ปลูกพริกไทยซีลอน พืชใหม่มีอนาคต ให้ผลผลิตดี ใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เก็บขายได้นานหลายปี

“พริกไทย” จัดได้ว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจและจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของคนไทยมาช้านาน ในการประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเทศ ปรุงรสชาติอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนประกอบของเครื่องแกงต่างๆ การถนอมอาหาร และใช้ประโยชน์ในด้านเภสัชกรรมยาสมุนไพร ทุกส่วนของพริกไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น เมล็ดพริกไทยอ่อน เมล็ดพริกไทยดำ เมล็ดพริกไทยขาว พริกไทยป่น พริกไทยแช่แข็ง น้ำมันหอมระเหยพริกไทย และพริกไทยดอง เป็นต้น

ประโยชน์ของพริกไทย เกี่ยวข้องกับอาหาร ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม โจ๊ก ต้มจืด แกงเลียง และใช้ในการถนอมอาหาร ทำให้อาหารที่มีพริกไทยปรุงรสเก็บไว้ได้นานกว่าปกติ เช่น เนื้อบด หมูบด ตับบด หมูยอ แฮม ไส้กรอก เพราะพริกไทยมีน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil)

นอกจากนั้น พริกไทย ยังใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพร ช่วยย่อยอาหาร เช่น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดไขมันในเส้นเลือด ปัจจุบัน นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ในรูปอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พริกไทย เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ เจริญเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน เช่น ประเทศบราซิล หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ประเทศไต้หวัน มาเลเซีย และปลูกมากในจังหวัดจันทบุรีของประเทศไทย เป็นพืชตระกูลเดียวกับ ดีปลี ชะพลู และพลู ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิระหว่าง 15-35 องศาเซลเซียส ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบที่ลุ่มน้ำขัง ลำต้น มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยยืนต้น ต้องอาศัยค้างในการพยุงและยึดเกาะลำต้น โดยใช้รากขนาดเล็กที่เกิดตามข้อปล้อง เรียกว่า มือตุ๊กแก

ต้นพันธุ์พริกไทยจากกิ่งตอนมาชำลงถุงดำแล้วอบในโดมพลาสติก
ต้นพันธุ์พริกไทยจากกิ่งตอนมาชำลงถุงดำแล้วอบในโดมพลาสติก

ลำต้น สามารถเจริญเติบโตเป็นกิ่งข้าง หรือกิ่งกระโดง โดยกิ่งกระโดงจะมีความสมบรูณ์และขนาดใหญ่ ตั้งดิ่งจากผิวดิน

ส่วน กิ่งข้างหรือกิ่งแขนง จะขนานแตกออกเป็นทรงพุ่ม ใบ พริกไทยเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เป็นประเภทใบเดี่ยวเกิดสลับตามข้อของลำต้น มีลักษณะเป็นรูปไข่โคนใบใหญ่ ฐานใบกลม กว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ลักษณะคล้ายใบพลู พื้นผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นมันสีเขียวเข้มถึงเขียวอ่อนไล่กันไปจากใบอ่อนถึงใบแก่ ด้านล่างใบสีจะจางกว่าด้านบน ขนาดใบและเส้นใบจะแตกต่างกันระหว่างสันของเส้นใบจะนูน

ดอก จะเกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง ออกดอกเป็นช่อ ความยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร ไม่มีก้านช่อ ดอกตัวผู้แยกกับดอกตัวเมีย แต่อยู่ในช่อเดียวกัน ผลเล็ก มีสีเขียวเข้มและจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดงเมื่อแก่จัด ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเป็นพริกไทยเมล็ด 6-7 เดือน

ผล ค่อนข้างกลม เรียงตัวกันหนาแน่นบริเวณแกนกลางของช่อผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวเข้มและจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามอายุผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร มีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ด เกิดจากสารแอลคาลอยด์ของไพเพอรี

 

พริกไทย เป็นพืชที่สามารถ เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี

แม้ในพื้นที่ซึ่งมีความชื้นสูง ไม่มีน้ำท่วมขัง สูงจากระดับน้ำทะเล 0-1,200 เมตร สภาพเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี ค่าความเป็นกรด เป็นด่าง อยู่ที่ 6.0-6.5 ความลึกของหน้าดินมากกว่า 50 เซนติเมตร พื้นที่อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,200-2,500 มิลลิเมตร มีแหล่งน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษเจือปน มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.0-6.5

