โรงเรือนเปิดดอกเห็ดแบบบ้านบ้าน สร้างง่าย ราคาถูก เพื่อวิถีที่มั่นคง

การเพาะเห็ด ต้องมีโรงเรือนเปิดดอกเห็ดเป็นปัจจัยสำคัญ โดยทั่วไปโรงเรือนจะมีขนาดใหญ่ ทั้งความกว้าง ยาว และสูงเพื่อให้ผู้เพาะเข้าไปทำงานภายในโรงเรือนได้สะดวก แต่ราคาสร้างโรงเรือนค่อนข้างแพง

เพื่อก้าวไปสู่วิถีใหม่ที่มั่นคง วันนี้จึงนำรูปแบบ โรงเรือนเปิดดอกเห็ดแบบบ้านบ้าน สร้างง่าย ราคาถูก เพื่อวิถีที่มั่นคง เป็นโรงเรือนขนาดเล็ก ผู้เพาะเห็ดทำงานภายนอกโรงเรือน เป็นโรงเรือนต้นแบบ ราคาถูก ผลงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาที่น่าสนใจ จึงนำมาบอกเล่าสู่กัน

คุณวิชิต ตรีพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา เล่าให้ฟังว่า เห็ด (Mushroom) มีโปรตีนที่ให้คุณค่าทางโภชนาการกับผู้บริโภค เห็ดมีสารที่ช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง หรือโรคกระเพาะ จึงนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เห็ดมีให้เลือกบริโภคได้ทั้งที่เป็นเห็ดสดหรือเห็ดตากแห้ง

คุณวิชิต ตรีพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา

เห็ดมีหลายสายพันธุ์ พอจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. เห็ดรับประทานได้ นิยมนำมาทำอาหารบริโภคเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเข็มทอง หรือเห็ดนางรม
  2. 2. เห็ดที่ใช้เป็นยาสมุนไพร ซึ่งจะมีสรรพคุณทางยา เช่น เห็ดหลินจือ หรือเห็ดหอม
  3. 3. เห็ดพิษ เป็นเห็ดอันตราย ห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายถึงแก่เสียชีวิต เช่น เห็ดจิก เห็ดสน หรือเห็ดระโงกหิน

การเพาะเห็ด มี 2 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่ 1 การเพาะเห็ดเพื่อเก็บผลผลิตบริโภคในครัวเรือน

ทางเลือกที่ 2 การเพาะเห็ดในเชิงธุรกิจที่ต้องการผลกำไร

แต่ทั้ง 2 ทางเลือก จำเป็นจะต้องมีโรงเรือนเปิดดอกเห็ดเหมือนกัน และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ได้สร้างต้นแบบโรงเรือนเปิดดอกเห็ดราคาถูก ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับโรงเรือนขนาดใหญ่ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป โรงเรือนต้นแบบนี้ได้เปิดให้ประชาชนหรือเกษตรกรที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์ เพื่อนำกลับไปปรับใช้ลดต้นทุนการเพาะเห็ด

