“มังคุดอินโด” เนื้อกรอบ หวาน หอม รูปทรงคล้ายหวดนึ่งข้าวเหนียว

“มังคุดอินโด” เป็นหนึ่งในไม้ผลเด่นที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้เข้าชมงานเกษตรมหัศจรรย์ ที่จัดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน บริเวณสกายฮอลล์ เซ็นทรัลลาดพร้าว

มังคุดอินโด ที่นำมาโชว์ในครั้งนี้ เป็นไม้ผลทางเลือก ของสวนประสมทรัพย์ ที่นำมาปลูกเมื่อ 10 ปีกว่าก่อน โดย “คุณมนตรี กล้าขาย” อดีตข้าราชการเกษียณของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำเรื่องมังคุดอินโดมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ปรากฏว่า สร้างกระแสฮือฮาในวงการไม้ผลเป็นอย่างมาก ใครๆ ก็อยากปลูก ใครๆ ก็อยากชิมมังคุดอินโดแต่เรื่องกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

คุณมนตรี กรุณาสละเวลาพา คุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน พร้อมทีมงานไปชมต้นมังคุดอินโดที่สวนประสมทรัพย์ ของ “ลุงจวบ” หรือ คุณประจวบ จำเนียรศรี รองประธานสภาเกษตรแห่งชาติ พร้อมพูดคุยกับ “ป้าสม” ภรรยาลุงจวบ ณ บ้านเลขที่ 108/7 บ้านชากเล็ก หมู่ที่ 5 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

 

มังคุดอินโด

เมื่อพวกเรามาถึงสวนแห่งนี้ ลุงจวบไม่อยู่ ติดภารกิจเดินทางไปส่งของให้ลูกค้ารายหนึ่ง เพื่อไม่ให้เสียเวลารอคอยอย่างเปล่าประโยชน์ ป้าสมพาพวกเราไปชมต้นมังคุดอินโด และคุณมนตรีได้เล่าความเป็นมาของมังคุดอินโดให้ฟังว่า ช่วง ปี 2550-2551 คุณเอกชัย พฤกษ์อำไพ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง ได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้นำมังคุดอินโดมาฝากลุงจวบ จำนวน 3 ต้น

ลุงจวบ ได้นำต้นมังคุดอินโดไปปลูก พร้อมดูแลรักษาให้ปุ๋ย-ให้น้ำอย่างดี ช่วง 3-4 ปีแรกของการปลูก ต้นมังคุดอินโดมีการเจริญเติบโตที่ดี ทรงพุ่มใช้ได้ และมีลักษณะเด่นหลายอย่าง ย่างเข้าปีที่ 3 ต้นมังคุดอินโดเริ่มออกดอกติดผลแล้วสัก 2-3 ผล ชิมดูเห็นว่ารสชาติดีมาก และมีทรงผลก้นจีบ ย่างเข้าปีที่ 4 (ปี 2555) ต้นมังคุดอินโดออกดอกและติดผลสัก 80-90 ผล และเริ่มทยอยสุกแล้วสัก 15-20 ผล จึงนำมาแจกจ่ายให้ข้าราชการและสื่อมวลชนที่เยี่ยมชมสวนได้ทดลองชิมรสชาติกัน ปรากฏว่า เป็นที่ติดอกติดใจของทุกคน

 

“ลุงจวบ” หรือ คุณประจวบ จำเนียรศรี

จุดเด่นของมังคุดอินโด

คุณมนตรี กล่าวว่า มังคุดอินโด มีลักษณะทรงผลแตกต่างจากมังคุดไทยชัดเจน โดยส่วนไหล่ผลถึงกลางผลของมังคุดอินโดจะออกทรงกลมมน แต่จากส่วนกลางผลลงไปทางก้นผลจะค่อนข้างเรียวเล็กน้อย (คล้ายทรงหวดนึ่งข้าวเหนียวหรือกระถางต้นไม้) มองดูว่ารูปทรงของผลมังคุดอินโดจะออกส่วนยาวกว่ามังคุดไทย (ผลมังคุดไทยจะเป็นทรงผลกลมมนทั้งส่วนไหล่และก้นผล)

ส่วนก้นผลมังคุดอินโดมีลักษณะ “ก้นจีบ” ชัดเจนมาก ที่ก้นผลมีกลีบเลี้ยงเล็กๆ 7-8 กลีบย่อย เชื่อมต่อกันเป็นรูปวงกลม ก้านผลเชื่อมต่อกับหูใบที่แยกเป็น 4 กลีบ (แฉก) สีเขียวสดใสเป็นมันวาว ค่อนข้างแข็งเมื่อจับดูด้วยมือ  เปลือกผลอ่อนสีเขียวหรือเขียวอมเหลือง เปลือกผลเมื่อแก่มีจุดประ หรือกลุ่มเม็ดสีสีชมพูอมแดงหรือสีแดงน้ำตาล  กระจายทั่วผลต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงม่วง และสีม่วงเมื่อสุกเต็มที่ มังคุดอินโดเปลือกค่อนข้างบาง ผิวเปลือกเรียบมัน ขนาดของผลจัดว่าเป็นผลขนาดกลาง และค่อนข้างสม่ำเสมอ ดูไม่ค่อยแตกต่างกันในดอกรุ่นเดียวกัน

ด้านเนื้อและรสชาติ คุณมนตรี บอกว่า มังคุดอินโดมีเนื้อใน (พู) สีขาวสดใส แต่พูมีขนาดเล็กกว่ามังคุดไทย โดยเฉลี่ยมี 7-8 พู (กลีบ) เนื้อเมื่อเคี้ยวค่อนข้างอ่อนนุ่ม แห้งกว่า/ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานมาก อมเปรี้ยวนิดหน่อย ออกกลิ่นหอม ไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดที่เนื้อเป็นวุ้นอ่อนนุ่ม-เคี้ยวได้ไม่สะดุด กินได้ทุกพูอร่อยไปอีกแบบ  (เกษตรกรเรียกพืชให้เมล็ดน้อยว่า “พวกหวงเมล็ด”) จึงหวังจะได้เมล็ดไปขยายพันธุ์ได้ยากมาก

ประเมินค่าความหวานของมังคุดอินโดก็ราวๆ 16-18 บริกซ์ เป็นอย่างต่ำ เนื้อในไม่ปรากฏอาการเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลมังคุดไทยที่ว่า หากเป็นผลมังคุดขนาดกลางและผลเล็ก ที่มีพูหรือกลีบเนื้อในมีขนาดเล็ก จะไม่ค่อยพบอาการเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งตรงนี้อาจเป็นจุดเด่นของมังคุดอินโดก็ได้ ต้องรอการพิสูจน์ในระยะต่อไป

คุณมนตรี กล่าวว่า มังคุดอินโดมีลักษณะต้นและทรงพุ่ม ลำต้นขึ้นตรง เปลือกลำต้นออกเขียวขี้ม้าเข้ม-เทา การแตกกิ่งหลักและกิ่งย่อยดูเป็นระเบียบ ไม่มากและดูไม่ทึบ ออกดอก-ติดผลที่ปลายกิ่ง เท่าที่ไปดูที่ต้นเป็นผลเดี่ยว  ยังไม่พบที่ออกเป็นคู่/ช่อ ใบมีขนาดใหญ่-กว้าง และค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม สีใบเขียวเข้ม-เป็นมัน จับดูค่อนข้างแข็ง อย่างไรก็ตาม คุณมนตรี เชื่อว่า “มังคุดอินโด” เป็นพันธุ์มังคุดทางเลือก ที่เหมาะปลูกเป็นการค้า เนื่องจากมีคุณลักษณะทางการเกษตรบางประการที่ดีกว่ามังคุดไทย

 

การปลูกดูแล 

หลังเปิดตัวมังคุดอินโดสู่สาธารณชนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีคนอยากได้กิ่งพันธุ์มังคุดอินโดไปปลูก แต่ลุงจวบไม่มีพันธุ์ขาย เพราะหาเมล็ดพันธุ์มังคุดอินโดไปปลูกขยายพันธุ์ไม่ได้นั่นเอง ปัจจุบัน สวนประสมทรัพย์แห่งนี้ปลูกมังคุดอินโดได้เพียงไม่กี่ต้น ผลผลิตที่เก็บขายทุกวันนี้มาจากมังคุดอินโดรุ่นแรกที่ปลูก

มังคุดอินโด เนื้อกรอบ รสหวาน มีเมล็ดน้อยมาก ส่วนใหญ่เจอแต่เมล็ดลีบเล็ก เคยเจอเมล็ดสมบูรณ์แต่ก็มีจำนวนน้อยเสียเหลือเกิน หากเจอถือเป็นโชคดีมาก ต้องรีบนำไปเพาะเมล็ดเพื่อปลูกขยายพันธุ์ในสวนต่อไป

“ความจริง ต้นมังคุดสามารถขยายพันธุ์แบบต่อยอดได้ แต่จะไม่ได้ผลดีเท่ากับวิธีเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดก็ใช่ว่าจะติดทุกต้น เพราะมังคุดเพาะเมล็ดให้ติดได้ยากแถมเติบโตช้ากว่าไม้ผลชนิดอื่น ต้องใช้เวลาดูแลนานถึง 2 ปี จึงจะได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์นำไปปลูกในแปลง” ลุงจวบ กล่าว

