สาวหัวใจเกษตร ลาออกจากราชการ ผลิตผักเชียงดา ส่งตลาด สร้างรายได้อย่างต่ำเดือนละหมื่น

Jpeg

คุณโสภา สุขแสนโชติ จากข้าราชการเปลี่ยนอาชีพเป็นเกษตรกร ผลิตผักเชียงดาส่งตลาด รายได้อย่างต่ำเดือนละหมื่น

คุณโสภา สุขแสนโชติ หรือ พี่ต้อย ของน้องๆ ลาออกจากราชการ หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือ ผักเชียงดา พี่ต้อยเล่าให้เราฟังว่า จบการศึกษาทางด้านการเกษตรจากเกษตรน่าน รุ่นที่ 36 ก็เข้ารับราชการจนเมื่อ ปี 2556 ก็ตัดสินใจอำลาชีวิตราชการ มาทำการเกษตรร่วมกับครอบครัวทั้งสามีและลูกชาย โดยพี่ต้อยช่วยงานทุกคนมาตลอด จนเมื่อไม่นานมานี้จึงเริ่มผลิตผักเชียงดาอย่างจริงจัง

คุณโสภา สุขแสนโชติ หรือ พี่ต้อย
คุณโสภา สุขแสนโชติ หรือ พี่ต้อย

เมื่อช่วงต้นปี 2554 ได้นำผักเชียงดามาปลูกไว้ 2 ต้น ตายไป 1 ต้น โดยซื้อมาจากตลาดคำเที่ยง จังหวัดเชียงใหม่ เหตุที่นำผักเชียงดามาปลูกหลังบ้านก็เพราะชอบกินแกงผักเชียงดามาตั้งแต่เล็กๆ ถูกปลูกฝังให้กินผักพื้นบ้านทุกชนิด ที่บ้านเกิดบ้านป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คุณพ่อ คุณแม่ ได้ปลูกไว้ 4-5 ต้น ตอนเด็กๆ คุณแม่ใช้ให้ไปเก็บผักเชียงดามาประกอบอาหารอยู่เป็นประจำ เช่น แกงใส่ปลาแห้ง ใส่แกงแค เอามาผัดไข่ ลวกกินกับน้ำพริก และตำมะม่วง ทุกคนในครอบครัวจะชื่นชอบมากๆ ผักเชียงดายิ่งเด็ดยอดก็จะยิ่งแตกยอดอย่างรวดเร็ว ญาติๆ และเพื่อนบ้านต่างก็มาเด็ดยอดไปประกอบอาหาร ที่บ้านจะไม่หวงเผื่อแผ่กันไป เพราะบางบ้านเขาก็ไม่มีที่ดินกว้างพอจะปลูกผักกินได้

ที่บ้านสวนไร่แสนสุข มีต้นผักเชียงดาอยู่ต้นเดียว ปลูกใกล้ๆ กับต้นน้อยหน่า เถาของผักเชียงดาจะพันต้นน้อยหน่าเป็นเถาใหญ่มาก มักจะเด็ดยอดผักเชียงดาใส่แกงแคและลวกจิ้มน้ำพริก แต่ไม่พอจะเอามาแกงใส่ปลาแห้งสักที จึงคิดจะปลูกเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอที่จะเด็ดยอดมาแกงสำหรับคนในครอบครัว 4 คน จึงได้ตัดเถามาชำไว้ในโรงเรือนเพาะชำ 50 กิ่ง วันหนึ่งแม่ค้าที่มาซื้อมะนาวในสวน ซึ่งมาเป็นประจำ ได้เห็นกิ่งชำผักเชียงดากำลังผลิใบแตกยอดสวย แม่ค้าบอกว่าให้ปลูกเยอะๆ จะได้รับไปขายให้ เพราะเป็นผักพื้นบ้านที่หายาก บางที่ชาวบ้านเก็บมาขายแค่กำสองกำ คนซื้อจะซื้อไปแกงไม่พอ เพราะมีน้อย น่าจะปลูกมากๆ ได้ขายแน่นอน วางตลาดในหมู่บ้าน ตลาดแม่ทองคำ รวมถึงตลาดในเมืองพะเยาก็ได้ คุณโสภาไปสำรวจตลาดในตัวเมืองพะเยา โดยแม่ค้ารับซื้อผักมาจากชาวบ้านที่ปลูก เลยลองซื้อมา 3 กำ กำๆ ละ 10 บาท เอามาเช็กดู 1 กำ น้ำหนัก 1 ขีด หรือ 100 กรัม แม่ค้าบอกว่าซื้อมากิโลกรัมละ 70 บาท เสร็จแล้วนำมาแบ่งเป็นกำ ขายกำละ 10 บาท จะขายได้ทั้งหมด 100 บาท

