ลิ้นจี่รสหวานอร่อย ที่เมืองชัยนาท

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

“ สวนลิ้นจี่พยุงขวัญ ”  นับเป็น “ แหล่งท่องเที่ยวเกษตรทฤษฎีใหม่” ที่มีชื่อเสียงของ ตำบล ตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ที่นี่เปิดเป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน และเปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาได้เข้ามาศึกษาการดำเนินชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และเยี่ยมชมสวนลิ้นจี่รสอร่อยของชุมชนแห่งนี้

คุณพยุง สงพูล เจ้าของสวนลิ้นจี่พยุงขวัญ หมู่ที่ 6 ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นั้น  ประกอบอาชีพไร่นาสวนผสม ต่อมาหันมาสนใจปลูกสวนลิ้นจี่ ซึ่งเป็นผลไม้ภาคเหนือแต่คุณพยุง ได้ศึกษาพัฒนาพันธุ์ลิ้นจี่จากภูมิปัญญาชาวบ้านและยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถออกดอกและติดลูกได้ผลผลิตเมื่อปลูกในภาคกลางที่มีอากาศร้อน ทำให้เป็นสวนลิ้นจี่แห่งแรกของจังหวัดชัยนาท

พันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกในสวนแห่งนี้   ได้แก่ ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์ พันธุ์ฮงฮวย และพันธุ์ค่อม เดิมสวนแห่งนี้เคยใช้ปลูกข้าวมาก่อน เมื่อตัดสินใจปลูกลิ้นจี่ คุณพยุงจึงต้องปรับพื้นที่ปลูกในลักษณะยกร่องแปลง โดยขุดยกให้สันร่องแปลงกว้าง 6 เมตร และร่องน้ำกว้าง 2 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและเพื่อให้รากของต้นลิ้นจี่ดึงน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์

คุณพยุงปลูกลิ้นจี่ ในระยะห่างระหว่างแถวและต้น 6×6 เมตร ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว ลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร นำปุ๋ยอินทรีย์ผสมคลุกเคล้ากับดินบนแล้วรองก้นหลุมปลูก จากนั้นนำต้นกล้าพันธุ์ลิ้นจี่ลงปลูก เกลี่ยดินกลบกดให้แน่น ใช้ไม้หลักปักยึดผูกติดกับลำต้นเพื่อป้องกันการโค่นล้ม รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ทางมะพร้าวทำเป็นที่บังแดด

หลังปลูกจนกระทั่งต้นลิ้นจี่อายุ 1 ปี คุณพยุงใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 5 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง เมื่อต้นลิ้นจี่มีอายุ 2-3 ปี ได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ครั้ง อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แล้วใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 300-400 กรัม ต่อต้น ต่อปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่อต้นลิ้นจี่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เป็นระยะที่ต้นลิ้นจี่เริ่มติดดอกออกผล ได้เปลี่ยนเป็นใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 อัตรา 1-3 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง นอกจากนี้แล้ว ยังให้ปุ๋ยเสริมทางใบเพื่อให้ต้นลิ้นจี่ได้รับปุ๋ยโดยตรงอีกทางหนึ่ง

โดยธรรมชาติแล้ว ต้นลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ถ้าเป็นฤดูฝนและมีฝนตกหนัก หนาแน่น ได้จัดทำทางระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำขังแฉะบนแปลงปลูก และเพื่อระบายน้ำไปลงที่ร่องน้ำ และบริเวณรอบๆ ต้นลิ้นจี่ เมื่อตรวจพบว่าดินยุบตัวหรือเป็นแอ่งน้ำขังได้นำดินมาถมกลบให้ระดับดินเสมอกัน

ในช่วงฤดูแล้ง คอยดูแลให้น้ำลิ้นจี่อย่างเพียงพอเพื่อรักษาความชื้นในดินไว้นานๆ วิธีการให้น้ำนั้น ได้ใช้ตะบวยตักรดบนผิวดินหรือใช้เครื่องปั๊มน้ำต่อสายยางสูบน้ำขึ้นมาฉีดรดบนผิวดินรอบทรงพุ่ม การให้น้ำลิ้นจี่อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของต้นลิ้นจี่ และก่อนการเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ได้งดการให้น้ำ เพื่อให้ผลลิ้นจี่ได้คุณภาพ

คุณพยุงควบคุมและกำจัดวัชพืช โดยใช้วิธีขุด ถาก ถอน หรือตัด หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมาฉีดพ่นเพราะละอองของสารเคมีจะไปกระทบหรือทำลายต้นลิ้นจี่ให้ได้รับความเสียหาย อีกวิธีการหนึ่งคือ ได้ปลูกพืชผักแซมในพื้นที่ว่างบนแปลงเพื่อช่วยลดปัญหาจากวัชพืชให้น้อยลงและทำให้มีผักเป็นอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน หากมีส่วนเหลือได้นำไปขายเป็นรายได้เสริม

โดยทั่วไปสวนแห่งนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม ลิ้นจี่แต่ละพันธุ์จะเริ่มทยอยแก่พร้อมเก็บเกี่ยว ที่นี่จะเก็บผลลิ้นจี่ในช่วงตอนเย็นที่มีแสงแดดอ่อนๆ เย็นสบายไม่จัด เพื่อเตรียมนำผลผลิตไปขายในตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น วิธีเก็บผลลิ้นจี่ถ้าเป็นต้นลิ้นจี่สูงได้ใช้บันไดพาดแล้วปีนขึ้นไป ใช้กรรไกรตัดที่ช่อผลใส่ในภาชนะแล้วนำลงมา จากนั้นนำไปรวมที่โรงเรือน คัดขนาด บรรจุใส่ถุงพลาสติคถุงละ 1 กิโลกรัม เพื่อให้พร้อมที่จะนำไปขาย ที่ตลาดนัดเช้าบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท

หลังฤดูเก็บเกี่ยว คุณพยุงจะตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นลิ้นจี่มีทรงพุ่มโปร่ง สะดวกต่อการเข้าไปดูแลรักษา ป้องกันการโค่นล้มและช่วยให้มีการติดดอกออกผลได้สม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการตัดนั้นได้นำบันไดพาดที่ต้นลิ้นจี่ที่สูง ปีนขึ้นไป ใช้กรรไกรขนาดต่างๆ ตัดแต่งกิ่งแห้งออก กิ่งเป็นโรค กิ่งน้ำค้าง กิ่งแขนงเล็กๆ ด้านในทรงพุ่ม กิ่งไขว้ ตลอดจนกิ่งที่ทำมุมแคบออก แล้วนำปูนแดงหรือน้ำมันทาที่บริเวณรอยแผลหรือบริเวณรอยที่ตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อรา

คุณพยุง เล่าให้ฟังอีกว่า ตั้งแต่ปลูกลิ้นจี่มาถึงขณะนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์หลายด้านพอสมควรโดยเฉพาะลักษณะของลิ้นจี่แต่ละพันธุ์ที่นำมาปลูก เช่น  ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย มีทรงพุ่มใหญ่ ลำต้นสีน้ำตาลอมเทา ช่วงข้อบนกิ่งห่าง ใบหนาสีเขียว ขอบใบบิดเป็นคลื่น ปลายใบแหลมเล็กน้อย ยอดสีเหลืองอ่อนปนเขียว ให้ผลดกติดผลได้ดีสม่ำเสมอ ลักษณะผลยาวรีคล้ายรูปไข่ ผิวเปลือกสีแดงปนชมพู เปลือกบาง ช้ำง่าย เนื้อลิ้นจี่สีขาวขุ่น รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดมีขนาดโต ขั้วผลหลุดง่าย สำหรับพันธุ์นี้ได้ทยอยเก็บผลลิ้นจี่ออกขายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไวกว่าภาคอื่น

ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ์ พันธุ์นี้เมื่อปลูกดูแลรักษาแล้วได้ผลดีบ้างไม่ดีบ้าง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ชอบอากาศเย็นจัด ซึ่งอุณหภูมิอากาศที่จังหวัดชัยนาทจะร้อนกว่าภาคอื่น พันธุ์นี้ปลูกไว้ 5 ต้น การติดผลไม่มากนัก ลักษณะต้นมีทรงพุ่มปานกลาง ขนาดใบใหญ่ โคนใบกว้างแล้วเรียวไปทางด้านปลายใบ ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ทรงผลกลมคล้ายรูปหัวใจ ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ เปลือกหนามีสีแดงเข้ม ผิวหยาบ หนามห่างเรียบมีขนาดใหญ่ห่าง เนื้อหนา สีขาวขุ่น ฉ่ำน้ำ เมล็ดมีขนาดโตสีน้ำตาลเข้ม พันธุ์นี้ได้ทยอยเก็บผลลิ้นจี่ในปลายเดือนมีนาคม-เมษายน

 

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ลักษณะทรงพุ่มขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน กิ่งแข็งแรง ปลายใบเรียวแหลม ใบแคบเรียว ด้านบนใบสีเขียวเป็นมัน ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผลมีขนาดใหญ่กลมสีแดงเข้ม เปลือกบางกรอบและหนามห่างสั้นแหลม เนื้อหนาแห้ง สีขาวขุ่น หวาน มีกลิ่นหอมพิเศษ ออกดอกติดผลง่ายเหมาะที่จะปลูกที่ชัยนาทเพราะมันไม่ต้องการอากาศเย็นจัด พันธุ์นี้ได้ทยอยเก็บผลลิ้นจี่ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ส่วนพันธุ์พิเศษ หรือ ลิ้นจี่กะเทย เข้าใจว่าเป็นลิ้นจี่ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ค่อม ขนาดผลเล็กเท่ากับเหรียญสิบบาท ไม่มีเมล็ดหรืออาจมีเมล็ดลีบบ้างในบางผล เนื้อหนา สีเนื้อขาวขุ่น รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย อร่อย สะดวกในการรับประทานทั้งที่เป็นแบบผลสดหรือจะนำไปทำเป็นลิ้นจี่ลอยแก้วเย็น ก็ได้รสชาติอร่อยอีกแบบหนึ่ง พันธุ์นี้ขายง่ายผู้ซื้อชอบ

นอกจากปลูกขายลิ้นจี่เก็บผลขายแล้ว คุณพยุงยังได้ขยายพันธุ์ลิ้นจี่ออกขายด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่กิ่งพันธุ์ลิ้นจี่ไปสู่ผู้ปลูกให้มากขึ้น การขยายพันธุ์ลิ้นจี่ได้เลือกวิธีการตอนกิ่ง มีขั้นตอนปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้

  1. เลือกกิ่งลิ้นจี่ที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป หรือกิ่งเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ผิวเปลือกไม่ขรุขระ ผิวเปลือกเรียบ หรือกิ่งที่มีขนาดเท่ากับแท่งดินสอดำหรือใหญ่กว่า หรือเลือกกิ่งขนาดที่เหมาะสมก็ได้
  2. ควั่นกิ่งโดยรอบ ให้รอยแผลควั่นมีความยาว 1-1.5 นิ้ว แล้วลอกเอาเปลือกออก
  3. ขูดเยื่อเจริญออก โดยใช้สันมีดขูดลากจากด้านบนลงล่าง ต้องระมัดระวังอย่าให้ไปกระทบกับรอยควั่นทางด้านบนซึ่งเป็นบริเวณที่รากจะงอกออกมา
  4. นำตุ้มตอนที่เตรียมไว้ ซึ่งในตุ้มจะประกอบด้วยขุยมะพร้าวที่ตีเอาเส้นใยออก แล้วนำไปแช่น้ำ บีบให้หมาดๆ นำมาอัดใส่ในถุงพลาสติคขนาด 4×6 นิ้ว ผูกปากถุงให้แน่น ผ่าตุ้มตอนตามความยาวแล้วนำไปหุ้มบนรอยแผลควั่น มัดด้วยเชือกฟางที่ด้านบนและด้านล่างของตุ้มตอนให้แน่น
  5. หลังจากตอนกิ่งเสร็จแล้ว อีก 30-45 วัน รากจะงอกเจริญเติบโตสมบูรณ์ จากนั้นนำกิ่งตอนออกมาชำในถุงพลาสติค แล้วเพาะเลี้ยงไว้อีกประมาณ 30 วัน หรือเมื่อกิ่งตอนเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้วก็นำลงปลูกในแปลงได้

 

หากท่านใดต้องการ เยี่ยมชมเทคนิคการปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่การทำไร่นาสวนผสมของสวนลิ้นจี่พยุงขวัญ ก็แวะไปได้ที่ บ้านเลขที่  226 หมู่ 6 ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 415-035 หรือสอบถามเรื่องการปลูกลิ้นจี่ได้  ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 499-158 หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โทร. (056) 411-308  ในวันและเวลาราชการ