“มะขามหวาน” ตำบลซับเปิบ อีกหนึ่งแหล่งมะขามหวานคุณภาพดี ที่เพชรบูรณ์ (ตอนจบ)

มะขามหวานพันธุ์ “บุญเลิศ”

มะขามหวานพันธุ์ดี สายพันธุ์ใหม่ ที่วังโป่ง เพชรบูรณ์

คุณบุญเลิศ จันทคุณ อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 3 ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (095) 474-6662 เจ้าของสายพันธุ์มะขามหวาน “บุญเลิศ” ซึ่งนำชื่อตัวเองมาตั้งชื่อมะขามหวานสายพันธุ์ใหม่นี้

มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ ตอนนี้ขายตลาดออนไลน์ กิโลกรัมละ 150-300 บาท

คุณบุญเลิศ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ต้นแม่พันธุ์บุญเลิศ อายุได้ 10 ปี ซึ่งแต่เดิมนั้นตนเองได้นำต้นพันธุ์กิ่งทาบมะขามหวานพันธุ์ตาแป๊ะ หรือพันธุ์ประกายทองมาปลูก ปรากฏว่ายอดพันธุ์ดีหรือพันธุ์ตาแป๊ะเกิดตายไป โดยที่ตนเองไม่ได้สังเกต แต่ยอดของต้นตอกลับเจริญเติบโตขึ้นมาแทน ซึ่งในตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นต้นตอมะขามเปรี้ยว (ซึ่งนิยมนำมาเพาะใช้เป็นต้นตอสำหรับทาบกิ่ง) ก็ปล่อยให้เจริญเติบโตมากว่า 7 ปี จนออกดอกและติดฝักตามธรรมชาติ

มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ หวานและหอมเหมือนน้ำผึ้ง
มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ ฝักค่อนข้างตรงและยาว

พบว่า ฝักมีลักษณะที่แตกต่างจากมะขามหวานที่ตนเองรู้จัก พอได้รับประทานพบว่า รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติและกลิ่นหอมโดดเด่นมาก ขั้วผลยาว ฝักค่อนข้างตรง โค้งงอเล็กน้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยนำไปส่งประกวดในประเภทมะขามหวานสายพันธุ์อื่นๆ ในปีนั้นฝักมะขามยังไม่ค่อยสวยสมบูรณ์มากนัก

แต่ก็อยากรู้ว่าผลตอบรับเป็นอย่างไรสำหรับมะขามหวานพันธุ์ใหม่ ผลปรากฏว่าแม้ฝักจะไม่สวยแต่ได้เรื่องรสชาติที่ดี ก็ได้รางวัลชมเชยกลับมาในการประกวดมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์ อนาคตก็กำลังจะขอรับรองสายพันธุ์

มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ ติดฝักค่อนข้างดก
.มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศต้นแม่ อายุ 10 ปี

มะขามหวานสายพันธุ์ “บุญเลิศ” มีการติดผลดกพอสมควร แต่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาด้วย ให้ต้นมีความสมบูรณ์ ในช่วงต้นมะขามอายุ 5 ปี ที่เริ่มให้ผลผลิต อาจจะให้ผลผลิตราวๆ 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น แต่เมื่อต้นโตขึ้น ทรงพุ่มใหญ่ขึ้น อย่างต้นอายุ 7 ปี เคยเก็บตัวเลขน้ำหนักคร่าวๆ ได้ผลผลิตต่อต้นประมาณ 60-100 กิโลกรัม ทีเดียว

การดูแลรักษามะขามหวานไม่ค่อยยุ่งยาก เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้งมาก ให้น้ำในช่วงที่ต้นเล็กๆ ปลูกใหม่ แต่เมื่อต้นโตแล้วส่วนใหญ่เกษตรกรก็แทบจะไม่ได้ให้น้ำเลย ซึ่งสังเกตได้ว่าสวนมะขามหวานส่วนใหญ่จะไม่มีระบบน้ำ ฉีดพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงบ้างในช่วงที่สำคัญ เช่น ช่วงแตกใบอ่อน ช่วงก่อนออกดอก ช่วงดอก (โดยเฉพาะช่วงดอก จะระวังหนอนกินดอกมากเป็นพิเศษ ที่จะสร้างความเสียหายได้อย่างรวดเร็วมาก ก็จะฉีดพวกสารอะบาเม็กติน เช่น โกลแจ็กซ์ ไลท์เตอร์ แจคเก็ต เป็นต้น)

