เทคนิคยืดอายุผลไม้ ให้เก็บได้นาน

คนไทยโชคดี ที่มีผลไม้กินตลอดทั้งปี การเลือกบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล ช่วยให้ซื้อได้ในราคาถูก แถมสินค้ามีความสดใหม่ หาซื้อได้ง่าย สับปะรด กล้วย มะละกอ มะพร้าว องุ่น ส้ม ถือเป็นผลไม้ที่ไม่มีฤดูกาลสามารถออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อีกหลายชนิดสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริโภคทั้งปี จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด เป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญของภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง สับปะรด มะม่วง ขนุน มะพร้าว ระกำ ฝรั่ง ชมพู่ ฯลฯ ฤดูผลไม้ภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี

จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของภาคใต้ คือ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และเงาะ จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ ฯลฯ เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของภาคเหนือ ได้แก่  ลิ้นจี่ ส้มเขียวหวาน ลำไย ฯลฯ ฤดูผลไม้เมืองร้อนภาคเหนือเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และฤดูผลไม้เมืองหนาว เช่น สตรอเบอรี่ เคพกูสเบอร์รี่ อะโวกาโด มะเดื่อฝรั่ง ฯลฯ เริ่มเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี

เทคนิครักษาคุณภาพผลไม้

เนื่องจาก เมืองไทยตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อน มีอุณหภูมิสูงทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เซลล์มีชีวิตในผลไม้เกิดกระบวนการหายใจในอัตราสูง ผลไม้จึงสุกแก่เร็ว และเน่าเสียเร็วกว่าผลไม้ในเขตหนาว ดังนั้น สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยในการยืดอายุผลไม้ ได้ข้อสรุปว่า ผลไม้แต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิในการใช้ยืดอายุ คุณภาพของผลผลิตแตกต่างกันไป กลุ่มแรกคือ น้อยหน่า แตงโม ฝรั่ง มังคุด ลองกอง และกระท้อน ควรจัดเก็บในอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ส่วนลำไย และลิ้นจี่ ควรเก็บรักษาคุณภาพที่อุณหภูมิต่ำสุดที่ 2 องศาเซลเซียส

 

กล้วยหอม เก็บที่อุณหภูมิ 13 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 4 (สัปดาห์)

กล้วยไข่ เก็บที่อุณหภูมิ 13 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 3 (สัปดาห์)

ขนุน เก็บที่อุณหภูมิ 14 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 4 (สัปดาห์)

เงาะ เก็บที่อุณหภูมิ 13 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

ชมพู่ เก็บที่อุณหภูมิ 10 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

ทุเรียน เก็บที่อุณหภูมิ 13 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

น้อยหน่า เก็บที่อุณหภูมิ 15** (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

แตงโม เก็บที่อุณหภูมิ 15** (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 3 (สัปดาห์)

ฝรั่ง เก็บที่อุณหภูมิ 15** (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

มะม่วง เก็บที่อุณหภูมิ 13 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 3 (สัปดาห์)

มะพร้าวอ่อน เก็บที่อุณหภูมิ 10 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 3 (สัปดาห์)

มะเฟือง เก็บที่อุณหภูมิ 10 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 4 (สัปดาห์)

มังคุด เก็บที่อุณหภูมิ 13-15*(องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 3 (สัปดาห์)

ลิ้นจี่ เก็บที่อุณหภูมิ 2*(องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 4 (สัปดาห์)

ลำไย เก็บที่อุณหภูมิ 2*(องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 4 (สัปดาห์)

ลองกอง เก็บที่อุณหภูมิ 15**(องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

กระท้อน เก็บที่อุณหภูมิ 15**(องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 2 (สัปดาห์)

สะละ เก็บที่อุณหภูมิ 10 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 3 (สัปดาห์)

สับปะรด เก็บที่อุณหภูมิ 10 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 4 (สัปดาห์)

ส้มโอ เก็บที่อุณหภูมิ 10 (องศาเซลเซียส) อายุเก็บรักษา 6 (สัปดาห์)

เพื่อยืดอายุผลไม้ให้ยาวนานจนถึงตลาดส่งออก ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการคัดแยกคุณภาพของผลผลิต ก่อนนำเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิต้องตรวจสอบ รูปทรง ขนาด สีผิว รสชาติ และการเคาะฟังเสียงผลทุเรียน การตรวจสอบความแน่นของเนื้อผล ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และอายุเก็บเกี่ยวที่ให้ผลผลิตมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนา วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว กรมวิชาการเกษตร ภายในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน จตุจักร กทม. 10900 ในวันและเวลาทำการ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ.2561