นั่งเรือเที่ยว ไปดูการเพาะเห็ดนางฟ้า โครงการ 9101 เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรวันนี้ ได้นั่งเรือลัดเลาะคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด ได้สัมผัสกับวิถีการยังชีพของประชาชนทั้งสองฝั่งคลองที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและได้ขึ้นฝั่งไปดูการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน…ซึ่งเป็นอาหารมีโปรตีนสูง ที่นิยมบริโภคกันแพร่หลาย และเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่เกษตรกรชาวคลองลัดมะยมกว่า 30 คน เพาะในโครงการ 9010 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน จึงนำมาบอกเล่าสู่กัน

 

คุณกัลยา เจริญทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า สภาพพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่การเกษตร 120,450 ไร่ เกษตรกร 7,032 ครัวเรือน พืชที่สำคัญที่มีการปลูกได้แก่ ข้าว 87,397 ไร่ เกษตรกร 3,328 ครัวเรือน กล้วยไม้ 1,514 ไร่ เกษตรกร 243 ครัวเรือน ไม้ดอกไม้ประดับ (สนามหญ้า) 488 ไร่ เกษตรกร 94 ครัวเรือน พืชผัก 2,188 ไร่ เกษตรกร 658 ราย และอื่นๆ

โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน มีศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรคุณภาพ ส่งเสริมการปลูกและผลิตแบบแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ การผลิตพืชในโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหลากหลาย ป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี มีการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผ่านโครงการพัฒนา Smart Farmer และ Young Smart Farmer หรือท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ส่วนการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน ซึ่งเป็นเห็ดที่มีกลิ่นหอม เนื้อแน่น รสหวาน เห็ดมีรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์แต่ไม่เหนียวเหมือนเนื้อสัตว์ จึงทำให้ย่อยง่าย นำไปใส่ในต้มยำหรือต้มโคล้ง เห็ดชุบแป้งทอด หรือเห็ดผัดกะเพรา เป็นเห็ดที่ให้คุณค่าด้านโภชนาการสูง มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ ให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใย มีปริมาณไขมันต่ำ ช่วยในการไหลเวียนโลหิต ลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง หรือลดไขมันในเส้นเลือด

สำนักงานเกษตรฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน เป็นเห็ดเศรษฐกิจสำคัญที่ผู้บริโภคมีความต้องการในปริมาณมาก และเป็นหนึ่งกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้นำไปสู่วิถีการยังชีพที่มั่นคง

คุณชวน ชูจันทร์ เกษตรกรผู้เพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน เล่าให้ฟังว่า วิถีชีวิตของประชาชนและเกษตรกรในบริเวณพื้นที่สองฝั่งคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด กทม. ได้พึ่งพาอาศัยอยู่คู่กับน้ำมายาวนาน น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญทั้งเพื่อการยังชีพและการเกษตร ทุกวันนี้ลูกหลานยังทำการเกษตรสืบต่อจากบรรพบุรุษด้วยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล หรือพืชผัก ทำให้ครอบครัวมีอาหาร มีรายได้จากการขายผลผลิตเพื่อนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและยังชีพ

เห็ดนางฟ้าภูฏาน มีโปรตีนสูง เป็นที่นิยมบริโภคกันแพร่หลาย ในเชิงการค้าเป็นเห็ดเศรษฐกิจสำคัญเหมาะที่จะทำให้มีรายได้ มีความมั่นคงในการยังชีพ จึงตัดสินใจเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยภาครัฐได้ให้การสนับสนุนงบประมาณมาใช้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ เช่น เครื่องผสมวัสดุเพาะ ห้องอบฆ่าเชื้อ ถุงเพาะ วัสดุเพาะหรือโรงเรือน

โรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน ได้คัดเลือกสถานที่สร้างโรงเรือนที่มีความเย็นชื้น สะอาดปราศจากศัตรูของเห็ดที่จะเข้ามารบกวน หลังคามุงด้วยใบจากหรือแฝกแล้วคลุมทับด้วยซาแรน ประตูปิด-เปิด โรงเรือน ทำด้วยกระสอบป่านหรือแผ่นพลาสติกยาง ก่อนสร้างโรงเรือนให้ดูทิศทางลมเหนือ-ใต้ด้วย เพื่อไม่ให้ลมพัดพาเชื้อโรคเข้ามากระทบก้อนเห็ดและการออกดอกเห็ด

ขนาดโรงเรือนควรมีความกว้าง ยาว และสูง 2x15x2 เมตร จะวางก้อนเชื้อเห็ดได้ตั้งแต่ 1,000 ก้อนหรือถุงขึ้นไป วัสดุที่นำมาสร้างโรงเรือนควรเลือกหรือจัดหาในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต

เครื่องผสมวัสดุเพาะเห็ดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ขั้นตอนการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน

1. จัดการผสมอาหารเพาะเห็ด ด้วยการนำขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม ยิปซัม 0.5 กิโลกรัม ปูนขาว 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม รดน้ำให้มีความชื้น 60-70% แล้วผสมคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

