“หนองเม็กโมเดล” ผักอินทรีย์ ต้นแบบแห่งแรก ของอำนาจเจริญ

 “อำนาจเจริญ” ได้กำหนดวิสัยทัศน์จังหวัดว่า “เมืองธรรมเกษตร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางการค้าสู่อาเซียน” และมีนโยบายขับเคลื่อนให้เป็นเมืองสมุนไพรและเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัด เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ตามโครงการ 3 ดี คือ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี นั้น

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ดำเนินการตามแนวทางของจังหวัด โดยได้พัฒนา “ผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร บ้านหนองเม็ก” ให้เป็นต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์แห่งแรกของจังหวัดอำนาจเจริญ ในฉบับนี้ ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านโชคดีได้พันธมิตรคนเก่ง “คุณคมกฤช สุขกุล” ผู้บริหารฟาร์ม “บ้านสวนคลายทุกข์” จังหวัดอำนาจเจริญ ให้เกียรติสละเวลาพาพวกเราไปเยี่ยมชมกิจการ “กลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก” ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ขอขอบคุณ “คุณคมกฤช สุขกุล” มา ณ ที่นี้

ผักอินทรีย์ หนองเม็ก

ปัจจุบัน กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก อยู่ภายใต้การนำของประธานกลุ่มคือ “คุณจำปา สุวะไกร” เธอเล่าว่า ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ ตั้งใจปลูกผักอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร สด สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน รวมทั้งพัฒนาสินค้าผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ให้เป็นสัญลักษณ์ “เมืองธรรมเกษตร” ตามนโยบายของจังหวัดอำนาจเจริญควบคู่กันไป

คุณจำปา แนะนำให้ผู้เขียนรู้จักกับ “คุณป้อม” หรือ “คุณศุภชัย มิ่งขวัญ” ลูกเขยของเธอ ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก โดยทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและดูแลด้านการตลาด คุณป้อมเรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ไปฝึกงานเป็นยุวเกษตร ที่อิสราเอล นานถึง 7 ปีเต็ม

เมื่อคุณป้อมกลับมาอยู่เมืองไทย ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา คุณป้อมได้นำนวัตกรรมความรู้ด้านการเกษตรที่ทันสมัยจากประเทศอิสราเอลมาใช้ปลูกผักอินทรีย์ของตัวเอง ในชื่อ “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” โดยปลูกพืชผักอินทรีย์ บนเนื้อที่ 35 ไร่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกผักอินทรีย์และรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งขายตลาด

คุณป้อม บอกว่า ปัจจุบัน “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” มีสมาชิกลูกไร่ที่ปลูกผักอินทรีย์รวมกันประมาณ 100 ไร่ โดยเน้นปลูกพืชผักอินทรีย์ในโรงเรือนระบบปิด เรียกว่า “โรงเรือนกรีนเฮ้าส์” ข้างบนเป็นหลังคาพลาสติก ด้านข้างเป็นมุ้งกันแมลง สมาชิกแต่ละรายจะมีพื้นที่เพาะปลูกไม่เท่ากัน เฉลี่ยรายละ 12-20 แปลง

“ผักสลัดอินทรีย์” คือสินค้าหลักของกลุ่ม สินค้าผักสลัดของที่นี่มีหลากหลายชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ ฯลฯ รวมทั้งผักสดอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมจากท้องตลาด เช่น ผักปวยเล้ง คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ โดยทางกลุ่มจะเน้นปลูกพืชผักสลับหมุนเวียนกันไปตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก

 

ชูนโยบาย “การตลาดนำการผลิต”

คุณป้อม กล่าวว่า ทุกวันนี้ ทางกลุ่มทำแปลงปลูกผักเชิงพาณิชย์ วางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ ให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำ และใช้โรงเรือนระบบปิดที่ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิต

ก่อนปลูกพืชผัก ทางกลุ่มจะคำนวณพื้นที่ปลูกว่า ในปีนี้มีโรงเรือนกรีนเฮ้าส์กี่แห่ง ปลูกผักได้กี่รอบ จำนวนเท่าไร ก่อนสรุปแผนการผลิตให้ลูกค้าได้รับทราบ เช่น ผลิตผักสลัดได้ สัปดาห์ละ 1,000 กิโลกรัม และผักอื่นๆ รวม 1,200 กิโลกรัม  เมื่อลูกค้าโอเค ก็นำแผนงานดังกล่าวมาแจกจ่ายให้สมาชิกวางแผนการผลิตต่อไป

ปัจจุบัน สินค้าเกษตรอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ ส่งไปขายให้คู่ค้าหลักคือ บริษัท S&B food supply จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดส่งผักขายให้กับห้าง Tops supermarket ทั่วประเทศ โดยสินค้าผักอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ จำหน่ายในชื่อแบรนด์ “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” จังหวัดอำนาจเจริญ

“สินค้า ‘ไร่ภูตะวัน’ ผลิตได้สัปดาห์ละ 2,000 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผักสลัด รองลงมาเป็นกลุ่มผักพื้นบ้านประเภท ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 200-300 กิโลกรัม ทุกวันนี้สินค้าไร่ภูตะวันขายดีมาก จนผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด” คุณป้อม กล่าว

การปลูก

หากสมาชิกต้องการปลูกผักสลัดออกมาขายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะต้องมีโรงเรือนปลูกอย่างน้อย 6 โรงเรือน โดยทั่วไป ผักสลัดจะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 45 วัน ก่อนปลูกจะต้องเพาะเมล็ดพันธุ์สลัดในเนิร์สเซอรี่ก่อน เมื่อต้นกล้าเติบโตตามที่ต้องการจึงค่อยย้ายมาปลูกในโรงเรือนอีก 30 วัน เมื่อต้นผักสลัดเติบโตเป็นสัปดาห์ที่ 5 จึงเริ่มตัดผลผลิตออกขายได้ ในสัปดาห์ที่ 6 จะเริ่มพักแปลง ประมาณ 7 วัน ก่อนลงทุนปลูกผักรอบใหม่ ระหว่างที่เตรียมแปลงปลูกรอบใหม่ สมาชิกจะเพาะกล้าพันธุ์ผักสลัดไปพร้อมๆ กัน

การเตรียมแปลงเพื่อปลูกผักรอบใหม่ คุณป้อม จะใส่ปุ๋ยหมักและโดโลไมท์ ซึ่งเป็นสารปรับสภาพดิน ลดความเป็นกรด  แก้ดินเปรี้ยว ช่วยปรับโครงสร้างดิน ให้ธาตุอาหารหลัก อาหารรองแก่ดินและพืช โดโลไมท์มีคุณสมบัติแก้ปัญหาการขาดธาตุอาหาร แคลเซียม แมกนีเซียมและซิลิกอนในดิน ช่วยให้พืชดูดกินปุ๋ยได้ดีขึ้น เพิ่มการสังเคราะห์แสงและการแบ่งเซลล์ของพืช ขณะเดียวกันโดโลไมท์ยังเพิ่มความสามารถการทำงานของจุลินทรีย์ ปัองกันโรคและแมลงเข้าทำลายในแปลงเพาะปลูกไปพร้อมๆ กัน

โรงเรือนปลูกผักระบบมาตรฐานของชุมชนแห่งนี้ มีขนาดความกว้าง ยาว ประมาณ 6×30 เมตร คุณป้อม จะใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กปรับพื้นที่ ในลักษณะยกร่องแปลง 4 แถว ต่อ 1 โรงเรือน ข้อดีของการปลูกผักยกแปลงคือ สามารถป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกได้ โดยทั่วไป พื้นที่ 1 โรงเรือน จะปลูกผักสลัดได้ จำนวน 6,000 ต้น

แม้ผักสลัดจะมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่อายุการเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิด จะห่างกันไม่ถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 45-50 วัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระยะการเพาะกล้าเป็นหลัก โดยสมาชิกจะเริ่มเพาะผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วันก่อน จึงค่อยเพาะพันธุ์ผักที่มีอายุเก็บเกี่ยว 45 วัน ต่อไป อย่างไรก็ตาม ผักสลัดทุกชนิดที่ย้ายมาปลูกในโรงเรือนจะใช้เวลาปลูกดูแล 30 วันเท่าๆ กัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการผลผลิต ให้มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเท่ากันนั่นเอง

“ผักสลัดบัตเตอร์เฮด มีอายุเก็บเกี่ยวนาน 50 วัน จึงต้องเริ่มเพาะกล้าก่อนผักสลัดอายุสั้น 45 วัน เช่น กรีนโอ๊ค ฯลฯ โดยเกษตรกรจะใช้เวลาดูแลผักบัตเตอร์เฮดในเนิร์สเซอรี่ประมาณ 20 วันก่อน ค่อยย้ายต้นกล้ามาปลูกในโรงเรือนต่ออีก 30 วัน จึงค่อยเก็บเกี่ยวผลผลิตในสัปดาห์ที่ 5” คุณป้อม กล่าว

การดูแลจัดการแปลง

ทุกวันนี้ สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครอบครัวในการปลูกดูแลผักสลัด เฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน การให้น้ำในแปลงปลูก ไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต เพราะชุมชนแห่งนี้ได้ลงทุนติดตั้งระบบน้ำแบบสเปรย์หมอก ในแต่ละโรงเรือนอยู่แล้ว เมื่อเปิดวาว์ลน้ำ ระบบสเปรย์น้ำจะรดน้ำแปลงผักนาน 5 นาที เสียเวลาเปิดวาว์ลน้ำครั้งเดียว สามารถรดน้ำแปลงผักได้ครบทุกโรงเรือน แรงงาน 1 คน สามารถเปิดน้ำรดแปลงผักได้ถึง 50 ไร่

คุณป้อม บอกว่า สมาชิกที่มีพื้นที่ปลูกผักสลัด จำนวน 6 โรงเรือน จะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10,000-15,000 บาท หรือประมาณเดือนละ 40,000-60,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่ค่อนข้างสูง เป็นที่พึงพอใจของสมาชิกกลุ่ม

เมื่อถามถึงปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการลงทุนแต่ละรอบ ก็ได้รับคำตอบว่า ใช้เงินลงทุน ครั้งละ 1,000 บาท เท่านั้น เช่น ค่าปุ๋ยหมัก 10 กระสอบ มูลค่า 200 บาท ที่เหลือเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ เมื่อคำนวณปัจจัยการผลิตกับผลตอบแทนที่ได้รับของชุมชนแห่งนี้แล้ว ถือว่าได้ผลกำไรสูงทีเดียว สร้างแรงจูงใจให้หลายคนสนใจอยากปลูกผักสลัดอินทรีย์เช่นเดียวกับพวกเขา

 

ข้อแนะนำ สำหรับเกษตรกรมือใหม่

คุณป้อม บอกว่า การทำเกษตรยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ “ขั้นตอนการผลิต” แต่หัวใจหลักอยู่ที่ “การตลาด” ในวันนี้ หากลงทุนปลูกพืชชนิดไหน ควรใช้ “หลักการตลาดนำการผลิต” ก่อนตัดสินใจปลูกสินค้าเกษตรตัวไหน ควรขายสินค้าให้ได้ก่อน นี่คือ หลักการค้าของคนยิว

“เวลาผมไปคุยกับตลาด จะบอกลูกค้าว่า มีพื้นที่ปลูกเท่าไร มีสมาชิกกี่ราย มีการวางแผนการจัดการผลผลิตอย่างไร ให้ลูกค้าเกิดความสนใจ และตามมาดูพื้นที่จริง เมื่อลูกค้าเกิดความมั่นใจว่า เราทำได้ เริ่มการสั่งซื้อ จึงค่อยเริ่มผลิตสินค้าป้อนตลาด” คุณป้อม กล่าว

 

เคล็ดลับปลูกผักเมืองหนาว

ให้เติบโตงอกงามในช่วงฤดูร้อน

โดยธรรมชาติแล้ว ผักสลัด เป็นตระกูลพืชเมืองหนาว มักเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว แต่การปลูกผักเมืองหนาวในช่วงฤดูร้อน กลับเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรมือใหม่ เพราะผักสลัดไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร

“หากใครต้องการปลูกผักเมืองหนาวให้เติบโตดีในช่วงหน้าร้อนทำได้ไม่ยาก เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่ “การลดอุณหภูมิในโรงเรือน” โดยใช้ 2 วิธี คือสเปรย์น้ำช่วยระบายความร้อน และติดตั้งพัดลมบริเวณด้านหน้า-ด้านหลัง ของโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ เพื่อเร่งระบายความร้อนออกจากโรงเรือน ก่อนที่ความร้อนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของผัก ทำให้ผักเกิดความเครียดจนหยุดการเติบโต วิธีนี้สามารถช่วยให้ผักเมืองหนาวเติบโตไปได้ แม้ผลผลิตจะลดลงไปบ้าง ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน” คุณป้อม กล่าว

ทั้งนี้ สภาพในโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ตามปกติ จะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย ประมาณ 35 องศาเซลเซียส หากลงทุนติดตั้งอุปกรณ์พัดลมบวกกับต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มขึ้นอีก โรงเรือนละ 2,000-3,000 บาท แล้วสามารถลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ในช่วงฤดูร้อน ให้เหลือแค่ 28-30 องศาเซลเซียส ทำให้ผักสลัดเมืองหนาวไม่มีอาการเครียด เจริญเติบโตได้งอกงาม มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เฉลี่ยโรงเรือนละ 300-350 กิโลกรัม หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไรก้อนโต ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว

 

“บ้านหนองเม็ก” ต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์

ปัจจุบัน “หมู่บ้านหนองเม็ก” เป็นหมู่บ้านต้นแบบผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล คือ Organic Thailand และ IFOAM เป็นโรงเรือนผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร ที่มีตลาดรองรับอย่างสม่ำเสมอ โดยลูกค้าหลักคือ ห้าง Tops Supermarket และจำหน่ายสินค้าในตลาดท้องถิ่น เช่น ตลาดหอนาฬิกาอำนาจเจริญ หน้าศูนย์อาหารบิ๊กซี อำนาจเจริญ ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. และอุทยานบุญนิยม อุบลราชธานี เป็นต้น

หมู่บ้านหนองเม็ก ถือเป็นต้นแบบที่จะขยายผลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัดอำนาจเจริญในอนาคต ที่ผ่านมามีประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชนแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและให้กำลังใจพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักอินทรีย์ในชุมชนแห่งนี้เกิดขวัญและกำลังใจที่จะเร่งพัฒนาและขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนต่อไป หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมกิจการผักอินทรีย์ของหมู่บ้านหนองเม็ก สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. (090) 932-7915, (095) 613-1411 (คุณป้อม)