“ผักหวานป่า” ไม้พื้นเมือง รสชาติดี กินอร่อย ดัดแปลงทำอาหารได้นานาชนิด

ชื่อสามัญ : ผักหวานป่า ; Pak warn

               

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis

               

วงศ์ : OPILIACEAE

                

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ผักหวานป่า เป็นไม้พื้นเมือง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบหนาสีเขียวเข้มเป็นมัน ก้านใบสั้นๆ เหนียวติดกะลำต้น เป็นใบเดี่ยว รูปร่างรีๆ เหมือนไข่ ปลายใบป้านกลมอาจมีรอยเว้าบ้าง มีหูใบเล็กๆ บริเวณก้านใบ ผล ก็จะเป็นพวงๆ มีสีเหลืองอมน้ำตาล ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ชอบขึ้นตามเชิงเขา หรือตามป่าเต็งรัง ที่เป็นหินปนดินดาน หรือปนทราย ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผักหวานป่าจะทิ้งใบจนแทบหมดต้น แล้วต่อมาเดือนกุมภาพันธ์พฤษภาคม ก็จะแตกยอดและใบอ่อนให้ได้กินกันทุกปี

ขึ้นเองต้นใหญ่มาก
ขึ้นเองต้นใหญ่มาก

ผักหวานป่า เป็นที่รู้จักบริโภคกันทุกภาค เนื่องจากรสชาติดี หากินยาก มีเฉพาะฤดูกาล ราคายังค่อนข้างสูง ปัจจุบัน ประมาณกิโลกรัมละ 100-200 บาท หน้าฝนก็อาจถูกลงมาบ้าง ตามหลักการของดีมานและซัพพลาย แต่ก็ยังถือว่าเป็นพืชทำรายได้ที่ดีแก่ชาวบ้านอย่างหนึ่งในขณะนี้ คนนิยมซื้อหาไปปรุงอาหาร และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการดัดแปลง สูตร เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อใส่ผักหวาน ผักหวานผัดน้ำมันหอย แกงจืดผักหวาน ฯลฯ ที่หลังโรบินสัน ศรีราชา มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อใส่ผักหวานอยู่เจ้าหนึ่ง ขอแนะนำให้ไปลองเปิบกัน ไม่มีค่าคอมมิสชั่นหรอกนะ แต่อยากให้ลองเฉยๆ

ระยะหลังมีการขยายพื้นที่ปลูกผักหวานป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยหาเก็บตามป่า ก็มีคนนำมาขยายพันธุ์ปลูกกันในบริเวณบ้าน ผักหวานป่าปลูกให้งามยาก ไม่เหมือนพืชทั่วๆ ไป ไม่ชอบดินแฉะ ชอบดินปนหินระบายน้ำดี มีเทคนิคอย่างหนึ่ง จะปลูกผักหวานป่าให้งาม โตไว ต้องมีพืชพี่เลี้ยง อย่าง แค หรือ ทองหลาง ก็ได้ ปลูกลงไปในหลุมเดียวกันเลย หรือห่างกันสัก 1 ฟุต ก็ได้ คอยดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยคอกไว้พร้อมๆ กัน ปล่อยให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน หาก แค ออกดอกก่อน ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ระหว่างรอผักหวานโต หรือทองหลาง ก็สามารถเก็บใบขายได้ก่อนอยู่แล้ว

ผลผักหวาน
ผลผักหวาน

สิ่งหนึ่งที่พึงระวังก็คือ การเข้าไปเก็บผักหวานในป่า ควรมีผู้ชำนาญไปด้วย เพราะมีไม้บางต้นที่มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับผักหวานป่ามาก แถมยังมีพิษ กินเข้าไปจะทำให้อาเจียน ผิดสำแดง มึน งง หมดสติ ถึงตายได้ เจ้านั่นคือ ต้นขี้หนอน (Scleropylum wallichianum) ครับ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าลำต้นและกิ่งของต้นขี้หนอนมักจะมีหนามแข็งอยู่ประปราย ซึ่งในผักหวานป่าจะไม่มี ธรรมชาติมีทั้งดี ทั้งร้าย ที่ยังต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกมากมายหลายประการ หากมีโอกาส ผู้เขียนจะค่อยๆ ทยอยเขียนออกมาเรื่อยๆ ครับ ถ้าไม่เบื่อหน้ากันไปเสียก่อน