“ไร่จอมยุทธ์” ไร่อ้อยอินทรีย์ เครือข่ายสามพรานโมเดล อ้อย 1 ตัน แปรรูปขายได้เป็นแสน

วันก่อนได้ไปชิมน้ำอ้อยสดอินทรีย์ ที่ตลาดสุขใจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเจ้าของไร่อ้อยคือ คุณยุทธพงษ์ กอบกาญจนา วัย 51 ปี มาคั้นเองขายเอง จุดเด่นนอกจากจะเป็นน้ำอ้อยอินทรีย์แล้ว ยังให้ลูกค้าได้เลือกด้วยว่าจะใส่น้ำมะกรูด น้ำมะนาว หรือเป็นน้ำอ้อยล้วนๆ ลูกค้าหลายรายเลือกใส่มะกรูด พอดื่มแล้วต่างติดใจ เพราะมีรสเปรี้ยวผสมไปด้วย อีกทั้งมีกลิ่นหอมของมะกรูด     ดื่มแล้วชื่นใจดี

ปลูกแบบเคมี ค่าใช้จ่ายสูง

ว่าไปแล้ว เจ้าของไร่อ้อยอินทรีย์รายนี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะการนำน้ำอ้อยมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยทำน้ำอ้อยคั้นน้ำเป็นหลัก และยังทำน้ำตาลทั้งแบบน้ำตาลปี๊บ และแบบน้ำตาลทราย รวมทั้งไซรัปด้วย  ซึ่งคงมีชาวสวนน้อยรายที่สามารถทำแบบนี้ได้

คุณยุทธพงษ์ กอบกาญจนา ผู้เป็นเจ้าของไร่จอมยุทธ์ ในวัยหนุ่มหลังจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาพืชไร่นา เขาเคยทำงานกับ บริษัท คาร์กิลล์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ทำหน้าที่ส่งเสริมการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ที่จังหวัดสระแก้ว และที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทำอยู่ 3 ปีกว่า จากนั้นมาช่วยกิจการโต๊ะจีนของครอบครัว

คุณยุทธพงษ์ กอบกาญจนา

พอปี พ.ศ. 2550 เริ่มทำไร่อ้อยเป็นปีแรก ในพื้นที่ 16 ไร่ ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นเช่าที่ดินปลูกอ้อยเพิ่มเป็น 100 ไร่ ได้รับผลผลิตสูงสุด เกือบ 1,400 ตัน ต่อปี โดยจ้างคนงานตัดส่งโรงงานน้ำตาลท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการทำไร่อ้อยแบบปกติทั่วไป คือใส่ปุ๋ยเคมี และฉีดยาคุมฆ่าหญ้า สุดท้าย พบว่าแม้จะปลูกอ้อยเพิ่มจำนวนมากเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของปุ๋ยเคมีและหญ้าฆ่าหญ้า แล้วก็ไม่ได้คุ้มค่ากันเลย

ดังนั้น ในปี 2559 คุณยุทธพงษ์จึงหันมาปลูกอ้อยอินทรีย์แทน ซึ่งอ้อยอินทรีย์อันเป็นผลผลิตของไร่จอมยุทธ์ มีใบรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Garantee System-PGS) จากสามพรานโมเดลด้วย

คุณยุทธพงษ์ แจกแจงผลเสียของการปลูกอ้อยเคมีว่า จะต้องใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งทำให้ดินเสื่อมสภาพได้ง่าย อีกทั้งการฉีดยาคุมฆ่าหญ้า ทำให้มีสารเคมีอันตรายตกค้างลงในดินและติดไปกับใบอ้อย และถึงแม้ว่าการปลูกอ้อยเคมีจะได้ผลผลิตสูง แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลก็สูงตามไปด้วย ต้องทำในพื้นที่มากๆ ถึงจะคุ้มทุน เนื่องจากส่งโรงงานน้ำตาล ตันละ 880 บาท (ปีนี้) หักค่าตัดส่งโรงงานอีก 300 บาท เหลือแค่ 500 กว่าบาทเท่านั้น

อ้อย 1 ตัน แปรรูปขายได้เป็นแสน

ในขณะที่การปลูกอ้อยอินทรีย์ ไม่ต้องดูแลมาก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใส่ ตอนปลูกครั้งแรกโดยรองก้นหลุม พอตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือน ก็ใส่อีก หรือทุก 2 เดือนก็ได้ จากนั้นให้น้ำปกติ ไม่ต้องฉีดยาคุม ฆ่าหญ้า ใช้ถากเอา ถึงมีหญ้ามากๆ ก็ใช้รถไถเล็กตีพรวนดิน กำจัดหญ้า กลายเป็นปุ๋ยให้กับอ้อยต่อไป ซึ่งการปลูกอ้อยอินทรีย์ จะต้องดูแลเรื่องหญ้าเป็นหลัก ในช่วงปลูกใหม่ จนถึง 4 เดือน หลังจากนี้ ใบอ้อยก็คลุมดินหมดแล้ว หญ้าจะน้อย ที่สำคัญเมื่อนำอ้อยไปคั้นสดขาย อ้อย 1 ตัน สามารถขายได้นับแสนบาทเลยทีเดียว

ปัจจุบัน คุณยุทธพงษ์ ลดพื้นที่ปลูกอ้อยเหลือแค่พื้นที่ตัวเอง 23 ไร่ โดยแบ่งส่วนหนึ่งปลูกอ้อย ประมาณ 6 ไร่   นอกนั้นเน้นปลูกพืชผสมผสาน ทั้งกล้วยน้ำว้า ตะไคร้ อัญชัน มะม่วง ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งรออีก 2 ปี น่าจะได้เก็บผลผลิตได้

เจ้าของไร่จอมยุทธ์บอกถึงแรงจูงใจที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยเข้าร่วมกลุ่มกับทางสามพรานโมเดลว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการไปอบรมเกษตรธรรมชาติ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง (อบรมธุรกิจ รุ่น 430 เมื่อ ปี 2558) อบรมการออกแบบพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติ ภาคปฏิบัติ รุ่น 1 อบรมการทำนาอินทรีย์ ทั้งระบบแบบยั่งยืน จากมูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี ในปีเดียวกัน ซึ่งในการอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี ได้พบกับ คุณอรุณี พุทธรักษา เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มาหลายปี ในเครือข่ายสามพรานโมเดล และได้ชักชวนให้มาร่วมทำเกษตรอินทรีย์

“ใจจริงผมอยากทำแนวอินทรีย์มานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส เลยเริ่มตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มขุดบ่อวางแปลนในต้นปี 2559 ยึดหลัก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เหลือก็แจกจ่าย แจกแล้วค่อยขาย เน้นความยั่งยืน”

 

น้ำอ้อย มีประโยชน์สารพัด

สำหรับพันธุ์อ้อยที่คุณยุทธพงษ์ปลูก มีพันธุ์ขอนแก่น 3 ไว้ทำน้ำตาลและคั้นสดขายได้ และพันธุ์สุพรรณ 50 สำหรับคั้นน้ำ ส่วนพันธุ์สุพรรณ 72 ทำอ้อยควั่น โดยนอกจากจะขายที่ตลาดสุขใจทุกวันเสาร์และ   วันอาทิตย์แล้ว ยังร่วมออกบู๊ธโครงการตลาดสุขใจสัญจร ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ย่านรัชโยธิน เดือนละ    1 ครั้ง รวมๆ แล้ว มีรายได้เดือนละ 20,000 กว่าบาท

คุณยุทธพงษ์ บอกว่า การขายน้ำอ้อยที่ตลาดสุขใจ ถือว่าได้ราคาดี เนื่องจากเป็นอ้อยอินทรีย์ ขายแก้วละ 30-35 บาท ถ้าใส่มะนาว มะกรูด เพิ่มอีก 5 บาท ต่อแก้ว ซึ่งแม้จะดูราคาสูง แต่ถ้าเทียบกับพวกน้ำชา กาแฟ ที่ใส่น้ำเชื่อมนมข้น แก้วละ 30-35 บาท เทียบกันแล้วน้ำอ้อยอินทรีย์ไม่ได้แพงกว่า เพราะมีคุณค่าและสารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่า ซึ่งน้ำอ้อยคั้นสดอุดมไปด้วยแคลเซียม โพแทสเซียม วิตามิน A, C, B1, B2, B6 และสารต้านอนุมูลอิสระ มีเอนไซม์ช่วยป้องกันฟันผุ

การนำน้ำอ้อยสดมาเคี่ยวเป็นน้ำตาล

อีกทั้ง น้ำอ้อย มีน้ำตาลน้อยกว่าน้ำหวาน น้ำอัดลม ในปริมาณที่เท่ากัน นอกจากนี้ ยังมีฟลาโวนอยด์ ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ช่วยบำรุงไต และเสริมภูมิต้านทาน ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งเพิ่มความสดชื่นและพลังงาน เพราะเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ทันที ปลอดภัยต่อผู้ป่วยเบาหวาน กินได้สบาย

ไซรัปอ้อย

ส่วนน้ำอ้อยที่แปรรูปเป็นน้ำตาลปี๊บ ขายกิโลกรัมละ 300 บาท ถ้าเป็นน้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 350 บาท

