แฟนพันธุ์แท้ นิตยสารเทคโนฯ ปลูกกุยช่าย จำหน่ายต้นพันธุ์ สร้างรายได้ ที่ปากช่อง

“กุยช่าย” เป็นพืชสมุนไพรล้มลุกจำพวกผัก มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จัดเป็นพืชวงศ์เดียวกับหอมและกระเทียม ลำต้นของกุยช่ายมีความสูงประมาณ 30-45 เซนติเมตร มีเหง้าเล็กและแตกกอ เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย หน้าดินหนา มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี และมีค่า pH ระหว่าง 6.5-6.8 โดยทั่วไปกุยช่ายมี 2 ประเภท คือ กุยช่ายขาว และกุยช่ายเขียว

กุยช่ายเขียว เกิดจากการปลูกและดูแลรักษาเพื่อให้ต้นได้รับแสงแดดตามปกติ ใบกุยช่ายจะมีสีเขียวเข้ม ทั้งนี้ เมนูอาหารที่คุ้นกัน อย่างเช่น ผัดไทย ขนมกุยช่าย ผักดอง ฯลฯ ส่วน กุยช่ายขาว เกิดจากการปลูกเพื่อไม่ให้ต้นโดนแสงแดด (ใช้ภาชนะหรือกระบอกไม้ไผ่ครอบไว้) ทำให้ใบกุยช่ายจะมีสีขาวซีด อวบ กรอบ และหวาน นิยมนำไปทำเป็นเมนูหมูกรอบผัดกุยช่าย กุยช่ายขาวผัดเต้าหู้หมูสับ

ขณะเดียวกันถ้าปลูกตามธรรมชาติ ต้นกุยช่ายก็จะออกดอกแล้วมักเรียกติดปากกันว่า “ดอกไม้กวาด” ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นอาหาร อย่าง ผัดดอกกุยช่ายใส่หมู หรือเครื่องใน ได้ตามความชอบ

การปลูกกุยช่ายทำได้ง่าย ดูแลไม่ยุ่งยาก ปุ๋ย/ยาใช้น้อย ลงทุนไม่มาก ผลตอบแทนดี ปลูกครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตและมีรายได้ถึง 3 อย่าง (ใบเขียว, ใบขาว และดอก) และต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถให้ผลผลิตได้หลายรุ่น โดยไม่ต้องปลูกบ่อยให้เสียเวลา จึงได้รับความนิยมปลูกกันแบบครัวเรือนขนาดเล็ก-กลาง ปลูกเป็นรายได้เสริมหรือรายได้หลักเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น กุยช่ายจึงนับเป็นพืชสร้างรายได้อีกชนิดที่น่าสนใจ

คุณสุวิทย์ คุ้มตาเนิน อยู่บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 19 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีอาชีพปลูกกุยช่าย พร้อมกับจำหน่ายต้นพันธุ์ ในชื่อ “สวนผักสดโกลเด้นฟาร์ม” แล้วยังเป็นเจ้าของร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร ที่ชื่อ “ป.เจริญการเกษตร” จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชผักและเวชภัณฑ์ทางการเกษตร และที่สำคัญกว่านั้นเขาเป็นสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมาเป็นเวลานานอีกด้วย

กุยช่ายที่คุณสุวิทย์ใช้ปลูกเป็นพันธุ์ไต้หวัน ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จำนวน 30 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็น 3 ส่วน ส่วนละ 10 ไร่ สำหรับใช้ปลูกกุยช่ายแบบหมุนเวียน ซึ่งช่วงที่พักแปลงจะปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อสร้างคุณภาพดินแล้วให้มีรายได้ควบคู่กันไปอย่างผักใบ หรือพืชไร่อย่างมันสำปะหลังหรือข้าวโพด

การเตรียมพื้นที่ปลูกกุยช่ายเริ่มจากการปรับพื้นที่ไถแปร ให้ใส่ปูนขาว ไร่ละประมาณ 50 กิโลกรัม กับปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยขี้ไก่เม็ดกับขี้แพะ ร่องละประมาณ 100 กิโลกรัม จากนั้นจึงเริ่มยกร่องแล้วทำฟูก ขนาดร่องที่ปลูกมีความกว้าง 4.50 เมตร ยาว 40 เมตร ความสูงร่อง ประมาณ 60 เซนติเมตร ทิ้งไว้สัก 15 วัน จึงเริ่มปลูก

