เงาะหนองบัวลำภู ปลูกได้รสชาติดี สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงสู่ชุมชน

ชาวบ้านในพื้นที่บ้านคลองเจริญ ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เดิมทำอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก่อน แต่ระยะหลังเจอปัญหาต้นทุนการผลิตแพงทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ แถมบางปีเจอปัญหาฝนทิ้งช่วง เกิดโรคแมลงระบาดทำลายผลผลิตเสียหายและคุณภาพไม่ดี จึงขายผลผลิตไม่ได้ราคาเท่าที่ควร จึงเลือกปลูก “เงาะ” เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ปรากฏว่า  ได้ผลผลิตที่ดี สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงสู่ชุมชน

เกษตรกรผู้ริเริ่มปลูกเงาะในท้องถิ่นแห่งนี้คือ  คุณวงเดือน กุลบุตร บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 6บ้านคลองเจริญ ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู คุณวงเดือน เป็นคนที่ชอบทดลองปลูกพืชใหม่ๆ จึงได้นำพันธุ์เงาะโรงเรียนจากจังหวัดจันทบุรีมาทดลองปลูก เมื่อปี พ.ศ. 2542 จำนวน 20 ต้น หลังทดลองปลูกประมาณ 1 ปี ต้นเงาะก็เจริญเติบโตได้ดี คิดว่าน่าจะสร้างรายได้ที่ดีแก่ครอบครัวได้ดีกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  เธอจึงตัดสินใจซื้อเงาะพันธุ์โรงเรียนมาปลูกเพิ่มอีกจำนวน 110 ต้น ในปี 2543

เงาะที่คุณวงเดือน นำมาปลูกเป็นเงาะที่ขยายพันธุ์ด้วยการติดตา จำนวน 130 ต้น พื้นที่ 5 ไร่ ในการปลูกครั้งแรกได้เตรียมดินโดยการไถเตรียมดิน จำนวน 1 ครั้ง เพราะพื้นที่เคยปลูกข้าวโพดมาก่อน ทำให้สะดวกในการเตรียมดิน

คุณวงเดือน เตรียมหลุมปลูก โดยขุดหลุม กว้างxยาวxลึก (50X50X50) แยกดินชั้นบนและดินชั้นล่างไว้คนละส่วน ตากดินไว้ประมาณ 5 วัน จากนั้นย่อยดินให้ร่วนแล้วผสมปุ๋ยคอก กลบลงในหลุมที่ขุดไว้ให้สูงกว่าระดับ ประมาณ 20-25 เซนติเมตร คุ้ยดินที่เตรียมไว้เป็นหลุมเล็กๆ จากนั้นนำกิ่งพันธุ์เงาะลงปลูกตรงกลางหลุม แล้วกลบดินให้สูงกว่าระดับดินเดิมไม่เกิน 1 นิ้ว จัดต้นเงาะให้ตรง จากนั้นควรปักไม้หลักและใช้เชือกผูกยึดต้น เพื่อป้องกันลมโยก แล้วรดน้ำ และหาเศษวัชพืชมาคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น

ด้านการดูแลรักษา คุณวงเดือน ใช้รถไถเดินตามไถกำจัดวัชพืช ในช่วงที่ปลูกเงาะได้มีการปลูกพืชแซม ได้แก่ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง เป็นการเพิ่มรายได้ ในปี 2543-2546 ได้ปีละ 18,000-20,000 บาท เมื่อปี 2547 เงาะที่ปลูกได้ให้ผลผลิตครั้งแรกทำให้เกิดความภูมิใจว่าบ้ านคลองเจริญ ตำบลบุญทัน สามารถปลูกเงาะได้เหมือนกับภาคใต้และภาคตะวันออก โดยจำหน่าย กิโลกรัมละ 10 บาท

การขายส่วนมากจะขายภายในหมู่บ้านและแจกให้ญาติพี่น้องไปรับประทาน ขายได้เงิน 700 บาท ปี 2548 การขายก็เหมือนกับปีแรก ขายได้เงิน 1,000 บาท และในปี 2549 ให้ผลผลิตเฉลี่ย ต้นละ 10 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ขายได้เงิน 4,000 บาท เนื่องจากทั้งขายทั้งแจก และส่วนใหญ่แจกให้แก่ญาติพี่น้องเสียมากกว่า  ตั้งแต่ปลูกมาไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี การให้น้ำให้แบบรดตามโคนต้นธรรมดา ในปีต่อมา สวนเงาะแห่งนี้สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 30,000-50,000 บาท

Advertisement

ทั้งนี้ ตำบลบุญทัน มีสภาพพื้นที่ลาดเอียงเป็นลูกคลื่นสูงต่ำ สลับกับพื้นที่ทำนา ทำไม้ผลไม้ยืนต้น และทำไร่ บริเวณที่ราบลุ่มติดกับแหล่งน้ำต่างๆ มีภูเขากระจายอยู่ทั่วไป โดยรอบๆ สภาพภูมิอากาศเย็นสบาย อากาศจะร้อนจัดประมาณ 2 เดือน (มีนาคม-เมษายน) อุณหภูมิประมาณ 35-42 องศาเซลเซียส อากาศจะหนาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิประมาณ 13-20 องศาเซลเซียส ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,300-1,800 มิลลิเมตร ต่อปี

Advertisement

ตำบลบุญทัน มีสภาพพื้นที่เหมาะสมในการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เช่น ลำไย ขนุน ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง ยางพารา โดยเฉพาะ เงาะ เป็นไม้ผลที่มีความเหมาะสมปลูกในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก แต่สำหรับบ้านบุญทัน บ้านคลองเจริญ ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มีเกษตรกรได้นำเงาะพันธุ์โรงเรียนมาทดลองปลูก จำนวน 130 ต้น ปรากฏว่าให้ผลผลิตและคุณภาพดี รสชาติดี ไม่แตกต่างกับเงาะที่ปลูกในแหล่งกำเนิดของเงาะ เช่น ทางภาคใต้ หรือทางภาคตะวันออก

“เงาะ” เป็นไม้ผลเมืองร้อน มีอายุนานหลายปี เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิ ระหว่าง 22-35 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝน 2,000-3,000 มิลลิเมตร ต่อปี มีการกระจายตัวของฝนสม่ำเสมอ สภาพพื้นที่มีความชื้นสูง 75-85% แต่ต้องการสภาพแห้งแล้งก่อนการออกดอกติดต่อกัน 21-30 วัน แหล่งปลูกไม่ควรสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 650 เมตร ไม่ชอบอากาศที่หนาวเย็น

โดยธรรมชาติแล้ว เงาะชอบดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ความลึกของหน้าดินไม่ควรน้อยกว่า 1 เมตร ความเป็นกรด-เป็นด่าง 5.0-6.5 มีการระบายน้ำได้ดี ตั้งแต่เริ่มปลูกจนเริ่มให้ผลผลิตมีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เงาะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ออกดอกจนผลแก่ ใช้เวลาประมาณ 130-160 วัน นอกจากนี้ เงาะยังสามารถทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น รับประทานผลสด ทำเงาะแช่น้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง ทำแยม ไขของเงาะสามารถนำมาทำเป็นสบู่และเทียนไขได้ รากและเปลือกยังสามารถนำมาทำเป็นยาสมุนไพรได้ด้วย