แนะเคล็ดลับผลิตหม่อนผลสดนอกฤดู

ปัจจุบันกระแสความนิยมรับประทาน “มัลเบอร์รี่” หรือ “ ผลหม่อน ” หรือ “ลูกหม่อน” ยังเติบโตต่อเนื่องเพราะเป็นผลไม้สีม่วงแดง ที่มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนสามารถจำหน่ายผลผลิตได้หลายรูปแบบ ทั้งในรูป หม่อนผลสด  รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะน้ำหม่อน แยม และไวน์ สร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนได้ตลอดทั้งปี

แม้ต้นหม่อนจะเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย แต่หลายคนกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะต้นหม่อนพันธุ์ดีที่ปลูกไว้รอบบ้านหรือในสวน กลับได้ผลผลิตน้อยกว่าที่พบเห็นทั่วไป เนื่องจากพวกเขายังไม่รู้จักเทคนิคการปลูกดูแลต้นหม่อนอย่างเหมาะสม และวิธีโน้มกิ่งบังคับให้ออกผลนอกฤดู  จึงขอนำเสนอเคล็ดลับเพิ่มผลผลิตต้นหม่อนผลสดด้วยหลักการง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถทำตามได้สบายๆ

หม่อนพันธุ์เชียงใหม่

“ หม่อนพันธุ์เชียงใหม่ ” หรือที่หลายคนนิยมเรียกว่า  “หม่อนผลสด” นับเป็นหม่อนพันธุ์ดีที่ได้รับความนิยมสูง จะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยไร่ละประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม เกษตรกรนิยมนำผลหม่อนมาใช้ทำแยม น้ำผลหม่อน และไวน์

หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน มีผู้นำมาปลูกในจังหวัดเชียงใหม่นานแล้ว  เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์หม่อนผลสดด้วยวิธีการเพาะชำ ระยะปลูกที่ให้ผลดีที่สุดคือ 0.75×2.0 เมตร   หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ จะให้ผลผลิตเมื่ออายุครบ 3 ปี

ทั้งนี้ ต้นหม่อนพันธุ์เชียงใหม่มีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมียในต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้ ออกเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ หลังดอกบานก้านเกสรตัวผู้จะยืดยาวออกและขับละอองแตกปล่อยเกสรสีเหลืองไปผสมกับเกสรตัวเมีย ดอกตัวเมียจะออกเป็นช่อเช่นเดียวกับเกสรตัวผู้ กลีบดอกมี 4 กลีบ ห่อหุ้มรังไข่ ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้ ในรังไข่มีไข่อ่อน ส่วนปลายสุดคือ ยอดเกสรตัวเมีย ดอกที่ได้รับการผสมเกสรแล้วจะพัฒนาเป็นผลต่อไป ผลที่ได้เรียกว่า ผลรวม ลักษณะรูปร่างคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่ ผลอ่อนมีสีเขียว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู แดง และสีดำคล้ำ ในธรรมชาติหม่อนจะออกดอกต้นเดือนมกราคม ผลจะสุกแก่ในเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน

เทคนิคผลิตหม่อนนอกฤดู

ปัจจุบันมีการค้นพบวิธีโน้มกิ่ง ลิดใบ บังคับให้หม่อนออกดอกนอกฤดูเพื่อเพิ่มผลผลิต หากใครสนใจเทคนิคนี้ ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในเดือนเมษายน ควรตัดแต่งกิ่งให้เตี้ยลง โดยมีความสูง 70-100 เซนติเมตร ต้นหม่อนจะแตกกิ่งก้านใหม่ ปล่อยให้เจริญเติบโตพร้อมบำรุงให้สมบูรณ์จนครบ 6 เดือน เมื่อกิ่งเกิดใหม่มีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ให้ลิดใบและตัดยอดทิ้งประมาณ 30 เซนติเมตร รวบกิ่งของต้นตรงข้ามของแต่ละแถว ผูกมัดในลักษณะเป็นอุโมงค์ หรือกระโจมด้วยเชือกหรือลวด

ภายใน 2 สัปดาห์ ต้นหม่อนจะเริ่มให้ดอกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเวลา 60 วัน หลังจากออกดอกแล้ว จากนั้นสามารถเก็บผลได้อีกเป็นเวลา 30 วัน เมื่อดอกเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลดำ ให้เก็บผลด้วยมือบรรจุลงในภาชนะ ทับกันไม่เกิน 2 ชั้น นำเข้าเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส หากเก็บที่อุณหภูมิ – 22 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน ก่อนเก็บในห้องเย็นควรบรรจุในถุงพลาสติกใส ขนาดบรรจุ 10 กิโลกรัม จะคงคุณภาพของผลได้ดี

ระวังโรครากเน่า

เกษตรกรที่ปลูกหม่อนผลสด ควรดูแลป้องกันปัญหาโรครากเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โรคชนิดนี้สามารถสร้างความเสียหายให้ต้นหม่อนได้ทุกช่วงอายุ มักแพร่ระบาดรุนแรงจนทำให้ต้นหม่อนตายได้ทั้งแปลง หากต้นหม่อนติดโรคชนิดนี้ ในระยะแรก ใบจะเหี่ยวคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ใบจะเริ่มเหี่ยวจากส่วนยอดลงมา เมื่อขุดนำรากขึ้นมาพบว่า รากเน่าเปื่อย มีสีน้ำตาลปนดำ เปลือกรากและเปลือกบริเวณโคนต้นหลุดออกมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

เมื่อพบต้นหม่อนเป็นโรครากเน่า  วิธีกำจัด คือ ขุดต้นทั้งรากขึ้นมาเผาทำลายทิ้งไป ใส่ปูนขาวลงบริเวณหลุม พร้อมตากดินทิ้งไว้ 1-2 เดือน ก่อนการปลูกซ่อม ระหว่างพรวนดิน หลังการใส่ปุ๋ยระวังอย่าให้ต้นหม่อนเกิดบาดแผล การตัดแต่งกิ่งควรใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ที่คมและสะอาด คือก่อนและหลังตัดกิ่งต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งในเขตที่มีโรครากเน่าระบาด ให้ปลูกด้วยกิ่งพันธุ์ที่ใช้พันธุ์ บร.4/2 เป็นต้นตอ และติดตาด้วยพันธุ์เชียงใหม่ การระบาดของโรคจะหมดไปในที่สุด