คุณยุทธพงษ์ พูดถึงแผนธุรกิจในอนาคตว่าจะทำแฟรนไชส์ขายอ้อยคั้นน้ำอินทรีย์ รวมถึงแปรรูปอ้อย เป็นน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลอ้อยสีรำ และไซรัปอ้อย ซึ่งสินค้าทั้งหมดนี้จะส่งขายทางออนไลน์และฝากขายในร้านกาแฟด้วย เนื่องจากเวลานี้มีกลุ่มรักษาสุขภาพจำนวนมากที่ต้องการกินหวานอย่างปลอดภัย

 

วิธีทำน้ำตาล

เจ้าของไร่จอมยุทธ์ เปรียบเทียบการปลูกอ้อยเคมีและอินทรีย์ให้ฟังอย่างละเอียดว่า การปลูกอ้อยเคมี ต้องใส่ปุ๋ยเคมีอย่างน้อย 3 ครั้ง คือตอนปลูกใหม่ ตอนอายุ 4 เดือน และช่วงก่อนหน้าฝน ต้องฉีดยาคุมฆ่าหญ้าไปด้วย ฉะนั้น จึงมีค่าใช้จ่าย ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าฉีดยา ค่าหว่านปุ๋ย ไร่ละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท แล้วแต่ว่าใช้ปุ๋ยสูตรไหน ยาอะไร

ขณะที่ อ้อยอินทรีย์ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ตันละ 2,000-4,000 บาท 3 ครั้ง เหมือนกัน แต่ถูกกว่าเยอะ ไม่ต้องฉีดยาคุมฆ่าหญ้า ใช้รถไถเล็กปั่นพรวนดินให้เป็นปุ๋ยไปในตัว ไร่ละไม่เกิน 1,000 บาท ปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีก

ผลผลิต ถ้าเทียบกับอ้อยเคมี อาจได้น้อยกว่ากัน แต่สามารถแปรรูปขายได้ราคามากกว่าอ้อยเคมี (ตันละ 880 บาท) ถ้าเป็นอ้อยอินทรีย์ 1 ตัน ไปทำน้ำตาลได้ 100 กิโลกรัม ถ้าขายหมดก็ได้ถึง 30,000 บาท ต่อ 1 ตันอ้อยเลย หากนำมาคั้นทำน้ำอ้อยขาย ได้แก้วละ 30-35 บาท อ้อย 1 ตัน ได้น้ำอ้อยประมาณ 500 ลิตร เป็นแก้วได้ถึง 2,000 แก้ว คิดเป็นเงิน 60,000-70,000 บาท ต่ออ้อย 1 ตัน

“สรุปแล้ว การทำอ้อยอินทรีย์ข้อดีคือ ทำน้อยๆ ก็ได้มากกว่าทำอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล และทำให้เรามี รายได้ตลอด ถ้าส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล ก็ได้แค่ปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น แต่ผมขอเน้นว่า ต้องแปรรูป ส่วนอุปสรรคของการปลูกอ้อยอินทรีย์คือ เรื่องตลาดยังไม่กว้างเท่าไร แต่เริ่มดีขึ้นมากแล้ว เพราะผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น”

สำหรับการทำน้ำตาลอ้อยก็ไม่ใช่เรื่องยาก คุณยุทธพงษ์อธิบายให้ฟังว่า เริ่มจากการนำน้ำอ้อยสดๆ มาตั้งเตาถ่าน หรือเตาฟืนก็ได้ ตั้งไว้จนเดือด พร้อมกับตักฟองออกเรื่อยๆ ให้สะอาดๆ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณน้ำอ้อยที่จะทำ โดยน้ำอ้อย 5 กิโลกรัม ทำน้ำตาลได้ 1 กิโลกรัม (จาก อ้อยลำ 10 กิโลกรัม)

เมื่อเคี่ยวจนได้ที่แล้ว สังเกตจากฟองของน้ำอ้อยจะผุดเล็กๆ ที่สุด มีกลิ่นหอมพิเศษ ยกลงจากเตา นำมาคนให้คลายความร้อน ประมาณ 5 นาที จนน้ำอ้อยเริ่มเหนียว จะได้น้ำตาลปี๊บอ้อย และถ้าคนต่อไปอีก จะได้น้ำตาลทรายสีรำ เป็นผงสีสวยงาม เป็นอันใช้ได้ ขายได้กิโลกรัมละ 300-400 บาท

สนใจอยากเรียนรู้แลกเปลี่ยนการทำอ้อยอินทรีย์ โทร.ปรึกษา คุณยุทธพงษ์ กอบกาญจนา ได้ที่ (081) 009-1177 หรือเข้าไปดูที่  FB: ยุทธ์ ไร่นาสวนป่า