มหัศจรรย์สุดยอดความอร่อยทุเรียนไทย

ในอดีตประเทศไทยปลูกทุเรียนพื้นบ้านหลายร้อยสายพันธุ์ โดยนำมาปลูกเชิงการค้าประมาณ 60-80 พันธุ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันทุเรียนพื้นบ้านซึ่งเป็นสายพันธุ์โบราณเหล่านั้นปลูกน้อยลงและหายาก บางสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์เชิงการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์พันธุ์หมอนทอง รองลงมาคือ ทุเรียนพันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุม และพันธุ์อื่นๆ

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ในฐานะหน่วยงานหลักของกรมวิชาการเกษตร ที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนาทุเรียน ได้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายเชื้อพันธุกรรมทุเรียน จึงได้ทำการรวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านกว่า 600 สายพันธุ์ไว้เป็นแหล่งพันธุกรรมทุเรียนเพื่อการอนุรักษ์และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนในอนาคต

ตลอดระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยังเป็นศูนย์วิจัยพืชสวนพลิ้ว เมื่อปี 2510 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ปลูกรวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองโบราณไว้ไม่น้อยกว่า 600 สายพันธุ์ ภายใต้โครงการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมทุเรียน ทำให้ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีกลายเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมากที่สุดของประเทศไทย

ทุเรียนโบราณสามารถผลิตเชิงการค้าได้ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า กบชายน้ำ กบพิกุล ก้านยาว ชมพูศรี ชะนี ลวง ฯลฯ  เนื่องจากทุเรียนโบราณเหล่านี้ปลูกกันน้อยแต่มีรสชาติอร่อย ทำให้เกษตรกรสามารถขายทุเรียนพันธุ์โบราณได้ในราคาแพง  หลายคนเอาเงินมาวางกองข้างหน้าแต่ไม่สามารถซื้อกินได้ เพราะของดีมีน้อย ใครอยากกิน ต้องเข้าคิวจองล่วงหน้ากันข้ามปีทีเดียว

สายพันธุ์ทุเรียนโบราณ

“กบมังกร” ลักษณะผลรูปไข่กลับ เนื้อหนาปานกลาง กลิ่นอ่อน รสมันมากกว่าหวาน

กบมังกรอยู่ในกลุ่มกบ

“กบสุวรรณ” แหล่งที่พบ จังหวัดนนทบุรี จันทบุรี ระยอง ลักษณะผลรูปรี เนื้อละเอียด สีเหลือง กลิ่นแรง รสหวานปานกลาง

กบสุวรรณ ในกลุ่ม กบ

“ก้านยาวสีนาค” เพาะจากเมล็ดพันธุ์ก้านยาว แหล่งที่พบ คลองซ่อน จังหวัดนนทบุรี ลักษณะผลกลมรี เนื้อหยาบ กลิ่นปานกลาง รสหวานมันพอดี

ก้านยาวสีนาคอยู่ในกลุ่มก้านยาว

“จอกลอย” แหล่งที่พบ จังหวัดระยอง นนทบุรี ลักษณะผลรูปรี เนื้อหยาบ กลิ่นอ่อน รสมันมากกว่าหวาน

จอกลอยอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด

“ชายมะไฟ” เพาะจากเมล็ดพันธุ์กำปั่นขาว แหล่งที่พบจังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี ลักษณะผลขอบขนาน เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองจัด กลิ่นแรง รสหวานมากกว่ามัน

ชายมะไฟอยู่ในกลุ่มกำปั่น

“ดาวกระจาย” เพาะจากเมล็ดกำปั่นขาว แหล่งที่พบ ตำบลบางบำรุง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ลักษณะผลรูปไข่กลับ

ดาวกระจายอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด

“ต้นใหญ่” ลักษณะผลรูปไข่กลับ เนื้อละเอียด สีเหลือง กลิ่นอ่อน รสมันมากกว่าหวาน

ต้นใหญ่อยู่ในกลุ่มก้านยาว

“ตะพาบน้ำ” แหล่งที่พบ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ ลักษณะผล ผลทรงกลมแป้น เนื้อหยาบ กลิ่นอ่อน รสมันมากกว่าหวาน

ตะพาบน้ำอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด

“นมสวรรค์” แหล่งที่พบ จันทบุรี ลักษณะผลรูปรี เนื้อละเอียด สีเหลือง กลิ่นปานกลาง รสหวานมันพอดี

นมสวรรค์อยู่ในกลุ่มทองย้อย

“ฝอยทอง” แหล่งที่พบ จันทบุรี ลักษณะผลรูปรี เนื้อละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นอ่อน รสหวานมันพอดี

ฝอยทองอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด

“พวงมณี” แหล่งที่พบ จันทบุรี ลักษณะผลรูปรีเล็ก เนื้อละเอียด สีเหลืองเข้ม เนื้อน้อย กลิ่นอ่อน รสหวานมันพอดี

พวงมณีอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด

“ยินดี” แหล่งที่พบ จันทบุรี ระยอง อุตรดิตถ์ ลักษณะผลกลมแป้น เนื้อละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นอ่อน รสหวานมันพอดี

 

ยินดีอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด

“หมอนทองสันต์จันทบุรี” ลักษณะเนื้อหนา สีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด เส้นใยน้อย มีการสุกสม่ำเสมอทั้งผล

“ชะนีชาญชัยจันทบุรี” ลักษณะเนื้อหนา หวานมันพอดี เนื้อแห้ง เส้นใยน้อย เปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบสูง

“ก้านยาวอารีจันทบุรี” ลักษณะผลใหญ่ เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดและเหนียวมาก เส้นใยน้อย

“พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 1” ผลผลิตออกต้นฤดู อายุเก็บเกี่ยวสั้น 105 วัน หลังดอกบาน สีเนื้อเหลือง รสชาติหวานมัน เนื้อค่อนข้างละเอียด กลิ่นอ่อนมาก เนื้อคงสภาพได้นานหลังปลิงหลุด

พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 1

“พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 2” ผลผลิตออกต้นฤดู อายุเก็บเกี่ยวสั้น 95 วัน หลังดอกบาน ผลเล็ก สีเนื้อเหลือง เข้ม รสชาติหวานมัน เนื้อเหนียวละเอียด กลิ่นอ่อน

“พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 3” ผลผลิตออกต้นฤดู อายุเก็บเกี่ยวสั้น 97 วัน หลังดอกบาน สีเนื้อเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน เนื้อละเอียด เหนียว

พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 3

“พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 4” ลูกผสมของแม่พันธุ์ก้านยาวกับพ่อพันธุ์หมอนทอง อายุเก็บเกี่ยวราว 114 วัน หลังดอกบาน เปอร์เซ็นต์การติดผลดีถึง 10% ให้ผลผลิตสูง ราว 45-60 ผล/ต้น เนื้อในสีเหลืองเข้มสวย เนื้อละเอียดเหนียว มีกลิ่นน้อย และรสชาติหวานมันปนระหว่างก้านยาวกับหมอนทอง

“พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 5” เป็นลูกผสมแม่พันธุ์ก้านยาวผสมปล่อยตามธรรมชาติ อายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 104 วันหลังดอกบาน เปอร์เซ็นต์การติดผลดี ประมาณ 7% ให้ผลผลิตสูงราว 50-60 ผล/ต้น น้ำหนักผล 3 กิโลกรัม ทรงผลค่อนข้างกลม เนื้อในสีเหลืองเข้มกว่าพันธุ์ก้านยาว เนื้อเหนียวปานกลาง กลิ่นปานกลางแต่ไม่ฉุน รสชาติค่อนข้างมันมากกว่าหวาน

“พันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 6” ลูกผสมของแม่พันธุ์ก้านยาวกับพ่อพันธุ์หมอนทอง อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง 115 วันหลังดอกบาน เปอร์เซ็นต์ติดผลอยู่ในเกณฑ์ดี ประมาณ 8% น้ำหนักผล 3 กิโลกรัม ให้ผลผลิต 40-50 ผล/ต้น เนื้อในมีสีเหลืองคล้ายหมอนทอง รสชาติหวานมันมาก เนื้อละเอียดเหนียว และมีกลิ่นปานกลาง

“พันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 7” ทรงผลค่อนข้างกลม หนามเล็ก สั้น ขนาดผลปานกลาง น้ำหนักผล เฉลี่ย 2.3 กิโลกรัม เนื้อหนาปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น 105 วัน หลังดอกบาน โดยดอกบานช่วงเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เนื้อมีสีเหลืองสวยสม่ำเสมอ รสชาติหวานมัน เนื้อเหนียวปานกลาง เส้นใยปานกลาง มีกลิ่นอ่อน

พันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 7

“ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 8” ทรงผลค่อนข้างกลม ขนาดผลปานกลาง น้ำหนักผลเฉลี่ย 2.24 กิโลกรัม เนื้อหนาปานกลาง เมล็ดลีบ อายุเก็บเกี่ยวปานกลางระหว่าง 110-117 วัน หลังดอกบาน หรือเฉลี่ย 114 วัน หลังดอกบาน โดยดอกบานช่วงเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เนื้อมีสีเหลืองสวยสม่ำเสมอ รสชาติหวานมันดีมาก เหนียว เนื้อละเอียด เส้นใยปานกลาง มีกลิ่นอ่อน เมื่อสุกเนื้อไม่เละ และเนื้อคงสภาพได้นานหลังเก็บเกี่ยว

“ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 9” ทรงผลค่อนข้างกลม รูปไข่ ขนาดผลปานกลาง น้ำหนักผลเฉลี่ย 3.43 กิโลกรัม เนื้อหนาปานกลาง มีก้านผลยาว 6.23 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาว (138 วัน) เปรียบเทียบกับพันธุ์อีหนัก (ทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของปราจีนบุรี) เนื้อมีสีเหลืองสวยสม่ำเสมอ รสชาติ หวานมัน เนื้อเหนียวละเอียด เส้นใยปานกลาง มีกลิ่นอ่อน

ผู้สนใจเรื่องทุเรียนพันธุ์โบราณสามารถแวะเยี่ยมชมความมหัศจรรย์พันธุ์ทุเรียนโบราณหลากหลายสายพันธุ์ ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2561” จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ณ บริเวณสกายฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2561