เรียนรู้การพัฒนา มังคุดคุณภาพ เพื่อการส่งออก กับเกษตรกรรุ่นใหม่ “ดวงพร เวชสิทธิ์”

“ดวงพร เวชสิทธิ์ (คุณปุ้ย)” วัย 44 ปี นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) ที่เป็นความหวังของภาคเกษตรไทย ในฐานะกำลังหลักที่จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพป้อนครัวไทยและครัวโลก อีกทั้งเป็นพลังขับเคลื่อนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจไทยในอนาคต

คุณปุ้ย เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เธอเรียนจบปริญญาตรี สาขาการจัดการคอมพิวเตอร์ เคยทำ e-commerce ค้าขายในอีเบย์ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เธอยอมลาออกจากอาชีพมนุษย์เงินเดือน เพื่อกลับมาสานต่อกิจการ “สวนบุษรา” ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว ในฐานะทายาท รุ่นที่ 3

แม้คุณปุ้ยไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน แต่เธอพยายามเรียนรู้ฝึกฝนทักษะต่างๆ จากการขอความช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และสมัครเข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer (YSF)ของกรมส่งเสริมการเกษตร เธอมีโอกาสรวมกลุ่มพูดคุยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ช่วยกันวิเคราะห์วิธีการและหาแนวทางการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็น ประธานกลุ่ม young smart farmer จังหวัดจันทบุรี และเป็นประธานคณะกรรมการเครือข่าย YSF เขต 3 (ภาคตะวันออก) ได้รับการฝึกอบรมความรู้ด้านเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

สวนบุษรา

ปัจจุบัน คุณปุ้ยและครอบครัวมีบ้านพักอาศัยอยู่ในตัวเมือง บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000 โทร. (081) 864-6346 เฟซบุ๊ก : ปุ้ย ดวงพร และ Line ID : 081-864-6346

ครอบครัวคุณปุ้ยทำสวนเกษตรผสมผสาน ชื่อว่าสวนบุษรา” เนื้อที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี สวนบุษรา มีรายได้หลักจากการปลูกมังคุดและลองกอง รวมทั้งปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ ต้นหมาก ปลูกแซมในพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีรายได้จากการเกษตร เฉลี่ยปีละล้านกว่าบาท

“สวนแห่งนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากคุณยาย ที่เข้ามาจับจองที่ดินในพื้นที่ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ ทำสวนผลไม้ตั้งแต่พื้นที่บริเวณนี้ยังมีสภาพเป็นป่าดิบ ปัจจุบันสวนแห่งนี้ปลูกต้นมังคุด จำนวน 2 รุ่น ต้นมังคุดรุ่นแรกอายุประมาณ 50 ปี ปลูกบนเนื้อที่ 20 ไร่ ในระยะห่างประมาณ 10×10 เมตร ส่วนแปลงที่สอง เนื้อที่ 10 ไร่ ปลูกต้นมังคุดระยะชิด โดยปลูกห่างระหว่างต้น ประมาณ 6×6 เมตร” คุณปุ้ย กล่าว

ทุกวันนี้ คุณปุ้ยเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตร ภายใต้แนวคิด “สนุกคิดชีวิตเกษตรกร” เพราะได้ทำงานที่ตนรัก ทำให้มีความสุขในการวางแผนการทำงาน มีความสุขในการแก้ไขปัญหาและพัฒนางานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป  เพื่อให้แผ่นดินแห่งนี้กลายเป็นมรดกตกถ่ายไปยังบุตรสาวของเธอ ทายาท รุ่นที่ 4 ที่กำลังขะมักเขม้นเรียนคณะเกษตร เพื่อรับช่วงสานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากคุณปุ้ยในอนาคต

เทคนิคการจัดการสวนมังคุด

เนื่องจากมังคุดเป็นไม้ผลที่ไม่ต้องการแดดจัดสักเท่าไร เติบโตในพื้นที่ร่มรำไรได้ เกษตรกรจึงนิยมปลูกต้นมังคุดผสมผสานกับพืชชนิดอื่น มังคุดเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวยาวนานนับร้อยปี ยิ่งต้นมังคุดมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งแตกกิ่งตายอดมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่จุดอ่อนของต้นมังคุดคือ เติบโตช้ามาก จะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 7 ปี แต่ปีแรกของการให้ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวไม่ได้เยอะ ไม่เกิน 10 กิโลกรัม ต่อต้น ดังนั้นการปลูกมังคุดในระยะชิด มีจำนวนต้นมากขึ้น ก็ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่มากขึ้นตามไปด้วย

คุณปุ้ย บอกว่า ต้นมังคุดแปลงเก่ากับแปลงใหม่ ต้องใช้เทคนิคการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน เพราะมังคุดต้นเล็ก มีรอบใบแก่เร็วกว่ามังคุดต้นเก่าอายุ 50 ปี หากต้องการให้มังคุดต้นเล็กผลิใบในช่วงเดือนสิงหาคม แค่ใส่ปุ๋ยล่วงหน้า 1 เดือน ก็สามารถกระตุ้นให้ต้นมังคุดผลิใบได้แล้ว ขณะที่มังคุดต้นเก่า ต้องใช้เวลาในการสะสมอาหารล่วงหน้านานกว่า ต้องใช้เวลากระตุ้นนาน 45-60 วัน ก่อนผลิใบตามที่เราต้องการ สรุปได้ว่า มังคุดต้นเล็กดูแลจัดการได้ง่ายกว่ามังคุดต้นใหญ่

“การทำสวนมังคุดต้องใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานและต้องใช้แรงงานเก็บเกี่ยวจำนวนมาก ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูง แถมประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวมากขึ้นในระยะหลัง เกษตรกรหลายรายจึงตัดสินใจตัดโค่นต้นมังคุดออกไป หันไปปลูกพืชอื่นแทน สมัยนี้ไม่ค่อยมีคนปลูกมังคุดเพิ่ม จึงมีคู่แข่งขันน้อย ขณะที่ปริมาณความต้องการทางการตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี การทำสวนมังคุดจึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าไม้ผลชนิดอื่น แต่การทำสวนมังคุดให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเป็นเกษตรกรมืออาชีพเท่านั้นที่ขยันอดทน สะสมประสบการณ์ในการปลูกดูแลต้นมังคุด พัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ” คุณปุ้ย กล่าว

เอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี

สวนบุษรา มีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่ม ติดคลอง ทำให้สวนมังคุดเนื้อที่ 20 ไร่ ออกดอกช้า ช่วงเก็บเกี่ยวเจอปัญหาฝนตกชุก ผลผลิตเกิดความเสียหายด้อยคุณภาพ ขายได้ราคาต่ำ คุณปุ้ยพยายามเอาชนะธรรมชาติ โดยให้ต้นมังคุดออกดอกและติดผลเร็วขึ้นในเวลาที่กำหนด คือเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดใหญ่ ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม  นอกจากนี้ คุณปุ้ยยังได้นำผลการวิเคราะห์ SWOT และวางแผนการจัดการสวนรายปี มาใช้ปรับปรุงสวนมังคุดเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10-12 เปอร์เซ็นต์ ในปีต่อๆ มา

คุณปุ้ย ได้เรียนรู้เทคนิคการบังคับให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อน เพื่อให้อายุใบพร้อมออกดอกในเวลาที่ต้องการ ด้วยการสะสมอาหารให้มากพอก่อนหมดฤดูการเก็บเกี่ยว ร่วมกับศึกษาข้อมูลอากาศระยะรายปี จากปรากฏการณ์ลานีญ่า ซึ่งเกิดภาวะฝนชุก หนาวมาก หนาวนานและความชื้นสูง และปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งเกิดภาวะแล้งเร็ว ไม่ค่อยหนาว ความชื้นต่ำ