เปลี่ยนยอดมะขามหวานพันธุ์อื่นเป็นมะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ โดยวิธียกต้นทาบกิ่ง

และช่วงติดผลอ่อน ซึ่งถ้าคิดเป็นตัวเงินในการดูแลมะขามหวานนั้นถือว่าน้อย ถ้าเทียบกับพืชอื่น ตอนนี้ต้นทุนหลักๆ กับไปอยู่ที่การจ้างเก็บมะขามสุกลงจากต้น ซึ่งค่าจ้างเก็บมะขามตอนนี้ กิโลกรัมละ 10 บาท ทั้งนี้ต้องใช้คนรับจ้างเก็บที่มีประสบการณ์ ที่จะเก็บมะขามหวานลงจากต้นได้ไม่แตกเสียหายและสุกพอดี ที่จะนำไปจำหน่ายได้ โดยแรงงานจ้างเก็บที่เก่ง ประกอบกับมะขามติดผลค่อนข้างดก บางคนมีรายได้จากการรับจ้างเก็บมะขาม 400-600 บาท ต่อวัน ทีเดียว

การติดฝักของมะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ
ตอนนี้มะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ มียอดสั่งจองอย่างต่อเนื่อง

การเก็บเกี่ยว มะขามหวาน จะแก่เก็บได้ในฤดูแล้งประมาณเดือนธันวาคม-มีนาคม ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพดินฟ้าอากาศ ปีใดฝนตกต้นฤดูและหมดเร็วมะขามก็จะแก่เร็ว และพันธุ์เบา ฝักเล็ก คุณภาพปานกลาง จะแก่เก็บได้ก่อน ส่วนพันธุ์ดีๆ นั้นจะเก็บได้ตอนกลางฤดู คือประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม

ซึ่งมะขามหวานส่วนมากจะแก่และเก็บเกี่ยวได้ในระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคมของปีถัดไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศ การเก็บฝักมะขามควรใช้กรรไกรตัดขั้วให้หลุดออกจากกิ่ง ไม่ควรใช้มือปลิด จะทำให้ฝักแตกได้ง่าย หากมีฝักแตกแล้วโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าทำลายก็จะมีมาก

การเก็บเกี่ยวมะขามหวาน ต้องพิจารณาดูเป็นต้นๆ หรือเป็นฝักๆ ไป บางทีอาจจะแก่เก็บได้ไม่พร้อมกัน ฝักปลายๆ หรือด้านนอกพุ่มมักจะแก่ก่อน โดยสังเกตจากสีของฝัก ความเหี่ยวของก้านฝัก และลักษณะอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ จะต้องเก็บทีละฝัก โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดออกจากต้น นำฝักมะขามหวานที่เก็บได้ไปกองผึ่งอากาศไว้สัก 2-3 วัน เพื่อให้ความชื้นในฝักมีอยู่พอสมควร จึงตัดแต่งก้านหรือขั้วฝักแล้วบรรจุภาชนะจำหน่ายได้

การเก็บเกี่ยวมีวิธีสังเกตคือ ดูที่เปลือกของฝัก จะแห้งกรอบ สีซีดลงคล้ายมีนวลที่ผิว ดีดหรือเคาะเบาๆ จะมีเสียงกลวงๆ ไม่แน่น ก้านหรือขั้วของฝักจะแห้งเหี่ยวและแข็งแรง เปราะหักง่าย น้ำหนักเบา การเก็บเกี่ยวต้องทิ้งช่วงทุกๆ 7-10 วัน โดยใช้บันไดพาดกิ่ง หรือปีนต้นขึ้นไปใช้กรรไกรสำหรับตัดฝักมะขามหวานโดยเฉพาะที่มีแหนบสำหรับหนีบขั้วของฝักไว้ ไม่ให้ฝักร่วงหล่น โดยคัดเลือกตัดเฉพาะฝักที่สุกจริงๆ และพยายามอย่าให้กระทบกระเทือนฝักที่ยังไม่สุก หรือให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ฝักช้ำ

ต้นมะขามหวานพันธุ์บุญเลิศที่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