หลังจากเตรียมแปลงเสร็จ จะเพาะต้นกล้าด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์ แล้วคลุมแปลงด้วยฟางข้าวหรือแกลบ รดน้ำให้ชุ่ม จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 จำนวน 10 กิโลกรัม ต่อร่องปลูก หรือ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ กับปุ๋ยยูเรีย จำนวน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยจะใส่ปุ๋ยทุก 15 วัน

หลังเพาะต้นกล้า ประมาณ 4 เดือน จะย้ายไปปักดำ (คล้ายปลูกข้าว) ที่แปลงปลูก แต่ละร่องสามารถปลูกต้นกุยช่ายได้ประมาณ 2,500 ต้น ระยะห่างต้น 30 เซนติเมตร ก็จะได้ทั้งหมดจำนวน 10-12 แถว ต่อร่อง ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกับการดูแลต้นกล้า จนได้เวลาประมาณ 3 เดือน ให้หยุดใส่ปุ๋ย แล้วรดเฉพาะน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ โดยรดน้ำในช่วงปักดำ วันละ 3 ครั้ง รดให้ชุ่มไม่ต้องขัง หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน เปลี่ยนให้น้ำเฉพาะเช้า-เย็น แล้วเมื่อเข้าเดือนที่ 4 ก่อนเก็บผลผลิตให้ใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 จำนวน 50 กิโลกรัม ต่อไร่

ต้นกุยช่ายที่เพิ่งปักดำคลุมด้วยฟาง

การเก็บผลผลิตจะทยอยตัดทีละร่องตามออเดอร์ เริ่มจากทยอยตัดเก็บดอกก่อน เมื่อเก็บดอกหมดทั้งแปลงแล้วจึงตัดต้นใบเขียว เพื่อเป็นการแบ่งแยกเก็บระหว่างดอกกับต้นจะได้ไม่มาปนกัน ทำให้ง่ายต่อการคัดแยกมัดส่งขาย เมื่อตัดเสร็จทั้งหมดแล้วรออีกประมาณ 2 เดือน จึงสามารถเก็บผลผลิตรอบต่อไปได้อีก

“หลังจากกุยช่ายมีอายุได้ 4 เดือน ก็จะสามารถตัดใบขายได้แล้ว ในการตัดมีดแรกจะต้องคลุมฟางใหม่ รดน้ำและใส่ปุ๋ย ผ่านไปได้ 10 วัน ก็จะมีดอกกุยช่ายทยอยออกมาให้เก็บดอกขายต่ออีก หลังตัดใบครั้งแรก 2 เดือน ก็จะสามารถวนกลับมาตัดใบได้อีกครั้ง ถือเป็นครั้งที่ 2 หรือมีดที่ 2 ทำเช่นนี้สลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ในการตัดแต่ละครั้งจะทำให้ต้นเล็กลงไปเรื่อยๆ และดอกก็จะสั้นลง จึงต้องมีการบำรุงเพื่อให้ต้นสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยกุยช่ายแต่ละแปลงจะสามารถตัดใบขายได้ประมาณ 4-5 มีด หรือหากดูแลดี ต้นสมบูรณ์ก็จะสามารถตัดได้ถึง 7 มีด”

ผลผลิตที่เก็บดอกได้ร่องละประมาณ 10-15 กิโลกรัม และเคยเก็บได้ในพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ ประมาณ 500-600 กิโลกรัม โดยปริมาณดอกจะมีมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นตัวกำหนด โดยปกติแล้วในช่วงหน้าร้อนดอกกุยช่ายจะดก และมักมีจำนวนน้อยในช่วงหน้าหนาว สำหรับกุยช่ายเขียวสามารถตัดได้ จำนวน 200 กิโลกรัม ต่อร่องปลูก ทั้งนี้ ภายหลังที่ตัดแล้วจะใส่ปุ๋ยตามสูตรเหมือนเดิมและคลุมด้วยฟางเพื่อรอตัดรอบใหม่ในอีก 2 เดือน