2

ผลผลิตพริกไทย หากเทียบกับผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีจะดีกว่าผลไม้ชนิดอื่นในพื้นที่มาก และถ้าหากเกษตรกรดูแลต้นพริกไทยไม่ให้ทรุดโทรม ก็จะทำให้ผลผลิตในปีต่อๆ ไปดีขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนในเรื่องต้นทุนได้ลงไปแล้วในปีแรก อีกทั้งสามารถเก็บไว้ได้นานหลายปี       

พันธุ์ซีลอน เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา นิยมปลูกเพื่อขายเป็นพริกไทยสด มากกว่าทำพริกไทยดำหรือขาว ลักษณะของยอดจะออกสีน้ำตาลแดง จึงเรียกกันว่า “ซีลอนยอดแดง” นอกจากนี้ ยังมี พันธุ์ซีลอนยอดขาว เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา เช่นเดียวกันกับพันธุ์ซีลอนยอดแดง พริกไทยพันธุ์นี้ความจริงเป็นพริกไทย พันธุ์ PANIYUR-1 ซึ่งเป็นพริกไทยพันธุ์ลูกผสมของประเทศอินเดีย ระหว่างพ่อพันธุ์ Uthirankota กับแม่พันธุ์ Cheriyakaniyakadan (John.K.Ghanara tham, 1994)

พริกไทยพันธุ์นี้จะมีลักษณะเถาอ่อน สีจะเขียวอ่อนเกือบขาวโดยเฉพาะที่ยอดอ่อน จึงนิยมเรียกว่า “ซีลอนยอดขาว” เนื่องจากมีผู้นำพันธุ์มาจากประเทศศรีลังกา (ซีลอน) ลักษณะต่างๆ จะคล้ายกับพันธุ์ศรีลังกาที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือ ส่วนยอด ช่อผลจะยาวกว่าพันธุ์ศรีลังกาเล็กน้อย การเจริญเติบโตเร็วกว่าพันธุ์ซาราวัก ผลสดจะมีลักษณะโตกว่าพันธุ์ซาราวัก นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด เพื่อส่งโรงงานทำพริกไทยดอง

6

พริกไทยซีลอน มีคุณลักษณะเด่นคือ มีใบและทรงพุ่มใหญ่ ฝักยาว น้ำหนักดี ที่สำคัญเป็นพริกไทยพันธุ์หนัก สามารถเก็บฝักอ่อนจำหน่ายได้ เมื่อฝักมีอายุตั้งแต่ 3-6 เดือน ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะสามารถอั้นฝักไปเก็บขายในช่วงเดือนที่พริกไทยมีราคาแพงได้ อีกทั้งพริกไทยสายพันธุ์นี้ไม่ค่อยมีโรครบกวน จะมีปัญหาเดียวในช่วงปลายฝนต้นหนาวคือ ราน้ำค้าง ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการฉีดสารป้องกันเชื้อราทั่วไป ก่อนที่จะตัดแต่งกิ่ง จากนั้นจึงปลูกลงไร่ ให้ระยะห่าง 2-2.5×2-2.5 เมตร

พันธุ์ซาราวัก หรือ พันธุ์คุชซิ่ง พันธุ์ที่ชาวสวนพริกไทยจังหวัดจันทบุรี นิยมเรียกพันธุ์ “มาเลเซีย” นั่นเอง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก นำมาจากรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย สามารถต้านทานโรครากเน่าได้ดีกว่าพันธุ์จันทบุรี ซึ่งปลูกอยู่แต่เดิม เจริญเติบโตได้เร็วและให้ผลผลิตสูงกว่า ถ้าต้นสมบูรณ์จะให้ผลผลิตน้ำหนักสดเฉลี่ย ประมาณ 9-12 กิโลกรัม ต่อค้าง ต่อปี หรือไร่ละประมาณ 3,600-4,800 กิโลกรัมต่อปี เป็นพันธุ์สำหรับนำไปทำพริกไทยดำและพริกไทยขาว

เช่นเดียวกับเกษตรกร คุณประเสริฐ จันทโรทัย บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 1 ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (087) 841-2310 ที่เริ่มปลูกพริกไทยซีลอนมาได้ 1 ปีเศษ ซึ่งพริกไทยเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว เก็บขายในท้องถิ่นและแม่ค้าได้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท และยังขยายพันธุ์พริกไทยซีลอนด้วยการตอน สร้างรายได้เป็นอย่างดีในช่วงรอเวลาที่ต้นพริกไทยจะเริ่มให้ผลผลิต

คุณประเสริฐ จันทโรทัย กับสวนพริกไทย ที่ถือว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ ซึ่งมีเพื่อนเกษตรกรเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น
คุณประเสริฐ จันทโรทัย กับสวนพริกไทย ที่ถือว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ ซึ่งมีเพื่อนเกษตรกรเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น

คุณประเสริฐ เล่าว่า การปลูกพริกไทยถือว่าเป็นพืชใหม่ในพื้นที่อำเภอตะพานหิน เพราะส่วนมากเกษตรกรแถบนี้ก็จะทำนาข้าว ปลูกข้าวโพด ชะอม สวนมะนาว สวนส้มโอ แต่บังเอิญตนเองได้มีโอกาสไปนั่งฟังบรรยายเรื่องการปลูกพริกไทย ที่จัดขึ้นในตำบล ก็ได้รับฟังข้อมูลมาว่า พริกไทยเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแต่มีอายุการเก็บเกี่ยวนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และราคาซื้อขายพริกไทยสดค่อนข้างดี จึงเกิดความสนใจก็ไปศึกษาดูงานและซื้อต้นพันธุ์มาปลูก โดยเริ่มต้นปลูกในพื้นที่ 2 งาน โดยใช้เสาหลักปูน จำนวน 200 หลัก และต้นพันธุ์พริกไทยซีลอน จำนวน 4 ต้น ต่อหลักปูน ต้องใช้ต้นพันธุ์พริกไทย 800 ต้น และต้องมุงซาแรนคลุมอีกที แม้เป็นการลงทุนที่สูง แต่คุณประเสริฐเล่าว่า มีแนวโน้มของตลาดที่ดีมาก น่าจะสามารถคืนทุนได้ไม่นาน

 

การปลูกพริกไทย

สามารถปลูกได้ทั้งปีถ้ามีแหล่งน้ำ มีระบบน้ำที่ดี แต่ส่วนมากนิยมปลูกช่วงฤดูฝน เพราะต้นพริกไทยตั้งตัวได้เร็ว ประหยัดเรื่องการให้น้ำ โดยจะใช้ต้นพันธุ์ไทย 4 ต้น ต่อหลุม หรือค้าง ใช้ระยะ ปลูก 2×2 เมตร โดยเลือกใช้เสาปูนหน้ากว้าง 4 นิ้ว ความยาว 2.50 เมตร เพื่อจะขุดหลุมฝังลงดินไป 0.50 เมตร ให้เสาปูนมีความสูงจากพื้นขึ้นไป 2 เมตร

การขุดหลุม ซึ่งปัจจุบันทำได้สะดวกมากขึ้น โดยมีตัวเจาะหลุมติดหลังรถไถ หรือแบบเครื่องเจาะหลุมคล้ายๆ สว่านมือ ราคาเครื่อง 5,000-6,000 บาท แล้วแต่จะเลือกใช้ ในพื้นที่ดอนไม่มีน้ำท่วมขังก็เพียงปรับพื้นที่ให้เรียบ ไม่ให้พื้นที่เป็นแอ่งกระทะ เพราะต้นพริกไทยไม่ชอบน้ำขังแฉะ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่มก็ให้ใช้รถไถ ขึ้นเป็นแปลงลูกฟูก จุดประสงค์เพื่อให้บริเวณที่ปลูกระบายน้ำได้ดีนั้นเอง ซึ่งแม้พื้นที่ปลูกพริกไทยจะเป็นพื้นที่ดอน ก็สามารถขึ้นแปลงเป็นลูกฟูกได้ ปากหลุมห่างจากโคนค้าง ประมาณ 10-15 เซนติเมตร (เรื่องของระยะปลูกมีหลายระยะ เพราะเกษตรกรจะเป็นคนตัดสินใจว่าระยะปลูกแบบไหนที่จะเหมาะสมที่สุด นั้นมีปัจจัยต่างๆ ในการตัดสินใจ) ผสมดินที่ขุดขึ้นมาในอัตรา ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ต่อดิน 2 ส่วน โกยดินกลบลงในหลุมตามเดิม แต่จะมีลักษณะเป็นโคกดินหรือหลังเต่า เพราะมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นมา ขุดหลุมให้พอดีกับถุงต้นพันธุ์พริกไทย โดยนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้างเสาปูน หันด้านที่มีรากหรือตีนตุ๊กแกเข้าหาค้าง กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำให้อย่างสม่ำเสมอในช่วงแรกของการปลูก

 

การตัดแต่งต้น ปล่อยให้ขึ้นเสา

เมื่อต้นพริกไทยเริ่มตั้งตัวได้ มีการแตกยอดอ่อนและอาจจะมียอดอ่อนจำนวนมาก ก็ต้องตัดแต่งออกบ้าง ให้เหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้เพียง ต้นละ 2-3 ยอด ก็เพียงพอ เพื่อให้ยอดเกาะขึ้นเสาได้เร็ว ไม่สูญเสียอาหารในการเลี้ยงยอดจำนวนมาก จัดยอดให้อยู่รอบค้าง ใช้เชือกฟางผูกยอดให้แนบติดค้าง ผูกทุกข้อเว้นข้อ ถ้ามียอดแตกใหม่เกินความต้องการให้ตัดทิ้ง

พริกไทย อายุ 1 ปีเศษ บนหลักพริกไทย ที่สูงจากพื้น 2 เมตร
พริกไทย อายุ 1 ปีเศษ บนหลักพริกไทย ที่สูงจากพื้น 2 เมตร

เมื่อต้นพริกไทยเจริญงอกงามดีแล้ว ควรตัดไหลที่งอกออกตามโคนทิ้ง ตัดกิ่งแขนงที่อยู่เหนือผิวดิน 8-10 เซนติเมตร ออกให้หมด เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แดดส่องถึง ในระยะที่พริกไทยยังไม่เจริญเติบโตถึงยอดค้าง ต้องเด็ดช่อดอกออกให้หมด ถ้าทิ้งไว้จะทำให้พริกไทยเติบโตช้า และควรมีการตัดกิ่งส่วนบน เพื่อความสะดวกในการทำงาน ซึ่งจะทำปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว

กรณีที่ต้องการเลี้ยงเถาเพื่อใช้ทำพันธุ์ขยายพื้นที่ปลูกในปีต่อไป หรือเพื่อจำหน่าย ขายเอาคืนทุนเป็นรายได้ระหว่างรอเวลา เมื่อพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน เมื่อพริกไทยแตกยอด จัดยอดขึ้นค้างเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไป ประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้าง

 

การใส่ปุ๋ย

แนะนำให้ใส่โดโลไมท์ หรือปูนขาว ปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 300-500 กรัม ต่อค้าง ก่อนใส่ปุ๋ยเคมี 15-30 วัน เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อัตรา 2-5 กิโลกรัม ต่อค้าง หรือแบ่งใส่ปีละ 2-3 ครั้ง ใส่มากหรือน้อย บ่อยครั้งแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินและความสมบูรณ์ของแปลงปลูกของเกษตรกรเอง การใส่ปุ๋ยเคมี คุณประเสริฐก็เน้นใส่ปุ๋ยพื้นฐาน อย่างสูตรเสมอ สูตร 15-15-15 อัตรา 300-500 กรัม (3-5 กำมือ) ต่อค้าง อาจจะสลับหรือผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 บ้างถ้าเห็นว่าต้นพริกไทยไม่ค่อยจะแตกยอด

ปลูกพริกไทยในพื้นที่ราบ อากาศร้อน จะต้องมีการมุงหลังคาด้วยซาแรนพรางแสง
ปลูกพริกไทยในพื้นที่ราบ อากาศร้อน จะต้องมีการมุงหลังคาด้วยซาแรนพรางแสง

ส่วนใส่ปุ๋ยคอก ก็จะหว่านรอบเป็นวงกลมห่างจากต้นพริกไทยมาสัก 1 คืบมือ และช่วงหน้าแล้งแนะนำใช้ฟางมาคลุมดินเพื่อให้ดินมีความชื้นสะสมที่นานขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นมาแย่งอาหารพริกไทยด้วย จนกระทั่งพริกไทยมีอายุ 8-13 เดือน (ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น การดูแลสภาพสวน) จึงเริ่มแตกตาดอกและให้ผลผลิต แต่จะให้ผลผลิตน้อย เพียงหลักละ 1-3 กิโลกรัม ต่อปี เท่านั้น

ในปีแรกเราจะยังไม่เน้นให้พริกไทยติดฝัก เพราะทันทีที่พริกไทยแตกตาดอก ติดฝักนั้น พริกไทยจะชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น ในปีแรกควรบำรุงต้น ดูแลทรงพุ่มให้มีขนาดใหญ่ ควรเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน โดยให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ที่มีสูตรตัวหน้า (N) สูง เช่น สูตร 20-7-7 หรือ 18-6-6 หรือ 30-20-10 ก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มไนโตรเจนสร้างยอดและใบใหม่ และอีก 7 วันต่อมาก็ค่อยให้ปุ๋ยทางดินสูตรเสมอ เป็นการบำรุงต้นต่อไป เมื่อต้นพริกไทยอายุครบ 2 ปี จะเริ่มเหมาะสมปล่อยให้มีการติดผลเก็บผลผลิต

4