เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ มทร. ธัญบุรี ประยุกต์ใช้จริงเพื่อชุมชน

“เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ” ผลงานนวัตกรรมจากโครงการ “Learning Express” โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี (RMUTT) และ Singapore Polytechnic (SP) ประเทศสิงคโปร์ อีกหนึ่งโครงการของกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนด้วยความถนัดตามสาขาวิชาเอกของตนเอง

รศ.ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี เปิดเผยว่า โครงการ Learning Express : RMUTT-SP ดำเนินการมาแล้ว 5 รุ่น เป็นโครงการที่ร่วมพัฒนากระบวนการคิด สร้างประสบการณ์การเรียนรู้โดยตรงผ่านการลงมือทำให้กับนักศึกษาไทยและนักศึกษาสิงคโปร์อย่างเต็มที่ ดำเนินกิจกรรมเป็นทีมสหวิชาการ (Multi-disciplinary) ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน (Social Innovation) ผ่านกระบวนการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นทักษะในการคิดเพื่อฝึกให้นักศึกษาช่วยแก้ปัญหาในชุมชนต่างๆ ผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์ของผู้อยู่ในชุมชน การระดมสมอง การคิดร่วมกับชุมชน ภายใต้การดูแลและแนะนำของ Facilitator ประจำแต่ละกลุ่ม

รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร

โดย “เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ” เกิดจากการลงพื้นที่ Learning Express 2 ที่นำนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน เข้าศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำงานและวิถีชีวิตของเกษตรกร ณ โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา ชุมชนโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร. สานิตย์ดา เตียวต๋อย และ อาจารย์เดชรัชต์ ใจถวิล เพื่อให้นักศึกษาทั้งสองสถาบันสำรวจความต้องการของชาวบ้านในชุมชนโคกขาม ร่วมกันศึกษาหาแนวทางและวิธีแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านในชุมชนโคกขามต้องการกระบวนการทำปุ๋ยชีวภาพจากขี้แดดนาเกลือให้สะดวกรวดเร็วและได้ปริมาณมาก เนื่องจากที่ผ่านมานั้นชาวบ้านใช้วิธีการผสมด้วยมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ทำให้ใช้แรงงานและ

ผศ.ดร. ศิริชัย ต่อสกุล

เวลาในการทำปุ๋ยเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการผลิตน้อย

จากปัญหาดังกล่าว ที่นักศึกษาจากโครงการได้ร่วมกันแก้ปัญหา คิดค้น และออกแบบเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพตัวต้นแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านชุมชนโคกขามแล้ว กลุ่มนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ นายธิติภัทร หาพรต นายพิษณุ มีมุข และ นายบดินทร์ สว่างศรี จึงได้ต่อยอดการออกแบบและสร้างเครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพดังกล่าวให้เป็นเครื่องผลิตปุ๋ยจริงขึ้นมา โดยมี รศ.ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร และ ผศ.ดร. ศิริชัย ต่อสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นที่ปรึกษา

ผศ.ดร. ศิริชัย ต่อสกุล เล่าว่า เครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพเครื่องนี้ สามารถผสมปุ๋ยจากขี้แดดนาเกลือได้ในปริมาณมาก อีกทั้งยังทำให้ส่วนผสมต่างๆ เข้ากันได้เป็นอย่างดี ช่วยลดระยะเวลาและเป็นเครื่องทุ่นแรงให้แก่เกษตรกร การทำงานของเครื่องผลิตปุ๋ยนี้ใช้มอเตอร์ ขนาด 3 แรงม้า เป็นเครื่องต้นกำลังเพื่อไปขับชุดเกียร์ทดเพื่อส่งกำลังไปยังใบกวน ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสามารถผสมปุ๋ยจากขี้แดดนาเกลือได้ ครั้งละ 50 กิโลกรัม ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัม ต่อวัน สามารถลดคนงานในการผสมปุ๋ยชีวภาพได้ถึง 2 คน และเพิ่มปริมาณการผสมปุ๋ยชีวภาพให้กับชาวบ้านได้ 130 กิโลกรัม ต่อวัน

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Learning Express ตอบโจทย์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นักศึกษาของทั้งสองสถาบันการพัฒนาตนเองในการสื่อสารจนเกิดความเข้าใจ ประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนพัฒนาทักษะการคิด การทำงานเป็นทีม สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยวิชาชีพของตนเอง