สวนบ้านเรา เมืองระยอง รวบรวมทุเรียน ไว้มากถึง 111 พันธุ์

ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ มีถิ่นกำเนิดในสุมาตรา หรือบอร์เนียว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ดูริโอ ไซเบทินัส เมอร์ (Durio zibethinus Murr.) เชื่อว่ามีการปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา และหากจะนับกันจริงๆ แล้ว ทุเรียนมีมากกว่า 600 สายพันธุ์ แต่ในปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนพันธุ์ที่เหลือก็หายากเต็มที

คุณขจร พฤฒิสุขนิรันดร์ (เฮียย้ง) เจ้าของสวนทุเรียน สวนบ้านเรา อยู่บ้านเลขที่ 324 หมู่ที่ 8 ตำบลกระแสบน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ถือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในเจเนอเรชั่นที่สอง สืบทอดต่อจากรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ปลูกทั้งเพื่อการค้า และเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไว้ไม่ให้สูญหาย

เฮียย้ง เล่าว่า สืบเนื่องมาจาก เมื่อ 18 ปีก่อน ทุเรียนถือว่าราคาตกมาก เหลือเพียงกิโลกรัมละไม่กี่บาท เกษตรกรจึงโค่นทุเรียนทิ้ง แล้วมาปลูกยางพารา เพราะตอนนั้นยางพาราคือพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง ส่งผลให้ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์หายากบางพันธุ์ถูกโค่นทิ้งมาตั้งแต่ตอนนั้น จึงมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนไว้ให้ลูกหลานต่อไป

ปัจจุบัน เฮียย้ง ปลูกทุเรียนบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนมากถึง 111 พันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะได้สายพันธุ์มาจากจังหวัดนนทบุรี อุตรดิตถ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี และพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง

ในระหว่างช่วงที่ใช้เวลาเก็บรวบรวมทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ เฮียย้งได้มีการปลูกชะนีเป็นต้นตอไว้ก่อน แล้วมาเสียบยอดทีหลัง ด้วยเหตุผลที่ว่าชะนีเป็นทุเรียนสายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศ หากินเก่ง เหมาะสำหรับใช้เป็นต้นตอ

ที่นี่รวบรวมทุเรียนของ สวนบ้านเรา 111 พันธุ์  แบ่งตามลักษณะพันธุ์เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 

ทุเรียนพันธุ์หายากที่ สวนบ้านเรา จะปลูกไว้รวมกันในพื้นที่ 100 ไร่ โดยจะแบ่งพื้นที่ปลูกเป็น 2 โซน โซนแรก ใช้ปลูกทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จำนวน 1,600 ต้น พันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดคือ หมอนทอง รองลงมาคือ พวงมณี ส่วนพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์จะปลูกไว้อย่างละ 2-3 ต้น โซนที่สอง ทำเป็นสวนผสม ปลูกเงาะ มังคุด และทุเรียน ซึ่งทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป แต่ขอย้ำว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ปลูกในพื้นที่นี้เป็นทุเรียนที่หายากที่สุด ยกตัวอย่างเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มกบ มี 21 สายพันธุ์

1. กบสุวรรณ 2. กบทองเพ็ง
3. กบตาท้วม 4. กบพิกุล
5. กบเบา 6. กบชายน้ำ
7. กบซ่อนกลิ่น 8. กบแม่เฒ่า
9. กบหน้าศาล 10. กบตาโห้
11. กบหลังวิหาร 12. กบสีนาค
13. กบก้นป้าน 14. กบทองคำ
15. กบวัดกล้วย 16. กบรัศมี
17. กบตาปุ่น 18. กบตาขำ
19. กบงู 20. กบเล็บเหยี่ยว
21. กบหัวล้าน

กบงู
กบรัศมี
กบสุวรรณ
กบหัวล้าน

2. กลุ่มลวง มี 5 สายพันธุ์
1. ชะนี 2. ย่ำมะหวาด
3. รวงทอง 4. ชมพูศรี
5. ชะนีน้ำตาลทราย

