจะเล่าถึงการทำแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คงต้องเกริ่นก่อนว่าการทำเกษตรอินทรีย์ คือ การทำเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่ที่ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี ทั้งทางดิน น้ำ และทางอากาศ หรือการทำเกษตรโดยปราศจากการใช้สารเคมีทุกประเภท เพื่อสร้างและฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สมดุลทางธรรมชาตินั่นเอง

 

จากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ สู่แปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผศ. พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าถึงโครงการแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ว่า เป็นการทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ของสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีพื้นที่กว่า 907 ไร่ โดยไม่ได้มีเพียงแค่เก๊กฮวยเท่านั้น แต่ยังมีทั้งแปลงพืชผัก โรงเห็ด รวมถึงโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ด้วย สำหรับการปลูกและการดูแลจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เนื่องจากจะมุ่งสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ทั้งยังเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้ามาเป็นผู้ดูแลและเก็บผลผลิตเพื่อส่งขายให้กับทางมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการสร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ผศ. พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้

คุณอดิศักดิ์ การพึ่งตน หรือ คุณอ้น นักวิชาการเกษตร ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ โดยเลือกปลูกพันธุ์เก๊กฮวยดอกเหลือง เพราะเป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลาย สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่าย และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากได้งบประมาณ ก็เริ่มทดลองปลูกเก๊กฮวยอินทรีย์จนได้ความรู้ทั้งในด้านการปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปแล้ว จึงได้เริ่มทำแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ บนพื้นที่ 3 ไร่ และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกเก๊กฮวยและทำสวนเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

คุณอดิศักดิ์ การพึ่งตน

โดยในช่วงแรกที่เริ่มต้นทำแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์นั้น ต้องอาศัยการปรับตัว การสะสมองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำเกษตร เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์จะค่อนข้างยากกว่าการทำเกษตรทั่วไป เพราะถ้าขึ้นชื่อว่าอินทรีย์ทุกอย่างก็ต้องเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ตลอดจนปุ๋ยที่ใช้ นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มแรกดินบริเวณนี้มีหินจำนวนมาก จึงต้องอาศัยการปรับปรุงและฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถรองรับการทำแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ในพื้นที่นี้ได้

“อย่างที่ทราบดีว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์ ตามนโยบายที่จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ ทำให้นอกจากการทำแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์แล้ว เรายังส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนในชุมชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทนการใช้สารเคมีด้วย โดยตอนนี้ในโครงการก็มีชาวบ้านให้ความสนใจและเข้าร่วมจำนวน 15 ครอบครัว ซึ่งเราจะแบ่งให้แต่ละครอบครัวดูแล จำนวน 5 แปลง โดยรับผิดชอบทั้งขั้นตอนการปลูกไปจนถึงการเก็บดอกเพื่อส่งกลับมาขายให้กับทางมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ เก๊กฮวยอินทรีย์ของเรายังได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA หรือตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากสหรัฐอเมริกาด้วย” คุณอดิศักดิ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม

 

ขั้นตอนการดูแล และขยายพันธุ์ต้นเก๊กฮวยอินทรีย์

คุณอดิศักดิ์ เล่าว่า ในช่วงแรกจะเริ่มจากการปลูกต้นแม่พันธุ์ ซึ่งจะทำในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และขยายพันธุ์ในโรงเรือนก่อน จะต้องควบคุมดูแลตั้งแต่การบำรุงดินด้วยปุ๋ยและแกลบดิบหมัก เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สำหรับในช่วงนี้ต้องควบคุมและดูแลเรื่องการให้น้ำ ให้ปุ๋ย และเรื่องแสงเป็นพิเศษ โดยต้องรดน้ำวันละครั้ง และใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ร่วมกับปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพทุก 15 วัน และยังต้องให้แสงเพิ่มเวลากลางคืน ในช่วงเวลา19.00-22.00 น. ตลอดระยะเวลาการเพาะพันธุ์ 3-4 เดือนด้วย

“ในส่วนของการขยายพันธุ์ เราจะใช้วิธีการปักชำ โดยจะใช้ส่วนยอดของกิ่ง ความยาวประมาณ 2.5 นิ้ว และต้องจุ่มในน้ำหมักชีวภาพที่มีอะมิโนเปปไทด์จากถั่วเหลือง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของรากด้วย ส่วนวัสดุที่ใช้ก็จะเป็นขี้เถ้าแกลบ ซึ่งทุกขั้นตอนการขยายพันธุ์จะต้องทำในโรงเรือนที่ควบคุมการให้น้ำด้วยระบบพ่นฝอย และมีการฉีดพ่นเชื้อจุลินทรีย์เพื่อป้องกันโคนเน่าด้วย และยังต้องให้แสงเพิ่มในเวลากลางคืนเช่นเดิม โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน กิ่งพันธุ์จึงจะมีรากที่สมบูรณ์ และสามารถนำไปปลูกลงดินได้”

