ลาออกก่อนเกษียณ ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ปลูกปาล์มประดับขายได้ครั้งละแสน นาข้าวขายผลผลิตไร่ละหมื่นบาท

ข้างหลังปาล์มอ้ายหมี ต้นละหลายแสนบาท

สวนแสนปาล์มที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาใหญ่คือ อาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค ซึ่งรู้จักกันในนาม “บิดาปาล์มประดับของเมืองไทย” โดยมีคณะทำงานเจ้าภาพคือ รองศาสตราจารย์ชูเกียรติ รักซ้อน และคุณมานิจ หรือรณภูมิ สุขีวงศ์ รวมทั้งท่านอื่นอีกจำนวนมาก

พื้นเพเดิมเป็นคนกำแพงแสน

คุณมานิจ สุขีวงศ์ เกิดบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนในปัจจุบัน คุณพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อทางราชการเวนคืนที่ดินสร้างมหาวิทยาลัย ชาวบ้านต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นจำนวนกว่า 2 หมู่บ้าน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยช่วงนั้นคือ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ ได้ให้คุณพ่อของคุณมานิจช่วยพูดคุยและดูแลชาวบ้านที่ต้องย้ายถิ่นฐาน ตัวคุณมานิจเองหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้นแล้ว เขาได้ศึกษาต่อทางด้านการเกษตรที่เกษตรจันทบุรี

คุณมานิจ คุณลิ้นจี่ สุขีวงศ์
คุณมานิจ คุณลิ้นจี่ สุขีวงศ์

หลังเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเมื่อปี 2521 คุณมานิจมาทำงานในสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จากนั้นได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หน้าที่รับผิดชอบคือ ส่งเสริมความรู้ทางการเกษตร รวมทั้งฝึกวิชาชีพ

 

ลุยงานอย่างต่อเนื่อง

งานส่งเสริมและฝึกอบรมทางด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือว่าสร้างประโยชน์ให้คนในวงกว้าง คุณมานิจทำงานอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกันก็ร่วมกับคณาจารย์ตั้งสมาคมเกี่ยวกับการเกษตรขึ้น เช่น สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ชมรมกวาง แต่ที่เจ้าตัวพบหนทางของตนเองคือการก่อตั้งสมาคมปาล์มประดับแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงสวนแสนปาล์ม

การมีส่วนร่วมในงานดังกล่าว นอกจากในมหาวิทยาลัยแล้ว นอกมหาวิทยาลัยก็ยังมีงานจัดภูมิทัศน์สถานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยจัดภูมิทัศน์ที่โรงงานกษาปณ์ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) และที่อื่นๆ โดยคุณมานิจเป็นแกนในการทำงาน และยังมีส่วนจัดการสวนจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างการทำงาน คุณมานิจใช้ความรู้และประสบการณ์เต็มที่โดยเฉพาะการจัดสวน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากต้นไม้

ตั้งแต่เรียนอยู่จันทบุรี รู้จักปาล์มประดับอย่างหมากหัวลิง หมากงาช้าง ได้รับความรู้จากอาจารย์บัญญัติ บุญปาล อาจารย์ประเสริฐ ยมมรคา อาจารย์ประสาน ทองอำไพ เมื่อมีการฝึกอบรมการปลูกปาล์มประดับเพื่อการค้า มีอาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค เป็นวิทยากร ผมเป็นผู้ทำงาน ร่วมจัดฝึกอบรมด้วย คุณมานิจเล่า

 

ต้องสร้างอู่สร้างบ้าน

เนื่องจากที่ดินของบรรพบุรุษถูกเวนคืน คุณมานิจจึงใช้ที่ดินรอบๆ บ้านพักในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งก็หนีไม่พ้นปาล์ม

เมื่ออายุได้ 40 ปี เขาปรึกษาภรรยาคือคุณลิ้นจี่ซึ่งเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกันในเรื่องการสร้างรวงรัง

ครอบครัวเป็นหลัก ภรรยาเข้าใจ อย่างไรต้องมีอู่ มีบ้าน มีที่ดินก่อน จะอาศัยบ้านหลวงไปตลอดคงไม่ไหว จึงคิดหาซื้อที่ดิน จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายเรามีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกจ่ายในชีวิตประจำวันเช่น ค่าอาหาร ค่าสังคม และส่งลูกเรียน เมื่อต้องการซื้อที่ดินก็มีรายจ่ายส่วนที่ 3 เข้ามาคือต้องจ่ายค่าที่ดิน ผมเริ่มจากศูนย์ ระบบราชการมีสหกรณ์ออมทรัพย์ให้กู้ยืม คุณมานิจบอก

นาข้าว
นาข้าว

คุณมานิจซื้อที่ดินห่างจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนไม่เกิน 10 กิโลเมตร ตรงนั้นคือบ้านเลขที่ 100 หมู่ 5 ตำบลห้วยหมอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เขาซื้อที่ดินเมื่อปี 2535 จำนวน 6 ไร่ ราคาไร่ละ 8 หมื่นบาท ทางเข้าเป็นถนนลูกรังไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อมีที่ดิน เขาตะลุยปลูกปาล์มประดับ เจ้าของตั้งชื่อบ้านว่า “สุขีวังปาล์ม”