3. กลุ่มก้านยาว มี 6 สายพันธุ์
1. ก้านยาว (พันธุ์เมืองนนท์) 2. ต้นใหญ่
3. ก้านยาววัดสัก 4. ก้านยาวสีนาค
5. ทองสุข 6. ชมภูบาน

4. กลุ่มกำปั่น มี 8 สายพันธุ์
1. หมอนทอง 2. กำปั่นตาแพ
3. กำปั่นดำ 4. กำปั่นเหลือง
5. กำปั่นเดิม 6. กำปั่นพวง
7. ชายมะไฟ 8. ปิ่นทอง
5. กลุ่มทองย้อย มี 8 สายพันธุ์
1. ทองย้อยฉัตร 2. อีทุย
3. ทองใหม่ 4. นกหยิบ
5. ธรณีไหว 6. ทับทิม
7. นมสวรรค์ 8. ฉัตรสีทอง
6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด มี 63 สายพันธุ์
1. พวงมณี 2. สาวชมฟักทอง
3. สาวชมเห็ด 4. ยินดี
5. สีทอง 6. เม็ดในยายปราง
7. ฝอยทอง 8. บางขุนนนท์
9. ทองม้วน 10. ทองแดง (ตะโก)
11. ตะพาบน้ำ 12. ดาวกระจาย
13. แดงสาวน้อย 14. ชายมังคุด
15. จอกลอย 16. ขุนทอง
17. เขียวตำลึง 18. กระดุมทอง
19. กะเทยเนื้อแดง 20. กะเทยเนื้อขาว
21. หางสิงห์ 22. อีลีบ
23. อีหนัก 24. ตอสามเส้า
25. ทองนพคุณ 26. นมสด
27. เม็ดในกระดุม 28. เม็ดในก้านยาว
29. ลวงเพาะเมล็ด 30. ห้าลูกไม่ถึงผัว
31. หลงลับแล 32. หลินลับแล
33. หมอนละอองฟ้า 34. สาวใหญ่
35. สาวน้อย 36. สาวเจ้าเนื้อ
37. เมล็ดเผียน 38. ไอ้เม่น
39. ไอ้ใหม่ 40. เหลืองทอง
41. อีลีบนายทิพย์ 42. ทูลถวาย
43. กระปุกทองดี 44. เนื้อเหลือง
45. บางกอก 46. การะเกด
47. ไอ้หยิบ 48. จำปา
49. สาริกา 50. เมล็ดอารีย์
51. เมล็ดอุปถัมภ์ 52. ก้านสั้น
53. ทองหยิบ 54. จำปาใน
55. ทองลินจง 56. นวลทองจันทร์
57. จันทบุรี 1 58. จันทบุรี 2
59. จันทบุรี 3 60. กะเทยขั้วสั้น
61. ไอ้งวงยาว 62. นวลทอง
63. ทองกมล

ไฮไลต์เด็ด 9 สายพันธุ์ ต้องห้ามพลาด เมื่อมา สวนบ้านเรา

ที่นี่เก็บรวบรวมทุเรียนไว้มากถึง 111 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ครั้งนี้ เฮียย้ง ยกตัวอย่างจุดเด่นทุเรียนมาให้ชมกว่า 9 สายพันธุ์ ซึ่งเฮียย้งบอกว่าถ้าจะพาชมให้ครบทั้ง 111 สายพันธุ์ ใช้เวลาวันเดียวคงไม่พอ สายพันธุ์แรกที่เฮียย้งแนะนำคือ

พวงมณี…ถือเป็นพันธุ์ยอดฮิตของผู้ที่ชื่นชอบรับประทานทุเรียน ด้วยรสชาติที่หวานแหลม เนื้อมีสีเหลืองจำปา ทำให้เป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าจนมีออเดอร์สั่งจองกันข้ามปี ล็อตแรกออกมา 2,600 ลูก เฮียย้ง บอกว่า ไม่พอขาย