ป้าสม บอกว่า ต้นมังคุดอินโด ติดผลง่ายกว่า มังคุดไทย แต่ช่วงที่ต้นมังคุดอินโดกำลังให้ผลผลิต ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะผลมังคุดอินโดเหี่ยวได้ง่าย ต้องคอยเปิดน้ำให้ดินชุ่มทุกๆ 3 วัน เพื่อป้องกันผลเหี่ยว ต้นมังคุดอินโดอายุ 10 กว่าปี เจริญเติบโตแข็งแรงให้ผลผลิตที่ดี เพราะลุงจวบบำรุงต้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์สูตรพระราชทาน ซึ่งประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญคือ ขี้วัว 10 กระสอบ แถลบ 5 กระสอบ รำละเอียด 1 กระสอบ และกากน้ำตาลหรืออีเอ็ม ใช้เวลาหมักนาน 10 วัน ก็นำไปใช้งานได้เลย ลุงจวบใส่ปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้กับต้นมังคุดอินโดละ 1 กระสอบ ใส่พร้อมปุ๋ยเคมีอีกเล็กน้อย เพื่อบำรุงดินบำรุงต้นให้ได้ผลลูกใหญ่ ลุงจวบผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายให้กับผู้สนใจ ในราคากระสอบละ 100 บาท

ด้านตลาด

มังคุดอินโด ผลแก่สุกงอม ผลดำคล้ำแต่เนื้อในยังแข็ง รสชาติหวานกรอบ อร่อย เหมือนเดิม ซึ่งแตกต่างจากมังคุดไทยผลสุกงอมก็ไม่อร่อยแล้ว ทุกวันนี้ ป้าสมขายผลมังคุดอินโดในราคาหน้าสวนที่กิโลกรัมละ 150 บาท แต่ละปีเก็บผลผลิตได้ไม่มาก หลายคนมีเงินอยากซื้อก็ทำไม่ได้ เนื่องจากลูกค้าขาประจำและข้าราชการในจังหวัดระยองนิยมสั่งจองกันล่วงหน้าข้ามปี เพื่อซื้อเป็นของขวัญของกำนัลผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของมังคุดอินโด

ส่วนมังคุดไทยนอกฤดู เกรดผิวมัน ราคาขายหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 170-180 บาท ส่วนเกรดมังคุดผิวลาย ขายที่กิโลกรัมละ 80 บาท สำหรับมังคุดอินโดรุ่นใหม่เพิ่งปลูกได้ไม่กี่ปี ต้นยังเล็ก ยังไม่มีผลผลิตออกขายในช่วงนี้

ลุงจวบ นับเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่จัดกิจกรรมบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชิมผลไม้ในสวนมาตั้งแต่ ปี 2547 โดยคิดค่าหัวแค่ 99 บาท ต่อคน เพราะช่วงนั้นทุเรียนหมอนทอง ราคาขายหน้าสวนแค่กิโลกรัมละ 15 บาท ส่วนชะนีไม่มีราคา เงาะขายกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น สำหรับปีนี้ ลุงจวบจัดกิจกรรมบุฟเฟ่ต์ผลไม้ 5 ชนิด คือ  ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สะละ โดยคิดราคาค่าหัว รายละ 499 บาท

หากใครอยากกินผลไม้ให้อิ่มพุงกาง ก็แวะมาได้ที่สวนประสมทรัพย์แห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนสิงหาคมปีนี้ ลุงจวบ บอกว่า แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมกิจกรรมบุฟเฟ่ต์ผลไม้ของสวนแห่งนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขาประจำ เนื่องจากทุกคนได้มีโอกาสชิมผลไม้คุณภาพดี ที่มีรสชาติอร่อยได้อย่างจุใจ

การเดินทางมาสวนประสมทรัพย์แห่งนี้ไม่ยุ่งยาก มีป้ายบอกเส้นทางตลอด หากใช้ถนนสาย 36 เลี้ยวซ้ายจากห้างบิ๊กซี ถึงสวนแห่งนี้ มีระยะทาง 20 กิโลเมตร เท่านั้น หากใช้เส้นทาง 38 มาถึงสวนแห่งนี้ ใช้ระยะทางเพียงแค่ 7 กิโลเมตร หากมาไม่ถูก โทร.สอบถามเส้นทางกับลุงจวบ โทร. (081) 377-3056 หรือ ป้าสม โทร. (081) 481-6598 และ (038) 032-646 ได้ทุกวัน นอกจากจะได้ชิมผลไม้รสอร่อยแล้ว ลูกค้ายังมีโอกาสเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ไม้คุณภาพดีนานาชนิด เช่น มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ฯลฯ ติดมือกลับไปปลูกที่บ้านอีกด้วย