แปลงปลูกผักเชียงดา
แปลงปลูกผักเชียงดา

สำหรับอีกเหตุผลหนึ่งที่อยากปลูกผักเชียงดาให้มากๆ ก็เพราะมีความตั้งใจที่จะให้สวนชื่อ ไร่แสนสุข เป็นสวนที่มีผักพื้นบ้านหลายๆ ชนิด ที่กินแล้วมีประโยชน์ปลอดภัย อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณ กินอยู่ง่ายๆ โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน กินได้ไม่เบื่อและประกอบอาหารได้หลายๆ อย่าง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 วันพืชมงคล จึงปลูกผักเชียงดาตามแนวถนนเข้าบ้าน ปลูกเป็น 2 แถว แถวละ 35 ต้น รวมเป็น 70 ต้น 40 ต้น ปักชำเอง จากกิ่งต้นเชียงดาที่มีอยู่หลังบ้านอีก 30 ต้น ได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่เกษตรน่าน ผอ. สุภาวรรณ กิตติพัฒนวิทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเชียงใหม่ หรือพืชสวนเชียงใหม่ ที่อำเภอดอยสะเก็ด ปัจจุบัน สามารถเก็บขายส่งให้แม่ค้าที่มารับซื้อถึงสวน วันหนึ่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 350-400 บาท

ยอดผักเชียงดา
ยอดผักเชียงดา

สำหรับข้อมูลทางวิชาการของผักเชียงดา เป็นผักท้องถิ่นของทางภาคเหนือ และเป็นพืชผักสวนครัว ที่เราจะนำดอกและยอดอ่อนมาทำเป็นอาหาร โดยผักเชียงดามีทั้งที่ขึ้นอยู่ในป่าและที่นำมาปลูกเพื่อการบริโภค ชนิดที่ขึ้นในป่ามีรสชาติขมกว่าชนิดที่ปลูกตามบ้าน และมีลักษณะของใบที่ใหญ่กว่าด้วย แต่สีของใบจะเข้มน้อยกว่า ส่วนลักษณะของผักเชียงดาที่ปลูกนั้นมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ลำต้นสีเขียว ส่วนต่างๆ ที่อยู่เหนือดินมีน้ำยางใสสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยวสลับ ดอกออกเป็นช่อที่ง่ามใบ ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้มหรือสีเขียว ผลออกเป็นฝักรูปร่างคล้ายหอก

ชาผักเชียงดา
ชาผักเชียงดา

สำหรับสรรพคุณทางสมุนไพรของผักเชียงดา มีสรรพคุณในการแก้ไข้ แก้แพ้ แก้หวัด โดยนำใบสดของผักเชียงดามาตำ จนละเอียดแล้วใช้พอกบริเวณกระหม่อม ใช้รักษาอาการท้องผูก แก้โรคริดสีดวงทวาร ทำให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น โดยชาวบ้านจะนำผักเชียงดามาแกงกับผักตำลึงและยอดชะอม มีฤทธิ์ช่วยควบคุมการทำงานภายในร่างกาย ให้เป็นไปอย่างปกติ โดยเฉพาะการกินผักเชียงดาในช่วงหน้าร้อนจะช่วยระบายความร้อนในร่างกายได้ดี ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย รวมถึงไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ในลำไส้ โดยจะควบคุมปริมาณของไขมันในร่างกายให้มีความสมดุล ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับอ่อนให้แข็งแรง ทำให้การทำงานของตับอ่อนเป็นไปอย่างปกติ สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากผักเชียงดามีฤทธิ์ทำให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างไขมัน จึงไม่มีไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง บรรเทาอาการปวดข้อหรือปวดกระดูกจากโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก ช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด

Advertisement

Jpeg

จากสรรพคุณทางยาของผักเชียงดาในข้างต้นนี้ ปัจจุบัน จึงได้มีการนำมาผลิตเป็นยาในรูปแบบของยาแคปซูล เพราะคุณสมบัติของผักเชียงดานั้นยังสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อีกสารพัดโรค เช่น แก้ปวดหัว ทำให้เจริญอาหาร ลดไข้ ขับเสมหะ ช่วยระงับประสาท ฯลฯ ผักเชียงดาเป็นพืชผักที่ปลูกง่าย เพราะนอกจากจะขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว ก็ยังสามารถนำมาขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำกิ่งหรือการเพาะเมล็ด โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนและมีการระบายน้ำดี มักนิยมปลูกอยู่ตามริมรั้วหรือปล่อยให้ขึ้นเลื้อยไม้อื่นก็ได้

Advertisement

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณโสภา สุขแสนโชติ 215 หมู่ที่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 56000 เบอร์โทรศัพท์ (081) 783-4428