ต้นกุยช่ายเขียวที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต

การปลูกกุยช่ายไม่นิยมปลูกซ้ำพื้นที่เดิมมากกว่า 1 ปี เพื่อป้องกันการสะสมโรค จึงต้องย้ายพื้นที่ปลูกใหม่ โดยคุณสุวิทย์ใช้วิธีสลับหมุนเวียนพื้นที่ปลูก ปีละ 10 ไร่ หมุนเวียน 3 ปี แล้วกลับมาปลูกแปลงแรก ทั้งนี้เพื่อให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างไรก็ตาม พื้นที่เคยปลูกกุยช่ายก็จะปรับมาปลูกพืชใบหรือพืชไร่อย่างมันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเพื่อเป็นการไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังช่วยปรับคุณภาพดินด้วย

“พื้นที่ 10 ไร่ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 10 ตัน พอตัดรุ่นต่อไปจะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะกอมีขนาดใหญ่ขึ้นการแตกใบมีคุณภาพขึ้น ในแต่ละรอบการตัดใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ) โดยในรอบปีจะตัดกุยช่ายเขียวได้ประมาณ 4-5 รอบ”

ส่วนการผลิตกุยช่ายขาวจะต้องปลูกกุยช่ายเขียวไปสัก 3 รุ่นก่อน ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้กอและต้นมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ช่วยให้ต้นกุยช่ายขาวมีน้ำหนักดีและหวาน โดยการผลิตกุยช่ายขาวจะต้องใช้กระถางคลุมต้นที่ตัดเพื่อไม่ให้โดนแสงแดด ทั้งนี้ การปลูกกุยช่ายขาวจะทำหมุนเวียนกับกุยช่ายเขียว โดยแต่ละรอบได้ผลผลิตประมาณไร่ละ 1 ตัน

พนักงานกำลังตัดผลผลิตกุยช่ายเขียว

การขยายพันธุ์กุยช่ายด้วยการเก็บเมล็ดพันธุ์จากดอกแก่มาตากแห้งทิ้งไว้ แล้วนำมาร่อนให้เหลือแต่เฉพาะเมล็ดกุยช่ายเพื่อนำมาหว่านแล้วปลูก จากนั้นประมาณ 4 เดือน จะได้ต้นพันธุ์ที่มีความสูง ประมาณ 30 เซนติเมตร สำหรับไว้ขายและเพื่อปลูก ทั้งนี้ ต้นพันธุ์ที่ต้องการขายจะผลิตครั้งละ ประมาณ 2-3 ตัน ต่อรอบ

ด้านราคาขายหน้าสวน ถ้าเป็นกุยช่ายเขียว 25-30 บาท กุยช่ายขาว 80-100 บาท ดอกกุยช่าย 35-50 บาท ต้นพันธุ์ราคาขายประมาณ 50-60 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าซื้อจำนวน 200 กิโลกรัมขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านี้ราคาจะมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดต้องการกุยช่ายทุกชนิดรวมถึงดอก แต่ปริมาณกุยช่ายเขียวจะมีความต้องการมากกว่า เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารและขนมได้หลายชนิด ช่วงที่ตลาดต้องการมากคือเทศกาลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตรุษจีน สารทจีน ปีใหม่ สงกรานต์ ที่มียอดเพิ่มจากการขายปกติถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลูกค้าที่มารับซื้อจะนำไปขายที่ตลาดไท กับตลาดสี่มุมเมืองเป็นหลัก

คุณสุวิทย์ บอกว่า การปลูกกุยช่ายถือว่าเป็นอาชีพที่ดีแต่ต้องมีความใส่ใจให้มาก และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้มีวัชพืชเท่านั้น โรคที่พบ ได้แก่ โรคราสนิมกับแมลงศัตรู คือหนอนชอนใบ โดยจะใช้ยาฉีดพ่นเพื่อป้องกันสลับกับการฉีดปุ๋ย พื้นที่ปลูกเหมาะสมควรเป็นดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง ที่สำคัญควรมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ เพราะกุยช่ายเป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอด เป็นอาชีพที่ลงทุนหนักเพียงครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย/ยา (ไม่มาก เพราะใส่น้อย) ค่าวางระบบน้ำ ค่าปรับพื้นที่ปลูก หลังจากปลูกไม่กี่รอบก็ได้ทุนคืน แล้วในรอบต่อไปยิ่งได้น้ำหนักเพิ่มยิ่งได้เงินเพิ่มมาก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสั่งซื้อสินค้าได้ที่ คุณปุ๊ก โทรศัพท์ (089) 966-3833 LINE ID : Pook-54 https://www.facebook.com/pookgarden/