ระยะปลูกมะขามหวาน

คุณบุญเลิศ เล่าว่า ตนเองใช้ระยะปลูก 8×8 เมตร 1 ไร่ จะปลูกมะขามหวานได้ 25 ต้น ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมกับมะขามหวาน เนื่องจากเป็นไม้ผลอายุยืน มีขนาดทรงพุ่มที่ใหญ่ แต่ก็สามารถตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงพุ่มได้ ซึ่งมะขามหวานพันธุ์บุญเลิศ นอกจากจะปลูกเพิ่มด้วยการขยายพันธุ์แบบทาบกิ่ง ส่วนหนึ่งก็เปลี่ยนยอดพันธุ์มะขามหวานต้นใหญ่ในสวนตัวเอง ซึ่งได้ผลดี สามารถให้ผลผลิตหลังเปลี่ยนยอดเพียง 3 ปีเท่านั้น นับว่าเป็นการย่นระยะเวลาได้มากทีเดียว หากบางท่านที่มีต้นมะขามเปรี้ยว หรือ ต้นมะขามหวานขนาดใหญ่อยู่แล้ว ก็สามารถเปลี่ยนยอดมะขามหวานพันธุ์ใหม่ได้

สำหรับฤดูปลูกควรจะปลูกต้นฤดูฝน เพราะเมื่อปลูกเสร็จแล้วต้นมะขามที่ยังเล็กอยู่จะได้รับน้ำฝนสามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง ต้นมะขามที่ปลูกใหม่ควรจะผูกยึดกับหลัก เพื่อให้ต้นมะขามขึ้นตรงไม่โค่นล้ม เนื่องจากลมแรงก่อนจะปลูก หากปลูกด้วยกิ่งทาบจำเป็นต้องตรวจดูก่อนว่าแกะเอาเชือกฟางหรือพลาสติกตรงรอยต่อออกแล้ว ถ้าทิ้งไว้จะทำให้แคระแกร็นหรือคอดรัดเนื้อไม้จนต้นมะขามจะตายได้

คุณบุญเลิศ จันทคุณ กับมะขามหวานพันธุ์บุญเลิศเกรดเอ

ตัดแต่งกิ่งต้นมะขามหวานมีไม่มากนัก

คุณบุญเลิศ เล่าว่า ถ้าต้นมะขามหวานที่ปลูกต้นยังเล็กอยู่จะปล่อยให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ จะตัดแต่งกิ่งที่โคนต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นิยมตัดให้มีลำต้นโคนเดียว โดยทั่วไปจะนิยมไว้โคนต้นสูง ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วให้แตกกิ่งแขนง 4 กิ่ง และบังคับกิ่งแขนงแตกเป็นแขนงย่อยไปเรื่อยๆ จนได้ทรงพุ่มเตี้ย เมื่อมะขามหวานให้ผลแล้วการตัดแต่งกิ่งก็ทำไม่มากเช่นกัน ส่วนมากแล้วจะตัดแต่งกิ่งที่แห้งตาย กิ่งที่ถูกโรคแมลงทำลาย กิ่งฉีกหัก กิ่งที่แตกออกไขว้กันจนแน่นทึบ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง จะช่วยให้ออกดอกติดฝักกระจายทั่วถึง ช่วยให้มีคุณภาพดี และลดปัญหาเรื่องการหักของกิ่งเมื่อฝักโตมากขึ้น

บรรยากาศการประกวดมะขามหวานเพชรบูรณ์ ปี 2561

นิสัยของมะขามหวานนั้นเหมือนกันทุกสายพันธุ์

คุณบุญเลิศ อธิบายว่า มะขามหวานเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ มีอายุยืน แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทรงกลม ลำต้นเหนียวหักโคนยาก และรากลึก ทนแล้ง เป็นไม้ผลกึ่งเขียวตลอดปี แต่จะค่อยๆ สลัดใบแก่ร่วงในฤดูร้อน ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี พร้อมกันนั้นก็จะผลิใบใหม่ขึ้นมาแทน เมื่อใบเริ่มแก่ก็จะออกดอก คือประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ติดฝักอ่อนพอมองเห็นได้ราวๆ ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และฝักจะแก่เก็บได้ประมาณปลายเดือนธันวาคม-มีนาคม ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสายพันธุ์มะขามหวาน ปริมาณของฝน และความชื้นประกอบกันไปในแต่ละปี        

การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูมะขามหวาน

แมลงศัตรูมะขามที่สำคัญและทำความเสียหายให้แก่มะขามหวาน เช่น แมลงนูน หรือ แมลงปีกแข็ง กัดกินใบอ่อนและดอก จะระบาดในระยะมะขามผลิใบอ่อนและออกดอก แมลงจะทำลายในตอนเย็นหรือกลางคืน ควรใช้ยาเซฟวิน 85 พ่นขณะที่มีการระบาด ควรพ่นยาในตอนเย็นให้ถูกตัวแมลง และพ่นยาป้องกันไว้ทุกเดือน

หนอนคืบสีเทา เป็นศัตรูสำคัญที่ทำความเสียหายให้แก่สวนมะขาม ตัวหนอนจะระบาดในช่วงฤดูฝนระยะมะขามกำลังผลิใบจวนแก่และกำลังออกดอกถึงติดฝักอ่อน หนอนจะอยู่ใต้ใบ กัดกินใบ ดอก และฝักอ่อน ทั้งกลางวันและกลางคืน และจะชักใยทิ้งตัวลงเมื่อได้รับความกระเทือน ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัด เช่น สารอะบาแม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์) หรือสารไซเพอร์เมทริน (เช่น โกลน็อค 35%) ควรพ่นยาป้องกันไว้เมื่อถึงระยะการระบาด

หนอนเจาะฝัก จะเข้าทำลายโดยเจาะฝักมะขาม ตั้งแต่ฝักเริ่มอายุ 2 เดือน ขึ้นไป ทำให้ฝักเสียหายมาก หนอนเจาะมะขาม เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนฝักมะขามตั้งแต่ยังเป็นฝักอ่อนจนถึงฝักสุก วางไข่ตามรอยหักหรือแตกมากกว่าฝักปกติ เมื่อตัวพัฒนาเป็นตัวหนอน ถ้าเป็นฝักอ่อนจะทำให้ฝักลีบ ส่วนฝักมะขามแก่จะกัดกินเนื้ออ่อนภายในและถ่ายมูลออกมาเป็นขุยอยู่บนฝักมะขาม
การป้องกันกำจัด หมั่นสำรวจและเก็บฝักมะขามที่ถูกทำลายทิ้ง หากพบการระบาด พ่นด้วยสารอะบาแม็กติน หรือสารไซเพอร์เมทริน

ฉีดพ่นฮอร์โมนแคลเซียม-โบรอน

ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆ ให้แคลเซียม-โบรอน 1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ ผสมติดดี

บำรุงดอกช่วงฝนชุก ให้เน้น “สังกะสี และแคลเซียม-โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้ว หรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้แบบเดี่ยวๆ หรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆ ก็ได้ และจะฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน ทุกๆ 10-15 วัน

ช่วงดอกบาน ควรงดการฉีดพ่นทางใบ โดยเฉพาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสรเปียกชื้นจนผสมไม่ติดได้

ฝักแก่จัด เซลล์ที่เปลือกจะห่างหรือมีช่องว่างจนอากาศผ่านเข้าได้ เมื่ออากาศเข้าได้ เชื้อราก็เข้าสู่ภายในผลได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้เนื้อในเกิดเชื้อรา ได้รับความเสียหาย กรณีนี้แก้ไขด้วยวิธีบำรุงผลตั้งแต่ระยะผลขนาดกลางด้วยธาตุรอง ธาตุเสริม โดยเน้น แคลเซียม-โบรอน อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เซลล์ที่เปลือกอัดตัวกันแน่น หรือเปลือกแข็งเหนียวจนอากาศผ่านเข้าไปไม่ได้

มะขามหวานสายพันธุ์บุญเลิศ ตอนนี้ราคาขายรวมไม่คัดเกรด จำหน่ายกิโลกรัมละ 120-150 บาท แต่ถ้าคัดพิเศษ กิโลกรัมละ 300 บาท ได้การตอบรับที่ดีมาก มีลูกค้าเก่าที่เคยได้รับประทาน โทร.มาสั่งจองไว้ล่วงหน้าก็มี ซึ่งตอนนี้ที่สวนก็ขยายพื้นที่ปลูกสายพันธุ์บุญเลิศมากขึ้น เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคมะขามหวาน ส่วนหนึ่งก็เริ่มขยายพันธุ์จำหน่ายให้ผู้ที่สนใจมะขามหวานสายพันธุ์บุญเลิศ ราคาต้นละ 150-300 บาท และขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผลผลิตมีรองรับกับความต้องการมากขึ้น