พืชตระกูลแตงเตรียมรับมือด้วงเต่าแตงแดง

ระยะนี้จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สลับกับมีฝนตก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงร้าน บวบ มะระ ฟักแม้ว ฟักเขียว แฟง และตำลึง ให้หมั่นสังเกตการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดง ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโต เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ในดินใกล้โคนต้นเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ตัวหนอนสีขาวจะอาศัยอยู่ในดิน และกัดกินรากพืชเป็นอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อรากพืชตระกูลแตงในระยะต้นอ่อน

ด้วงเต่าแตงแดงจะเข้าทำลายแทะกัดกินใบยอด หากระบาดรุนแรง อาจทำให้ต้นพืชชะงักการทอดยอด มักพบการระบาดในสวนแตงที่มีวัชพืชหนาแน่น เนื่องจากตัวอ่อนอาศัยกัดกินรากพืช จึงเป็นปัญหาในแหล่งปลูกใหม่ที่บริเวณโดยรอบไม่มีการไถพรวนดิน และไม่มีการปราบวัชพืชที่เพียงพอ ซึ่งจะพบการระบาดของด้วงเต่าแตงแดงในทุกฤดู โดยเฉพาะในช่วงที่พืชเริ่มแตกใบจริง

กรณีพบการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูสวนในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด โดยให้ใช้วิธีกลในการจับตัวด้วงเต่าแตงแดงมาทำลายด้วยมือ จะสามารถช่วยลดการระบาดลงได้มาก ขณะเดียวกัน ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรถอนทำลายต้นทิ้ง เก็บเศษซากพืชในส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อทำลายแหล่งอาศัย และไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของด้วงเต่าแตงแดงต่อไป

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดด้วงเต่าแตงแดง โดยให้พ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

Advertisement