“มะม่วงแก้วขมิ้น” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ของ “สระแก้ว”

“มะม่วง” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 40,659 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 33,785 ไร่ มีผลผลิตรวม ประมาณ 50,205 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,486 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยแหล่งปลูกมะม่วงมีอยู่มากในอำเภอเขาฉกรรจ์ วังน้ำเย็น วัฒนานคร อรัญประเทศ กิ่งวังสมบูรณ์ และอำเภอเมือง พันธุ์มะม่วงที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์แก้ว พิมเสน อกร่อง น้ำดอกไม้ เขียวเสวย โชคอนันต์ ฟ้าลั่น ชมรมชาวสวนจังหวัดสระแก้วได้ร่วมกันกำหนดราคาขายมะม่วงตามขนาดและคุณภาพ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มุ่งป้อนตลาดส่งออก ที่ผ่านมาอาชีพการทำสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 60,000-70,000 บาท ทีเดียว  

อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์ เจ้าของสวน คุ้มจันทวงษ์ และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสูง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้กรุณาสละเวลาพาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปสัมภาษณ์พิเศษ “คุณ พยอม สุขนิยม” ประธานชมรมชาวสวนจังหวัดสระแก้ว ณ บ้านเลขที่ 95 หมู่ที่ 9 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว โทร. 081-947-3058 ผู้เขียนขอขอบพระคุณ “อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์” มา ณ ที่นี้

คุณลุงพยอม สุขนิยม

ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง 

ใครๆ ก็รู้ว่า ฤดูการเก็บเกี่ยวมะม่วงพันธุ์ไทยส่วนใหญ่อยู่ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนมะม่วงล่าฤดู (มิถุนายน-กรกฎาคม) ตามธรรมชาติ ได้แก่ มะม่วงมหาชนก นวลคำ อาร์ทูอีทู เขียวมรกต ส่วนมะม่วงล่าฤดู โดยการจัดการ ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง ส่วนมะม่วงนอกฤดู (ทะวาย) มีทั้งก่อนฤดู (มกราคม-มีนาคม) และหลังฤดู (สิงหาคม-ธันวาคม) มะม่วงนอกฤดูที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ โชคอนันต์ แก้วทะวาย สามฤดู ศาลายา มันเดือนเก้า ฯลฯ ส่วนมะม่วงทะวายที่เกิดจากการใช้สารเคมีบังคับคือ น้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด หนองแซง เขียวเสวย

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนิยมใช้มะม่วงแก้วมาแปรรูปเป็นมะม่วงดอง ส่วนพันธุ์มหาชนก แก้ว โชคอนันต์ เขียวมรกต นิยมแปรรูปเป็นน้ำมะม่วง และมะม่วงอบแห้ง แต่นโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อ ปี พ.ศ. 2558 ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะม่วงไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีมะม่วงแก้วละเมียดของกัมพูชา หรือที่หลายคนเรียกว่า มะม่วงแก้วขมิ้น หรือ แก้วเขมร เข้ามาตีตลาดมะม่วงในประเทศไทย

มะม่วงแก้วขมิ้น มีลักษณะคล้ายมะม่วงแก้วของไทย แต่ลูกใหญ่กว่า เนื้อในมีสีเหลืองขมิ้นเหมือนมะม่วงขายตึก มีลักษณะเด่นคือ รับประทานได้อร่อยทั้งผลดิบและสุก เนื้อแน่นละเอียด มีสีเหลืองคล้ายขมิ้น เนื้อกรอบมัน รสหวานปนเปรี้ยว ผลดิบนิยมรับประทานกับน้ำปลาหวาน หรือปรุงเป็นเมนูยำมะม่วง ส้มตำมะม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ มะม่วงแก้วขมิ้นผลแก่ สามารถบ่มให้สุก จะได้รสชาติหวานอร่อย ทำให้มะม่วงพันธุ์นี้เป็นที่ยอมรับของคนไทยอย่างกว้างขวาง บางครั้งมี “มะม่วงแก้วจากเวียดนามใต้” เนื้อนิ่ม รสไม่อร่อย แต่ใช้แปรรูปได้ ส่งขายโรงงานมะม่วงของไทยในราคาถูก

มะม่วงแก้วขมิ้น

กรณีมะม่วงจากประเทศเพื่อนบ้านเปิดศึกรุกตลาดเมืองไทยในครั้งนี้ ได้ฉุดราคามะม่วงไทยลดลงพอสมควร มะม่วงไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ มะม่วงพันธุ์มันเดือนเก้า ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายที่ปลูกมะม่วงมันเดือนเก้า ได้พยายามปรับตัวตั้งรับปัญหา โดยหันไปปลูกมะม่วงพันธุ์อื่นที่ขายได้ราคาดีกว่า เช่น พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงเขียวเสวย ฯลฯ

ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ทางสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยพยายามสนับสนุนให้สมาชิกปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ มุ่งผลิตมะม่วงคุณภาพมากยิ่งขึ้น กระจายความเสี่ยงทางการตลาด โดยวางแผนผลิตให้มีมะม่วงทยอยเก็บเกี่ยวเข้าสู่ตลาดสัก 2-3 รุ่น ใครมีพื้นที่แปลงใหญ่ อาจแบ่งแปลงผลิตหรือในต้นเดียวกันมีหลายรุ่นก็ได้

เกษตรกรหลายรายวางแผนผลิตให้สอดคล้องกับการตลาด เช่น บางรายวางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว มะม่วงในประเทศขายได้ราคาดี ขณะที่ตลาดส่งออก ขายได้ในราคาปานกลาง หรือวางแผนเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แม้ระยะนี้ราคาในประเทศจะไม่ดีเท่าไร แต่ตลาดต่างประเทศขายได้ราคาดี ขณะที่บางรายวางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 รุ่น คือ โดยตัดแต่งกิ่งช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อให้มีผลผลิตออกขายได้ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

คุณลุงพยอม (ซ้าย) กับ อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์ (ขวา)

สำรวจตลาดมะม่วง จังหวัดสระแก้ว

คุณลุงพยอม วัย 70 กว่าปี เล่าให้ฟังว่า ผมมีแปลงปลูกมะม่วง 2 แปลง รวม 60 ไร่ โดยปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง ฯลฯ เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงส่วนใหญ่ในจังหวัดสระแก้ว โดยมีผลผลิตทยอยเข้าสู่ตลาด 3 รุ่น ต่อปี แบ่งเป็นผลผลิตก่อนฤดูกาล นอกฤดู และหลังฤดู โดยปัจจัยความสำเร็จของการทำธุรกิจสวนมะม่วง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ 60% และฝีมือการบริหารจัดการผลผลิตอีก 40%

“เทคนิคการดูแลตัดแต่งกิ่งมะม่วงแบบเตี้ย” เป็นหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของกิจการสวนมะม่วงเงินล้านแห่งนี้ คุณลุงพยอม ชี้ให้ดูต้นมะม่วง อายุ 30 ปี ที่มีลำต้นเตี้ยมาก เพราะควบคุมแรงงานให้คอยตัดแต่งกิ่งออก 1 เมตร เป็นประจำทุกปี ทำให้มีลำต้นเตี้ย ง่ายต่อการดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ชาวสวนมะม่วงโดยทั่วไปอาจจะยังไม่กล้าตัดแต่งกิ่งมากนัก เพราะเสียดายผลผลิตรุ่นใหม่ที่จะงอกขึ้นมาตามยอดใหม่ของกิ่งมะม่วงนั่นเอง

“มันเดือนเก้า” เคยเป็นมะม่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในอดีต เพราะมีขนาดผลใหญ่ เนื้อนิ่ม รสชาติอร่อย สามารถรับประทานผสสด นิยมใช้ทำเมนูยำมะม่วง และเป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป จึงขายได้ราคาดี สร้างรายได้ก้อนโตให้เกษตรกร แต่หลังจากมะม่วงแก้วขมิ้นเข้ามาตีตลาด ตอนนี้มะม่วงมันเดือนเก้าเหลือราคาแค่กิโลกรัมละ 8-10 บาท  และไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป เช่นเดียวกับ “มะม่วงโชคอนันต์” จากเดิมที่เคยนิยมใช้ในอุตสาหกรรมมะม่วงดอง-มะม่วงแช่อิ่ม ตอนนี้โรงงานแปรรูปหันไปซื้อมะม่วงแก้วขมิ้นแทน โดยอ้างเหตุผลว่า หลังแปรรูป มะม่วงแก้วขมิ้นจะให้สีสันที่สวยกว่ามะม่วงไทย ทำให้มะม่วงแก้วขมิ้นที่นำเข้าจากกัมพูชาสามารถขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 15-18 บาท

 

“มะม่วงแก้วขมิ้น” พืชทางเลือกใหม่ของสระแก้ว

คุณลุงพยอม วางแผนปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น จำนวน 40 ไร่ เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สู้กับมะม่วงแก้วขมิ้นที่นำเข้าจากกัมพูชา โดยพาทีมงานเทคโนฯ ไปเยี่ยมชมแปลงปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น ที่ทดลองปลูกแซมในสวนมะม่วงไทยมาแล้วกว่า 3 ปี

มะม่วงแก้วขมิ้น เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งก้านหนาแน่นบริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปรี ปลายแหลม โคนมน เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ติดผลเป็นพวง 3-5 ผล แก้วขมิ้นมีผลขนาดใหญ่ ผลโตเต็มที่น้ำหนักเฉลี่ย 2-3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม

มะม่วงแก้วขมิ้น เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ เพราะปลูกดูแลง่าย หลังอายุ 4-5 ปีไปแล้ว จะให้ผลดกมาก ผลดิบรสชาติไม่เปรี้ยวมากเท่ากับมะม่วงแก้วไทย และไม่มีกลิ่นขี้ไต้ เมล็ดลีบบาง เนื้อเยอะ รสชาติดี มะม่วงแก้วขมิ้นรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ผลดิบสีไม่เหลือง ยิ่งผลแก่จัดจะยิ่งออกสีเหลืองเหมือนขมิ้นมาก ผลสุกมีรสหวาน มีเสี้ยนเล็กน้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง

คุณลุงพยอม บอกว่า การลงทุนปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นในปีนี้ จะใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่ากับการปลูกมะม่วงพันธุ์ไทย เนื่องจากสวนแห่งนี้ปลูกแก้วขมิ้นมาหลายปี สามารถผลิตกิ่งพันธุ์ได้เอง จึงประหยัดต้นทุนได้ก้อนโต คุณลุงพยอมวางแผนดูแลจัดการสวนมะม่วงแนวใหม่คือ ปลูกระยะชิด ควบคุมให้ลำต้นเตี้ย เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิตในอนาคต

คุณลุงพยอม ตั้งใจปลูกมะม่วงในระยะห่าง 6×6 เมตร เฉลี่ยไร่ละ 40 ต้น เนื่องจากสวนแห่งนี้ปลูกอยู่ในพื้นที่ดอน ทำให้ต้นมะม่วงที่ปลูกมีอายุเก็บเกี่ยวได้นานถึง 80 ปี เรียกว่าลงทุนครั้งเดียว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน คุ้มค่ากับการลงทุนเป็นที่สุด

“สวนเดิมของผมอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อย้ายมาอยู่พื้นที่แห่งนี้ ได้ลงทุนปลูกมะม่วง ไร่ละ 100 ต้น จากประสบการณ์การทำสวนมะม่วงกว่า 30 ปี สอนให้รู้ว่า การปลูกในระยะถี่-ห่าง แบบไหนดีที่สุด ก็พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยปรับจำนวนต้นมะม่วงต่อไร่ในปัจจุบัน เป็นไร่ละ 93 ต้น และไร่ละ 66 ต้น สำหรับสวนมะม่วงแห่งใหม่ที่ตัดสินใจปลูกเพียงแค่ ไร่ละ 40 ต้น เพื่อสะดวกต่อการดูแลจัดการสวนในระยะยาว” คุณลุงพยอม กล่าว

ปัจจุบัน คุณลุงพยอม ได้ทดลองคำนวณต้นทุนการผลิตมะม่วงในสวนแห่งนี้ให้ฟังว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มีต้นทุนการผลิต ขั้นต่ำประมาณ 12 บาท ต่อกิโลกรัม มะม่วงโชคอนันต์ มีต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย ประมาณ 5-6 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนแก้วขมิ้น จากที่เคยทดลองปลูกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า เติบโตดี ทนโรคแมลง ใช้สารเคมีน้อย ต้นทุนการผลิตต่ำ เฉลี่ย 5 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อความอยู่รอด และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในอนาคต ต้องพยายามลดต้นทุนมะม่วงโชคอนันต์ให้เหลือแค่ 3 บาท ต่อกิโลกรัม (ปัจจัยเสี่ยงคือ ปัญหาโรคแมลงรบกวน หากฝนฟ้าอากาศเป็นใจ ไม่มีโรคแมลงรบกวน สามารถควบคุมต้นทุนได้สบาย)

หลังปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น จะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 หากสามารถควบคุมทรงพุ่มโต จะให้ผลผลิตเยอะ ที่สำคัญมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามะม่วงโชคอนันต์ เป็นที่ต้องการสูง ในตลาดบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป เรียกว่า มะม่วงแก้วขมิ้น สามารถแข่งขันได้ในเชิงปริมาณและราคาขาย คุณลุงพยอม มั่นใจว่า มะม่วงแก้วขมิ้นจะเป็นสินค้าทางเลือกตัวใหม่ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

คุณลุงพยอม เป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สะสมความรู้และประสบการณ์รอบตัวเกี่ยวกับการทำสวนมะม่วงมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสวนมะม่วง หรือการทำสวนผลไม้ในจังหวัดสระแก้ว สามารถเข้ามาพูดคุย เยี่ยมชมสวน หรือโทรศัพท์เข้ามาขอคำแนะนำจาก คุณลุงพยอม สุขนิยม ได้ทุกวัน ตามที่อยู่และเบอร์โทร.ข้างต้น รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน  

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก