ปลูกเมล่อน ในโรงเรือน ที่บุรีรัมย์ มีคุณภาพ ปลอดภัย ส่งขายตลาดพรีเมี่ยม

ความจริงบุรีรัมย์มีผลไม้หลายชนิดที่มีรสชาติอร่อยไม่แพ้จังหวัดอื่น แต่ที่ดูจะมีชื่อเสียงขึ้นชื่อของจังหวัดน่าจะเป็นทุเรียน เพราะมีรสชาติอร่อย อันเป็นผลมาจากการมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่เอื้อต่อคุณภาพทุเรียน จนเป็นที่ถูกใจของบรรดานักชิมทุเรียนเลยเชียว

ล่าสุด “เมล่อน” ไม้ผลน้องใหม่ไฟแรงที่กำลังเนื้อหอม เพราะมีเอกชนส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้วิธีปลูกในโรงเรือนที่สามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตให้มีความสมบูรณ์ ทำให้เป็นที่ต้องการของโมเดิร์นเทรดและห้างค้าส่งขนาดใหญ่จนชาวบ้านปลูกส่งขายกันแทบไม่ทัน แถมยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่ดีให้แก่คนเมืองนี้อีกนับไม่ถ้วน

คุณพีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ หรือ เฮียน้อย เจ้าของ รัตนสุข ฟาร์ม

คุณพีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชื่อดังของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนเมือง ด้วยฉายา “เฮียน้อย 100 อาชีพ” ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้มีการปลูกเมล่อนในจังหวัดบุรีรัมย์อย่างจริงจังในรูปแบบธุรกิจ เพื่อต้องการหาอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวบุรีรัมย์แทนการรอขายผลผลิตการเกษตรอื่นที่ราคาไม่แน่นอน

เฮียน้อย บอกถึงเหตุผลที่สนใจนำเมล่อนมาปลูกในจังหวัดนี้ว่า เพราะสมัยที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยังได้รับตำแหน่งเป็นกรรมาธิการเกษตร จึงมีโอกาสเดินทางไปดูงานเกษตรที่ญี่ปุ่น แล้วพบว่า ที่นั่นขายเมล่อนราคาสูงมาก จึงสงสัยว่าทำไมราคาแพง จนได้คำตอบว่า เพราะปลูกยาก เนื่องจากญี่ปุ่นมีอากาศหนาวมากกว่าร้อน ซึ่งโดยธรรมชาติเมล่อนชอบอากาศร้อนปานกลาง ก็เลยรู้ความจริง แล้วคิดว่าถ้าอย่างนั้นไม้ผลชนิดนี้คงนำมาปลูกในไทยได้แน่นอน

แผงขายเมล่อนบริเวณริมทางในจังหวัดบุรีรัมย์

จากนั้นได้เริ่มต้นทดลองปลูกเมล่อนในโรงเรือน จำนวน 20 โรงเรือน เพราะตั้งใจว่าถ้าปลูกแล้วประสบความสำเร็จก็จะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้าน เพื่อจะได้ช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมเพิ่มเติม ปรากฏว่ากลุ่มธุรกิจโมเดิร์นเทรดใหญ่อย่าง โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี และท็อปส์ ต่างสนใจติดต่อซื้อเป็นขาประจำ จนทำให้ต้องขยายโรงเรือนเพิ่มจนถึงทุกวันนี้มีเกือบพันโรงเรือน ในชื่อแบรนด์ว่า “รัตนสุข ฟาร์ม”

ส่วนหนึ่งของโรงเรือนเมล่อน รัตนสุข ฟาร์ม

เฮียน้อย มองเห็นว่า เมื่อตลาดมีขนาดใหญ่กว่าที่คิด จึงวางแผนการผลิตด้วยการดึงชาวบ้านในท้องถิ่นที่สนใจปลูกเมล่อนเพื่อจะรับซื้อผลผลิตเหล่านั้นกลับมายังบริษัท ด้วย 2 แนวทาง คืออย่างแรกได้ลงทุนสร้างโรงเรือนพร้อมเมล็ดพันธุ์ให้ก่อน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เรียกว่ามาแต่ตัวกับใจเท่านั้น ซึ่งเฉลี่ยมีครอบครัวที่ทำลักษณะเช่นนี้ ครอบครัวละ 5-6 โรงเรือน มีรายได้จากการขายโรงเรือนละ 20,000 บาท ถ้าปลูก 5 โรงเรือน ก็จะมีรายได้ราว 100,000 บาท ต่อรอบการผลิต ประมาณ 2 เดือน

กับอย่างที่สองคือ ชาวบ้านสนใจลงทุนโรงเรือนพร้อมเมล็ดพันธุ์เอง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายก่อสร้างโรงเรือนและระบบน้ำและอื่นๆ อยู่ประมาณ 80,000-100,000 บาท ซึ่งถ้าใส่ใจและทุ่มเทปลูกอย่างเต็มที่แล้ว ขายผลผลิตเพียงไม่กี่รอบก็คืนทุนได้แล้ว เพราะอย่างน้อยก็มีตลาดรองรับแน่นอน

คุณสมศักดิ์ รัตนยิ่งยง หรือ คุณซ้ง (ขวา) นักวิชาการ กับชาวต่างชาติที่เข้าชม รัตนสุข ฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ตาม เฮียน้อย บอกว่า ได้กำหนดให้ผู้ปลูกจะต้องผ่านการอบรมวิธีปลูกจากทางฟาร์มอย่างน้อย 1 รอบการผลิต แล้วจึงจะออกใบรับรองเพื่อต้องการให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ใบรับรองนี้ยังเป็นเครื่องการันตีการอนุมัติเงินกู้จากทาง ธ.ก.ส. อีกด้วย

เหตุผลที่เฮียน้อยเลือกปลูกเมล่อนในโรงเรือน เพราะต้องการควบคุมในเรื่องโรค/แมลง แล้วจะได้ไม่ต้องใช้สารเคมี อีกทั้งยังเป็นการง่ายต่อการควบคุมผลผลิตที่เกิดขึ้นให้มีความแน่นอน สามารถส่งขายได้ตามกำหนดทั้งปริมาณและคุณภาพ ขณะเดียวกันยังทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจว่าผลผลิตเหล่านั้นมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง อันส่งผลต่อการกำหนดราคาขายด้วย

คณะชาวต่างประเทศเข้าดูฟาร์มเมล่อน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ (2561) กำหนดเป้าหมายว่า จะสร้างโรงเรือนให้ได้ จำนวน 1,500 หลัง เนื่องจากมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตลอดเวลาต่อเนื่อง ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีโอกาสช่วยให้ชาวบ้านได้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงแทนการรอขายผลผลิตการเกษตรชนิดอื่น

รัตนสุข ฟาร์ม เลือกพันธุ์เมล่อนเฉพาะการค้าสำหรับปลูก จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ จัสมินเนื้อส้ม เนื้อเขียว และกาเลีย มีผลผลิตรวมที่ส่งขายต่อสัปดาห์ ประมาณ 300-400 ตัน ขณะเดียวกันผลผลิตเมล่อนของเฮียน้อยยังได้รับการรับรองจากหลายมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นตัว Q หรือเครื่องหมาย GMP จึงเป็นที่ยอมรับของตลาดลูกค้าทุกระดับ โดยมีช่องทางจำหน่ายทั้งแบบปลีกตามร้านค้าชั้นนำกับขายส่งโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ และตลาดค้าส่งขนาดใหญ่

เก็บผลผลิตนำมาคัดขนาดและคุณภาพเตรียมส่งลูกค้า

เฮียน้อย เผยถึงความตั้งใจที่ทำเช่นนี้เพราะว่าต้องการเปิดมิติตลาดเกษตรแนวใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านมีหนทางในการทำมาหากินแทนที่จะไปปลูกข้าว อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเสี่ยงกับความไม่แน่นอนทางราคา และเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยน ขณะเดียวกันยังต้องการสร้างเป็นโมเดลตัวอย่างไว้เพื่อให้ทางราชการเกิดแนวคิดนำไปต่อยอดใช้ในอนาคต

“ในอนาคตของอาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพประเภทใดก็ตาม ควรใช้ระบบโรงเรือนดีกว่า เพราะสามารถควบคุมทุกปัจจัยได้หมด ส่งผลดีต่อการควบคุมจำนวนผลผลิตที่ส่งขายให้ลูกค้า พร้อมกับยังช่วยทำให้คุณภาพผลผลิตมีความสมบูรณ์ ได้มาตรฐาน เป็นที่ไว้วางใจของลูกค้าและผู้บริโภค

เมล่อนแบบเนื้อสีส้ม

ขณะเดียวกันถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรควรจะรวมตัวกัน ควรจะผนึกกำลังกัน ไม่ควรต่างคนต่างทำ เพราะหมดสมัยแล้ว การรวมตัวกันมีผลดีหลายด้าน ไม่ว่าจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมทั้งยังมีอำนาจต่อรองในด้านผลผลิต อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากภาคราชการด้วย” เฮียน้อย กล่าว

สำหรับในส่วนของการผลิตเมล่อนคุณภาพนั้น คุณสมศักดิ์ รัตนยิ่งยง หรือ คุณซ้ง นักวิชาการประจำฟาร์ม บอกว่าการปลูกเมล่อนในโรงเรือนมีข้อดีตรงที่จะช่วยควบคุมโรค/แมลงได้ ซึ่งจะไม่ต้องใช้สารเคมีเลย แล้วจะทำให้ผลผลิตเมล่อนปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ขนาดโรงเรือน มีความกว้าง 6.5 คูณ 30 เมตร มีราคาประมาณ 85,000 บาท ต่อหลัง รวมระบบน้ำแล้ว ซึ่งถ้าผู้ที่ปลูกเก่งสามารถปลูกขายเอง เพียงรอบการผลิตเดียวก็สามารถคืนทุนได้แล้ว แต่ในกรณีที่ปลูกแล้วขายผลผลิตให้บริษัทอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 รอบการผลิต

คุณซ้ง บอกว่า ก่อนเริ่มปลูกจะต้องไถและตากดินไว้ล่วงหน้า จากนั้นให้หว่านปูนขาว จึงจะสามารถขึ้นเป็นรูปแปลงปลูกได้ จำนวน 4 แปลง โดยกำหนดให้แต่ละแปลงมีขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร และมีขนาดทางเดิน 60 เซนติเมตร ทั้งนี้ การดูแลบำรุงรักษาต้นเมล่อนทั้งหมดจะเน้นเป็นแบบอินทรีย์อย่างเดียว โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เป็นหลัก ซึ่งจำนวนปุ๋ย ใช้ในอัตรา 7 กระสอบ ต่อโรงเรือน หรือ 2 กระสอบ ต่อแปลง

พันธุ์เนื้อเขียว

โดยจะต้องเพาะต้นกล้าเตรียมไว้ก่อน ซึ่งในแต่ละฤดูการเติบโตและความสมบูรณ์ของกล้าจะต่างกัน ถ้าเป็นหน้าร้อน ใช้เวลา 8 วัน แต่ถ้าฤดูอื่น จำนวน 10 วัน ก่อนที่จะนำไปปลูกในแปลงจริงได้ ควรจะรดน้ำทุกวัน รดครั้งละ 200 ลิตร แล้วใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ไปตามระบบน้ำ

เมล่อน สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่ในแต่ละรอบการปลูกควรมีการพักแปลง ประมาณ 25 วัน หรือสลับโรงเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรค/แมลง ซึ่งมักเป็นเพลี้ยไฟและไรแดง รวมถึงมีหนอนบ้าง สำหรับโรคที่พบเป็นราน้ำค้างและไวรัส

เมล่อนผิวสีทอง

พันธุ์ที่ใช้เป็นเมล่อนต่างประเทศ แต่สำหรับพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่คูเมืองเป็นพันธุ์จัสมินเขียวและส้ม มีลักษณะเด่นตรงมีผิวสวย เนื้อในสวย มีความหวานประมาณ 13-16 บริกซ์ โดยรับประทานได้ทั้งแบบกรอบหรือสุกจัด

จำนวนที่ปลูก 520 ต้น ต่อโรงเรือน ซึ่งจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 80 เปอร์เซ็นต์ หรือ 400 ผล ทั้งนี้ ในแต่ละโรงเรือนมีศักยภาพการปลูกได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 ตัน อย่างไรก็ตาม หากปลูกเมล่อนในแนวทางที่ฝึกฝนให้อย่างชำนาญเป็นอย่างดี เมื่อคำนวณต้นทุน เฉลี่ยผู้ปลูกจะมีรายได้ จำนวน 3,000 บาท ต่อตารางเมตร ต่อปี แล้วสามารถปลูกได้จำนวนมาก 3-4 รอบการปลูก

เฮียน้อย ขณะพาชมฟาร์มเมล่อน

 

“แผนการปลูกเมล่อนในแต่ละรอบจะเป็นไปตามตารางการจำหน่ายของลูกค้าในแต่ละราย เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสม แล้วถือเป็นการควบคุมในเรื่องคุณภาพด้วย และที่สำคัญเมล่อนเป็นไม้ผลที่ปลูกไม่ยาก มีรายได้ดี เพราะตลาดยังต้องการต่อเนื่อง ขอเพียงแต่ผู้ปลูกต้องใส่ใจในทุกช่วงเวลา มิเช่นนั้นอาจพบปัญหาตามมาทันทีถ้าขาดความใกล้ชิด” คุณซ้ง กล่าว

ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว หากท่านมีโอกาสเดินทางไปพักผ่อนที่จังหวัดบุรีรัมย์อย่าลืมแวะซื้อเมล่อน ที่ “รัตนสุข ฟาร์ม” ไว้รับประทานหรือเป็นของฝาก หรือสนใจสอบถามข้อมูลรายละเอียดการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนได้ ที่ รัตนสุข ฟาร์ม โทรศัพท์ (081) 876-1117 หรือเข้าไปดูภาพเมล่อนสวยๆ ได้ ที่ fb : ไร่รัตนสุข ฟาร์ม ทางพาด คูเมือง