แปลงเก๊กฮวยอินทรีย์

สำหรับการนำกิ่งพันธุ์ต้นเก๊กฮวยอินทรีย์ลงดินปลูกจะต้องบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก เพื่อเตรียมดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ก่อน โดยจะปลูกในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื่องจากเก๊กฮวยเป็นพืชวันสั้นและออกดอกในช่วงฤดูหนาว จึงจะเริ่มออกดอกช่วงปลายเดือนตุลาคม และดอกจะบานในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ส่วนโรคและแมลงส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องของเพลี้ย แต่ก็พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเลือกใช้วิธีทางธรรมชาติในการกำจัดแทนการใช้สารเคมี

ดอกสมบูรณ์ดีมาก

ประโยชน์ของเก๊กฮวยอินทรีย์ ที่มีมากกว่าความสวยงาม

ประโยชน์ของเก๊กฮวยนั้น นอกจากจะมีสรรพคุณเป็นยาแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการบำรุงและการไหลเวียนของเลือด ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและดูดซับสารก่อมะเร็งด้วย นอกจากนี้ เก๊กฮวยดอกเหลืองยังเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น และมีความหอมหวานเป็นเอกลักษณ์ ทำให้นิยมปลูกเอาไว้เพื่อเก็บดอกทำชาสมุนไพร โดยดอกเก๊กฮวยอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็ถูกเก็บเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเก๊กฮวยอบแห้ง เพื่อส่งจำหน่ายในพื้นที่เช่นกัน

สำหรับการเก็บเกี่ยวนั้น จะเริ่มเก็บดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเก็บเฉพาะส่วนดอกเท่านั้น และต้องเลือกดอกที่สมบูรณ์ ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป เพราะดอกที่อ่อนจะเหม็นเขียว ส่วนดอกที่แก่เกินไปก็จะไม่มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ การอบดอกเก๊กฮวยก็ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน โดยจะต้องเริ่มจากการนำดอกเก๊กฮวยที่เก็บได้ไปนึ่งในน้ำเดือด เป็นเวลา 3 นาที ก่อนจะนำใส่ตะแกรงเพื่อนำไปอบแห้งในโรงงานแสงอาทิตย์เป็นเวลา 10 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการอบก็จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของเตาอบที่ใช้ด้วย หากเตาที่ใช้มีอุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส ก็จะใช้เวลาในการอบ 5-6 ชั่วโมง ตามลำดับ ส่วนดอกเก๊กฮวยที่ผ่านการแปรรูปแล้วจะขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 1,000 บาท

เตรียมขยายพื้นที่รับเกษตรกรใหม่ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว

อย่างที่ทราบดีว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ ประกอบกับมีคนในพื้นที่จำนวนหลายครอบครัวที่ให้ความสนใจและต้องการเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ โดยตอนนี้มีครอบครัวเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการจำนวนกว่า 15 ครอบครัว และในปีหน้ายังมีผู้ที่แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการอีก 2 ครอบครัว รวมแล้วมีเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 17 ครอบครัว

“ความจริงแล้วเราเคยเปิดแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปถ่ายรูป หรือชมความสวยงามของดอกเก๊กฮวยในแปลงได้เลย แต่เนื่องจากพบปัญหาเรื่องของเส้นผมที่เข้าไปติดที่บริเวณดอก ส่งผลให้ยากต่อการคัดแยก และทำให้ไม่ผ่านการตรวจมาตรฐาน ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นเก๊กฮวยด้วย ทำให้ต้องติดป้ายและกั้นเชือกเพื่อกันนักท่องเที่ยว แต่หลังจากปรึกษากันแล้ว เราเองก็ต้องการสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงวางแผนจะจัดสรรพื้นที่ 1 แปลง ไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมโดยเฉพาะ และแยกจากแปลงอื่นๆ ที่จะส่งเข้าอบเพื่อแปรรูป เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องเส้นผมและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น” คุณอดิศักดิ์ เล่าถึงการวางแผนสร้างอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของแม่โจ้าใ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการส่งเรื่องเข้าไปที่มหาวิทยาลัย คือ การวางแผนในการขยายพื้นที่ในการทำแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเกษตรรายใหม่ที่สนใจและต้องการเข้าร่วมโครงการในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ซื้อพันธุ์ต้นเก๊กฮวย หรือต้องการปรึกษาและขอข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือติดต่อเข้ามาที่ คุณอดิศักดิ์ การพึ่งตน ได้โดยตรง ที่เบอร์โทร. (093) 039-3951