นำยางรถยนต์เก่าทำเป็นชั้นฐานรองรับแผงวงกลมไม้ไผ่

การเตรียมสร้างโรงเรือนเปิดดอกเห็ด

  1. จัดหายางรถยนต์เก่ามาจัดทำเป็นฐานรองในการจัดทำชั้นวาง โดยเลือกยาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25-27 นิ้ว 5-6 เส้นเพื่อให้ได้จำนวนชั้นตามที่ต้องการ
  2. 2. จัดทำแผงไม้ไผ่วงกลม เพื่อให้เป็นพื้นที่วางก้อนเห็ด ด้วยการจัดหาไม้ไผ่ที่มีในท้องถิ่นนำมาผ่าซีก ให้ได้ขนาดกว้าง 5-2 นิ้ว เหลาและลบเหลี่ยมเอาเสี้ยนไม้ออกให้หมด แล้วจักสานให้เป็นแผงไม้ไผ่วงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 นิ้ว 5-6 อันมัดทุกจุดที่เชื่อมต่อกันให้แน่น
  3. 3. จัดทำกระโจมหรือโดมไม้ไผ่ ด้วยการนำไม้ไผ่มาจักสานให้เป็นกระโจม 1 อัน เพื่อนำไปปิดด้านบนโรงเรือน
  4. 4. จัดทำเสาโรงเรือน ด้วยการนำลำไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-2 นิ้ว มาตัดให้เป็นท่อน ยาว 1.8-2 เมตร 6-8 อัน และ5. จัดหากระสอบป่านและผ้าพลาสติกเพื่อนำมาใช้ปิดคลุมรอบโรงเรือน

หมายเหตุ ผู้สร้างโรงเรือนเปิดดอกเห็ดสามารถเลือกใช้วัสดุชนิดอื่นได้ตามความเหมาะสม

โรงเรือนเปิดดอกเห็ดต้นแบบบ้านบ้านที่ใช้ต้นทุนสร้างราคาประหยัด

วิธีสร้างโรงเรือนเปิดดอกเห็ด ควรเลือกพื้นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง ปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกันและสะอาด จากนั้นจัดวางยางรถยนต์เก่า 1 เส้น เพื่อเป็นฐานหลัก นำแผงไม้ไผ่วงกลมวางด้านบนยางรถยนต์เก่า ที่ขอบแผงไม้ไผ่ให้ผูกยึดกับเสาไม้ไผ่ให้แน่นทุกมุม ก็จะได้ ชั้นวางที่ 1 จากนั้นนำยางรถยนต์เก่า เส้นที่ 2 วางบนกึ่งกลางแผงไม้ไผ่วงกลมแล้วนำแผงไม้ไผ่วงกลมวางทับลงไปผูกยึดกับเสาไม้ไผ่ให้แน่นทุกมุม ก็จะได้ ชั้นวางที่ 2 ทำเช่นนี้ไปให้ได้ 5-6 ชั้น ตามที่ต้องการ ต่อจากชั้นบนสุดวางแผงกระโจมไม้ไผ่แล้วผูกยึดกับเสาให้แน่น นำกระสอบป่านปิดคลุมโรงเรือนทั้งหมด ส่วนด้านข้างปิดคลุมให้เปิด-ปิด ได้ ซึ่งแต่ละชั้นของแผงไม้ไผ่วงกลมจะเป็นพื้นที่วางก้อนเห็ด

คุณวิชิต ตรีพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา เล่าให้ฟังอีกว่า โรงเรือนเปิดดอกเห็ดแบบนี้สามารถใช้เพาะเห็ดได้หลายชนิด เช่น เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อ หรือเห็ดนางรม

วัสดุและอุปกรณ์เพาะเห็ด ที่ต้องเตรียม ได้แก่

  1. 1. อาหารเพาะเห็ด
  2. 2. หัวเชื้อเห็ด
  3. 3. ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7×11 นิ้ว หรือ 9×13 นิ้ว
  4. 4. คอและฝาครอบพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว
  5. 5. สำลี ตะเกียงแอลกอฮอล์ และยางรัด
  6. 6. ถังนึ่งไม่อัดความดัน หรือหม้อนึ่งความดัน
  7. 7. โรงเรือนหรือสถานที่บ่มเส้นใยและเปิดดอกเห็ด