อีกทั้งยังมีการเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในสวนของตนเอง โดยคุณปุ้ยได้ศึกษาเรื่องแผนที่อากาศ เพื่อพยากรณ์อากาศรายสัปดาห์ควบคู่ไปกับการจัดการธาตุอาหารที่สำคัญในการออกดอก ให้ทุกอย่างสัมพันธ์กันในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ปลูกมังคุด ประมาณ 300 ต้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เฉลี่ยประมาณ 100 กิโลกรัม ต่อต้น ถือได้ว่าสวนมังคุดของคุณปุ้ยได้ผลผลิตสูงกว่าสวนมังคุดโดยปกติ เนื่องจากนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาวิเคราะห์การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้อย่างแม่นยำ สามารถวางแผนจัดการผลผลิต กระตุ้นให้ต้นมังคุดผลิดอกออกผลได้มากขึ้นนั่นเอง” คุณปุ้ย กล่าว

ด้านตลาด         

ปัจจุบัน สวนบุษรา ของคุณปุ้ย ได้รับการตรวจสอบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP : Good Agriculture Practice) ผลผลิตมังคุดจะออกตลาดในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 25-28 ตัน ต่อปี เป็นมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก 70% และเป็นมังคุดนอกฤดู 30% ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ เช่น มังคุดเนื้อแก้ว มังคุดยางไหล ฯลฯ และไร้ปัญหาด้านการตลาด โดยสามารถขายผลผลิตได้ราคาที่สูงกว่า 50 บาท ต่อกิโลกรัม

สวนแห่งนี้สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็น 2 รุ่น โดยรุ่นแรก เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ส่วนมังคุดรุ่นสอง ภาษาชาวสวนเรียกว่า เป็นหางของรุ่นหนึ่ง กับหัวของรุ่นสอง จะเริ่มเก็บผลมังคุดออกขายได้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 30-45 วัน ก็หมดรุ่น

เมื่อ ปี 2560 มังคุดจันทบุรีประสบภาวะอากาศแปรปรวน ทำให้ต้นมังคุดหยุดออกดอก เก็บผลผลิตรุ่นแรกได้เพียงแค่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น หลังจากนั้นเจอปัญหาต้นมังคุดออกดอกไม่หยุดในช่วงปลายเดือนมีนาคม ผลผลิตช่วงปลายฤดูของมังคุดจันทบุรีจึงออกล่าช้ากว่าปกติ โดยมีผลผลิตทยอยเข้าตลาดประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งผลผลิตรุ่นนี้ไปปะทะกับมังคุดใต้พอดี ชาวสวนจันทบุรีจึงต้องตัดใจยอมขายมังคุดในราคาถูกแค่ 15-20 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น

ด้านสังคม

คุณปุ้ย พยายามรวมพลังกลุ่มเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ โดยให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่ม โดยคุณปุ้ยเป็นผู้ดูแลเพจกลุ่มชาวสวนจันทบุรี ซึ่งมีสมาชิกกว่า 20,000 คน โดยปรับปรุงข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ข่าวสารทางด้านการเกษตร และเธอยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการเครือข่ายกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดจังหวัดจันทบุรี ทำหน้าที่ประสานงานในด้านต่างๆ ทั้งการจัดประชุม ประสานงานระหว่างเครือข่ายกับหน่วยงานอื่น และเธอยังทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครฝนหลวง จังหวัดจันทบุรี มีหน้าที่รายงานปริมาณน้ำฝน ฝนแล้ง ขอรับการสนับสนุนการทำฝนหลวง

คุณปุ้ย ได้เป็นแกนนำในการรวมกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดจันทบุรี ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายทั้งจังหวัดจันทบุรี รวบรวมผลผลิตโดยกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดจันทบุรี เพื่อส่งไปขายตลาดประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน

ที่ผ่านมา คุณปุ้ยเป็นแกนนำ ขอรับเงินจากสถาบันทุเรียนไทย จำนวน 5,000 บาท เพื่อใช้ดำเนินงานสนับสนุนเครือข่าย Yong Smart Farmer จันทบุรี ดำเนินการจัดอบรม “รู้ทันฟ้าฝนของคนเกษตร” และดำเนินการจัดอบรม หลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างประหยัดและได้ผล โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ สามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรของท้องถิ่น โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการเข้ามาสนับสนุน นับเป็นการคืนกำไรสู่สังคมอีกทางหนึ่ง 

……………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2561