2. นำอาหารเพาะเห็ดที่ผสมแล้วบรรจุใส่ในถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 6×12 นิ้ว ให้ได้น้ำหนัก 800 กรัม ต่อถุง

3. รวบปากถุงอาหารเพาะเห็ด บีบไล่อากาศออก อัดถุงให้แน่น ใส่คอพลาสติกจุกด้วยสำลี และปิดด้วยกระดาษ

4. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยถังนึ่งไม่อัดความดัน ที่อุณหภูมิ 95-100 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมง แล้วปล่อยไว้ให้เย็น

5. จากนั้นนำถุงอาหารเพาะเห็ดมาใส่เชื้อเห็ดนางฟ้าภูฏาน

6. ยกนำไปพักบ่มเชื้อ 21-25 วัน ให้เชื้อเดินเต็มถุง ด้วยการเก็บไว้ในโรงพักเชื้อที่ไม่ให้โดนแสงแดดและความชื้น หากพบว่าก้อนเชื้อเกิดราดำหรือราเขียวให้รีบแยกออกนำไปทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดของศัตรูหรือเชื้อโรค

7. เมื่อเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฏานเดินเต็มถุงแล้ว ก็นำเข้าโรงเรือนเพื่อเปิดดอกเห็ด เปิดจุกสำลีออก แล้วอีก 7 วัน จะได้เห็นดอกเห็ดขนาดเล็ก ต่อจากนั้นดอกเห็ดก็เริ่มจะเจริญเติบโตสมบูรณ์เหมาะสมพร้อมให้เก็บไปกินและขาย

ปฏิบัติดูแลรักษาที่ดีเหมาะสมจะทำให้ดอกเห็ดนางฟ้าภูฏานเจริญเติบโตสมบูรณ์

การเก็บดอกเห็ด

ดอกเห็ดนางฟ้าภูฏานที่บานได้ขนาดเหมาะสมตามช่วงระยะเวลาจะเป็นดอกไม่แก่-อ่อนเกินไป หรือขอบดอกยังงุ้มอยู่ ถ้าขอบดอกเห็ดยกขึ้นแสดงว่าดอกเห็ดแก่หรือแก่จัด วิธีเก็บให้จับโคนดอกทั้งช่อ โยกซ้ายขวา-บนล่างแล้วดึงออกจากถุงเห็ด ระวังอย่าให้ปากถุงเห็ดบาน ถ้าดึงแล้วโคนดอกเห็ดขาดติดอยู่ให้แคะออกทิ้งให้สะอาด เพื่อป้องกันการเน่าเสีย

ข้อสังเกต ถ้าออกสปอร์เป็นผงขาวที่ด้านหลังดอกเห็ด ต้องรีบเก็บออก เพราะสปอร์จะเป็นตัวชักนำให้แมลงเข้ามาในโรงเรือน ทำความเสียหายให้กับเห็ดนางฟ้าภูฏาน

คุณชวน ชูจันทร์ เกษตรกรผู้เพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า เพื่อให้เห็ดออกดอกสม่ำเสมอและดอกใหญ่ คือเมื่อเก็บดอกเห็ดเสร็จให้เขี่ยเศษเห็ดออกให้หมด ทำความสะอาด งดให้น้ำ 3 วัน เพื่อให้เชื้อฟักตัว จากนั้นให้น้ำตามปกติ เห็ดก็จะออกดอกได้คุณภาพเหมือนเดิม

การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาที่ดี จะช่วยทำให้เก็บดอกเห็ดได้ 5-6 เดือน ก้อนเชื้อเห็ดเก่าได้นำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก รายได้จากการขายเห็ดนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการเพาะเห็ด รวมทั้งใช้ในการซ่อมสร้างบำรุงโรงเรือน เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ครั้งต่อไป

เห็ดนางฟ้าภูฏานคุณภาพปลอดภัย ที่เก็บแล้วจะรวบรวมนำไปวางขายที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ราคา 70-100 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าวางขายในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะขายดี เพราะผู้มาเที่ยวตลาดน้ำจะซื้อไปบริโภคและนำไปเป็นของฝาก ทุกวันนี้การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานจึงเป็นวิถีที่ทำให้สมาชิกมีรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง

วิถีเกษตรกรนำผลผลิตเกษตรคุณภาพออกขายในคลองลัดมะยม

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการนั่งเรือลัดเลาะคลองลัดมะยมชมความงามสองฝั่งคลอง แล้วขึ้นฝั่งไปดูการเพาะเห็ดนางฟ้า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ได้ทั้งสนุกและเรียนรู้วิถีชาวคลอง และเชื่อว่านี่เป็นทางเลือกสู้วิกฤตเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพที่มั่นคง

คุณชวน ชูจันทร์ (เสื้อฟ้า) นำผู้สนใจเยี่ยมชมการปลูกพืชผักปลอดภัย

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณชวน ชูจันทร์ เลขที่ 30 หมู่ที่ 15 แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กทม. โทร. (089) 215-2659 หรือที่ คุณกัลยา เจริญทรัพย์ สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทร. (086) 335-3272 ก็ได้ครับ