การเตรียมอาหาร มีส่วนผสมโดยเฉลี่ย ดังนี้

  1. 1. ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแห้ง 100 กิโลกรัม
  2. 2. รำละเอียด 5 กิโลกรัม
  3. 3. ดีเกลือ 2 กิโลกรัม
  4. 4. ปูนขาว (CaCO3) หรือเติมน้ำตาลทราย 2-3 กิโลกรัม ใส่น้ำลงไปผสมให้มีความชื้น 60-70 เปอร์เซ็นต์ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วบรรจุถุงพลาสติกทนร้อนทันที กดให้แน่น สูง 2 ใน 3 ของถุง จะได้น้ำหนักราว 1 กิโลกรัม รวบปากถุงไล่อากาศออก สวมคอพลาสติกแล้วพับปากถุงพาดลงมา ยางรัดให้แน่น อุดด้วยสำลี และหุ้มทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบพลาสติก นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในถังนึ่งไม่อัดความดัน ที่อุณหภูมิ 90-100 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง แล้วพักปล่อยให้เย็น ดึงจุกสำลีออกแล้วลนปากขวดหัวเชื้อที่เปลวไฟ เทหัวเชื้อลงในถุง 15-20 เม็ด นำถุงที่ใส่เชื้อเห็ดไปวางบ่มเส้นใย ที่อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส ไม่จำเป็นต้องมีแสง ไม่ต้องให้น้ำที่ถุงเชื้อ และเมื่อเชื้อเห็ดเดินเต็มถุงก็นำเข้าไปวางในโรงเรือนเปิดดอกเห็ดแบบบ้านบ้าน…เพื่อให้เห็ดออกดอก

การปฏิบัติดูแลรักษา เมื่อนำก้อนเชื้อไปวางในโรงเรือนเพื่อเปิดดอก ต้องรักษาอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ การถ่ายเทอากาศตามสภาพที่เห็ดต้องการ ปรับความชื้นภายในโรงเรือนให้เหมาะสม ไม่ควรให้มีน้ำขังอยู่ภายในก้อนเชื้อเห็ด และไม่ควรให้น้ำถูกดอกเห็ดโดยตรง ถ้าจำเป็นควรให้น้ำแบบฝอยละออง หากปฏิบัติดูแลรักษาที่ดีได้ตามแนวทางนี้ก็จะทำให้ได้ดอกเห็ดดีมีคุณภาพ

การรักษาความชื้นและให้อากาศถ่ายเทได้ดี ดอกเห็ดจะเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี

คุณวิชิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า เมื่อดอกเห็ดบานเหมาะสม ขอบหมวกยังไม่ยกขอบขึ้นหรือบานจนย้วย ให้เก็บดอกเห็ดในช่อดอกเดียวกันให้หมด อย่าให้มีเศษดอกเห็ดเหลือติดค้างอยู่กับก้อนเชื้อเพราะจะทำให้เน่า เชื้อโรคและแมลงจะเข้าไปทำลายได้ จากนั้นนำผลผลิตไปบริโภคหรือรวบรวมนำส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อ

การเปิดดอกในโรงเรือนแบบบ้านบ้าน ดอกเห็ดเจริญได้ดีมีคุณภาพ

โรงเรือนเปิดดอกเห็ดแบบบ้านบ้านนี้ เป็นต้นแบบที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จัดหาได้ในท้องถิ่น ใช้ต้นทุนต่ำ ใช้งานได้ทนนาน ประชาชนหรือเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำกลับไปปรับใช้ตามความเหมาะสม เป็นหนึ่งวิธีการเพื่อก้าวไปสู่วิถีใหม่ที่พอเพียงและมั่นคง

คุณวิชิต ตรีพันธ์ (ที่ 2 จากขวา) ผอ. ศูนย์วิจัยฯ กับผู้ร่วมออกแบบสร้างโรงเรือนเปิดดอกเห็ดต้นแบบ

จากเรื่องราว รูปแบบ โรงเรือนเปิดดอกเห็ดแบบบ้านบ้าน สร้างง่าย ราคาถูก เพื่อวิถีที่มั่นคง เป็นทางเลือก เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเป็นการยกระดับรายได้สู่วิถีที่พอเพียงและมั่นคง สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณวิชิต ตรีพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ถนนสุขยางค์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โทร. (073) 274-451 หรือ โทร. (081) 373-0961 ก็ได้