ชาวบางป่า เพาะเห็ดหลินจือแดงผสมเฉาก๊วย ลงหุ้นคนละ 500 กองทุน 2 หมื่น เพิ่มเป็น 3 แสนแล้ว

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด ตามรอยพ่ออยู่อย่างพอเพียง ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี รวมกลุ่มเพาะปลูกเห็ดหลินจือแดง เพื่อมาผสมลงผลิตเป็นน้ำเฉาก๊วยเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้แก่ชุมชน เกิดความเข้มแข็ง เตรียมต่อยอดโครงการน้ำเฉาก๊วยผสมถั่งเช่าผลิตอีกชนิดในอนาคต

ด้วยสรรพคุณของเห็ดหลินจือแดง ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง อีกทั้งยังมีราคาแพง กิโลกรัมละประมาณ 2,000 บาท เป็นที่นิยมบริโภคของคนที่รักสุขภาพ มีการนำมาแปรรูปเป็นสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ เช่น แบบแคปซูล และแบบชงต้มดื่มแทนน้ำชา เป็นต้น จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่มี นายปัญญา ตันตระกูล อายุ 64 ปี ชาว ต.บางป่า เป็นประธานกลุ่ม พร้อมสมาชิกเพาะและแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม แรกเริ่มมีเพียงไม่ถึง 10 ราย แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจและหันเข้ามารวมกลุ่มจำนวนมาก จัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 มีการเก็บเงินสมาชิกคนละ 500 บาท นำมาเป็นเงินกองกลางในการทำงานกลุ่มร่วมกันที่บ้านของคุณลุงปัญญา ที่จะเป็นจุดศูนย์รวมของการแปรรูปเห็ดหลินจือในน้ำเฉาก๊วย

สำหรับการเพาะเห็ดหลินจือนั้น ทางกลุ่มอัดก้อน หยอดเชื้อเอง นำก้อนเชื้อเห็ดวางบนชั้นวาง แล้วรดน้ำเช้า-เย็น ให้ห่างจากปากถุงด้านบนลงล่าง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มออกดอกลักษณะเป็นสีเหลืองอ่อนและเริ่มเจริญเติบโตมีสีแดงเข้ม จึงจะเก็บออกนำมาตัดโคนล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปเข้าเครื่องอบสมุนไพรแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำเฉาก๊วยเห็ดหลินจือ ที่ปลูกต้นเฉาก๊วยไว้ข้างบ้านลักษณะใบสีเขียวที่อ่อน เก็บนำมาตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำต้นเฉาก๊วยไปต้มกับน้ำตาลทรายแดง แล้วใช้ผ้าขาวบางกรองเอาเฉพาะน้ำ พักไว้ ก่อนจะต้มเห็ดหลินจือกับน้ำตาลทรายแดง จะได้น้ำเชื่อมทั้งเฉาก๊วยและเห็ดหลินจือ จากนั้นนำน้ำเชื่อมเทลงรวมกัน จะเป็นน้ำเฉาก๊วยเห็ดหลินจือที่มีรสชาติเหนียวหนึบ ซึ่งจะมีสรรพคุณทางยา คือสารอาหารในเห็ดหลินจือจะเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานปกติ ต้านการจับตัวของลิ่มเลือด รวมทั้งช่วยลดน้ำตาลในเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายเกือบทุกระบบของร่างกาย

นายปัญญา ตันตระกูล เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่คิดเพาะเห็ดหลินจือนั้น ต้องการแจกเป็นทานให้กับชาวบ้านนำไปกินฟรีไม่คิดเงิน เป็นสายพันธุ์จีทูที่ได้สายพันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ คนที่ไม่สบายเจ็บป่วยโรคต่างๆ ได้แจกให้ไปต้มน้ำดื่มกิน สมัยนั้นยังขายไม่ได้ เพราะคนยังไม่รู้จักมากนัก ส่วนข้อดีของเห็ดหลินจือแดงสายพันธุ์จีทู มีสรรพคุณทางยาสูง ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ลดความดัน ปวดหัวเข่า ไมเกรน ที่สำคัญไปช่วยเพิ่มให้เม็ดเลือดขาวทำงานดีขึ้น ฆ่าเชื้อโรคในร่างกายเราได้ คนที่กินน้ำเห็ดหลินจือเข้าไปแล้วจะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำงานแข็งแรง และไปฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายอีกต่อหนึ่ง มีเพียงบ้านเดียวที่เพาะเห็ดหลินจืออยู่ในขณะนี้ ส่วนสมาชิกจะเพาะเห็ดชนิดอื่น เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู หลังจากที่เพาะเห็ดหลินจือ เพื่อนำไว้แจกเป็นทานในช่วงแรกแล้ว ได้มีแนวคิดศึกษาเรื่องหญ้าเฉาก๊วยที่มีสรรพคุณ มีประโยชน์ต่อร่างกายต่อไปอีก ซึ่งหากนำเห็ดหลินจือมาใส่รวมกันกับหญ้าเฉาก๊วยก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น

ทุกวันนี้มีสินค้าที่ผลิตออกมาหลายอย่าง ทั้ง ชาชงเห็ดหลินจือเป็นซองสีขาวโปร่ง นำไปชงกินกับน้ำร้อนขายห่อละ 120 บาท เห็ดหลินจืออบแห้งบรรจุใส่ซอง ซองละ 80 กรัม ราคา 200 บาท น้ำเฉาก๊วยเห็ดหลินจือ ถ้วยละ 10 บาท ขายส่งตามตลาดอีเว้นต์ที่ภาครัฐจัดขึ้น ตลาดประชารัฐ ตลาดเกษตรกรราชบุรี ตลาดนัดชุมชนต่างๆ ส่วนสินค้าตัวใหม่กำลังจะคิดทำอยู่คือ เห็ดหลินจือผสมถั่งเช่าในเฉาก๊วย ตัวนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ได้ช่วยเหลือจัดซื้อตู้อบเห็ดหลินจือมาให้ทางกลุ่ม ทำให้เรามีกำลังที่เริ่มแข็งแรงขึ้น สามารถผลิตสินค้าแปรรูปที่หลากหลายและยังมีเงินปันผลกำไรให้แก่สมาชิกได้มากขึ้น หลังจากที่สมาชิกได้ลงหุ้น คนละ 500 บาท แต่เดิมมีกองทุนอยู่กว่า 20,000 บาท มีการพัฒนากันต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้ทุกวันนี้มีเงินในกองทุนกว่า 3 แสนบาทแล้ว ตามบัญชีที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกคน

นายเขมชาติ สถิตย์ตันติเวช ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด เปิดเผยว่า ทางโรงไฟฟ้าได้จัดกิจกรรมเพื่อชุมชนอยู่ตลอด เห็นว่ากลุ่มการเพาะเห็ดนี้มีกำลังและยังมีความตั้งใจสูง จึงได้สนับสนุนทั้งเรื่องเทคโนโลยีด้านการผลิต เช่น ตู้อบสมุนไพรเห็ดหลินจือ และยังเตรียมสนับสนุนการทำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ คือ เห็ดหลินจือ ผสมถั่งเช่าในเฉาก๊วยเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นอีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่โรงไฟฟ้าคิดต่อยอดจากโครงการประชารัฐ และยังทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เพราะที่นี่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต เนื่องจากด้านหลังติดแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านของลุงปัญญายังมีเรือพานักท่องเที่ยวล่องเรือขึ้นไปเที่ยวชมวัดเก่าแก่ทางด้านเหนือขึ้นไป ที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง หลังจากนั้นคนที่มาเที่ยวก็จะมาทำผลิตภัณฑ์เห็ด เช่น การทำเห็ดสามอย่าง การยำเห็ด และซื้อผลิตภัณฑ์กลับไปรับประทานที่บ้าน ที่สำคัญวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด ยังใช้แนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำงาน ซึ่งแต่ละครั้งที่ผลิตสินค้าออกมานั้นไม่ได้ทำในปริมาณที่มาก แต่ทำพอประมาณ ของก็ขายหมด เป็นจุดเด่นของการทำพอเพียง เพื่อพอใช้จ่าย ทำให้กลุ่มมีรายได้ มีความสุขอยู่กับครอบครัว

 ที่มา : มติชนออนไลน์