ปี 2550 เขาซื้อที่ดินเพิ่มอีก 14 ไร่ ราคาไร่ละ 1.2 แสนบาท ตอนนี้มีถนนลาดยางและมีไฟฟ้าใช้ เรามาทางด้านการเกษตร ไปทำอสังหาริมทรัพย์คงไม่ไหว ผมปลูกปาล์มประดับเพื่อการค้า ทำพืชไร่ต้องทำตลอดเวลา ทำปาล์มยิ่งโตมูลค่ายิ่งสูงขึ้น ช่วงนั้นปาล์มราคาดี 3 ต้นแสนก็ได้ 3 ต้นล้านก็ได้ ที่นิยมตอนนั้นอินทผลัมใบเงิน หงส์เหิร อ้ายหมี…มีอยู่ช่วงหนึ่งผมขายปาล์ม 100 ต้นได้เงิน 5 แสนบาท นำมาสร้างบ้าน

คุณมานิจเล่าถึงการซื้อขายปาล์มประดับว่า ปาล์มยังไปได้ไหม…เป็นวัฏจักรหมุนรอบหนึ่งกลับมาอีกรอบหนึ่ง แต่รอบใหม่ดีกว่ารอบเก่า รอบแรกอาจจะใช้สะเปะสะปะ 150 ชนิด ราคาแพง รอบที่ 2 อาจจะเหลือ 80 ชนิด รอบที่ 3 อาจจะเหลือไม่เท่าไหร่ รอบที่ 4 อาจจะใช้เป็นกลุ่มหลายชนิด ราคาถูกตั้งแต่ปี 2534 เริ่มมีการปลูกและใช้ปาล์มจริงจัง ประเทศเจริญแล้วใช้ปาล์มประดับ แต่ต้องใช้ให้เป็น ปี 2558 ใช้ต้นใหญ่ ไม้ประดับถนนใช้มาก ตาลโตนด อินทผลัมใบเงิน ใช้เป็นวินด์เบรค เช่น ทำเนียบรัฐบาล ใช้ต้นใหญ่ เปลี่ยนรูปโฉมการใช้ปาล์มมีหลายชนาด ตั้งแต่ต้นเท่าดินสอ จนถึงขนาดถัง 200 ลิตร ต้องเรียนรู้การใช้ ใบก็แตกต่างกัน

 

ลาออกก่อนเกษียณ ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ

เมื่ออายุได้ 56 ปี ลูกชาย 2 คน เรียนจบและทำงานหมดแล้ว คุณมานิจลาออกจากงานขณะที่ภรรยายังทำงานอยู่ในพื้นที่ 20 ไร่ เขายังมีปาล์มประดับ แต่ที่ทำเพิ่มเติมคือ นาข้าว ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ดีปลี

“ปาล์มใครจะซื้อมาชี้เอา ผมทำนาปลูกข้าวไรซ์เบอรรี่จำนวน 4 ไร่ ปีหนึ่งทำได้ 2 ครั้ง มีโรงสีอยู่ไม่ไกล ทำนาไม่ยาก ใช้โทรศัพท์ ให้รถมาไถ มาเกี่ยว เราเป็นผู้จัดการ แต่ต้องดูเรื่องปุ๋ยและศัตรูข้าว ข่าก็ปลูก วิธีปลูกข่า หากต้องการปลูกแล้วขุดยกกอใช้เวลา 4 เดือน แต่หากปลูกเพื่อสางทยอยขายใช้เวลา 6 เดือนเริ่มสางได้ ก่อนปลูกต้องไปแจ้งโควต้าที่ตลาดปฐมมงคล นครปฐม มะกรูด ปลูกเพื่อตัดใบ ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นาน ดีปลีมี 200 ค้าง” คุณมานิจเล่าถึงกิจกรรม

 

พอใจในสิ่งที่ทำ

คุณมานิจบอกว่า เรื่องรายได้จากกิจกรรมไม่เน้นมาก ปาล์มประดับอาจจะขายได้ครั้งละแสน นาข้าวขายผลผลิตไร่ละหมื่นบาท โดยมีต้นทุน 6 พันบาท ข่าขายได้กิโลกรัมละ 25 บาท

“ผมพอใจได้ที่ดิน สุขกายสุขใจ มีเพื่อนมาคุย สุขภาพดี ได้บรรยากาศที่เราชอบ ได้จัดสวน อยากปลูกตรงนั้นตรงนี้ ได้พูดคุย รายได้พอๆ กับรายจ่าย บางปีขาดทุนนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร จะทำผสมผสาน หากช่วงมีงานมากก็จ้างคนมาช่วยงานมากหน่อย เราคอยดูแล ถ่ายรูปส่งไปให้เพื่อนดู ถ่ายภาพนะชอบสร้างภาพ ตอนนี้เป็นปู่เป็นย่าแล้ว ไม่ใช่ตายายเพราะมีแต่ลูกชาย มีเวลาก็ตระเวนเยี่ยมญาติ เลี้ยงรุ่นปีละ 1-2 ครั้ง ไปงานศพของพ่อแม่เพื่อนๆ”

ข่า
ข่า

คุณมานิจเล่าอย่างมีความสุขและบอกต่ออีกว่า “หากมีคนอยากทำเกษตร ต้องมีที่ดิน น้ำ ไฟ…ไฟในที่นี้หมายถึงอุณหภูมิ อากาศเป็นอย่างไร ต้องดูบริเวณนั้นว่าเขาปลูกอะไรกัน แถวนี้ปลูกข่า นาข้าว ดีปลี หากอยู่เชียงใหม่ต้องปลูกลำไย นอกจากเก็บเงินซื้อที่แล้ว แต่ละคนก็มีเทคนิคในการทำเกษตรแตกต่างกัน ผู้ที่เกษียณ หากไม่มีที่ดินไม่มีต้นทุนมาก่อน ควรพิจารณาให้ดี”

นับเป็นคนวัยเกษียณที่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบจริงๆ

ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณมานิจได้ที่โทรศัพท์ 081-9818956