เม็ดในยายปราง…หรือคนระยองรู้จักกันในชื่อ นกกระจิบ แต่ที่สวนมีพันธุ์ดั้งเดิมมาจากเมืองนนท์ เป็นสายพันธุ์ยอดนิยมอีกสายพันธุ์ ด้วยกลิ่นที่มีความหอมเฉพาะตัว มีเนื้อสีเหลืองทอง รสชาติหวาน มัน หอม ตรงนี้ถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างที่ลูกค้าชอบ โดยน้ำหนักเฉลี่ยแต่ละลูกประมาณ 2 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 250 บาท

เม็ดในยายปราง

ย่ำมะหวาด…อยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด จุดเด่นคือ เนื้อละเอียดเป็นครีม รสชาติมีความมันนำหน้าและปนรสหวาน

หลินและหลงลับแล…ถือเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างจะหารับประทานยาก บางครั้งอาจจะต้องไปไกลถึงอุตรดิตถ์ เพราะด้วยรสชาติที่อร่อยมาก กลิ่นไม่แรง เปลือกบาง เนื้อละเอียด หอม มัน จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 350-500 บาท ถามว่าทำไมถึงแพง เพราะบางครั้ง 1 ต้น ให้ผลผลิตเพียง 5-10 ลูก ขึ้นอยู่ที่การดูแลรักษา

หลงลับแล

ชมพูศรี…อยู่ในกลุ่มลวง เป็นอีกพันธุ์ที่หารับประทานได้ยาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่สวนบ้านเรามีเพียง 2 ต้น มีรสชาติและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เนื้อเยอะ ผลผลิตปีนี้มีประมาณ 100 ลูก

ชมพูศรี

กบตาปุ่น…ที่นี่มีต้นเดียว เพราะฉะนั้นคนที่อยากรับประทาน ต้องจองล่วงหน้า เราจะไม่ไว้ลูกเยอะ คำนึงถึงความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก

กบทองเพ็ง…ลูกค้าสั่งเยอะ คนจะจับจองเป็นพิเศษ เพราะรสชาติหวานเหมือนน้ำอ้อย เนื้อละเอียด สีเหลือง

ห้าลูกไม่ถึงผัว…เป็นพันธุ์พื้นเมือง ลูกเล็ก แต่เม็ดใหญ่ รสชาติไม่อร่อยเท่าไรนัก แต่ผลผลิตไม่เคยเหลือ เพราะจะมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ชอบชิมทุเรียนพันธุ์แปลก หรือบางคนชอบที่ชื่อแปลกถึงซื้อ

ห้าลูกไม่ถึงผัว

วิธีการดูแลทุเรียนหลากสายพันธุ์ ให้ได้ผลผลิตดีทุกต้น

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่าน ต้องมีข้อสงสัยเดียวกันกับผู้เขียนว่า เฮียย้ง มีวิธีการปลูกดูแลรักษาอย่างไร เพราะทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ย่อมมีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันออกไป ลำพังปลูกสายพันธุ์เดียวกันก็ดูแลยากแล้ว แต่เฮียย้งต้องดูแลเป็นร้อยๆ สายพันธุ์

เฮียย้ง บอกว่า ทุเรียนแต่ละสายพันธุ์มีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นกลุ่มกบจะดูแลยาก อ่อนไหวต่อโรครากและโคนเน่า ถ้าจะให้ดีต้องหมั่นดูแลให้ทั่วถึงทุกต้น ต้องดูแลด้วยใจ ดูแลตั้งแต่วันแรกที่เราเก็บผลผลิตเสร็จ เท่ากับว่า 365 วัน เราต้องดูทุกวัน

หลังการเก็บเกี่ยวเสร็จต้องรีบบำรุงทันที เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ ทุเรียนที่สมบูรณ์คือ ใบจะต้องเยอะเพื่อที่จะปรุงอาหารจากใบสู่ลูก ทุเรียนจะอร่อยหรือไม่ จะอยู่ที่การดูแลตั้งแต่หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ

การใส่ปุ๋ยทางดินสำคัญมาก ปุ๋ยที่นี่จะใส่ผสมระหว่างอินทรีย์และเคมี เพราะที่นี่เราทำแค่ GAP หมายความว่า เป็นการทำทุเรียนที่ปลอดภัย ไม่ใช่ออร์แกนิก การใช้ยา หรือปุ๋ย สามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

 

ป้ายสี แก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนสู่ท้องตลาด

นอกจากการดูแลรักษาทุเรียนที่ดีแล้ว การเก็บเกี่ยวก็ต้องมีขั้นตอนการใส่ใจไม่แพ้กัน เพราะทุเรียนแต่ละพวงมีระยะดอกบานไม่พร้อมกัน เมื่อดอกบานไม่พร้อมกัน เราจะไม่สามารถกำหนดรุ่นที่ชัดเจนได้ ดังนั้น ตอนตัดก็จะมีทุเรียนแก่ทุเรียนอ่อนปนกันไป ที่สวนจึงแก้ปัญหาโดยการใช้สีป้ายที่ก้านของทุเรียนให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็นสีเหลือง คือลูกที่พร้อมตัด สีแดง คือตัดทีหลังสีเหลือง 1 อาทิตย์ และสีน้ำเงิน คือตัดรุ่นสุดท้าย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ชาวสวนมีระบบการจัดการสวนที่ดีขึ้น และถือเป็นการแก้ปัญหาการตัดทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ตลาดอีกด้วย

 

เลขรหัสทุเรียน ตัวช่วยสำคัญในการดูแลทุเรียนให้ได้ครบทุกต้นทุกลูก

รหัสต้นคืออะไร มีไว้เพื่ออะไร เฮียย้ง บอกว่า มีไว้เพื่อช่วยให้ชาวสวนมีระบบการจัดการที่ดี สะดวกและแม่นยำมากขึ้น เกษตรกรจะสามารถดูแลทุเรียนได้ทั่วถึงทุกต้น ยกตัวอย่าง ที่สวนเฮียย้ง มีทุเรียน 1,600 ต้น ถ้าเกิดปัญหาหรืออยากจะให้คนงานไปตัดทุเรียนต้นที่ต้องการ คนงานไม่มีทางรู้ว่าต้นไหน แต่ถ้าเมื่อไรเรามีรหัสต้น เราแค่ถ่ายรูปรหัสต้นส่งไปให้ คนงานก็จะรู้ละว่าต้นที่เราให้ไปดูคือต้นที่เท่าไร แถวอะไร อย่างรหัสต้นเรา 4-3-12-7 เขาก็จะรู้และวิ่งไปที่แปลงที่ 4 แถวที่ 3 ต้นที่ 12 และเมื่อตัดขายก็จะมีสติ๊กเกอร์มาแปะที่ขั้ว โดยสติ๊กเกอร์ที่แปะจะบอกทั้งรหัสต้น เบอร์โทรศัพท์ ชื่อสวน เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าได้ เมื่อเขาได้รับประทานอาจติดใจต้องการผลผลิตจากต้นนี้อีก เขาก็สามารถสั่งจองจากรหัสต้นได้ด้วย

รหัสต้นทุเรียน ช่วยจัดการดูแลสวนให้ง่ายขึ้น

หากชาวสวนจะนำวิธีนี้ไปใช้จะยินดีมาก รหัสต้นคือตัวช่วยจัดการความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และมีการดูแลที่ทั่วถึง

สติ๊กเกอร์ คิวอาร์โค้ด ถือเป็นการตลาดอีกช่องทางเพื่อการรันตีคุณภาพให้ลูกค้า สามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาได้ หากสินค้ามีปัญหาสามารถติดต่อขอลูกใหม่ได้ ถือเป็นการซื้อใจลูกค้าไปในตัว

 

เทคนิคการตลาดแบบเฮียย้ง ผลผลิตออกเยอะเท่าไรก็ไม่พอขาย

เกษตรกรส่วนใหญ่มักประสบปัญหาการตลาด คือปลูกแล้วไม่มีที่ขาย การตลาดถือเป็นหัวใจหลักของคนปลูกทุเรียน ผู้ปลูกต้องย้อนกลับไปดูว่า เรามีความสามารถที่จะกระจายสินค้าได้ทางไหนบ้าง ซึ่งวิธีการที่ตนทำมาตลอดคือ จะพยายามขายผลผลิตล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด แต่ก่อนที่จะขาย สินค้าเราต้องดีมีคุณภาพก่อน และพยายามขายสตอรี่ของสินค้าเราว่ามีดีอะไร เมื่อสินค้าเราดี มีจุดเด่น ลูกค้าจะวิ่งเข้าหาเราเอง

เฮียย้ง เอ่ยปากเองเลยว่า การตลาดของตนค่อนข้างที่จะแข็งแกร่ง เพราะตนมีจุดแข็งทั้งด้านคุณภาพ และช่องทางการกระจายสินค้า

  1. พยายามทำสินค้าของตนเองให้ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เพราะลูกค้า ณ ปัจจุบัน ต้องการความมั่นใจว่าเมื่อซื้อทุเรียนไปแล้ว ต้องได้ทุเรียนที่อร่อย ปลอดภัย รับประทานแล้วไม่เป็นอันตราย
  2. พยายามออกสื่อ ที่สวนบ้านเรา อาจจะได้เปรียบเกษตรกรท่านอื่น ตรงที่เรามีทุเรียนหลายสายพันธุ์ ทำให้เป็นที่สนใจของสื่อจากหลายสำนัก ดังนั้น เมื่อสื่อเข้าถึงก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คนจะรู้จัก สวนบ้านเรา
  3. ทำการตลาดผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ และเฟซบุ๊ก ที่นี่เราจะพยามอัพเดทสตอรี่ทุเรียนลงไป เราจะขายสตอรี่ทุเรียนตั้งแต่ต้นฤดู ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จนถึงช่วงออกผลผลิต เมื่อผลผลิตออกก็จะเริ่มขายและบอกว่าครั้งนี้มีพันธุ์อะไร ออกกี่ลูก ลูกค้าที่เห็นก็จะจองมาทางไลน์ ถือเป็นการตลาดในยุคสมัยใหม่ อย่าลืมว่า ทุเรียนเรามีน้อย อย่างละ 80-100 ลูก เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ประชาสัมพันธ์ เขาจะไม่รู้จัก หรือถ้าไม่สะดวกขายออนไลน์ ก็ให้ลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมที่สวน พยายามหาช่องทางขายอย่างไรก็ได้ ที่ไม่ต้องผ่านคนกลางเยอะนัก
  4. เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ทุเรียน ถือเป็นการตลาดอีกขั้น หากสนใจบุฟเฟ่ต์ทุเรียนสวนบ้านเรา สามารถติดต่อมาทางเบอร์โทร. (081) 804-4169 หรือแอดไลน์ @suanbanrao แต่ขอย้ำว่าต้องจองล่วงหน้า เพราะมีคนจองเต็มทุกปี เฮียย้ง กล่าว
พื้นที่สำหรับเปิดให้ลูกค้ามารับประทานบุฟเฟ่ต์ทุเรียน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจแวะเยี่ยมชมทุเรียนสวนบ้านเรา ติดต่อ คุณขจร พฤฒิสุขนิรันดร์ (เฮียย้ง) โทร. (081) 804-4169

ระหว่าง วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2561 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน กำหนดจัดงานเกษตรมหัศจรรย์ ขึ้นที่ สกายฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา ในงานได้นำทุเรียนมาแสดง 100 สายพันธุ์ ส่วนหนึ่งจะนำมาจากสวนบ้านเรา จึงขอเชิญชวนไปชม และซื้อหาผลผลิตในวันและเวลาดังกล่าว

เม็ดในกระดุม
ไอ้ใหม่
ก้านสั้น
กำปั่นพวง
จอกลอย
จันทบุรี 3
จำปา
ทองแดง (ตะโก)
ทองใหม่
ทองสุก
ลำเจียก
สาวน้อย
หมอนละอองฟ้า
หางสิงห์